บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บ้านหม่อมคึกฤทธิ์


ถ้าฉันพูดถึง "บ้านซอยสวนพลู" คนที่ได้ยินอาจจะนึกไม่ออกว่าซอยนี้อยู่ตรงส่วนไหนของกรุงเทพฯ แต่ถ้าถามว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของใคร ฉันว่าน่าจะมีหลายคนที่ตอบได้ถูกต้องว่า หมายถึงบ้านของศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และอีกหลายตำแหน่งที่ประชาชนต่างมอบให้ท่านด้วยความยกย่อง ซึ่งนับได้ว่า มรว.คึกฤทธิ์ เป็นหนึ่งในยอดปูชนียบุคคลแดนสยามที่ฝากผลงานไว้ให้ผู้คนประจักษ์มากมาย

แม้ว่าท่านจะล่วงลับไปนานกว่าสิบปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีผู้ที่ระลึกถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ที่ท่านได้ทำไว้เมื่อยังมีชีวิต และเนื่องในวันที่ 20 เมษายนนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ มรว.คึกฤทธิ์ ฉันจึงถือโอกาสพาเที่ยว พร้อมกับระลึกถึงท่านไปพร้อมๆ กันที่ "บ้าน มรว.คึกฤทธิ์" ในซอยสวนพลู ย่านสาทรแห่งนี้

สำหรับบ้าน มรว.คึกฤทธิ์ที่ฉันมาเยี่ยมเยือนในวันนี้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประเภทบ้านบุคคลสำคัญ ซึ่งยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมเหมือนเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ บรรยากาศภายในรั้วบ้านเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ไทยๆ หลากหลายชนิด ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ประดับ ฯลฯ ทำให้บรรยากาศร่มรื่นน่าสบาย

ฉันซื้อบัตรเข้าชมราคา 50 บาท จากเจ้าหน้าที่ซึ่งถามฉันว่า ต้องการเดินชมเองหรืออยากจะให้มีคนเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับบ้าน มรว.คึกฤทธิ์ระหว่างชมไปด้วย แน่นอนว่าฉันย่อมเลือกอย่างหลัง

เจ้าหน้าที่แนะนำให้ฉันกราบทำความเคารพรูปของ มรว.คึกฤทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก่อนจะเริ่มอธิบายถึงสถานที่ที่ฉันกำลังนั่งอยู่นี้ว่า ตรงส่วนนี้เรียกว่า "ศาลาไทย" เป็นศาลาซึ่งตั้งใจสร้างไว้เพื่อใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์ในการจัดกิจกรรม ต่างๆ ของเจ้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญเลี้ยงพระ งานไหว้ครูโขนละคร และงานเลี้ยงต่างๆ โดยรูปแบบของศาลาไทยนี้ได้มาจากศาลาใหญ่หน้าพระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหาร

นอกจากนั้นบนศาลาไทยยังมีตู้ใส่หัวโขนสองตู้ที่ตั้งอยู่บนยกพื้นภาย ในศาลา หลายคนคงจะทราบกันอยู่แล้วว่า มรว.คึกฤทธิ์นั้น เป็นผู้ก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ขึ้น โดยตั้งใจจะให้เยาวชนไทยเข้าใจวัฒนธรรมไทยผ่านสื่อนาฏศิลป์ โดยตัวท่านเองได้หัดโขนละครมาตั้งแต่เด็ก อย่างที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า "เรื่อง เล่นโขนนี้ในวังมีโรงหัดโขนในสมัยรัชกาลที่ 6 เราเป็นเด็กเข้าไปวิ่งเล่นอยู่ในวังเกือบทุกวัน ท่านขุนณัฐกานต์ท่านนึกยังไงของท่านจำไม่ได้เสียแล้ว มาจับไปหัดโขนให้..."


ดังนั้นหัวโขนที่อยู่ในตู้นี้จึงถือเป็นของรักของหวงของ มรว.คึกฤทธิ์ นอกจากนั้นหัวโขนเหล่านี้ต่างก็เคยใช้ในการแสดงโขนจริงมาแล้ว และบางหัวเป็นฝีมือของครูชิด แก้วดวงใหญ่ ซึ่งเป็นครูประดิษฐ์หัวโขนที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกด้วย

ภายในศาลาไทยยังมีตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำปิดทองอยู่สองใบ ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 180 ปี เพราะทำขึ้นเมื่อต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ตู้หนึ่งในสองใบนี้ค่อนข้างจะพิเศษตรงที่เป็นฝีมือของถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ซึ่งได้นำตู้ที่ลวดลายเลอะเลือนไปหมดแล้วใบนี้มาเขียนขึ้นใหม่ นอกจากนั้นด้านข้างศาลาไทยยังมีเก๋งจีนซึ่งมีรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้ากวนอู ซึ่งเป็นของที่ระลึกของเติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของประเทศจีนอีกด้วย

