บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ท่อง“พาหุรัด”เที่ยวกระจาย สไตล์ “ลิตเติ้ล อินเดีย”




ถ้าเอ่ยถึงถนนสายผ้าหรือย่านรวมรวมผ้านานาชนิดในกรุงเทพฯ รวมถึงข้าวของอีกสารพัดอย่าง จากดินแดนภารตะ แน่นอนว่าคงจะไม่ทีที่ไหนโดดเด่นเกิน“พาหุรัด” เป็นแน่แท้ ซึ่งนี่ก็หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการออกมาตะลุยท่องในดินแดนลิตเติ้ลอินเดีย ครั้งนี้

แต่ว่าก่อนที่ฉันจะไปสำรวจตลาดพร้อมจับจ่ายสบายแฮร์ที่ย่านค้าผ้าที่ ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯนั้น ฉันต้องขอเล่าถึงความเป็นมาของถนนพาหุรัดแบบคร่าวๆพอหอมปากหอมคอกันก่อน

เดิมถนนพาหุรัดก่อนที่จะมาเป็นย่านลิตเติ้ลอินเดียดังเช่นในปัจจุบัน พาหุรัดเป็นที่ดินส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงองค์น้อย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ แต่พระราชธิดาได้สิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 10 ชันษา พระมารดาจึงได้นำทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชธิดามาสร้างเป็นถนน และพระราชทานนามว่า “ถนนพาหุรัด” เพื่อเป็นอนุสรณ์และอุทิศเป็นส่วนกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย

ถนนพาหุรัดจึงได้ถือกำเนิดขึ้นนับแต่นั้นมา ซึ่งถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว และด้วยความที่ย่านนี้มีสินค้าที่มีให้เลือกสรรอย่างมากมายและหลากหลายทั้ง ผ้าตัด อุปกรณ์ตัดเย็บ รวมไปถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปสารพัดชาติ ทั้งชุดไทย ชุดจีน โดยเฉพาะส่าหรีที่มีขายแทบจะทุกหย่อมในพาหุรัดเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้พาหุรัดยังมีชุมชนเล็กๆที่ยังคงดำเนินวิถีแบบภารตะอยู่ จนทำให้หลายๆคน ขนานนามย่านพาหุรัด ว่าเป็น “ลิตเติ้ล อินเดีย”เมืองไทย

ส่วนแขกโพกผ้าที่อาศัยและทำมาค้าขายกันที่ย่านพาหุรัด ไม่ใช่แขกฮินดู หากแต่เป็นแขกซิกข์ ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในย่านพาหุรัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พาหุรัดจึงมีวัดซิกข์แห่งแรกของไทย หรือ“คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา”(วัดซิกข์)ที่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางความ จอแจพลุกพล่าน

วัดซิกข์แห่งนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชุมชนที่นี่ เป็นศูนย์กลางของการประกอบศาสนกิจ ชุมนุมเจริญธรรม เป็นสถานที่ประกอบพิธีมงคลสมรสต่อหน้าพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ และงานเฉลิมฉลองวันสำคัญทางศาสนา

คำว่า “ซิกข์” เป็นภาษาปัญจาบี มาจากคำว่า “สิกข์” หรือ “สิกขา” ใน ภาษาบาลีและตรงกับคำว่า ศิษย์ ซึ่งแปลว่า ผู้ศึกษาโดยถือว่าผู้ที่นับถือศาสนาซิกข์ทุกคนเป็นศิษย์ของคุรุ หรือ ครู คำว่า คุรุ เป็นคำเรียกพระศาสดาของชาวซิกข์

ส่วนการตั้งหลักแหล่งของชาวซิกข์นั้น มักจะตั้งบ้านเรือนใกล้เคียงกันเป็นกลุ่ม และมักจะตั้งอยู่โดยรอบศาสนาสถานหรือวัดของตน ซึ่งชาวซิกข์เรียกว่า “คุรุดวารา” (หมายถึงประตูที่ทอดไปสู่พระศาสดา) เนื่องจากวัดของชาวซิกข์มีบทบาทอย่างสูงต่อชุมชน ทั้งทางกิจกรรมสังคมและเศรษฐกิจ

