บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยลศิลปะสามผสาน ที่"วัดโพธิ์แมน"


เทศกาลตรุษจีนเพิ่งจะผ่านพ้นไปแบบที่เรียกได้ว่ากลิ่นธูปยัง ไม่จาง เสียงประทัดยังไม่ทันหาย ดังนั้นการที่ฉันจะพามาเที่ยววัดจีนในวันนี้ก็เรียกว่ายังไม่ตกเทรนด์จนเกิน ไปนัก

อีกทั้งวัดจีนที่จะพามาชมในวันนี้ไม่ใช่วัดจีนหรือศาลเจ้าธรรมดาๆ แต่เป็นวัดจีนที่มีการผสมผสานของศิลปะแบบจีน-ไทย-ธิเบต ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในวัดอื่นๆ ซึ่งวัดแห่งนั้นก็คือ "วัดโพธิ์แมนคุณาราม" หรือวัดโพธิ์แมน ในซอยสาธุประดิษฐ์ 19 นี่เอง

วัดโพธิ์แมน หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า "โพวมึ้งป่ออึงยี่" เป็นวัดจีนในพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 โดยผู้สร้างวัดนี้ก็คือ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 เจ้าอาวาสรูปแรกเป็นผู้นำสร้าง พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่ศรัทธาก็ร่วมมือกันสร้างด้วย มาจนถึงวันนี้ก็นับอายุของวัดได้เกือบ 50 ปี แล้ว และเจ้าอาวาสปัจจุบันก็คือพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 7

ความโดดเด่นของวัดโพธิ์แมนคุณารามนี้ก็เป็นอย่างที่ฉันกล่าวไปแล้วว่า อยู่ที่สถาปัตยกรรมภายในวัดที่เป็นศิลปกรรมแบบจีน-ไทย-ธิเบต ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวงดงาม โดยพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) เจ้าอาวาสรูปแรกนั้นเป็นผู้ออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดด้วยตนเอง จะงดงามแค่ไหนต้องลองไปชมกัน

จากซุ้มประตูใหญ่เดินเข้าไปสิ่งแรกที่จะเจอก็คือวิหารหน้า ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ด้านหน้าวิหารมีจารึกอักขระภาษาธิเบต ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์ และพระเวทโพธิสัตว์ที่อยู่ด้านหลัง อีกทั้งยังมีท้าวจตุโลกบาลอยู่ประจำ 4 มุมของวิหารด้วย ท้าวจตุโลกบาลนี้ก็เรียกว่าเป็นมหาเทพผู้รักษาโลกและพระพุทธศาสนา ซึ่งวัดพุทธในประเทศจีนนิยมสร้างไว้ในวิหาร

ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 นั้นก็ได้แก่ ท้าวธตรฐมหาราช หรือธฤตราษฎระ (ถี่กกเทียงอ้วง) ทรงเครื่องทรงแบบขุนพลจีนโบราณ รูปกายสีแดง มือถือพิณ ส่วนท้าววิรุฬหกมหาราช หรือวิรูธกะ (เจงเชียงเทียงอ้วง) มีรูปกายสีขาว ถือร่ม องค์ถัดมาคือ ท้าววิรุฬปักข์มหาราช หรือวิรูปากษะ (ก่วงมักเทียงอ้วง) มีรูปกายสีดำ ถือกระบี่และงู และองค์สุดท้ายคือท้าวเวสสุวัณ (กุเวร) มหาราช หรือไวศรวณะ (ตอบุ๋งเทียงอ้วง) มีรูปกายสีเขียว ถือเจดีย์ไว้ในมือข้างหนึ่ง

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิหารหน้าจนครบแล้ว ฉันเดินผ่านเข้าไปยังอุโบสถของ วัดโพธิ์แมน ตอนนี้ละที่ฉันรู้สึกเหมือนผ่านเข้าไปในฉากหนังจีนอย่างไรอย่างนั้น เพราะนอกจากสถาปัตยกรรมและลวดลายแบบจีนของอุโบสถที่ตั้งอยู่ด้านหน้าแล้ว ก็ยังมีพระจีนในชุดจีวรสีส้มสดเดินผ่านไปเดินมาอีกต่างหาก แม้จะไม่มีการฝึกกำลังภายในกันที่ลานหน้าวัด แต่ก็พอจะได้บรรยากาศของสำนักเส้าหลินอยู่บ้าง

แต่ก่อนจะเข้าไปด้านในอุโบสถ ฉันขอชี้ชวนให้ชมความสวยงามด้านนอกเสียก่อน ลองเงยหน้าดูบนหลังคาโบสถ์ซึ่งเป็นหลังคาสามชั้นลดหลั่นกัน และบนหลังคาชั้นบนสุดมีเจดีย์ยอดฉัตรที่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ด้านล่างลงมายังมีตราธรรมจักร อีกทั้งยังมีกวางตัวเล็กตัวน้อยยืนอยู่ตามจุดต่างๆ บนหลังคาโบสถ์ การมีตราธรรมจักรและกวางนี้เองที่น่าจะเป็นส่วนผสมแบบไทย เพราะไม่ค่อยจะพบตราธรรมจักรและกวางในสถาปัตยกรรมแบบจีนเท่าไรนัก

และอย่าลืมสังเกตตราพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าบันของอุโบสถด้วย เพราะเป็นตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เมื่อครั้งที่ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธียกฉัตรเจดีย์พระอุโบสถนั่นเอง

ด้านนอกอุโบสถว่างามแล้ว แต่ฉันว่าด้านในก็งามไม่แพ้กัน เมื่อเดินขึ้นบันไดเข้าสู่พระอุโบสถก็จะได้พบพระประธานองค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า "พระพุทธวัชรโพธิคุณ" ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระประธานองค์นี้สีทองอร่าม ด้านข้างเป็นเสาสีแดงสดมีมังกรสีทองพันตัวรอบเสาดูน่าเกรงขาม และเมื่อมองไปด้านบนหลังคา หากเพ่งมองดีๆ จะเห็นหมู่พระพุทธรูป 1,000 องค์ ประดิษฐานอยู่ด้านบนด้วย

ส่วนผนังด้านข้างของอุโบสถทั้งสองด้านยังประดับตกแต่งด้วยรูปพระ อรหันต์ 500 รูปที่หากมองไกลๆ อาจจะดูเหมือนรูปวาดธรรมดา แต่เมื่อเดินมามองดูใกล้ๆ ก็จะรู้ว่าแท้จริงแล้วภาพนี้เป็นภาพโมเสกขนาดใหญ่สีสันสดใสสวยงามมากทีเดียว

และที่ประทับใจฉันยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ขณะที่ฉันเข้าไปกราบพระประธานและชมสิ่งต่างๆ ในโบสถ์นั้น ก็เป็นเวลาเดียวกับที่พระสงฆ์เข้ามาสวดมนต์พอดี ฉันจึงได้โอกาสนั่งฟังบทสวดภาษาจีนที่ฟังดูแปลกหูไปจากบทสวดภาษาบาลีที่เคย ได้ยินบ่อยๆ บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิกายจีนสวดนี้ฟังๆ ไปก็คล้ายกับการร้องเพลง เพราะมีเสียงสูงเสียงต่ำ แถมยังมีการตีกลองให้จังหวะเสียอีก ฟังแปลกหู แต่ก็สร้างสมาธิได้เหมือนกัน

เมื่อพระสวดเสร็จฉันจึงเดินออกมาด้านนอกอุโบสถอีกครั้ง แล้วก็สังเกตเห็นว่าที่วัดวัดโพธิ์แมนฯ แห่งนี้แม้จะเป็นวัดจีน แต่รอบอุโบสถของวัดก็ยังมีใบเสมาซึ่งแสดงถึงอาณาเขตของการทำสังฆกรรมแบบ เดียวกับวัดไทย โดยมุมอุโบสถทั้ง 4 มุมจะมีใบเสมาหินอ่อนเหล่านี้อยู่ 2 ใบ ด้วยกัน ใบหนึ่งเป็นแกะสลักเป็นเครื่องหมายรูปวัชระธิเบต และอีกใบหนึ่งแกะสลักเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 เป็นการผสมผสานระหว่างจีน-ไทย-ธิเบตที่เห็นได้ชัดเจน

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดจีนแล้วก็ต้องมีเทพเจ้าต่างๆ ที่ชาวจีนเคารพนับถือ ซึ่งก็อยู่ด้านหลังโบสถ์นั่นเอง ที่นี่ฉันได้สักการะพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์ นอก จากนั้นที่ศาลาด้านหลังนี้ก็ยังมีสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์แมนคุณาราม และผู้ออกแบบวัดที่ฉันกล่าวไปแล้วตอนต้น ให้สักการะกันด้วย

ภายในศาลาที่ประดิษฐานสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งนั้นก็ยังมีประวัติ ของท่านอย่างละเอียด ทำให้ฉันได้ทราบว่าท่านเป็นชาวจีน เกิดเมื่อ พ.ศ.2444 ที่เมืองเก๊กเอี๊ย มณฑลกวางตุ้ง เมื่อบวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์แล้วก็ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม รวมทั้งเรียนรู้อรรถธรรมจากพระอาจารย์หลายท่าน จนนับได้ว่าเป็นปราชญ์และเป็นพระมหาเถระผู้มีเมตตาธรรมต่อประชาชนทั่วไป

ตลอดเวลาที่ท่านเป็นพระสงฆ์อยู่ในประเทศไทย ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์ถึง 7 วาระด้วยกัน ซึ่งในอดีตยังไม่เคยมีปรากฏว่ามีพระสงฆ์จีนนิกายรูปใดที่ได้รับเกียรติสูง เช่นนี้มาก่อน โดยสมณศักดิ์สูงสุดของท่านก็คือพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ นั่นเอง

ที่นี่จึงนับเป็นวัดจีนในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกหนึ่งแห่ง แม้จะเลยเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว แต่ฉันเชื่อว่าหากได้มีโอกาสมากราบพระพร้อมกับชมศิลปะ จีน-ไทย-ธิเบต ที่วัดโพธิ์แมนคุณารามไปพร้อมกันแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

วัดโพธิ์แมนคุณาราม ตั้งอยู่ที่ 323 ถ.สาธุประดิษฐ์ ซอย 19 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 หรือสามารถเข้ามาทางซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 24 ได้ วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. สอบถามโทร.0-2211-7885, 0-2211-2363

