บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

ท่องย่านเกาหลีในเมืองไทย ที่"โคเรียน ทาวน์"


สุขุมวิท พลาซ่า หรือที่รู้จักกันในนาม "Korean Town"
มาจนถึงวันนี้ กระแสเกาหลีฟีเวอร์ก็ยังไม่จางหายไป จากความสนใจของคนไทยเท่าไรเลยนะฉันว่า ถ้าจะนับกันจริงๆ ก็นานหลายปีแล้วที่ความเป็นเกาหลีเริ่มมาเป็นที่นิยม ตั้งแต่ละครเกาหลีเรื่องแรกๆ อย่าง Autumn in My Heart ละครสุดเศร้าเคล้าน้ำตา ตามต่อมาด้วย Winter Love Song ละครรักโรแมนติกสุดซึ้ง และมาดังระเบิดระเบ้อก็ตอนที่จอมนางแห่งวังหลวง แดจังกึม มาทำอาหารให้คนดูน้ำลายไหลไปตามๆ กัน และกับเรื่องล่าสุดที่เพิ่งจบไปคือเรื่อง เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา ก็ทำเอาหลายคนอยากเป็นเจ้าหญิงขึ้นมาตะหงิดๆ

ไม่เพียงแค่บรรดาละครเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นที่นิยม แต่ทั้งภาพยนตร์เกาหลี เพลงภาษาเกาหลี โรงเรียนสอนภาษาเกาหลี อาหารเกาหลี และการท่องเที่ยวเกาหลีต่างก็ได้รับอานิสงส์ของความนิยมนี้ไปด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเกาหลีนั้น เล็งเห็นช่องทางขายจากความนิยมในละครเกาหลี จึงได้ปิ๊งไอเดียจัดทัวร์ท่องเที่ยวเกาหลีตามรอยละครเรื่องต่างๆ ที่นอกจากจะพาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่งแล้ว ก็ยังจะพาไปชมสถานที่ถ่ายทำละครเรื่องดังๆ ตรงไหนที่พระเอกนางเอกเดินจับมือกัน ตรงไหนทะเลาะกัน ตรงไหนคืนดีกัน ก็ตามไปดูกันได้ ซึ่งแพ็คเกจทัวร์นี้ก็ทำเอาการท่องเที่ยวเกาหลีรับทรัพย์จากนักท่องเที่ยว ชาวไทยไปเต็มๆ

ว่ามาซะยาวอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าฉันจะชวนไปเที่ยวประเทศเกาหลีแต่อย่างใด แม้ว่าฉันจะเป็นคนหนึ่งที่นิยมดูละครเกาหลีอยู่เช่นกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีทุนทรัพย์พอจะบินไปอินกับเขาที่นู่นหรอก ก็ได้แต่อาศัยดูละครเอาบ้าง กินอาหารเกาหลีเอาบ้างพอให้ได้บรรยากาศ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ฉันเพิ่งได้ไปเจอสถานที่ดีๆ ที่ผู้นิยมเกาหลีน่าจะชอบกัน สถานที่ที่ว่านั้นก็คือ "โคเรียน ทาวน์" (Korean Town) เกาหลีในกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในสุขุมวิท พลาซ่า บริเวณหน้าปากซอยสุขุมวิท 12 นี่เอง

ในเมื่อกรุงเทพฯ มีไชน่า ทาวน์ ที่เยาวราช มีลิตเติ้ล อินเดีย ที่พาหุรัด แล้วทำไมจะมีโคเรียน ทาวน์ ที่สุขุมวิทบ้างไม่ได้ล่ะ จริงไหม แม้ว่าโคเรียน ทาวน์แห่งนี้จะไม่ใหญ่โตเท่าไรนัก เป็นเพียงอาคารสี่ชั้นตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ก็ได้บรรยากาศของความเป็นเกาหลีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่เรียกบริเวณนี้ว่าเป็นโคเรียน ทาวน์ ก็เพราะเหตุว่าในแถบสุขุมวิทนี้เป็นที่อยู่ของชาวเกาหลีจำนวนมากที่อาศัย อยู่ในประเทศไทย และเมื่อมีคนเชื้อชาติเดียวกันมาอยู่รวมกันมากๆ เข้า จึงมีคนคิดทำธุรกิจร้านค้าต่างๆ เพื่อที่จะสนองความต้องการให้ชาวเกาหลีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม หรือข้าวของต่างๆ จนต่อมาเมื่อมีคนมาเปิดร้านกันมากเข้าๆ พื้นที่บริเวณนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมคนเกาหลี กลายมาเป็นย่านเกาหลีที่เต็มไปด้วยร้านค้าของชาวเกาหลีที่มีภาษาเกาหลีกำกับ มองไปมองมาก็เหมือนกับอยู่ในเกาหลีอย่างไรอย่างนั้น ว่าแล้วก็อย่ารอช้า รีบเข้าไปสำรวจโคเรียน ทาวน์ พร้อมๆ กันเลยดีกว่าว่าจะมีสิ่งน่าสนใจอย่างไรบ้าง

เริ่มจากทางเดินเข้าสู่สุขุมวิท พลาซ่า ที่มีป้ายขนาดใหญ่ที่รวมเอาชื่อร้านรวงทั้งหลายมาติดไว้ มองๆ ดูแล้วฉันก็อ่านไม่ออกสักร้านเพราะเป็นภาษาเกาหลีแทบทั้งหมด แต่ก็ยังน่ารักที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงพร้อมกับธงชาติไทยและธงตรา สัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อยู่ด้วย