ฉันเดินขึ้นไปยังชั้น 4 ของวัดแห่งนี้ เพื่อสักการะพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ ซึ่งผู้ดูแลได้แนะนำให้ฉันก้มลงกราบที่พื้น 1 ครั้ง แล้วเดินวนรอบที่ประทับพระคัมภีร์ ก่อนจะรับอาหารของพระเจ้าที่ผู้ดูแลหยิบยืนให้

ด้วยความที่ฉันไม่ใช่ผู้ที่นับถือซิกข์ ไม่ได้มีลักษณะเป็นแขกแม้แต่ประการเดียว และก็เข้าไปด้วยความเก้ๆกังๆ แต่ทุกคนที่วัดซิกข์แห่งนี้ กลับแนะนำและต้อนรับฉันอย่างเป็นกันเองมากไปด้วยอัธยาศัยไมตรี ทำให้ความเกร็งของฉันหายไปโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะไม่ค่อยเข้าใจความหมายในการสักการะและพิธีกรรมของซิกข์เท่าไรนัก แต่ฉันก็กลับออกมาด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอิบใจในมิตรไมตรีที่ได้รับ

หลังเข้าวัดไหว้สักการะพระมหาคัมภีร์เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อไปก็เป็นเวลาของการออกเดินสำรวจตลาดพาหุรัดแหล่งขายผ้าอันเลื่องชื่อ

ตามตรอกซอกซอยในย่านนี้ไม่ว่าจะเหลียวซ้ายแลขวาไปทางไหน ก็เห็นแต่ผ้า ผ้า ผ้า และก็ผ้าเต็มไปหมด ทั้งผ้าตัด และเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงอุปกรณ์การตัดเย็บ ทั้งเข็ม ด้าย กระดุมหลากหลายสารพัดรูปแบบ อีกทั้งยังมีเครื่องแต่งตัวหลากสไตล์ตั้งแต่หัวจรดเท้าอย่างที่หลายๆคนรู้ กัน นอกจากนี้แล้วที่เห็นจะเยอะไม่แพ้กันก็คงจะเป็นร้านขายของชำร่วยและชุดแต่ง งาน ที่ถือได้ว่าพาหุรัดเป็นอีกแหล่งซื้อหาของวันวิวาห์สำหรับคู่บ่าวสาวเลยก็ ว่าได้

เดินต่อมาเรื่อยๆ ฉันก็มาหยุดอยู่หน้าที่ว่างเปล่าขนาดใหญ่ ที่แต่เดิมตรงนี้คือห้าง ATM แหล่ง รวมผ้าที่ขึ้นชื่อที่สุดในย่านลิตเติ้ลอินเดีย แต่หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ไปเมื่อหลายปีก่อนทำให้ห้าง ATM กลายเป็นเพียงตำนานแห่งความทรงจำเท่านั้น

ข้างๆห้างATMเก่าจะมีซอยเล็กๆที่สามารถเดินทะลุวนไปยังวัดซิกข์ได้ แต่ถึงจะเป็นซอยเล็กๆแต่ก็ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายสไตล์อินเดียที่ออกแนวขรึม ขลังนิดๆ ในซอยนี้มีร้าน “เฟริส์ ช๊อพ” (ร้านเจย์ดี) ที่ขายกำยานและธูปหอม ที่นำเข้าจากอินเดีย

เจ้าของร้านบอกกับฉันว่า กำยานจะต่างจากธูปตรงที่กำยานจะไม่มีก้าน มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมสีออกดำๆ และให้กลิ่นที่ฉุนกว่าธูป มีทั้งแบบเปียกและแห้ง รวมทั้งมีกลิ่นหลากหลายให้เลือกตามความชอบของแต่ละคน เช่น กลิ่นดอกไม้ ดอกมะลิ กุหลาบ จำปี กลิ่นผลไม้ กลิ่นสมุนไพร ชาวแขกจะนิยมนำไปใช้เพื่อบูชาเทพเจ้า โดยเชื่อว่าจะจุดกำยานก่อนเพื่อไล่สิ่งที่ไม่ดี แล้วจึงจุดธูปเพื่อบูชาเทพเจ้าต่อไป