เที่ยววัด “แม่นาค” รำลึกตำนานรักอมตะ


ฉันเชื่อว่า หลายๆ คนที่เคยได้ยินได้ฟังประโยคอมตะอย่าง“พี่มากขาาาา.....” นอกจากจะออกอาการขนลุกแล้ว คงจะอดนึกถึงหนังผีไทยน่าสะพรึงขวัญ เรื่อง“แม่นาคพระโขนง”ไม่ ได้ ซึ่งนอกจากหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังผีที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศขนหัวลุกแล้ว หนังเรื่องแม่นาคพระโขนง ยังเป็นตำนานความรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้ชมอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้

และเนื่องในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ฉันจึงถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมเหมาะเจาะในการไปเยือนยัง “วัดมหาบุศย์” หรือที่มักนิยมเรียกกันอย่างติดปากว่า “วัดแม่นาคพระโขนง” เหตุที่เรียกเช่นนี้ เพราะภายในวัดมหาบุศย์ มีศาลแม่นาค หรือ “ย่านาค” ตั้งอยู่ ผู้คนจึงพากันเรียกว่า วัดแม่นาคพระโขนง

เล่ากันว่า วัดมหาบุศย์ เป็นวัดราษฎร์ที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2305 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย พระมหาบุตร วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติโยมของท่านในคลองพระโขนง ชาวบ้านรู้ข่าวจึงได้นิมนต์ให้อยู่ และนำสร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า “วัดมหาบุศย์” ตามชื่อของท่าน และยังเป็นวัดที่มีส่วนเกี่ยวพันกับหนังผีคู่เมืองไทยอย่างเรื่องแม่นาค พระโขนงอีกด้วย

เมื่อฉันมาถึงยังวัดมหาบุศย์ ฉันเห็นป้ายชี้ทางไปยังศาลย่านาค จะใช้ชื่อ แม่นาค หรือ ย่านาค ก็เหมือนกัน แต่คนแถวนี้เขานิยมเรียกว่า ย่านาค ซึ่งศาลนี้เองเป็นเหมือนจุดมุ่งหมายของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคู่รัก และสำหรับฉัน...ที่นั่นก็เป็นหนึ่งในจุดหมายของการมายังวัดนี้เช่นกัน ก็จะปฏิเสธได้อย่างไร ในช่วงนี้เป็นเทศกาลแห่งความรัก ใครๆ ก็อยากขอพรกันทั้งนั้น

แต่ก่อนที่จะไปยังศาลย่านาค ฉันขอเข้าไปกราบขอพรจากหลวงพ่อยิ้ม ใน “วิหารหลวงพ่อยิ้ม” เสียก่อน เพราะอยู่ตรงด้านหน้าวัด วิหารนี้เป็นวิหารเล็กๆ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อยิ้ม ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ฉันสังเกตว่า คนที่มากราบไหว้หลวงพ่อยิ้มมักจะเสี่ยงเซียมซีควบคู่ไปด้วย ฉันเองก็เลยไม่พลาดขอตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงโชคกับเขาบ้าง ปรากฏว่า ผลออกมาดีทำให้ฉันยิ้มหน้าบานมีกำลังใจขึ้นมาอย่างฉับพลันเลยทีเดียว

และที่ฉันสังเกตเห็นอย่างขำๆ อีกอย่าง ก็คือ ไม่ใช่แต่คนเท่านั้นที่มากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อยิ้ม แม้แต่แมวเหมียวก็เข้าไปนั่งตั้งจิตอธิษฐานอยู่ข้างๆ หญิงสาวที่มานมัสการหลวงพ่อ หลังจากที่หญิงคนนั้นลุกออกมา แมวตัวนั้นก็เดินเนิบๆ ออกมาด้วย จากภาพที่เห็นมันช่างเป็นความบังเอิญที่ดูน่ารักน่าขันยิ่งนัก เอ..หรือจะเป็นเรื่องจริง ฉันก็ไม่อาจรู้ได้

ถัดจากวิหารหลวงพ่อยิ้มไปเป็น “อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม” ภาย ในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่กลางแจ้งแต่มากด้วยร่มไม้ทำให้ดูร่มรื่นสบายตา ฉันแวะไหว้เจ้าแม่ พร้อมทั้งท่องบทบูชาเจ้าแม่กวนอิมที่แปะอยู่ตรงหน้า แต่เพราะภาษาเป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาจีน ฉันจึงต้องผันวรรณยุกต์ ตัวสะกดกันจนหน้ามืด

หลังจากพยายามอ่านบทบูชาอยู่นานสองนาน ฉันก็เดินต่อไปยังโบสถ์ แต่ระหว่างทางฉันสังเกตเห็นสวนหย่อมเล็กๆ ข้างทางมีตุ๊กตาปูนปั้นน่ารักๆ อยู่มากมาย เมื่อฉันเดินไปใกล้ๆ ก็ได้ยินคุณยายเล่าให้หลานสาวตัวเล็กๆ ที่พามาเดินเล่นในวัด ว่า “..ตัวสีดำนี้คือเจ้าเงาะ และนางรจนา..” พร้อมทั้งเล่านิทานตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่

ฉันอมยิ้มด้วยความอิ่มเอมใจ เพราะสวนเล็กๆ ที่เห็นนั้นเป็นเหมือน “สวนเล่าเรื่อง” ที่ มีทั้งเจ้าเงาะป่าตัวดำ กับนางรจนา ชูชก กับกัณหา-ชาลี ตอนที่ กัณหา-ชาลี หลบชูชกอยู่ใต้ใบบัวในสระ หรือจะเป็นสังข์ทอง พระอภัยมณี และยังมีรูปปั้นการละเล่นไทยๆ เช่น งูกินหาง เป่าหนังยาง อีกด้วย

จากสวนเล่าเรื่อง ฉันไปหยุดยังหน้าโบสถ์ เพราะไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ เนื่องจากทางวัดไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้า จะเปิดก็แต่เมื่อเวลาพระท่านทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เท่านั้น ฉันก็ได้แต่ยืนพนมมือสาธุอยู่ข้างนอกประตูโบสถ์ เพราะฉันถือว่า ไหว้พระอยู่ที่ใจ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไหว้ได้ แต่ถ้าให้ดีเข้าไปนั่งสงบจิตสงบใจอยู่ในวัดก็จะทำให้จิตเราสงบและมีสมาธิมาก ขึ้น

ถัดจากโบสถ์ ฉันเดินตามป้ายบอกทางเข้าไปยังริมน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งมี “ศาลย่านาค” ตั้งอยู่ เมื่อฉันเข้ามาถึงเห็นผู้คนมากมายมาจุดธูปจุดเทียนขอพรจากย่านาค ส่วนมากจะเป็นเด็กหญิงรุ่นๆ ที่มาเป็นคู่ชายหญิงก็มีให้เห็นเหมือนกัน อาจจะเพราะช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลแห่งความรัก ก็ได้กระมัง จึงได้เห็นวัยรุ่นหนุ่มสาวมากราบไหว้ขอพรกันอย่างหนาตา

ผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกที่พันอยู่รอบต้นไม้อย่างหนาแน่น ชุดไทย ชุดเด็ก ของเล่นเด็ก รวมถึงรูปวาดแม่นาค มีให้เห็นมากมายภายในศาลย่านาคแห่งนี้ เท่าที่ฉันได้พูดคุยกับเด็กๆ วัยรุ่นที่มาขอพรจากย่านาค เด็กๆ บอกว่า นอกจากศาลย่านาคแห่งนี้แล้วข้างๆ ยังมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองอยู่ด้วย คนที่มาจะนิยมมาขอพรในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องการงาน การเรียน โชคลาภ แต่ที่โดดเด่นก็คงจะเป็นเรื่องของความรัก เพราะตามตำนานเรื่องแม่นาคพระโขนงเขาเล่ากันมาว่า...

ที่ริมคลองวัดมหาบุศย์ มีเรือนหลังเล็กๆ ไกลผู้คน ชาวบ้านต่างรู้จักกันดีว่า นี่คือ เรือนของแม่นาคกับทิด มาก แม้ว่าจะยากจน แต่ว่าก็เป็นคู่ผัวเมียที่รักกันมาก ในช่วงที่แม่นาคตั้งท้อง บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ทิดมากถูกเรียกไปเป็นทหารเกณฑ์ ยังไม่ทันพ้นทหารกลับมานางนาคต้องมาสิ้นใจตายทั้งกลม!! เพราะทนความเจ็บปวดจากการคลอดลูกไม่ไหว เมื่อตายแล้วพวกชาวบ้านช่วยกันเอาศพของนางไปฝังไว้ที่ใต้ต้นตะเคียนคู่ แต่ด้วยความรักผัว จึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด เฝ้ารอวันที่ผัวจะกลับมา

จากนั้นก็มักจะมีคนเห็นว่า นางนาคออกมาสำแดงตนให้เห็นอยู่บ่อยๆ บางทีก็เห็นมาผูกเปลกับต้นตะเคียนคู่ แล้วจะเห่กล่อมลูกด้วยเสียงที่โหยหวน ชาวบ้านพากันหวาดกลัวผีแม่นาคเป็นอันมาก จนเมื่อถึงวันที่ทิดมากได้กลับมาบ้านเห็นแม่นาคนั่งกล่อมลูกอยู่ที่ชานหน้า บ้าน ด้วยความดีใจรีบวิ่งไปหาลูกเมีย แต่ก็ต้องสะดุ้งเมื่อตัวของนางนาคเย็นผิดปกติ แม่นาคเหมือนจะอ่านใจผัวออก รีบยกสำรับข้าวปลาอาหารออกมารับขวัญ

และตั้งแต่นั้นมาทิดมากกับนางนาค ก็อยู่กินกันตามปกติเหมือนเดิม แม้จะมีชาวบ้านแอบมาบอกว่า นางนาคตายแล้วทิดมากก็ไม่ยอมเชื่อ และยังตามหลอกหลอนผู้ที่มาบอกความจริงกับผัวของตน จนกระทั่งวันหนึ่งทิดมากนั่งอยู่ใต้ถุนบ้าน ส่วนนางนาคก็กำลังทำกับข้าวตำน้ำพริกอยู่ในครัวบนเรือน เผอิญทำมะนาวหลุดมือหล่นไปใต้ถุนบ้าน นางนาครีบหย่อนมือที่ยาวเฟื้อยผิดจากปกติลงไปเก็บด้วยความรวดเร็ว ทิดมากเห็นดังนั้นก็ตกใจมากจนหนีไปพึ่งวัด