จากศาลาไทย ฉันผ่านสวนหย่อมเล็กๆ เรียกว่าสวนเขมร ที่ตกแต่งด้วยโบราณวัตถุทั้งของจริงและของจำลอง ไม่ว่าจะเป็นศิวลึงค์ หรือนางอัปสรพ่นน้ำ กำแพงศิลาแลง และทับหลังต่างๆ โดยจะเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งก็ย่อมได้

จากนั้นจึงเข้าสู่ส่วนของเรือนไทย เจ้าหน้าที่เล่าให้ฉันฟังถึงความใฝ่ฝันของ มรว.คึกฤทธิ์ที่จะมีบ้านเรือนไทย ตามที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า "เพราะรักเรือนไทยมานานแสนนาน เนื่องจากเห็นความสวยงาม อยากอยู่อย่างไทย มีนอกชานเล่น…" ดังนั้น มรว.คึกฤทธิ์จึงได้ซื้อที่ดิน 5 ไร่ในซอยสวนพลู และได้ซื้อเรือนไทยเก่าจากบริเวณเสาชิงช้า และเรือนไทยภาคกลางอีกสองหลังจากอำเภอผักไห่ มาปลูกบนที่ดินในซอยสวนพลูตามแบบที่ท่านฝันไว้

สำหรับช่างที่มาปลูกสร้างบ้านนั้น ก็ได้ช่างจากอำเภอผักไห่ที่มีความผูกพันกับราชสกุลปราโมช เพราะบรรพบุรุษเคยเป็นเลกฝีพายที่ทำงานอยู่กับบิดาของ มรว.คึกฤทธิ์มาก่อน ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน บ้านเรือนไทยในซอยสวนพลูนี้ก็สร้างเสร็จ และท่านได้ให้ทำพายมีลวดลายสีทองประดับไว้เหนือประตูของเรือนประธาน เพื่อเป็นการ “เซ็นชื่อ” หรือทำสัญลักษณ์แทนตัวผู้สร้างไว้ด้วย

เรือนไทยหลังนี้ เรียกว่าเป็นหมู่เรือนไทย เพราะประกอบด้วยเรือนไม้ขนาดต่างๆ กัน 5 หลัง และมีนอกชานเชื่อมถึงกันโดยตลอด เรือนประธานของหมู่เรือนไทยนี้เรียกกันว่า "เรือนคุณย่า" ชื่อนี้มีที่มาออกจะน่าขนลุกเล็กน้อย คือมีคนขับรถสามล้อมาถาม มรว.คึกฤทธิ์ถึงที่บ้าน เพราะมีผู้หญิงแก่คนหนึ่งเรียกสามล้อจากเสาชิงช้ามายังบ้านในซอยสวนพลูหลัง นี้หลายครั้งแล้ว เมื่อมาถึงก็ไม่ยอมจ่ายค่ารถ เดินหายเข้าไปในบ้านของท่าน แรกๆ ก็ไม่กล้าทวงเพราะเห็นว่ามาบ้านของนักการเมืองใหญ่ แต่เมื่อหลายครั้งเข้าจึงมาถามดู

มรว.คึกฤทธิ์ จึงเรียกคนในบ้านมาถามว่ามีใครเห็นหญิงแก่คนนั้นบ้าง ก็ไม่มีใครเห็น จึงไปสอบถามกับทางเจ้าของบ้านเก่าที่เสาชิงช้าจึงได้ความว่า เจ้าของบ้านเดิมซึ่งเป็นหญิงชรารักบ้านหลังนี้มาก จึงตั้งใจว่าไม่ว่าบ้านหลังนี้จะเป็นของใคร ก็จะตามมาอยู่ด้วย มรว.คึกฤทธิ์จึงจุดธูปเชิญให้หญิงชรามาอยู่ที่บ้านหลังนี้ด้วยกัน และเรียกชื่อว่าเรือนคุณย่า ซึ่งจัดเป็นห้องรับแขกสำคัญๆ รวมทั้งมีข้าวของมีค่าหลายอย่าง เช่น เตียงเท้าสิงห์ลงรักปิดทองประดับกระจกสี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระแท่นทรงงานของรัชกาลที่ 2 รวมทั้งตู้หุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี อิเหนา และตู้เครื่องถมทองมีค่าต่างๆ มากมาย