ถัดจากร้านเจย์ดีเป็นร้าน “ซันนี่ วิดีโอ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นร้านขายดีวีดี วีซีดีทั้งหนัง ละคร และเพลงอินเดียที่อัพเดทที่สุดไม่ว่าจะเป็นหนังรัก หนังตลก หนังแอ็คชั่น หรือหนังแนวไหนๆ ซึ่งเมื่อฉายในอินเดียแล้ว หนังเหล่าจะถูกนำลงแผ่นอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ใครที่ชอบหนังและเพลงอินเดียสามารถมาเลือกซื้อเลือกหากันได้ตามใจชอบ

ไม่ไกลจากร้านซันนี่มีโต๊ะตั้งขายหมากหวานอยู่ หรือที่คนแถวนี้รู้จักกันในนาม “ร้านอ้วนหมากหวาน” ถ้า มองผ่านๆก็เหมือนหมากบ้านฉัน ที่ปู่ย่าตาทวดเคี้ยวกันปากแดงทั้งวี่ทั้งวัน แต่หมากหวานนี้จะต่างกันตรงที่มีเครื่องเยอะกว่า และมีรสหวานของมะพร้าวหรือกุหลาบเชื่อม

สำหรับวิธีทำหมากหวานนั้นก็จะคล้ายๆกับหมากบ้านเรา คือ นำใบพลูมาทาปูนกินหมาก แต่ทาเพียงแค่ป้ายนิดเดียวเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นปูนจะกัดปากเอาได้ พอป้ายปูนเสร็จแล้วก็ให้ใส่กุหลาบเชื่อม เม็ดสีๆเล็กๆคล้ายลูกกวาด แต่มีรสซ่า ตามด้วย น้ำผึ้ง เม็ดสมุนไพร มะพร้าวแห้งคั่วเนย กานพลู ก็เป็นอันเสร็จสรรพได้หมากหวานรสถึงใจมาเคี้ยวกร้วมๆกันอย่างเพลินปาก

ปัจจุบันคนอินเดียและคนเนปาลในย่านแห่งนี้จะไม่ค่อยนิยมหมากหวานแบบ สดๆนี้แล้ว แต่จะนิยมแบบซองสำเร็จรูปแทนซึ่งจะมีหลากหลายรสชาติให้เลือก ส่วนหมากหวานแบบสดๆจะนิยมใช้ถวายบูชาเทพเจ้า หรือใช้ในงานพิธีต่างๆมากกว่า หากใครสนใจละก็ลองซื้อสักคำมาลิ้มลองกันได้ ราคาไม่แพงแค่คำละ 3 บาทเท่านั้นเอง

ฉันเดินไปเคี้ยวหมากหวานไป ก่อนจะไปหยุดยังร้าน“ไซโก้”ที่ เต็มไปด้วยเทวรูปมากมาย เจ้าของร้านหญิงไทยเชื้อจีนแต่ใจภารตะบอกกับฉันว่า เทวรูปทั้งหมดมีทั้งทำในไทยและนำเข้ามาจากอินเดีย อาทิ พระแม่อุมาประทับสิงโต พระศิวะ พระพิฆเณศ และอีกหลายรูปเคารพในหลายอิริยาบท ส่วนลูกค้าที่มาซื้อก็มีหลายเชื้อชาติทั้งแขก จีน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั้งพี่ไทยเราก็ศรัทธาในเทวรูปกันเยอะเช่นกัน

เดินเที่ยวลิตเติ้ลอินเดียมาหลายร้านแล้ว อาการหิวถามหา ฉันจึงเลือกปิดท้ายทริปด้วยการไปร้านอาหารแขกในย่านนั้นเติมพลังปิดท้ายทริป ก่อนอำลาจากย่านหาหุรัด ย่านที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศแบบภารตะสมดังฉายา ลิตเติ้ลอินเดียเมืองไทย

ลิตเติ้ลอินเดีย หรือ พาหุรัด ตั้งอยู่บนถ.พาหุรัด และถ.จักรเพชร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตรงข้ามกับห้างดิโอลด์สยาม และห้างเซ็นทรัล วังบูรพา

การ เข้าสักการะพระมหาคัมภีร์และชมวัดซิกข์นั้น บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ โดยต้องแต่งกายสุภาพ ถอดรองเท้า และสำหรับผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมผมด้วย ซึ่งผ้าคลุมผมทางวัดมีจัดเตรียมไว้ให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น