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ท่านรู้ข่าวการอาละวาดของผีแม่นาค ซึ่งก่อความหวาดกลัวและเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก แม้แต่หมอผีเก่งๆ ก็ยังพ่ายแพ้ ท่านจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ และเรียกนางนาคขึ้นมาคุยกัน ผลสุดท้ายท่านเจาะเอากระดูกหน้าผากของนางมาลงยันต์ และทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ผีนางนาคก็ไม่ออกมาอาละวาดอีกเลย

จากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ประทานกระดูกหน้าผากนางนาคให้กับหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) เก็บรักษาไว้ และต่อมาก็ได้ประทานต่อให้ หลวงพ่อพริ้ง (พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์) อีกต่อ จนมาถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไม่นานนักแม่นาคก็มากราบลา จากนั้นก็ไม่มีใครพบกระดูกหน้าผากของแม่นาคอีกเลย

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ตำนานแม่นาคพระโขนงที่เล่าต่อๆ กันมา ส่วนจะมีจริงหรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ และใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ที่ตำนานแม่นาคพระโขนงคงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ได้ นอกจากเรื่องชวนขนหัวลุกแล้ว ตำนานแห่งความรักที่มั่นคงของแม่นาคต่อทิดมากนั้นถือเป็นหนึ่งในตำนานรัก อมตะของเมืองไทยที่น่าเทิดทูนยกย่องเป็นอย่างยิ่ง

...ความตายแม้พรากจาก แต่ความรักของแม่นาคยังคงอยู่เป็นนิรันดร์...

วัดมหาบุศย์ 749 หมู่ที่ 11 ซ.อ่อนนุช 7 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250 การเดินทางสามารถลงรถไฟฟ้าสถานีอ่อนนุช แล้วเดินย้อนขึ้นไปปากซอยอ่อนนุชประมาณ 400 เมตร จากปากซอยอ่อนนุช เข้าไปประมาณ 500 เมตร ถึงซอยอ่อนนุช 7 ปากซอยจะมีป้ายวัดมหาบุศย์ เดินเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร ถึงวัดมหาบุศย์ โทร.0-2311-3636, 0-2311-2183

เที่ยวไปกับจักรยาน…ตะลุยย่านบางมด


การเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ นั้นก็มีหลายแบบ จะนั่งรถเมล์เที่ยวก็ได้ นั่งเรือเที่ยวก็เย็นสบายดี หรือจะเดินเท้าท่องเที่ยวก็ได้ใกล้ชิดธรรมชาติไม่น้อย แต่สำหรับทริปนี้ฉันจะขอเปลี่ยนบรรยากาศมาลองขี่จักรยานเที่ยวดูบ้าง เพราะนอกจากจะไม่ใช่ใช้น้ำมันแล้วยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ขี่ไป ชมวิวไป หากเหนื่อยนักก็พักเสียก่อนไม่ได้เร่งรีบร้อนรนไปไหน

ยิ่งเมื่อทางกองการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ กับกรุงเทพมหานคร ได้ทำเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยวย่านบางมดเพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย เมื่อมีโอกาสเหมาะฉันจึงไปยืมจักรยานเพื่อนมาปั่นกินลมชมวิวร่วมกับสมาชิก นักปั่นจำนวนหนึ่ง

การขี่จักรยานนั้นแน่นอนว่าจะได้รับสายลมแสงแดดอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเตรียมตัวก่อนไปขี่จักรยานนั้นก็คือต้องเตรียม เสื้อผ้าให้เหมาะสม ควรเป็นเสื้อแขนยาวที่ระบายความร้อนได้ดี เพื่อป้องกันแสงแดดและทำให้เราไม่ร้อนจนเกินไป กางเกงที่ใส่หากเป็นกางเกงสำหรับขี่จักรยานโดยเฉพาะก็จะดีมาก เพราะจะทำให้ขี่ได้นานโดยไม่เมื่อย สวมหมวกกันแดดอีกใบ จากนั้นก็เตรียมไปลุยย่านบางมดกันได้เลย

เราเริ่มต้นขี่จักรยานจากสวนธนบุรีรมย์ใน ตอนเช้าที่อากาศกำลังดี วิ่งไปตามถนนพุทธบูชา มุ่งหน้าไปที่ซอยประชาอุทิศ 69 มาดูฟาร์มแพะกันก่อนเป็นที่แรก น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ในกรุงเทพฯ จะมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่จริงๆ แล้วน่าจะอยู่ตามชานเมืองหรือที่ต่างจังหวัดมากกว่า ส่วนเหตุที่มีฟาร์มแพะอยู่ในแถบนี้ก็เนื่องจากว่าชาวชุมชนในย่านนี้เป็นชาว ไทยอิสลามอยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น จึงนิยมเลี้ยงแพะไว้กินเนื้อแทนหมูนั่นเอง

ที่นี่มีฟาร์มแพะอยู่ถึง 2 ฟาร์มด้วยกัน และฟาร์มแห่งแรกที่ฉันแวะมาเยือนเป็นแห่งแรกนี้ก็เป็นฟาร์มแพะเนื้อ ที่บรรดาผู้เลี้ยงแพะมารวมตัวกันในชื่อว่า "กลุ่มเกษตรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ" ซึ่งก็มีทั้งแพะและแกะมาเลี้ยงรวมกัน ฉันเองก็ไม่ค่อยจะได้คลุกคลีสัมผัสกับสัตว์ประเภทนี้สักเท่าไร แต่มาวันนี้ก็ได้มาใกล้ชิดถึงขนาดได้ "จับแพะ" (แบบที่ตำรวจชอบทำ) จึงได้รู้ว่าแพะนี่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงเชื่องๆ ที่น่ารักไม่ใช่น้อย แต่ก็น่าสงสารที่บรรดาแพะเหล่านี้จะต้องถูกกิน

นอกจากจะได้ชมและจับแพะแล้ว ที่นี่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแพะๆ มาขาย ทั้งสบู่ ครีมอาบน้ำ โลชั่นบำรุงผิว และครีมหน้าขาวที่ทำมาจากนมแพะ ถ้าอยากลองว่าผลิตภัณฑ์จากแพะใช้ดีแค่ไหนก็ลองมาซื้อกันได้ที่นี่

จากฟาร์มแพะเนื้อ มาที่ฟาร์มแพะนมบ้าง ฟาร์มที่นี่ชื่อว่า "ซาอุดี้ฟาร์ม" มีแพะอยู่มากกว่า 300 ตัว อยู่รวมกันในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ที่กั้นแบ่งเป็นคอกๆ ส่วนมากเป็นแพะสีขาวสะอาด มีทั้งแม่แพะและลูกแพะอยู่ในคอกเดียวกัน

นมแพะนี้เขาว่ามีประโยชน์มาก มีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับน้ำนมคน และดูดซึมสู่ร่างกายได้ง่ายกว่านมวัว แถมยังมีเอนไซม์ วิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยปรับระดับไขมันในเลือด และรักษาโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย ว่าแล้วก็ดื่มนมแพะจากฟาร์มซักขวดหนึ่งดีกว่า

ได้นมแพะเพิ่มพลังทำให้มีแรงขี่จักรยานเต็มร้อย ฉันปั่นต่อยัง "วัดพุทธบูชา" เพื่อแวะไหว้พระ สำหรับวัดแห่งนี้มีประวัติการสร้างอยู่ว่า นายเล็กและนางทองคำ เหมือนโค้ว เป็นผู้ยกที่ดินให้สร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ.2497 ฉันเลี้ยวรถเข้าไปในบริเวณวัดเพื่อแวะไปไหว้พระประธานในโบสถ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิษณุโลกมาเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพุทธบูชา แห่งนี้

ได้พักไหว้พระสบายๆ แล้วก็อย่าลืมเดินไปด้านหลังโบสถ์ซึ่งอยู่ติดกับคลองบางมด ในคลองแห่งนี้เต็มไปด้วยปาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ฯลฯ ใครอยากทำบุญให้อาหารปลาที่นี่ต่อก็ได้ โดยที่ท่าน้ำวัดพุทธบูชานี้สามารถนั่งเรือหางยาวชมทัศนียภาพสองฝั่งคลอง บางมดได้ หรือจะนั่งยาวไปออกที่ชายทะเลกรุงเทพฯ ก็ยังได้ด้วย

แต่ตอนนี้ฉันยังไม่อยากนั่งเรือ จึงขอเดินทางด้วยจักรยานต่อไปที่ "วัดยายร่ม" เอ... ยายร่มนี่เป็นใครกันหนอ ถ้าอยากรู้ต้องรีบๆ ปั่นไปดูแล้วล่ะ แต่ระยะทางจากวัดพุทธบูชาไปที่วัดยายร่มนี่ไกลพอดูเชียวล่ะ เพราะฉะนั้น ก้มหน้าก้มตาปั่นกันต่อไปดีกว่า

ไม่นานเราก็เดินทางมาถึงวัดยายร่มจนได้ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว คือสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2365 เดิมมีชื่อว่าวัดจุฬามณี แต่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อตามชื่อคนสร้าง ก็คือยายร่มซึ่งเป็นชาวบางมดนี่เอง วัดแห่งนี้แม้จะเป็นวัดเก่าแก่แต่ก็ไม่เหลือสิ่งก่อสร้างเก่าๆ แล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น โบสถ์ของวัดยายร่มนั้นมีความงดงามแปลกจากวัดอื่นๆ โดยพระครูโสภิตบุญญาทร เจ้าอาวาสวัดได้นำรูปแบบงานแกะสลักไม้แบบล้านนามาใช้แทนการวาดจิตรกรรมฝา ผนัง โดยได้นำช่างจากอำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่มาเป็นผู้แกะสลัก

ไม้ที่นำมาแกะสลักนั้นก็คือไม้สัก แต่ละแผ่นนั้นก็ต้องใช้เวลาและความประณีตเป็นอย่างมาก บางแผ่นใช้เวลาถึง 6 เดือนเลยทีเดียว และเมื่อแกะเสร็จแล้วไม้จำหลักเหล่านั้นก็ถูกนำมาติดไว้ภายในโบสถ์ทั้งหลัง จึงนับว่าเป็นโบสถ์ที่งดงามและน่าสนใจอีกหลังหนึ่งของเขตจอมทอง