เมื่อเดินเข้าไปด้านในก็ยิ่งได้สัมผัสกับกลิ่นอายของเกาหลีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากด้านในนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารเกาหลีกว่า สิบร้านเลยทีเดียว แต่ละร้านเขียนชื่อเป็นภาษาเกาหลี มีภาษาไทยตัวเล็กๆ เขียนไว้พอให้เรียกชื่อได้ถูก อ่านแค่ชื่อร้านก็สนุกแล้ว เช่น ร้านกวาน ฮัน รู ร้านยู ริม จอง ร้านโจ บัง นัคจิ ร้านอล มี จอง ร้านนัควอน ร้านเมียงคา ฯลฯ ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าร้านไหนอร่อยหรือไม่อร่อยกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ คือน่ากินไปเสียทุกร้านเลย เพราะหน้าร้านแต่ละร้านก็จะมีอาหารตัวอย่าง หรือเมนูให้ได้เลือกดูกัน บางร้านรับประกันความอร่อย เพราะมีแดจังกึมมาช่วยโฆษณาด้วย

นอกจากร้านอาหารเหล่านี้แล้ว หากใครพอที่จะทำอาหารเกาหลีเป็นหรือว่าอยากจะลองทำ แต่ไม่สามารถหาวัตถุดิบแบบเกาหลีแท้ๆ มาประกอบอาหารได้ ฉันก็ขอแนะนำให้มาที่โคเรียน ทาวน์ แห่งนี้ เพราะที่นี่มีร้านขายอาหาร หรือที่เรียกว่าฟู้ดมาร์ท คล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อของเรานั่นแหละ สินค้าก็คล้ายๆ กันเพียงแต่ข้าวของทั้งร้านนั้นนำเข้าจากเกาหลีนั่นเอง

สินค้าที่ว่าก็มีทั้งพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีน้ำปลา น้ำตาล ซอสและน้ำจิ้มชนิดต่างๆ มีสาหร่ายแผ่น มีพริกเกาหลีที่คล้ายๆ น้ำพริกเผาบ้านเรา รวมทั้งมีเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบต่างๆ ที่คนเกาหลีเขานิยมกินกันด้วย นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือกิมจิ ที่ฟู้ดมาร์ทแห่งนี้เขาทำกิมจิใหม่ๆ สดๆ หลากหลายแบบใส่ตู้แช่เอาไว้ ใครอยากกินก็ไปซื้อได้เลย ไม่ต้องทำเองให้ลำบาก

และข้างๆ ร้านฟู้ดมาร์ทนี้ก็เป็นร้านเล็กๆ ที่ขายขนมและอาหารแห้งของเกาหลีเช่นกัน มีขนมหน้าตาแปลกๆ หีบห่อน่ารักๆ แบบเกาหลีเต็มไปหมด และที่ร้านนี้ก็ยังมีนิตยสารจากเกาหลีขายอีกด้วยล่ะ

เมื่อมีร้านอาหารเกาหลีพร้อมสรรพแล้วให้คนเกาหลีได้อิ่มท้องแล้ว ก็ต้องมีสิ่งที่สร้างความบันเทิงแก่ชาวเกาหลีที่อยู่ในเมืองไทยได้หายคิดถึง บ้านกันบ้าง นั่นก็คือร้านคาราโอเกะที่มีอยู่หลายร้านด้วยกันบนชั้น 2-3 ของโคเรียน ทาวน์ ซึ่งต่างก็มีเพลงเกาหลีอัพเดทใหม่ๆ ให้ผู้ที่รักการร้องเพลงได้สนุกสนานกัน

แต่หากใครไม่ชอบความอึกทึกหรือเสียงเพลงดังๆ ขอแนะนำให้มาอ่านหนังสือที่ร้านเช่าหนังสือบนชั้น 3 ของโคเรียน ทาวน์ ที่นี่เป็นร้านเช่าหนังสือภาษาเกาหลีขนาด ย่อมที่มีหนังสือหลากหลายแนว ทั้งพ็อกเก็ตบุ๊ค หนังสือนิยาย หนังสือการ์ตูน และหนังสือภาพสำหรับเด็ก เรียกว่ารองรับได้ทั้งนักอ่านรุ่นใหญ่และรุ่นเยาว์เลยทีเดียว หนังสือบางเล่มของเกาหลีดูน่าอ่านมากทีเดียว เสียดายที่ภาษาเกาหลีฉันไม่กระดิกเลยสักตัว เลยได้แค่หยิบๆ จับๆ ขึ้นมาดูเท่านั้น

ความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งที่จะหาได้ที่โคเรียน ทาวน์แห่งนี้ก็คือร้านเช่าวิดีโอเล็กๆ ที่อยู่บนชั้น 4 แต่งานนี้ใครอ่านภาษาเกาหลีไม่ออกเห็นทีจะแย่หน่อย เพราะจะไม่รู้เลยว่าเรื่องอะไรเป็นอะไร แต่คิดอีกที ก็ร้านวิดีโอนี้เขามีไว้ให้คนเกาหลีดูเวลาคิดถึงบ้านนี่นา

นอกจากบรรดาร้านทั้งหลายที่ว่ามานี้แล้วก็ยังมีร้านรวงต่างๆ อีกมาก ทั้งสปา ร้านขายเครื่องประดับเพชรพลอย และอื่นๆ อีกมากมายให้ชาวเกาหลีรวมทั้งคนทั่วไปได้ใช้บริการกัน

สำหรับคนไทยแท้ๆ อย่างฉันก็คงไปใช้บริการที่โคเรียน ทาวน์ได้แค่ที่ร้านอาหารกับที่ฟู้ดมาร์ทเท่านั้นเอง แต่สำหรับคนไทยใจเกาหลี รวมทั้งไปถึงคนเกาหลีแท้ๆ ก็สามารถใช้บริการได้หมดเพราะไม่มีปัญหาเรื่องภาษา แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ฉันได้มาสัมผัสบรรยากาศของสถานที่แห่งนี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่าที่นี่เป็น "ย่านเกาหลี" ของจริง ที่แม้จะไม่ใหญ่โตเหมือนเยาวราชหรือพาหุรัด แต่ก็ได้บรรยากาศของเกาหลีไม่แพ้กัน