ด้านข้างของเรือนคุณย่าทางขวามือติดบันไดคือหอพระ ส่วนอีกด้านหนึ่งเรียกหอขวาง เป็นที่นั่งเล่นส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ตกแต่งด้วยเครื่องปั้นดินเผาศิลปะบ้านเชียง และเครื่องสังคโลก ส่วนเรือนขนาดกลางอีกสองหลังนั้นคือเรือนนอน ซึ่งแบ่งเป็นสามส่วนด้วยกันคือห้องพระ เตียงนอน และห้องแต่งตัว ในเรือนนอนนี้มีของสำคัญคือตลับงาช้างขนาดต่างๆ นับสิบตลับวางอยู่ในตู้ ตลับงาช้างเหล่านี้เป็นของที่ "เล่น" หรือสะสมกันมากในสมัยรัชกาลที่ 5

ฝั่งตรงข้ามกับเรือนนอนคือส่วนของห้องทำงาน แบ่งเป็นห้องเล็กและห้องใหญ่ ด้านในเต็มไปด้วยหนังสือหนังหามากมายทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ มีโต๊ะหนังสือขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายใน แต่สถานที่ทำงานของท่านส่วนใหญ่จะอยู่ที่โต๊ะไม้ใต้ถุนบ้านเสียมากกว่า

พูดถึงใต้ถุนบ้านแล้วก็ลงมาดูกันเสียหน่อยดีกว่า บ้านหลังนี้ก็มีใต้ถุนตามแบบมาตรฐานเรือนไทยทั่วไป ใต้ถุนไม่สูงมากนัก ปูพื้นด้วยแผ่นกระเบื้องเพื่อไม่ให้เฉอะแฉะเมื่อฝนตก รวมทั้งยังทำให้มีพื้นที่มากขึ้นด้วย เพราะใต้ถุนบ้านนี้ได้จัดเป็นส่วนของโต๊ะกินข้าว เป็นโต๊ะไม้ยาว เจ้าหน้าที่บอกฉันว่า ครัวที่นี่จะต้องจัดอาหารไว้ให้พอสำหรับ 8-10 คนทุกวัน เพราะ มรว.คึกฤทธิ์ มักจะมีแขกมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ท่านจึงปฏิบัติตามคำกล่าวที่ว่า "ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ"

ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าบ้านหลังนี้จะสร้างเป็นบ้านเรือนไทย แต่ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาไว้ด้วย เช่นการติดเครื่องปรับอากาศในห้องทำงานโดยไม่ทำให้เสียบรรยากาศเรือนไทย หรือห้องน้ำที่มีสุขภัณฑ์สมัยใหม่ครบถ้วน และที่ฉันทึ่งก็คือ เรือนไทยแห่งนี้มีแม้กระทั่งลิฟท์ ที่ติดตั้งไว้เมื่อคราวที่เจ้าของบ้านมีอายุมากขึ้น ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถขึ้นลงบันไดได้สะดวกอย่างแต่ก่อน

แม้จะบ้านในซอยสวนพลูนี้จะตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง แต่ด้วยความที่สถานที่ตั้งของบ้านอยู่ลึกเข้ามาในซอย ทำให้เสียงรบกวนจากรถราต่างๆ เข้ามาไม่ถึง บ้านเรือนไทยหลังนี้จึงยังสงบร่มรื่นได้อย่างแท้จริง และแม้ฉันจะไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน แต่ก็บอกได้ว่าบ้านหลังนี้คงจะทำให้ผู้อาศัยเกิดความสุขได้ไม่น้อยเลยที เดียว

บ้านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ หรือที่หลายคนติดปากว่าบ้านซอยสวนพลูนั้น เป็นสถานที่ที่เคยต้อนรับผู้คนมากมายที่ตั้งใจจะมาพบปะพูดคุยกับเจ้าของบ้าน แม้เมื่อประมุขของบ้านจะจากไปแล้ว แต่บ้านหลังนี้ก็ยังคงอยู่เพื่อต้อนรับทุกท่านที่ยังคงนึกถึงและเคารพเจ้า ของบ้าน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตลอดไป

บ้าน มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งอยู่ที่ 19 ซอยพระพินิจ ถนนสาทรใต้ กทม. 10120 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะเปิดให้ชมในเวลา 10.00-17.00 น. เสียค่าเข้าชมคนละ 50 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบคนละ 20 บาท ผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นกลุ่มในวันอื่น โปรดติดต่อและนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ติดต่อสอบถามโทร.0-2679-3630

การเดินทาง สามารถเข้าได้ทั้งทางถนนสาทรใต้ โดยเข้าทางซอยสาทร 3 แล้วเลี้ยวขวาแรก เข้าซอยพระพินิจ หรือเข้ามาทางถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 7 ในวันหยุดราชการสามารถจอดรถได้ในซอยพระพินิจ และถนนนราธิวาสฯ

ถนนสาทรใต้มีรถประจำทางสาย 17, 116, 149 และ ปอ.173 ผ่าน ซอยสาทร 3 มีรถประจำทางสาย 22, 62, 67, 89 ผ่าน และถนนนราธิวาสฯ มีรถประจำทางสาย 77 ผ่าน หรือสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีช่องนนทรีได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น