และในบริเวณวัดยายร่มนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตจอมทอง" อีกด้วย ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะบอกถึงเรื่องราวต่างๆ ในเขตจอมทองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการขุดคลองด่าน ขึ้นในเขตจอมทอง ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนี้ผูกพันกับคลองมาเป็นเวลานาน

พิพิธภัณฑ์นี้ยังทำให้ฉันรู้ว่า วิถีชีวิตของชาวชุมชนเขตจอมทองนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบอาชีพทำสวน โดยสวนส้มบางมดนั้นถือเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อดังที่เคยได้ยินชื่อเสียงกันมาเป็น เวลานานแล้ว แม้ว่าจะมีบางช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจนทำให้สวนส้มบางมดแทบจะสูญพันธุ์ ไป แต่ปัจจุบันก็ได้มีการปลูกส้มบางมดขึ้นในหลายพื้นที่เพื่อให้ชาวสวนส้มรักษา พันธุ์ส้มของตนเอาไว้

และนอกจากการทำสวนแล้ว ในเขตจอมทองนี้ก็ยังเคยมีการปลูกข้าวอีกด้วย เรียกว่าเป็นนาสวน คือปลูกข้าวไว้ในร่องสวนเพื่อกินเองในครอบครัว ไม่เสียพื้นที่ว่างในสวนแถมยังมีข้าวกินอีกต่างหาก แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีนาข้าวในเห็นแล้วล่ะ ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเขตจอมทองมากกว่านี้ก็ต้องมาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์นี้เองเสียแล้ว

มาปิดเส้นทางขี่จักรยานกันที่ "วัดหลวงพ่อโอภาสี" ในซอยพุทธบูชา 39 หลวงพ่อโอภาสีนี้เป็นพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปเป็น อย่างมาก ท่านบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยการเพ่งพระอาทิตย์ บูชาไฟเพื่อทำเตโชกสิณ เล่ากันว่าท่านนำข้าวของทั้งหลายที่ญาติโยมถวายมาเผาไฟ เพื่อแสดงถึงการตัดกิเลสทั้งหลาย เพราะท่านถือว่า จิตใจของมนุษย์นั้นถูกเผาผลาญด้วยไฟราคะแห่งกิเลสซึ่งไม่สามารถต้านทานได้ นอกจากจะกลายเป็นเถ้าถ่าน มีเพียงการตายเท่านั้นจึงจะหลุดพ้น

แต่เดิมนั้นหลวงพ่อโอภาสีอาศัยอยู่ที่วัดบวรนิเวศ และได้เดินทางมาแสวงหาที่สงบปฏิบัติธรรมที่ละแวกนี้ เมื่อก่อนนี้คนเรียกวัดหลวงพ่อโอภาสีว่าสวนอาศรมบางมด จนเมื่อได้มีการออกประกาศจัดตั้งให้เป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2536 นี้เอง

สำหรับตัวหลวงพ่อนั้นได้มรณภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย และยังเก็บไว้ให้ผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้กัน โดยอยู่ภายในองค์เจดีย์หลวงพ่อโอภาสีนั่นเอง และมีประชาชนเดินทางมาบูชาถึงที่วัดเป็นจำนวนมาก

ฉันจบเส้นทางขี่จักรยานด้วยร่างกายที่ค่อนข้างระบมเนื่องจากไม่ได้ ออกกำลังกายบ่อยนัก แต่ก็เชื่อว่าถ้าได้ขี่จักรยานบ่อยๆ เข้าก็ สิ่งหนึ่งที่จะได้แน่ๆ ก็คือร่างกายที่แข็งแรง และก็จะได้ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในอีกบรรยากาศหนึ่งที่สนุกสนานไม่น้อยเลยทีเดียว

สอบถามเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยวครั้งหน้าได้ที่ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612 ถึง 4

เที่ยว“วัดหมู”ดูพระประธาน 28 องค์แห่งเดียวในเมืองกรุงฯ


หลังจากที่ได้รู้จักกับเรื่องหมูๆ ในกรุงเทพฯ กันไปในตอนที่แล้ว วันนี้ฉันยังเหลืออีกหนึ่ง “หมู” ที่ยังไม่ได้แนะนำให้รู้จักกัน นั่นก็คือ “วัดหมู” หรือ “วัดอัปสรสวรรค์” นั่นเอง

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยใดนั้นยังไม่สามารถระบุหลัก ฐานที่แน่ชัดได้ รู้แต่สาเหตุที่เรียกวัดนี้ว่าวัดหมูนั้นก็เนื่องจากว่า ผู้สร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวจีนชื่ออู๋ มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อมีวัดแล้วหมูเหล่านั้นก็มาเดินเพ่นพ่านเต็มลานวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหมูกันมาตั้งแต่นั้น แม้ภายหลังไม่มีหมูมาเดินแล้วก็ยังเรียกกันว่าวัดหมูต่อมา

ภายหลังจากที่จีนอู๋สร้างวัดนี้ขึ้นแล้ว เวลาล่วงไปวัดก็ทรุดโทรมลงไปตามกาล จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัว เพื่อปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้ง วัด

และหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มอีก และในครั้งนั้นก็ได้พระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดอัปสรสวรรค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง และในการบูรณะครั้งนี้ ทำให้วัดอัปสรสวรรค์ กลายมาเป็นวัดที่มีความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทย

ฉันไปถึงวัดอัปสรสวรรค์ในตอนสายๆ ภายในวัดค่อนข้างเงียบผู้คนบางตา ไม่คึกคักเหมือนกับวัดข้างเคียงอย่างวัดปากน้ำภาษีเจริญที่มีคนแวะเวียนไป มากมายทุกวัน

เมื่อฉันไปถึง อย่างแรกที่ทำก็คือเข้าไปกราบพระในพระอุโบสถก่อนเป็นอย่างแรก พระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์นี้ขนาดไม่ใหญ่โตนัก สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมีลายประดับปูนปั้นแบบจีน กล่าวกันว่าสร้างคล้ายกับที่วัดราชโอรสารามฯ วัดประจำรัชกาลที่ 3

สำหรับความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทยของวัดหมูนั้นอยู่ภายในพระ อุโบสถ นั่นก็คือ แทนที่พระประธานจะมีเพียงองค์เดียวเหมือนกับโบสถ์วัดอื่นๆทั่วไป แต่ภายในอุโบสถนี้ก็กลับมีพระประธานอยู่มากถึง 28 องค์ด้วยกัน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้ รัชกาลที่ 3 เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

เหตุที่สร้างพระพุทธรูปมากถึง 28 พระองค์ ก็เพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภาพต่างๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ ได้แก่ พระพุทธตัณหังกร พระพุทธเมธังกร พระพุทธสรณังกร พระพุทธทีปังกร พระพุทธโกณฑัญญะ พระพุทธสุมังคละ พระพุทธสุมนะ พระพุทธเรวตะ พระพุทธโสภิตะ พระพุทธอโนมทัสสี พระพุทธปทุมะ พระพุทธนารทะ พระพุทธปทุมุตตระ พระพุทธสุเมธะ พระพุทธสุชาตะ พระพุทธปิยทัสสี พระพุทธอัตถทัสสี พระพุทธธรรมทัสสี พระพุทธสิทธัตถะ พระพุทธติสสะ พระพุทธปุสสะ พระพุทธวิปัสสี พระพุทธสิขี พระพุทธเวสสภู พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ และพระพุทธโคตมะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวของพระองค์

พระพุทธรูปทั้ง 28 พระองค์นี้ เป็นปางมารวิชัย หล่อขึ้นให้มีขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงตั้งลดหลั่นกันลงมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมงดงามแปลกตาไม่มีวัดไหนใน ประเทศไทยและวัดไหนในโลกจะมีเหมือน และถ้าอยากจะรู้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหนก็ดูได้จากตัวอักษรจารึกพระนามอยู่ที่ ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์ แต่จะไปชะเง้อชะแง้หรือปีนป่ายดูก็ใช่ที่ เอาเป็นว่าฉันจะบอกให้ว่าองค์ที่อยู่ด้านบนสุดนั้นคือพระพุทธเจ้าองค์แรก หรือพระพุทธตัณหังกร ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าสุดของแถวล่างก็คือ พระพุทธโคตมะ หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั่นเอง

และด้วยความที่วัดแห่งนี้เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีพระประธาน 28 พระองค์ ที่วัดนี้จึงมีบทสวดมนต์พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ซึ่งเป็นบทสวดมนต์เฉพาะของวัดอัปสรสวรรค์ ซึ่งจะใช้สวดทุกครั้งที่ทำวัตรเช้าเย็น และจะเพิ่มบทสวดนี้เป็นกรณีพิเศษด้วยในการสวดมนต์ในพิธีการต่างๆ

ด้วยความพิเศษที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเช่นนี้ พระพุทธรูปประธาน 28 องค์ ในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์จึงถูกยกย่องให้เป็น “อันซีน บางกอก” ไปด้วยประการฉะนี้
ส่วนที่ตั้งอยู่ข้างๆ พระอุโบสถนั้นก็คือพระวิหาร เป็นศิลปะแบบจีนเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธรูปอยู่สององค์ เป็นพระปางมารวิชัยทั้งสององค์ และในภายหลังได้มีผู้มาสร้างรูปหล่อนางสุชาดา กำลังถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้าด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพระวิหารวัดอัปสรสวรรค์ก็คือภาพ ทวารบาลที่ประตูวิหาร ซึ่งเขียนลงรักปิดทองเป็นรูปนางฟ้ากำลังเพลิดเพลินอยู่ในสระบัว ดูอ่อนช้อยงดงามสมกับชื่อวัดอัปสรสวรรค์ ต่างจากวัดอื่นๆ ที่มักทำเป็นรูปเทวดาหรือทหารที่ดูขึงขังมากกว่า

และระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารนั้น เป็นที่ตั้งของพระมณฑปสีขาวองค์ไม่ใหญ่นัก แต่ภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางฉันสมอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่าได้มาจากเวียงจันท์ ซึ่งอัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับพระบรมธาตุ พระบาง และพระแซกคำ