"โคเรียน ทาวน์" (Korean Town) ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท พลาซ่า ปากซอยสุขุมวิท 12 การเดินทางสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงยังสถานีนานา แล้วเดินย้อนมาทางสถานีอโศกประมาณ 300 เมตร

"หอเกียรติภูมิรถไฟ" ของดีที่ซ่อนอยู่ในสวนจตุจักร


รถไฟจิ๋วขบวนนี้กำลังวิ่งวนไปตามราง

แหล่งที่มา : manager.co.th (โดย : หนุ่มลูกทุ่ง)

“วาว วาว เสียงรถไฟวิ่งไปฤทัยครื้นเครง เรามันคนกันเองไม่ต้องเกรงใจใคร พวกเราเพลินชมไพรนั่งรถไฟถึงในไทรโยค โยนทุกข์ใดในโลกสู่ไทรโยคไป”

ฉันเดินฮัม เพลง มนต์ไทรโยคของวง ดิ อินโนเซ้นท์ ไปพลางๆหลังจากพาตัวเองแวะเวียนมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ภายในสวนจตุจักรเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากแวะมาชมหมู่มวลแมกไม้อันร่มรื่นแล้ว ฉันยังมีเป้าหมายสำคัญคือตั้งใจที่จะมาเยี่ยมชม "หอเกียรติภูมิรถไฟ" ซึ่งตั้งอยู่ภายในสวนด้วยนั้นเอง

หลายๆคนที่เคยมาพักผ่อนที่สวนจตุจักรอาจเคยสังเกตเห็นอาคารหลังใหญ่ ตั้งอยู่แถวๆบริเวณลาดจอดรถประตู 2 ในวันธรรมดาอาคารแห่งนี้จะถูกปิดตาย มองภายนอกคล้ายโกดังเก็บของแต่ในวัน เสาร์- อาทิตย์ ประตูจะถูกเปิดออกพร้อมกับเผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายใน

ที่นั้นแหละคือ"หอเกียรติภูมิรถไฟ"สถานที่ซึ่งเป็นขุมทรัพย์แห่งการ เรียนรู้ สำหรับผู้ที่มีใจรักและสนใจในเรื่องรถไฟ หอเกียรติภูมิรถไฟแห่งนี้ เปิดดำเนินการมานานกว่า 16 ปี แต่เดิมอาคารหลังนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างขึ้น เพื่อให้เป็น "พิพิธภัณฑ์รถไฟ"

ต่อมาการรถไฟฯ เลิกโครงการและไม่ใช้ประโยชน์จากอาคารพิพิธภัณฑ์รถไฟ ชมรม "เรารักรถไฟ" จึงขออนุมัติจากการรถไฟเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2533 และใช้ชื่อสถานที่ว่า "หอเกียรติภูมิรถไฟ" เพื่อสอดคล้องกับสิ่งของและวัตถุประสงค์ของการจัดแสดง

เพราะไม่เพียงรถไฟที่เป็นเกียรติภูมิของชาติเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีนโยบายจะจัดแสดงสิ่งของ ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่ยานยนต์ทุกชนิด รวมถึงการคมนาคม การสื่อสาร การศึกษา การพิมพ์ การถ่ายภาพ เป็นต้น

แม้จะเป็นวันอาทิตย์ก็จริงแต่ฉันก็สังเกตว่ามีผู้เข้าชมบางตา ทั้งๆที่ตอนฉันเดินเลียบสวนสาธารณะเข้ามานั้นมีผู้คนขวักไขว่ไม่รู้ด้วยเหตุ ใดจึงพากันมองข้ามสิ่งดีๆใกล้ตัวไป อดคิดไม่ได้ว่าถ้าฉันเป็นรถไฟและมีความรู้สึกก็คงน้อยใจเป็นแน่ ก็ดูสิอุตส่าห์ฝ่าแดดลมฝนมาหลายปี เพื่อรอคอยให้เราเข้าไปศึกษาหาประโยชน์จากตัวมัน แต่เรากลับไม่สนใจเสียนี่

อาคารหลังนี้คาดคะเนด้วยสายตาก็มีขนาดใหญ่โตพอสมควร ฉันเริ่มต้นจากเข้าไปถวายสักการะพระรูปของรัชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับบริเวณทางเข้าก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองพร้อมกับรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของ พระองค์ท่าน ที่ทรงพระราชทานกำเนิดการรถไฟให้เป็นการขนส่งมวลชนอย่างแรกในประเทศ

จากนั้นจึงเริ่มเดินดูรอบๆด้วยความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก เริ่มต้นที่"เกวียนไม้"ที่ ตั้งไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ควีนวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรให้ราชทูตนำขบวนรถไฟจำลองมาถวาย พร้อมด้วยข้อเสนอขอให้อังกฤษสร้างทางรถไฟสายแรกตัดข้ามคลองคอดกระให้
ซึ่งอาจหมายถึงการสูญเสียเอกราช รัชกาลที่4ทรงรับขบวนรถไฟจำลองไว้ก่อนปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า "สยามยังยากจน เรามีเกวียนใช้ก็พอแล้ว" มิเช่นนั้นไม่แน่ว่าป่านนี้เราอาจเป็นเมืองขึ้นไปแล้วก็ได้

สิ่งที่ฉันสนใจเป็นพิเศษก็คงจะเป็น "รถจักรไอน้ำ หมายเลข 10089" เป็นรถจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายที่บริษัทเกียวซานโกเกียวในญี่ปุ่นสร้างขึ้นก่อน เลิกกิจการ เพราะหมดยุคไอน้ำเมื่อสามสิบปีก่อนและจากการถอดชิ้นส่วนออกมาตรวจโดยละเอียด พบว่าไม่มีริ้วรอยการใช้งาน

สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามความต้องการของบริษัทโรงงานน้ำตาลใช้ขนอ้อย จากไร่ป้อนโรงงาน แต่พอมาถึงท่าวัดพระยาไกรก็เลิกใช้รถไฟเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ในการขนอ้อย "10089" จึงทิ้งไว้ในโกดังที่ท่าเรือ และไม่เคยใช้งานแต่อย่างใด

บริเวณใกล้ๆกันนั้นยังมีรถจักรไอน้ำที่ได้รับคำจำกัดความว่าเป็น"ผู้ปิดทอง หลังพระ" ของการรถไฟมีชื่อว่ารถจักรไอน้ำ "สูงเนิน" ซึ่งทำหน้าที่ตัดฟืน ขนน้ำ จากป่าที่ที่หัวหวายมาให้ขบวนรถไฟลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำใช้ที่สถานีสูงเนิน กลางดงพญาไฟในอดีต

ขณะที่ฉันเดินสำรวจอยู่นั้นก็จะมีเสียงบรรยายถึงประวัติ และสิ่งที่น่าสนใจจากเสียงตามสายมาเป็นระยะๆ ฉันสังเกตเห็นว่านอกจากฉันและผู้เข้าเยี่ยมชมอีกสองสามคนแล้ว ยังมีชายวัยกลางคนอีกคนหนึ่งที่คอยผุดลุกผุดนั่งเดินไปกวาดตรงโน้นปัดฝุ่น ตรงนี้พร้อมกับคอยบังคับปิด เปิดสวิตช์เจ้ารถไฟโมเดลให้วิ่งไปตามราง

ด้วยความสงสัยอยู่ในทีฉันจึงเดินเข้าไปสวัสดีและทักทาย จึงรู้ว่าตัวเองกำลังคุยอยู่กับ คุณจุลศิริ วิรยศิริ อายุ 58 ปี ผู้อำนวยการหอเกียรติภูมิรถไฟ และเหมาทุกตำแหน่งในหอเกียรติภูมิรถไฟ เขาเล่าให้ฉันฟังว่า ตอนนี้ที่นี่เสื่อมโทรมลงไปมากเพราะขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา

"ที่นี่เป็นของเอกชนก่อตั้งโดยคุณพ่อผม รายได้หลักก็อาศัยการรับบริจาคจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเท่านั้น เราไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ขนาดให้ดูฟรีคนก็ยังน้อย ผมเองก็ท้อใจหลายครั้งแต่เหตุผลที่ไม่สามารถละทิ้งได้ก็คือต้องการอนุรักษ์ เพื่อเป็นมรดกในอนุชนรุ่นหลัง ถ้าวันหนึ่งไม่ทำแล้วก็คงจะยกให้เอกชนจัดทำเป็นมูลนิธิดำเนินการหาทุน แต่ตอนนี้ก็ขอแค่มีคนเข้าชมก็พอใจเป็นที่สุดแล้ว"

ฉันรับฟังด้วยความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูกก่อนจะจบบทสนทนาแล้วขอตัวเดินไปดู รถไฟต่อ และต้องอัศจรรย์ใจกับ "รถโยก" ขนาดเล็กที่มีประวัติบอกไว้ว่าใช้สำหรับตรวจทางนำขบวนรถไฟเมื่อครั้งงาน "ร้อยปียานยนต์ไทย" ถูกลากจูงอยู่กับที่ด้วยหัวรถจักรดีเซล "ฮันสเล็ท" ซึ่งโรงงานมักกะสันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ซ่อมอนุรักษ์จากซากรถที่ใช้การ ไม่ได้แล้ว จนกลับใช้เครื่องยนต์ลากจูงฉุดลากขบวนรถไฟได้

ถัดมาเป็นตู้รถไฟที่ลากจูงคันแรก คือ "รถ ร.พ." ซึ่งเป็นตู้รถไฟไม้ที่นับได้ว่าเก่าที่สุดในประเทศไทย และอาจเป็นตู้รถไฟพยาบาลที่สร้างด้วยไม้สักทองหลังสุดท้ายของโลก รถ ร.พ.เกิดขึ้นพร้อมกับการแพทย์แผนตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสมัยรัชกาล ที่ 5 เมื่อทรงสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้นก็ทรงตระหนักถึงราษฎรที่อยู่ต่างจังหวัด

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินพระน้องยาเธอฯ ให้ออกแบบรถพยาบาลหลังแรกของไทย และโปรดเกล้าสั่งไม้สักทองจากบราซิลขนไปต่อที่ประเทศอังกฤษแล้วนำเข้ามาใน ประเทศไทย แต่ก็คาดว่าไม่มีโอกาสใช้รัชกาลที่ 5 ทรงสวรรคตเสียก่อน

ในโบกี้ต่อมาเป็นตู้ รถจ.พ. หรือรถจัดเฉพาะพยาบาล มีลักษณะภายนอกแบบเดียวกับรถ รพ.แต่ภายในตกแต่งคล้ายคลินิค ตรวจร่างกายแบบฉุกเฉิน ทั้งสองคันยังอยู่ในสภาพดี และถือว่าเป็นรถไฟที่เก่าที่สุดของประเทศไทย
นอกจากนั้นแล้วลุงจุลศิริก็ยังเล่าให้ฉันฟังว่า มีรถจัดเฉพาะอื่นๆ เช่น รถ จ.ขจก. ซึ่งเป็นตู้รถที่บรรทุกทหารที่จะไปปราบปรามโจรก่อการร้าย หรือ รถจ.ล.ย. ซึ่งเป็นตู้รถจัดเฉพาะลำไย ที่เอาไว้จัดส่งลำไย ทำให้ฉันนึกขันอยู่ในใจว่า นี่ถ้าเป็นผลไม้อื่นๆ ก็คงต้องมีชื่อเรียกอีกมากมายเป็นแน่