พระพุทธรูปปางฉันสมอนี้ปางคนอาจจะยังไม่คุ้นหูนัก ฉันจึงอยากขออธิบายถึงที่มาหน่อยหนึ่งว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข หรือตรัสรู้ได้ 7 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารเลย ท้าวสักกอมรินทราธิราชจึงได้นำผลสมอ หรือลูกสมอซึ่งเป็นทิพย์โอสถไปถวาย พระพุทธจริยาที่เสวยผลสมอนั้นจึงถูกนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางฉันสมอนั่น เอง

แต่พระพุทธรูปปางฉันสมอในพระมณฑปนี้ เจ้าอาวาสได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้บนกุฏิ และได้นำองค์จำลองมาประดิษฐานไว้แทนเพื่อความปลอดภัย

จากนั้นฉันเดินข้ามถนนสายเล็กๆ ภายในวัดมาหยุดยืนอยู่ที่หน้าหอไตรเก่าแก่กลางน้ำของวัด หอไตรแห่ง นี้สร้างอยู่กลางสระน้ำเพื่อป้องกันมอดปลวกจะมากัดแทะหนังสือเสียหาย พูดถึงลวดลายของหอไตรแห่งนี้แล้วก็สวยงามมากทีเดียว ฝาผนังประดับกระจก ส่วนบานประตูและหน้าต่างก็เขียนด้วยลายรดน้ำ แม้จะดูเก่าแก่ไปมากแต่ก็ยังคงความสวยงามให้เห็น โดยหอไตรนี้ยังเป็นต้นแบบของ “หอเขียน” ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดอีกด้วย

นอกจากนั้น บริเวณด้านหน้าของพระอุโบสถและพระวิหาร ก็ยังมีพระปรางค์องค์สูงใหญ่ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่ สร้างขึ้นคู่กับวัด พระปรางค์องค์นี้มีความสูงประมาณ 15 วา และใกล้ๆ กันนั้น ก็เป็นศาลาท่าน้ำริมคลองด่าน ที่สามารถซื้อขนมปังให้อาหารปลาตรงนี้ก็ได้ หรือใครอยากจะยืนชมวิว ชมเรือหางยาวที่แล่นพานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศชมคลองก็ได้เช่นกัน

วัดอัปสรสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ 174 ถ.เทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160 พระอุโบสถและพระวิหารเปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2467-5392, 0-2458-0917

การเดินทาง สามารถนั่งรถประจำทางสาย 4, 9, 10, 175 มาจนสุดสาย จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร มีป้ายบอกทางไปจนถึงวัด

เที่ยวย้อนอดีต ที่ "บางลำพู"


แม้จะผูกพันและคุ้นเคยกับย่านบางลำพูมาช้านานเพราะที่ทำ งานอยู่ใน ละแวกนี้ แต่จะว่าไปแล้วบางลำพูยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจให้เที่ยวชม ค้นหา ยิ่งได้คนเก่าคนแก่แห่งบางลำพูพาไปเที่ยวชม ดังเช่นทริปนี้ที่โชคดีมากๆเมื่อ คุณป้านิด อรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู ที่ผูกพันอยู่ในย่านนี้มานานถึง 74 ปี ขันอาสาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ พาฉันไปรู้จักกับบางลำพูแบบเจาะลึกมากไปด้วยความรู้และความเพลิดเพลิน

ป้านิดอุ่นเครื่องประเดิมทริปด้วยการเล่าถึงอดีตสมัยยังเด็กๆว่า “แต่ก่อนนี้บ้านป้าอยู่ริมน้ำ ตลอดแนวแม่น้ำมีต้นลำพูอยู่เยอะมาก ตกกลางคืนก็จะมีหิ่งห้อยมาเกาะมีแสงวับๆแวบๆ สมัยนั้นคนเขาพูดกันว่า เรือที่แล่นมาถึงแถวคุ้งน้ำตรงนี้ พอเห็นแสงหิ่งห้อยก็จะรู้แล้วว่ามาถึงบางลำพู”

ป้านิดรำลึกความหลัง ซึ่งด้วยความสมบูรณ์ของต้นลำพูในแถบนี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ที่ยุคสมัยหนึ่งมักมีการเขียนผิดเป็น “บางลำภู” ที่หากว่ากันตามศัพท์ “ลำภู” หมายถึง“ลำของภูเขา”แต่ในละแวกนี้มีแต่ลำน้ำเจ้าพระยาหาได้มีภูเขาแต่อย่าง ใดไม่ แต่ด้วยความที่ต้นลำพูค่อยๆเลือนหายไปเรื่อยๆตามกาลเวลา คนก็ยิ่งเขียนคำว่า “บางลำภู” กัน(ผิด)อย่างแพร่หลายมากขึ้น

กระทั่งในปี พ.ศ. 2540 อาจารย์สมปอง ดวงไสว อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดสังเวช ได้เขียนบทความ “ลำพูต้นสุดท้ายที่บางลำพู” เพื่อมายืนยันที่มาของชื่อ “บางลำพู” ซึ่งอาจารย์สมปองและชาวชุมชนบางลำพูได้ออกค้นหาจนค้นพบต้นลำพูต้นสุดท้าย ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณสวนสันติชัยปราการ ที่ปัจจุบันลำพูต้นนี้แตกลูกแตกหลานออกมาอีกจำนวนหลายต้น

หากจะว่าไปจริงๆแล้ว ลำพูต้นนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้สวนสันติชัยปราการถูกสร้างขึ้น เพราะนอกจากเรื่องราวของต้นลำพูต้นสุดท้ายจะเป็นที่รู้จักจากการนำเสนอออกไป ในสื่อต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงมีรับสั่งให้ทางราชการอนุรักษ์ต้นไม้ต้น นี้ไว้ให้ดีที่สุดอีกด้วย ดังนั้นทางกรุงเทพมหานครที่กำลังจะสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม จึงได้ทำประตูระบายน้ำเพื่อให้ระบบนิเวศน์ของต้นลำพูไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

นอกจากนั้น ทางราชการก็ยังได้เกิดความคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณต้นลำพูและป้อม พระสุเมรุ เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถวายแด่ในหลวงในวโรกาสที่พระองค์มีพระชนมายุ 72 พรรษา ใน ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งก็คือ “สวนสันติชัยปราการ” นั่นเอง

หลังป้านิดนวดความรู้ฉันด้วยที่มาอันถูกต้องของชื่อบางลำพูแล้ว คุณป้าพาฉันไปย้อนตำนานกับตลาดบางลำพู ที่เดิมมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตลาดยอด ซึ่งปัจจุบันคือ(ซาก) ตึกนิวเวิลด์นั่นแหละ

ตลาดบางลำพู ถือเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของที่ได้รับความนิยมมากทีเดียว โดยในสมัยนั้นแหล่งค้าขายที่คนรู้จักกันดีก็จะมีที่เยาวราช พาหุรัด และบางลำพูนี้เอง และร้าน “นพรัตน์” ร้านขายเสื้อเชิ้ตแห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวป้านิดเอง ก็เป็นหนึ่งในร้านค้าย่านนี้ด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แหล่งการค้าในยุคหลังๆก็เปลี่ยนตาม ผู้คนนิยมไปเดินซื้อของย่านอื่นๆ แทน ทำให้บางลำพูไม่คึกคักเหมือนก่อน แต่ก็ยังถือเป็นแหล่งตลาดการค้าเช่นเดิม แต่จะเป็นแหล่งแฟชั่นวัยผู้ใหญ่ และแหล่งซื้อชุดนักเรียน ชุดนักศึกษาเสียมากกว่า หากใครได้ไปบางลำพูในช่วงใกล้ๆ เปิดเทอมก็จะเห็นพ่อแม่พาเด็กๆ มาซื้อชุดนักเรียน เห็นนักศึกษามาลองเสื้อลองกระโปรงกันเป็นที่สนุกสนาน

นอกจากนั้น ย่านบางลำพูนี้ก็ยังขึ้นชื่อเรื่องของกินที่มีอยู่มากมาย ส่วนใหญ่แล้วราคาก็จะย่อมเยาสบายกระเป๋ายิ่งนัก แถมยังมีให้เลือกชิมหลากหลาย ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด บะหมี่หมูแดง ขนมจีน ฯลฯ ส่วนขนมของหวานนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะมีเยอะมาก ไปดูเอาเองดีกว่าที่บริเวณหน้าห้างตั้งฮั่วเส็ง ยิ่งตอนเที่ยงๆ นั้นแทบจะไม่มีที่เดินเพราะคนแน่นขนัดจริงๆ

ว่ากันด้วยเรื่องการเป็นแหล่งช้อปแหล่งกินกันไปแล้ว มาว่ากันด้วยเรื่องศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนบางลำพูอย่าง “วัด” กันบ้างดีกว่า ป้านิดบอกฉันว่าในย่านบางลำพูนี้มีวัดสำคัญๆ อยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือวัดบวรนิเวศวิหาร วัดชนะสงคราม และวัดสังเวชวิศยาราม

สำหรับวัดบวรนิเวศนั้น หลายๆ คนก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว โดยวัดแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในพระอุโบสถมีพระประธานสำคัญอย่างพระพุทธชินสีห์และพระสุวรรณเขต อีกทั้งยังมีพระไพรีพินาศอันโด่งดังอยู่ที่นี่ด้วย

ส่วนวัดชนะสงครามนั้น ก็เป็นวัดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณชื่อวัดกลางนา ต่อมาวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ได้ปฏิสังขรณ์วัด และให้พระสงฆ์และประชาชนชาวมอญมาอาศัยอยู่บริเวณนี้ และตั้งชื่อวัดใหม่ว่าวัดตองปุ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงครามอีกครั้งหนึ่ง

วัดนี้น่าจะเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในแถบนี้ดี เพราะถือเป็นเส้นทางเดินลัดจากถนนพระอาทิตย์มายังถนนข้าวสารได้ ดังนั้นเมื่อฉันเข้าไปภายในพระอุโบสถจึงได้เห็นฝรั่งหลายคนที่เข้ามาชมความ งามภายในเช่นกัน บางคนยังนั่งสมาธิอยู่หน้าพระประธานด้วยก็ยังมี

ส่วนวัดสังเวชวิศยารามนั้น ก็ถือเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมนั้นก็มีชื่อว่าวัดบางลำพู จนรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อให้เป็นวัดสังเวชวิศยาราม และเป็นศูนย์รวมของชาวชุมชนวัดสังเวชฯ มาในปัจจุบัน และไม่เพียงแต่วัดเท่านั้น แต่ในย่านบางลำพูก็ยังมีมัสยิดจักรพงษ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชาวอิสลามในย่านนี้อีกด้วย และในซอยทางเข้ามายังมัสยิดจักรพงษ์นั้นก็ยังมีร้านอาหารอิสลามที่ชวนกิน อยู่หลายร้านด้วยล่ะ

ที่สำคัญ ย่านบางลำพูยังถือเป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นแห่งกทม. เพราะในย่านนี้เป็นที่ตั้งของสำนักนาฎศิลป์และดนตรีไทยหลายๆ สำนัก ทั้งโรงละครร้อง วิกลิเก และโรงหนังพากย์ ฯลฯ อีกทั้งด้วยบรรยากาศของบ้านขุนนางเก่าแก่บนถนนพระอาทิตย์ ทำให้เมื่อเวลามีการจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม หรืองานศิลปะต่างๆ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ หรือสวนสันติชัยปราการจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้จัดเสมอ

อย่างเช่นงานสงกรานต์ที่ป้านิดบอกว่า “ถ้าพูดถึงงานสงกรานต์ที่บางลำพูแล้วคนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นงานสงกรานต์แบบอินเตอร์ ไม่ใช่ประเพณีไทย เราอยากจะมีงานสงกรานต์ที่เป็นแบบไทยขึ้น ก็เลยไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช พระองค์จึงประทานพระพุทธรูปมาให้เราองค์หนึ่ง และประทานชื่อให้ด้วยว่า “พระพุทธบางลำพูประชานาถ” ซึ่งแปลว่าที่พึ่งของชาวบางลำพู และทุกปีในวันสงกรานต์ก็จะมีการแห่พระพุทธรูปมาให้ประชาชนสรงน้ำที่สวนสันติ ชัยปราการ มีการสรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำผู้สูงอายุ และการแสดงการละเล่นแบบไทยๆ”

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันอยากพูดถึงเกี่ยวกับบางลำพูก็คือ ความเป็นชุมชนเข้มแข็งที่รวมตัวกันเป็น “ประชาคมบางลำพู” ป้านิดเล่าถึงจุดเริ่มต้นของประชาคมนี้ว่า เริ่มมาจากการจัดงานถนนคนเดินบนถนนพระอาทิตย์ครั้งแรก คนในชุมชนได้มีการร่วมประชุมกันหลายครั้ง จนงานเสร็จก็รู้สึกว่ามีความสนิทสนมกันขึ้น จึงมาคุยกันว่าน่าจะรวมตัวกันเป็นประชาคมขึ้น โดยงานของของประชาคมก็คือการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ

และผลงานหนึ่งที่มาจากความร่วมมือของชาวประชาคมบางลำพูก็คือ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2541-42 ได้มีการรวมตัวกันต่อต้านการรื้อโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่อยู่ข้างป้อมพระสุเมรุ ตามอายุก็สมควรแก่การอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนสอนพิมพ์แห่งแรก ป้านิดบอกว่าหนังสือเรียนสมัยป้ากะปู่ กู้อีจู้ ก็พิมพ์จากที่นี่เอง นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่พิมพ์หนังสือวรรณคดีไทยสำคัญอย่างเรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา สามก๊ก และรามเกียรติ์อีกด้วย

แทนที่จะรื้อทิ้ง ชาวชุมชนจึงขอให้ใช้อาคารหลังนี้เป็นศูนย์ชุมชน แต่เจ้าของพื้นที่ต้องการจัดทำเป็นสวนสาธารณะทั้งที่ขณะนั้นมีโครงการจะ สร้างสวนสันติชัยปราการแล้ว ผลของการต่อสู้ปรากฏว่า เจ้าของพื้นที่ไม่รื้อตึกทิ้ง แต่ก็ไม่อนุญาตให้ใครเข้ามาทำกิจกรรมใดๆกับอาคารหลังนี้ ซึ่งยังนับว่าโชคดีที่การเคลื่อนไหวของประชาคมฯ ช่วยให้อาคารเก่าแก่หลังหนึ่งยังคงอยู่ต่อไปเคียงคู่ย่านบางลำพู หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจแห่งกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร

"ย่านบางลำพู" ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปจนถึงวัดบวร นิเวศ ส่วนอีกด้านหนึ่งนับจากถนนข้าวสารไปจนถึงวัดสามพระยา ศูนย์กลางของย่านบางลำพูจะอยู่แถวๆ ตึกห้างนิวเวิลด์เก่า

มีรถประจำทางสาย 3, 6, 9, 30, 32, 33, 53, 64, 65, 524, 503 ผ่านบริเวณถนนพระอาทิตย์ และตลาดบางลำพู ส่วนรถประจำทางสาย 56, 68, 516 ผ่านบริเวณวัดบวรนิเวศ

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

ท่องย่านเกาหลีในเมืองไทย ที่"โคเรียน ทาวน์"


สุขุมวิท พลาซ่า หรือที่รู้จักกันในนาม "Korean Town"
มาจนถึงวันนี้ กระแสเกาหลีฟีเวอร์ก็ยังไม่จางหายไป จากความสนใจของคนไทยเท่าไรเลยนะฉันว่า ถ้าจะนับกันจริงๆ ก็นานหลายปีแล้วที่ความเป็นเกาหลีเริ่มมาเป็นที่นิยม ตั้งแต่ละครเกาหลีเรื่องแรกๆ อย่าง Autumn in My Heart ละครสุดเศร้าเคล้าน้ำตา ตามต่อมาด้วย Winter Love Song ละครรักโรแมนติกสุดซึ้ง และมาดังระเบิดระเบ้อก็ตอนที่จอมนางแห่งวังหลวง แดจังกึม มาทำอาหารให้คนดูน้ำลายไหลไปตามๆ กัน และกับเรื่องล่าสุดที่เพิ่งจบไปคือเรื่อง เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา ก็ทำเอาหลายคนอยากเป็นเจ้าหญิงขึ้นมาตะหงิดๆ

ไม่เพียงแค่บรรดาละครเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นที่นิยม แต่ทั้งภาพยนตร์เกาหลี เพลงภาษาเกาหลี โรงเรียนสอนภาษาเกาหลี อาหารเกาหลี และการท่องเที่ยวเกาหลีต่างก็ได้รับอานิสงส์ของความนิยมนี้ไปด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเกาหลีนั้น เล็งเห็นช่องทางขายจากความนิยมในละครเกาหลี จึงได้ปิ๊งไอเดียจัดทัวร์ท่องเที่ยวเกาหลีตามรอยละครเรื่องต่างๆ ที่นอกจากจะพาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่งแล้ว ก็ยังจะพาไปชมสถานที่ถ่ายทำละครเรื่องดังๆ ตรงไหนที่พระเอกนางเอกเดินจับมือกัน ตรงไหนทะเลาะกัน ตรงไหนคืนดีกัน ก็ตามไปดูกันได้ ซึ่งแพ็คเกจทัวร์นี้ก็ทำเอาการท่องเที่ยวเกาหลีรับทรัพย์จากนักท่องเที่ยว ชาวไทยไปเต็มๆ

ว่ามาซะยาวอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าฉันจะชวนไปเที่ยวประเทศเกาหลีแต่อย่างใด แม้ว่าฉันจะเป็นคนหนึ่งที่นิยมดูละครเกาหลีอยู่เช่นกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีทุนทรัพย์พอจะบินไปอินกับเขาที่นู่นหรอก ก็ได้แต่อาศัยดูละครเอาบ้าง กินอาหารเกาหลีเอาบ้างพอให้ได้บรรยากาศ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ฉันเพิ่งได้ไปเจอสถานที่ดีๆ ที่ผู้นิยมเกาหลีน่าจะชอบกัน สถานที่ที่ว่านั้นก็คือ "โคเรียน ทาวน์" (Korean Town) เกาหลีในกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในสุขุมวิท พลาซ่า บริเวณหน้าปากซอยสุขุมวิท 12 นี่เอง

ในเมื่อกรุงเทพฯ มีไชน่า ทาวน์ ที่เยาวราช มีลิตเติ้ล อินเดีย ที่พาหุรัด แล้วทำไมจะมีโคเรียน ทาวน์ ที่สุขุมวิทบ้างไม่ได้ล่ะ จริงไหม แม้ว่าโคเรียน ทาวน์แห่งนี้จะไม่ใหญ่โตเท่าไรนัก เป็นเพียงอาคารสี่ชั้นตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ก็ได้บรรยากาศของความเป็นเกาหลีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่เรียกบริเวณนี้ว่าเป็นโคเรียน ทาวน์ ก็เพราะเหตุว่าในแถบสุขุมวิทนี้เป็นที่อยู่ของชาวเกาหลีจำนวนมากที่อาศัย อยู่ในประเทศไทย และเมื่อมีคนเชื้อชาติเดียวกันมาอยู่รวมกันมากๆ เข้า จึงมีคนคิดทำธุรกิจร้านค้าต่างๆ เพื่อที่จะสนองความต้องการให้ชาวเกาหลีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม หรือข้าวของต่างๆ จนต่อมาเมื่อมีคนมาเปิดร้านกันมากเข้าๆ พื้นที่บริเวณนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมคนเกาหลี กลายมาเป็นย่านเกาหลีที่เต็มไปด้วยร้านค้าของชาวเกาหลีที่มีภาษาเกาหลีกำกับ มองไปมองมาก็เหมือนกับอยู่ในเกาหลีอย่างไรอย่างนั้น ว่าแล้วก็อย่ารอช้า รีบเข้าไปสำรวจโคเรียน ทาวน์ พร้อมๆ กันเลยดีกว่าว่าจะมีสิ่งน่าสนใจอย่างไรบ้าง

เริ่มจากทางเดินเข้าสู่สุขุมวิท พลาซ่า ที่มีป้ายขนาดใหญ่ที่รวมเอาชื่อร้านรวงทั้งหลายมาติดไว้ มองๆ ดูแล้วฉันก็อ่านไม่ออกสักร้านเพราะเป็นภาษาเกาหลีแทบทั้งหมด แต่ก็ยังน่ารักที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงพร้อมกับธงชาติไทยและธงตรา สัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อยู่ด้วย