อ๋อ...และที่นี่เขายังนำเอาตู้รถไฟมาดัดแปลงเป็นห้องสมุด "ยานยนต์เฉลิมพระเกียรติ์" มีหนังสือเอกสารให้อ่านมากมาย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกด้วยข้างในก็ติดแอร์เย็นฉ่ำทีเดียว แถมยังมีรถไฟจำลองขนาดเล็กมากมายให้ชมอีกด้วย
รวมถึง "รถราง"ซึ่งในปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้วกว่า 30 ปี ฉันก็รู้จากที่นี่แหละว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียเชียวน่าที่ริเริ่ม นำรถรางมาใช้

เมื่อเดินเข้าไปข้างในสุดก็จะเป็นส่วนของ "หอเกียรติภูมิยานยนต์ พีระ-เจ้าดาราทอง" มีรถยนต์ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์อย่างรถ "เฟี๊ยตโทโปลิโน่" ที่เหมือนไม่ผิดเพี้ยนกับรถยนต์พระที่นั่งครั้งทรงพระเยาว์ของในหลวงรัชกาล ปัจจุบัน รถ "ดัทสันบลูเบิร์ด" ฉายาว่า "แท็กซี่เลือดไทย" เพราะสร้างในเมืองไทยเป็นคันแรก ใกล้ๆกันก็มีซากเครื่องสมัยสงครามโลกครั้ง2ให้ชมด้วย

ฉันเพลิดเพลินจำเริญใจกับเหล่ารถไฟจนเต็มอิ่มแล้วก็ได้เวลาโบกมือลา แต่ก็ยังไม่วายเหลียวหลังกลับไปมองหอเกียรติภูมิรถไฟด้วยความเสียดายว่า สถานที่ดีๆ แถมยังให้ดูฟรีอย่างนี้ แต่กลับเงียบเหงาไม่มีคนมาชมเท่าไรนัก

และก่อนที่ฉันจะกลับ ก็ไม่ลืมที่จะแวะสั่นระฆังรถไฟที่ตั้งอยู่บริเวณทางออกสามครั้งดังๆเป็นการ บอกลาเหล่ารถไฟและสิ่งของทุกชิ้นที่อยู่ใน "หอเกียรติภูมิรถไฟ"แห่งนี้

"หอเกียรติภูมิรถไฟ"ตั้ง อยู่ที่ลานจอดรถประตู 2 สวนจตุจักร ถนนกำแพงเพชร 3 กทม.10900 เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00น. ไม่เสียใช้จ่ายในการเข้าชม วันธรรมดาหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะโทร.08-1615-5776 การเดินทางเริ่มจากลงรถไฟฟ้า B T S สถานีหมอชิต แล้วเดินเลาะริมสวนสาธารณะจตุจักรมาเรื่อยๆแล้วเลี้ยวเข้าลานจอดรถประตู 2 จุดสังเกตอยู่ตรงข้ามธนาคารทหารไทย

วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553

วัดพระแก้ว : สุดยอดแห่งงานศิลปกรรม


ตั้งแต่แรกที่เปิดคอลัมน์ "ลุยกรุง" ขึ้นมา สถานที่ในดวงใจแห่งแรกที่ฉันตั้งใจจะเขียนถึงก็คือที่ "วัดพระแก้ว" นี่แหละ เพราะตามความคิดของฉันแล้ว ที่นี่เป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง และสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างกรุงเทพฯ เลยทีเดียว เรียกว่าถ้ามีญาติฉันจากบ้านนอกจะมาเที่ยวกรุงเทพเมื่อไร ฉันก็ต้องแนะนำให้ไปวัดพระแก้วเป็นที่แรก

แต่ที่ต้องรอแล้วรอเล่า พาไปเที่ยวที่อื่นเสียนานกว่าจะได้มาที่วัดพระแก้วนี้ ก็เพราะอยากจะเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวัดพระแก้วให้แน่นปึ้กเสียก่อนที่จะมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเรื่องราวของวัดพระแก้วนั้น ถ้าจะพูดกันให้จบในวันเดียวก็คงจะได้แค่กระผีก เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจมากมายเหลือเกิน ดังนั้นฉันก็เลยต้องตัดแบ่งเป็นหลายตอนเสียหน่อย เพื่อจะได้ชมวัดพระแก้วกันอย่างถ้วนทั่ว

เพราะฉะนั้น ในวันนี้ฉันจึงจะพาทุกคนมาชมภาพกว้างๆ ของวัดพระแก้วกันก่อน ในเรื่องของการสร้างวัด และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่วิจิตรงดงามไปทุกสิ่ง ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของศิลปกรรมไทยในทุกด้าน

วัดพระแก้วนั้น มีชื่อเรียกเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม" แต่เรียกกันอย่างง่ายๆ ว่าวัดพระแก้ว และพระประธานในพระอุโบสถนั้นก็เรียกชื่อเต็มๆ ว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากหินสีเขียวสวยงามมาก

มาว่ากันถึงการสร้างวัดพระแก้วกันก่อน คงต้องย้อนไปในปี พ.ศ.2325 เมื่อตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งพระนคร พระองค์ก็ได้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น รวมทั้งได้สร้างวัดภายในวังหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพระราชกุศล รวมทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ทรงอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์ ด้วย และเนื่องจากวัดพระแก้วเป็นวัดที่อยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนการสร้างพระบรมมหาราชวังมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา

ทีนี้ไปดูกันดีกว่าว่า ในอาณาเขตของวัดพระแก้วนี้ มีสิ่งก่อสร้างอะไรบ้าง เพราะเชื่อว่าบางคนที่มาวัดพระแก้วก็จะมุ่งตรงไปสักการะพระแก้วมรกตในพระ อุโบสถเพียงอย่างเดียว จนละเลยสิ่งอื่นภายในวัดที่มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน หรือบางคนที่แม้จะเดินชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดจนทั่วแล้ว แต่ก็อาจไม่รู้ว่าสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ไว้ใช้ทำอะไร และสำคัญอย่างไร

เรามาเริ่มจาก พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือพระปรางค์แปดองค์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด หรือด้านที่ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหมกันก่อนดีกว่า พระปรางค์แปดทั้งองค์นี้เป็นปรางค์ฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีแตกต่างกันไปทั้งแปดองค์ โดยแต่ละองค์มีชื่อเรียกต่างกันไป พระปรางค์เหล่านี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จุดประสงค์ก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ทีนี้มาทางด้านทิศเหนือกันบ้าง ที่หอพระมณเฑียรธรรม ที่ถือว่าเป็นห้องสมุดแห่งแรกของกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ซึ่งหอพระมณเฑียรธรรมที่เห็นนี้เป็นหลังใหม่ และเป็นฝีมือของช่างวังหน้า โดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างมาสมทบสร้างถวาย ซึ่งฝีมือของช่างวังหน้านั้นก็ถือว่าสุดยอดอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นศิลปะของวังหน้าหนึ่งเดียวในวังหลวงก็ว่าได้

หอพระมณเฑียรธรรมเป็นอาคารแบบไทยทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความน่าสนใจอยู่ตรงหน้าจั่วที่เป็นรูปพระพรหมทรงหงส์อยู่เหนือพระอินทร์ทรง ช้างเอราวัณอีกที และก็มีหนุมานซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวังหน้าสอดแทรกอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ลวดลายบนกรอบไม้เหนือหน้าต่าง ถ้าใครอยากชมต้องรอโอกาสในวันพระ เพราะที่หอมณเฑียรธรรมนี้จะเปิดใช้เป็นที่แสดงธรรมเทศนาในวันพระเท่านั้น

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหอมณเฑียรธรรม ก็คือหอพระนาก ซึ่งเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระนาก และเป็นที่เก็บพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายใน แต่เมื่อมีการซ่อมแซมอีกครั้งในรัชกาลที่ 3 จึงได้ย้ายพระนากและพระพุทธรูปอื่นๆ ออกไป ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของของวังหน้าในรัชกาลที่ 1-4 รวมทั้งพระอัฐิของเจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์อีกด้วย

มีคำถามว่า แล้วพระนากจากหอพระนาก ถูกย้ายไปประดิษฐานที่ไหน คำตอบก็อยู่ข้างๆ หอพระนากนั่นเอง นั่นก็คือที่พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด หรือเรียกสั้นๆ ว่าวิหารยอด ก่อนนี้วิหารยอดเป็นที่ประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งเป็นเทวรูปของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา และภายหลังก็ได้ย้ายพระนาก และพระพุทธรูปศิลามาประดิษฐานไว้ด้วยกัน

อ้าว... เดินชมแค่เดี๋ยวเดียวอย่าเพิ่งทำเป็นหมดแรง เดินต่อมาทางด้านทิศใต้ของวัดพระแก้วกันบ้าง ที่หอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานไพที (ฐานร่วมของหลายอาคาร) เป็นที่ประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปปางขอฝน ตัวองค์พระนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระคันธารราษฎร์นั้น ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญสำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

หอพระคันธารราษฎร์เพิ่งจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และตั้งชื่อตามพระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้ภายใน นอกจากนั้น ภายในหอพระแห่งนี้ก็ยังมีการตกแต่งลวดลายที่เกี่ยวข้องกับการกสิกรรมต่างๆ เช่น บานหน้าต่างก็มีลวดลายเป็นรูปพระพิรุณทรงนาค และด้านล่างเป็นรูปรวงข้าว มีปูปลาแหวกว่ายอยู่ในท้องน้ำ และจิตรกรรมฝาผนังด้านในก็เป็นเรื่องราวของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัล แรกนาขวัญและพิรุณศาสตร์อีกด้วย และบนฐานไพทีเดียวกันก็เป็นที่ตั้งของมณฑปยอดปรางค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์โบราณที่ได้มาจากภาคเหนือ

แวะชมหอระฆังกัน อีกสักหน่อย แม้จะไม่มีกิจให้ต้องใช้ระฆังบ่อยนักเพราะวัดพระแก้วนี้ไม่มีพระสงฆ์ แต่ก็สร้างขึ้นเพื่อให้ครบตามระเบียบของการสร้างวัด เชื่อกันว่าระฆังใบนี้ขุดพบที่วัดระฆัง มีเสียงไพเราะกังวานมาก เมื่อรัชกาลที่ 1 นำระฆังนี้มาไว้ที่วัดพระแก้ว พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกไว้ให้แทนที่วัดระฆัง

ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่ใหญ่โตขึ้นอีกนิด บนฐานไพทีใหญ่ด้านข้างพระอุโบสถ ซึ่งด้านบนนั้นมีสิ่งก่อสร้างอยู่สามสิ่งด้วยกัน คือปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป และพระศรีรัตนเจดีย์

สำหรับพระมณฑปนั้น เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฏกฉบับทอง อยู่ในตู้มุกทรงมณฑป บรรจุพระไตรปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์อยู่ภายใน แต่ก่อนนี้พระมณฑปสร้างอยู่บนฐานสูงสามชั้น ยังไม่ได้อยู่บนฐานไพทีอย่างทุกวันนี้ แต่มาถึงรัชกาลที่ 4 ก็ได้ขยายฐานให้กว้างขึ้นเพื่อสร้างพระศรีรัตนเจดีย์และปราสาทพระเทพบิดาไว้ ด้วยกัน