เมื่อเดินเข้าไปด้านในก็ยิ่งได้สัมผัสกับกลิ่นอายของเกาหลีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากด้านในนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารเกาหลีกว่า สิบร้านเลยทีเดียว แต่ละร้านเขียนชื่อเป็นภาษาเกาหลี มีภาษาไทยตัวเล็กๆ เขียนไว้พอให้เรียกชื่อได้ถูก อ่านแค่ชื่อร้านก็สนุกแล้ว เช่น ร้านกวาน ฮัน รู ร้านยู ริม จอง ร้านโจ บัง นัคจิ ร้านอล มี จอง ร้านนัควอน ร้านเมียงคา ฯลฯ ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าร้านไหนอร่อยหรือไม่อร่อยกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ คือน่ากินไปเสียทุกร้านเลย เพราะหน้าร้านแต่ละร้านก็จะมีอาหารตัวอย่าง หรือเมนูให้ได้เลือกดูกัน บางร้านรับประกันความอร่อย เพราะมีแดจังกึมมาช่วยโฆษณาด้วย

นอกจากร้านอาหารเหล่านี้แล้ว หากใครพอที่จะทำอาหารเกาหลีเป็นหรือว่าอยากจะลองทำ แต่ไม่สามารถหาวัตถุดิบแบบเกาหลีแท้ๆ มาประกอบอาหารได้ ฉันก็ขอแนะนำให้มาที่โคเรียน ทาวน์ แห่งนี้ เพราะที่นี่มีร้านขายอาหาร หรือที่เรียกว่าฟู้ดมาร์ท คล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อของเรานั่นแหละ สินค้าก็คล้ายๆ กันเพียงแต่ข้าวของทั้งร้านนั้นนำเข้าจากเกาหลีนั่นเอง

สินค้าที่ว่าก็มีทั้งพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีน้ำปลา น้ำตาล ซอสและน้ำจิ้มชนิดต่างๆ มีสาหร่ายแผ่น มีพริกเกาหลีที่คล้ายๆ น้ำพริกเผาบ้านเรา รวมทั้งมีเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบต่างๆ ที่คนเกาหลีเขานิยมกินกันด้วย นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือกิมจิ ที่ฟู้ดมาร์ทแห่งนี้เขาทำกิมจิใหม่ๆ สดๆ หลากหลายแบบใส่ตู้แช่เอาไว้ ใครอยากกินก็ไปซื้อได้เลย ไม่ต้องทำเองให้ลำบาก

และข้างๆ ร้านฟู้ดมาร์ทนี้ก็เป็นร้านเล็กๆ ที่ขายขนมและอาหารแห้งของเกาหลีเช่นกัน มีขนมหน้าตาแปลกๆ หีบห่อน่ารักๆ แบบเกาหลีเต็มไปหมด และที่ร้านนี้ก็ยังมีนิตยสารจากเกาหลีขายอีกด้วยล่ะ

เมื่อมีร้านอาหารเกาหลีพร้อมสรรพแล้วให้คนเกาหลีได้อิ่มท้องแล้ว ก็ต้องมีสิ่งที่สร้างความบันเทิงแก่ชาวเกาหลีที่อยู่ในเมืองไทยได้หายคิดถึง บ้านกันบ้าง นั่นก็คือร้านคาราโอเกะที่มีอยู่หลายร้านด้วยกันบนชั้น 2-3 ของโคเรียน ทาวน์ ซึ่งต่างก็มีเพลงเกาหลีอัพเดทใหม่ๆ ให้ผู้ที่รักการร้องเพลงได้สนุกสนานกัน

แต่หากใครไม่ชอบความอึกทึกหรือเสียงเพลงดังๆ ขอแนะนำให้มาอ่านหนังสือที่ร้านเช่าหนังสือบนชั้น 3 ของโคเรียน ทาวน์ ที่นี่เป็นร้านเช่าหนังสือภาษาเกาหลีขนาด ย่อมที่มีหนังสือหลากหลายแนว ทั้งพ็อกเก็ตบุ๊ค หนังสือนิยาย หนังสือการ์ตูน และหนังสือภาพสำหรับเด็ก เรียกว่ารองรับได้ทั้งนักอ่านรุ่นใหญ่และรุ่นเยาว์เลยทีเดียว หนังสือบางเล่มของเกาหลีดูน่าอ่านมากทีเดียว เสียดายที่ภาษาเกาหลีฉันไม่กระดิกเลยสักตัว เลยได้แค่หยิบๆ จับๆ ขึ้นมาดูเท่านั้น

ความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งที่จะหาได้ที่โคเรียน ทาวน์แห่งนี้ก็คือร้านเช่าวิดีโอเล็กๆ ที่อยู่บนชั้น 4 แต่งานนี้ใครอ่านภาษาเกาหลีไม่ออกเห็นทีจะแย่หน่อย เพราะจะไม่รู้เลยว่าเรื่องอะไรเป็นอะไร แต่คิดอีกที ก็ร้านวิดีโอนี้เขามีไว้ให้คนเกาหลีดูเวลาคิดถึงบ้านนี่นา

นอกจากบรรดาร้านทั้งหลายที่ว่ามานี้แล้วก็ยังมีร้านรวงต่างๆ อีกมาก ทั้งสปา ร้านขายเครื่องประดับเพชรพลอย และอื่นๆ อีกมากมายให้ชาวเกาหลีรวมทั้งคนทั่วไปได้ใช้บริการกัน

สำหรับคนไทยแท้ๆ อย่างฉันก็คงไปใช้บริการที่โคเรียน ทาวน์ได้แค่ที่ร้านอาหารกับที่ฟู้ดมาร์ทเท่านั้นเอง แต่สำหรับคนไทยใจเกาหลี รวมทั้งไปถึงคนเกาหลีแท้ๆ ก็สามารถใช้บริการได้หมดเพราะไม่มีปัญหาเรื่องภาษา แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ฉันได้มาสัมผัสบรรยากาศของสถานที่แห่งนี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่าที่นี่เป็น "ย่านเกาหลี" ของจริง ที่แม้จะไม่ใหญ่โตเหมือนเยาวราชหรือพาหุรัด แต่ก็ได้บรรยากาศของเกาหลีไม่แพ้กัน

"โคเรียน ทาวน์" (Korean Town) ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท พลาซ่า ปากซอยสุขุมวิท 12 การเดินทางสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงยังสถานีนานา แล้วเดินย้อนมาทางสถานีอโศกประมาณ 300 เมตร

"หอเกียรติภูมิรถไฟ" ของดีที่ซ่อนอยู่ในสวนจตุจักร


รถไฟจิ๋วขบวนนี้กำลังวิ่งวนไปตามราง

แหล่งที่มา : manager.co.th (โดย : หนุ่มลูกทุ่ง)

“วาว วาว เสียงรถไฟวิ่งไปฤทัยครื้นเครง เรามันคนกันเองไม่ต้องเกรงใจใคร พวกเราเพลินชมไพรนั่งรถไฟถึงในไทรโยค โยนทุกข์ใดในโลกสู่ไทรโยคไป”

ฉันเดินฮัม เพลง มนต์ไทรโยคของวง ดิ อินโนเซ้นท์ ไปพลางๆหลังจากพาตัวเองแวะเวียนมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ภายในสวนจตุจักรเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากแวะมาชมหมู่มวลแมกไม้อันร่มรื่นแล้ว ฉันยังมีเป้าหมายสำคัญคือตั้งใจที่จะมาเยี่ยมชม "หอเกียรติภูมิรถไฟ" ซึ่งตั้งอยู่ภายในสวนด้วยนั้นเอง

หลายๆคนที่เคยมาพักผ่อนที่สวนจตุจักรอาจเคยสังเกตเห็นอาคารหลังใหญ่ ตั้งอยู่แถวๆบริเวณลาดจอดรถประตู 2 ในวันธรรมดาอาคารแห่งนี้จะถูกปิดตาย มองภายนอกคล้ายโกดังเก็บของแต่ในวัน เสาร์- อาทิตย์ ประตูจะถูกเปิดออกพร้อมกับเผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายใน

ที่นั้นแหละคือ"หอเกียรติภูมิรถไฟ"สถานที่ซึ่งเป็นขุมทรัพย์แห่งการ เรียนรู้ สำหรับผู้ที่มีใจรักและสนใจในเรื่องรถไฟ หอเกียรติภูมิรถไฟแห่งนี้ เปิดดำเนินการมานานกว่า 16 ปี แต่เดิมอาคารหลังนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างขึ้น เพื่อให้เป็น "พิพิธภัณฑ์รถไฟ"

ต่อมาการรถไฟฯ เลิกโครงการและไม่ใช้ประโยชน์จากอาคารพิพิธภัณฑ์รถไฟ ชมรม "เรารักรถไฟ" จึงขออนุมัติจากการรถไฟเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2533 และใช้ชื่อสถานที่ว่า "หอเกียรติภูมิรถไฟ" เพื่อสอดคล้องกับสิ่งของและวัตถุประสงค์ของการจัดแสดง

เพราะไม่เพียงรถไฟที่เป็นเกียรติภูมิของชาติเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีนโยบายจะจัดแสดงสิ่งของ ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่ยานยนต์ทุกชนิด รวมถึงการคมนาคม การสื่อสาร การศึกษา การพิมพ์ การถ่ายภาพ เป็นต้น

แม้จะเป็นวันอาทิตย์ก็จริงแต่ฉันก็สังเกตว่ามีผู้เข้าชมบางตา ทั้งๆที่ตอนฉันเดินเลียบสวนสาธารณะเข้ามานั้นมีผู้คนขวักไขว่ไม่รู้ด้วยเหตุ ใดจึงพากันมองข้ามสิ่งดีๆใกล้ตัวไป อดคิดไม่ได้ว่าถ้าฉันเป็นรถไฟและมีความรู้สึกก็คงน้อยใจเป็นแน่ ก็ดูสิอุตส่าห์ฝ่าแดดลมฝนมาหลายปี เพื่อรอคอยให้เราเข้าไปศึกษาหาประโยชน์จากตัวมัน แต่เรากลับไม่สนใจเสียนี่