ถัดจากพระมณฑปมาก็เป็นพระศรีรัตนเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4 ได้มาจากลังกา รูปทรงของพระเจดีย์ก็เป็นทรงลังกา ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกทองจากอิตาลี เมื่อส่องกระทบแสงแดดก็จะดูเจิดจ้างดงามมากๆ และภายในก็เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็กที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับพระศรีรัตนเจดีย์องค์ใหญ่ที่ครอบไว้ทุกประการ

บนฐานไพทียังมีปราสาทพระเทพบิดรอีกแห่งหนึ่งที่ฉันยังไม่ได้พูดถึง รวมทั้งส่วนสำคัญที่สุดของวัดพระแก้ว นั่นก็คือพระอุโบสถและพระแก้วมรกตอีกด้วย แต่เห็นทีคงจะต้องยกยอดไปไว้คราวหน้า ต้องรอชมกันในตอนต่อไปเสียแล้วละ

พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ที่ ถ.หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 ใกล้สนามหลวง เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น. ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. ค่าธรรมเนียม-ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท โทรศัพท์ 0-2623-5500 ต่อ 1124, 3100

การแต่งกายที่เหมาะสมในการเข้าชม ควรแต่งกายให้สุภาพ ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น รวมทั้งกางเกงที่ยาวไม่ถึงตาตุ่ม ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือบางจนเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าแตะที่ไม่สุภาพหรือไม่มีสายรัดข้อเท้า

การเดินทาง รถ ประจำทางสาย : 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศสาย : 1, 8, 25, 38, 39, 44, 506, 507, 512 หรือเดินทางโดยทางเรือ โดยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าช้าง

ไปดูแมวเหมียวที่"อุทยานแมวไทยโบราณ"


"แมวขโมย ตีนแมว ฝากปลาย่างไว้กับแมว ย้อมแมวขาย แมวไม่อยู่หนูร่าเริง แมวเก้าชีวิต... ฯลฯ" ฉันเดินไปนึกไป ถึงสุภาษิตสำนวนเกี่ยวกับแมวๆที่มีอยู่มากมาย ระหว่างที่กำลังมุ่งหน้ามายัง "อุทยานแมวไทยโบราณ (นัยน์ตาสองสี)" แถวๆ เขตทวีวัฒนา

นึกๆ ดูแล้ว สำนวนไทยเกี่ยวกับแมวนั้นก็มีเยอะแยะไม่ใช่เล่น ซึ่งก็น่าจะหมายความได้ว่า สัตว์สี่ขาตัวนุ่มนิ่มที่ชอบร้องเหมียวๆ กับคนไทยนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานานแล้ว โดยเรื่องราวเกี่ยวกับแมวก็ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณว่ามีแมวประเภทใด บ้างเป็นแมวมงคล และแมวประเภทใดบ้างเป็นแมวอัปมงคล แสดงว่าแมวกับคนไทยเรานั้นผูกพันกันมายาวนานจริงๆ

แมวขาวมณี หรือขาวปลอด นัยน์ตาสองสี แห่งอุทยานแมวไทยโบราณ

และสำหรับฉัน ผู้ซึ่งถือคติ Love me love my cat ก็เคยได้ยินมาว่าที่อุทยานแมวไทยโบราณนี้ เขามีแมวน่ารักๆ อยู่หลายตัว ที่ไม่ธรรมดาก็คือแมวเหล่านี้ล้วนแต่เป็นแมวขาวมณี แมวไทยโบราณสีขาวสะอาดทั้งตัว แถมยังพิเศษตรงที่นัยน์ตาทั้งสองข้างยังมีสีแตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นก็เลยพลาดไม่ได้ที่จะมาชมแมวเหมียวเหล่านี้ให้ถึงที่

แต่ก่อนอื่นฉันขอเท้าความถึงแมวขาวมณีก่อนดีกว่าว่า แมวขาวมณีหรือที่เรียกว่าขาวปลอดนั้น เป็นแมวไทยที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในสมุดข่อยโบราณ เพราะเพิ่งจะเป็นที่รู้จักก็กันเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมานี้เอง แต่ก็ถือว่าเป็นแมวไทยโบราณหนึ่งในห้าพันธุ์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็ได้แก่ แมววิเชียรมาศ แมวสีสวาด แมวศุภลักษณ์ แมวโกญจา และแมวขาวมณี

เจ้าแมวขาวมณีนี้มีลักษณะเด่นก็คือจะมีขนสั้นสีขาวตลอดหัวจดหาง ไม่มีสีอื่นมาแซมเลย และหากเป็นสายพันธุ์แท้ดวงตาทั้งสองข้างก็จะมีสีที่แตกต่างกัน เช่นข้างหนึ่งเป็นสีเหลือง หรือบางตัวก็อาจเป็นสีน้ำตาล และอีกข้างหนึ่งเป็นสีฟ้าหรือสีขาว สวยงามมาก

และสำหรับแมวขาวมณีนี้ ถือว่าเป็นแมวทรงเลี้ยงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดและทรงหวงมากๆ พระองค์ทรงมอบหน้าที่ให้ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขต อุดมศักดิ์ พระราชโอรสเป็นผู้ดูแลและขยายพันธุ์ หน้าที่นี้สืบทอดจนมาถึงพระธิดาของพระองค์ คือหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงอาภากร ก่อนที่แมวขาวมณีที่เหลืออยู่ทั้งหมด 18 ตัวจะตกมาอยู่ในความดูแลของ นำดี วิตตะ เด็กชายที่หม่อมเจ้าหญิงได้อุปการะเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก และก็ได้ดูแลแมวขาวมณีเหล่านี้มาตลอด จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งอุทยานแมวไทยโบราณ (นัยน์ตาสองสี) ที่ฉันได้มาชมในวันนี้ ดังนั้น แมวขาวมณีในอุทยานแมวฯ แห่งนี้จึงเป็นแมวที่สืบเชื้อสายมาจากแมวทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 5 คุณนำดีจึงเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี และไม่เคยขายเจ้าขาวมณีพันธุ์แท้เหล่านี้เลยสักตัว