อาคารหลังนี้คาดคะเนด้วยสายตาก็มีขนาดใหญ่โตพอสมควร ฉันเริ่มต้นจากเข้าไปถวายสักการะพระรูปของรัชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับบริเวณทางเข้าก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองพร้อมกับรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของ พระองค์ท่าน ที่ทรงพระราชทานกำเนิดการรถไฟให้เป็นการขนส่งมวลชนอย่างแรกในประเทศ

จากนั้นจึงเริ่มเดินดูรอบๆด้วยความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก เริ่มต้นที่"เกวียนไม้"ที่ ตั้งไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ควีนวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรให้ราชทูตนำขบวนรถไฟจำลองมาถวาย พร้อมด้วยข้อเสนอขอให้อังกฤษสร้างทางรถไฟสายแรกตัดข้ามคลองคอดกระให้
ซึ่งอาจหมายถึงการสูญเสียเอกราช รัชกาลที่4ทรงรับขบวนรถไฟจำลองไว้ก่อนปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า "สยามยังยากจน เรามีเกวียนใช้ก็พอแล้ว" มิเช่นนั้นไม่แน่ว่าป่านนี้เราอาจเป็นเมืองขึ้นไปแล้วก็ได้

สิ่งที่ฉันสนใจเป็นพิเศษก็คงจะเป็น "รถจักรไอน้ำ หมายเลข 10089" เป็นรถจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายที่บริษัทเกียวซานโกเกียวในญี่ปุ่นสร้างขึ้นก่อน เลิกกิจการ เพราะหมดยุคไอน้ำเมื่อสามสิบปีก่อนและจากการถอดชิ้นส่วนออกมาตรวจโดยละเอียด พบว่าไม่มีริ้วรอยการใช้งาน

สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามความต้องการของบริษัทโรงงานน้ำตาลใช้ขนอ้อย จากไร่ป้อนโรงงาน แต่พอมาถึงท่าวัดพระยาไกรก็เลิกใช้รถไฟเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ในการขนอ้อย "10089" จึงทิ้งไว้ในโกดังที่ท่าเรือ และไม่เคยใช้งานแต่อย่างใด

บริเวณใกล้ๆกันนั้นยังมีรถจักรไอน้ำที่ได้รับคำจำกัดความว่าเป็น"ผู้ปิดทอง หลังพระ" ของการรถไฟมีชื่อว่ารถจักรไอน้ำ "สูงเนิน" ซึ่งทำหน้าที่ตัดฟืน ขนน้ำ จากป่าที่ที่หัวหวายมาให้ขบวนรถไฟลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำใช้ที่สถานีสูงเนิน กลางดงพญาไฟในอดีต

ขณะที่ฉันเดินสำรวจอยู่นั้นก็จะมีเสียงบรรยายถึงประวัติ และสิ่งที่น่าสนใจจากเสียงตามสายมาเป็นระยะๆ ฉันสังเกตเห็นว่านอกจากฉันและผู้เข้าเยี่ยมชมอีกสองสามคนแล้ว ยังมีชายวัยกลางคนอีกคนหนึ่งที่คอยผุดลุกผุดนั่งเดินไปกวาดตรงโน้นปัดฝุ่น ตรงนี้พร้อมกับคอยบังคับปิด เปิดสวิตช์เจ้ารถไฟโมเดลให้วิ่งไปตามราง

ด้วยความสงสัยอยู่ในทีฉันจึงเดินเข้าไปสวัสดีและทักทาย จึงรู้ว่าตัวเองกำลังคุยอยู่กับ คุณจุลศิริ วิรยศิริ อายุ 58 ปี ผู้อำนวยการหอเกียรติภูมิรถไฟ และเหมาทุกตำแหน่งในหอเกียรติภูมิรถไฟ เขาเล่าให้ฉันฟังว่า ตอนนี้ที่นี่เสื่อมโทรมลงไปมากเพราะขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา

"ที่นี่เป็นของเอกชนก่อตั้งโดยคุณพ่อผม รายได้หลักก็อาศัยการรับบริจาคจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเท่านั้น เราไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ขนาดให้ดูฟรีคนก็ยังน้อย ผมเองก็ท้อใจหลายครั้งแต่เหตุผลที่ไม่สามารถละทิ้งได้ก็คือต้องการอนุรักษ์ เพื่อเป็นมรดกในอนุชนรุ่นหลัง ถ้าวันหนึ่งไม่ทำแล้วก็คงจะยกให้เอกชนจัดทำเป็นมูลนิธิดำเนินการหาทุน แต่ตอนนี้ก็ขอแค่มีคนเข้าชมก็พอใจเป็นที่สุดแล้ว"

ฉันรับฟังด้วยความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูกก่อนจะจบบทสนทนาแล้วขอตัวเดินไปดู รถไฟต่อ และต้องอัศจรรย์ใจกับ "รถโยก" ขนาดเล็กที่มีประวัติบอกไว้ว่าใช้สำหรับตรวจทางนำขบวนรถไฟเมื่อครั้งงาน "ร้อยปียานยนต์ไทย" ถูกลากจูงอยู่กับที่ด้วยหัวรถจักรดีเซล "ฮันสเล็ท" ซึ่งโรงงานมักกะสันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ซ่อมอนุรักษ์จากซากรถที่ใช้การ ไม่ได้แล้ว จนกลับใช้เครื่องยนต์ลากจูงฉุดลากขบวนรถไฟได้

ถัดมาเป็นตู้รถไฟที่ลากจูงคันแรก คือ "รถ ร.พ." ซึ่งเป็นตู้รถไฟไม้ที่นับได้ว่าเก่าที่สุดในประเทศไทย และอาจเป็นตู้รถไฟพยาบาลที่สร้างด้วยไม้สักทองหลังสุดท้ายของโลก รถ ร.พ.เกิดขึ้นพร้อมกับการแพทย์แผนตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสมัยรัชกาล ที่ 5 เมื่อทรงสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้นก็ทรงตระหนักถึงราษฎรที่อยู่ต่างจังหวัด

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินพระน้องยาเธอฯ ให้ออกแบบรถพยาบาลหลังแรกของไทย และโปรดเกล้าสั่งไม้สักทองจากบราซิลขนไปต่อที่ประเทศอังกฤษแล้วนำเข้ามาใน ประเทศไทย แต่ก็คาดว่าไม่มีโอกาสใช้รัชกาลที่ 5 ทรงสวรรคตเสียก่อน

ในโบกี้ต่อมาเป็นตู้ รถจ.พ. หรือรถจัดเฉพาะพยาบาล มีลักษณะภายนอกแบบเดียวกับรถ รพ.แต่ภายในตกแต่งคล้ายคลินิค ตรวจร่างกายแบบฉุกเฉิน ทั้งสองคันยังอยู่ในสภาพดี และถือว่าเป็นรถไฟที่เก่าที่สุดของประเทศไทย
นอกจากนั้นแล้วลุงจุลศิริก็ยังเล่าให้ฉันฟังว่า มีรถจัดเฉพาะอื่นๆ เช่น รถ จ.ขจก. ซึ่งเป็นตู้รถที่บรรทุกทหารที่จะไปปราบปรามโจรก่อการร้าย หรือ รถจ.ล.ย. ซึ่งเป็นตู้รถจัดเฉพาะลำไย ที่เอาไว้จัดส่งลำไย ทำให้ฉันนึกขันอยู่ในใจว่า นี่ถ้าเป็นผลไม้อื่นๆ ก็คงต้องมีชื่อเรียกอีกมากมายเป็นแน่

อ๋อ...และที่นี่เขายังนำเอาตู้รถไฟมาดัดแปลงเป็นห้องสมุด "ยานยนต์เฉลิมพระเกียรติ์" มีหนังสือเอกสารให้อ่านมากมาย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกด้วยข้างในก็ติดแอร์เย็นฉ่ำทีเดียว แถมยังมีรถไฟจำลองขนาดเล็กมากมายให้ชมอีกด้วย
รวมถึง "รถราง"ซึ่งในปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้วกว่า 30 ปี ฉันก็รู้จากที่นี่แหละว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียเชียวน่าที่ริเริ่ม นำรถรางมาใช้

เมื่อเดินเข้าไปข้างในสุดก็จะเป็นส่วนของ "หอเกียรติภูมิยานยนต์ พีระ-เจ้าดาราทอง" มีรถยนต์ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์อย่างรถ "เฟี๊ยตโทโปลิโน่" ที่เหมือนไม่ผิดเพี้ยนกับรถยนต์พระที่นั่งครั้งทรงพระเยาว์ของในหลวงรัชกาล ปัจจุบัน รถ "ดัทสันบลูเบิร์ด" ฉายาว่า "แท็กซี่เลือดไทย" เพราะสร้างในเมืองไทยเป็นคันแรก ใกล้ๆกันก็มีซากเครื่องสมัยสงครามโลกครั้ง2ให้ชมด้วย

ฉันเพลิดเพลินจำเริญใจกับเหล่ารถไฟจนเต็มอิ่มแล้วก็ได้เวลาโบกมือลา แต่ก็ยังไม่วายเหลียวหลังกลับไปมองหอเกียรติภูมิรถไฟด้วยความเสียดายว่า สถานที่ดีๆ แถมยังให้ดูฟรีอย่างนี้ แต่กลับเงียบเหงาไม่มีคนมาชมเท่าไรนัก

และก่อนที่ฉันจะกลับ ก็ไม่ลืมที่จะแวะสั่นระฆังรถไฟที่ตั้งอยู่บริเวณทางออกสามครั้งดังๆเป็นการ บอกลาเหล่ารถไฟและสิ่งของทุกชิ้นที่อยู่ใน "หอเกียรติภูมิรถไฟ"แห่งนี้

"หอเกียรติภูมิรถไฟ"ตั้ง อยู่ที่ลานจอดรถประตู 2 สวนจตุจักร ถนนกำแพงเพชร 3 กทม.10900 เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00น. ไม่เสียใช้จ่ายในการเข้าชม วันธรรมดาหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะโทร.08-1615-5776 การเดินทางเริ่มจากลงรถไฟฟ้า B T S สถานีหมอชิต แล้วเดินเลาะริมสวนสาธารณะจตุจักรมาเรื่อยๆแล้วเลี้ยวเข้าลานจอดรถประตู 2 จุดสังเกตอยู่ตรงข้ามธนาคารทหารไทย