อุทยานแมวไทยโบราณริมคลองทวีวัฒนาในวันธรรมดาที่ฉันเข้าไปชมดูเงียบ เชียบไร้ผู้คน แต่ก็ยังได้ยินเสียงแมวดังแง้วๆ แว่วๆ อยู่ด้านบนบ้านหลังใหญ่ใต้ถุนสูง เมื่อฉันขึ้นไปด้านบน จ่ายเงินค่าเข้าชมและช่วยค่าอาหารแมวไป 50 บาท แล้ว ฉันก็ได้พบกับบรรดาเหมียวๆ อ้วนท้วนสีขาวสะอาด นัยน์ตาสองสีที่ชื่อพันธุ์ขาวมณีเหล่านั้นอยู่ภายในห้องกว้างค่อนข้างโล่ง ที่มีกรงแมวขนาดไม่ใหญ่นักวางเรียงกันอยู่ 3-4 แถว และในแต่ละกรงก็มีแมวขาวมณีอยู่กรงละหนึ่งตัว นับรวมแล้วก็ได้ 14 ตัวพอดี

ผู้ดูแลท่าทางใจดีเข้ามาคุยกับฉันว่า ไม่ค่อยจะได้เห็นนักท่องเที่ยวมาในวันธรรมดามากนัก ส่วนมากจะมากันวันเสาร์อาทิตย์มากกว่า จากนั้นก็เริ่มเล่ารายละเอียดที่อุทยานแมวฯ นี้ให้ฟังว่า จริงๆ แล้วที่อุทยานแมวโบราณนี้มีแมวขาวมณีอยู่ทั้งหมด 44 ตัว แต่เอามาจัดแสดงไว้เพียง 14 ตัว โดยในแต่ละวันก็จะสลับกันออกมาโชว์ตัว ตัวไหนโชว์อยู่นานแล้วก็จะเข้าห้องไปพัก ปล่อยให้เพื่อนแมวตัวอื่นๆ ได้ออกมารับแขกบ้าง

ในตอนแรกฉันเองก็เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้อุ้มหรือเล่นกับเจ้าแมว พวกนี้อย่างเต็มที่ เพราะมีกรงกั้นระหว่างฉันกับแมว แต่เมื่อฟังที่พี่คนดูแลแมวบอกว่า เมื่อก่อนนี้ ก่อนที่อุทยานแมวโบราณจะย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณปัจจุบันนั้น ก็ยังอนุญาตให้นักท่องเที่ยวได้อุ้มได้กอด แต่ปรากฏว่า แมวเหล่านั้นเฉามือคน แถมบางตัวยังติดโรคจากคนโดยการเลียหรือสัมผัสจนตายไปหลายตัว ในปัจจุบันก็เลยทำกรงไว้ให้แมวแต่ละตัวได้อยู่กัน

ดังนั้นแม้จะเสียดาย แต่คิดอีกทีทำแบบนี้ก็น่าจะเป็นการดีกว่า เพราะลองคิดดูสิว่า หากวันไหนนักท่องเที่ยวมากันเยอะๆ แมวที่โดนอุ้มโดนกอดโดยคนไม่รู้จักไม่คุ้นเคยแถมโดนอุ้มเป็นสิบๆ ครั้งก็น่าจะเหนื่อยไปเหมือนกัน แถมเสียสุขภาพจิตอีกต่างหาก

กรงแมวที่ฉันเห็นนี้แม้จะไม่เล็กมากขนาดที่ทำให้แมวอึดอัด แต่ก็ไม่ได้กว้างขวางขนาดที่จะสามารถวิ่งเล่นได้สบายๆ ด้วยความเป็นห่วงกลัวแมวจะไม่ได้ออกกำลังกาย ฉันจึงถามพี่ผู้ดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งก็หมดกังวลได้ เพราะพี่เขาบอกว่า หลังจากที่อุทยานแมวฯ ปิดให้บริการในแต่ละวันแล้ว ประมาณห้าโมงเย็น แมวเหล่านี้ก็จะได้ไปวิ่งเล่นในสนามหลังบ้าน วิ่งไล่กันหรือปีนป่ายต้นไม้ไปตามเรื่อง แมวที่นี่จึงมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์

พี่คนดูแลแมวยังบอกกับฉันอีกว่า ด้วยความที่แมวเหมียวขาวมณีเหล่านี้เป็นแมวที่สืบเชื้อสายมาจากแมวของรัชกาล ที่ 5 คุณนำดี ผู้เป็นเจ้าของจึงตั้งชื่อว่า "เจ้า" นำหน้าทุกตัว ทั้งเจ้าฟ้าเงินฟ้าทอง เจ้าเปรียว และอีกมากมายหลายเจ้า อย่างที่ฉันบอกไปแล้วว่าบรรพบุรุษของแมวเหล่านี้เคยเป็นแมวของพระมหา กษัตริย์ และไม่มีการขายแมวขาวมณีสายพันธุ์แท้ คุณนำดีผู้ก่อตั้งอุทยานแมวฯ จึงถวายแมวเหล่านี้ให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ก็โปรดให้แมวเหล่านี้อยู่ที่อุทยานแมวฯ เพื่อให้ประชาชนได้ชมกันต่อไป

ฉันเดินเล่นทักทายเจ้าเหมียวขาวมณีจนครบทุกตัว บางตัวเอาแต่นอนหลับอุตุไม่สนใจฉันเลย แถมบางตัวไม่อยากเห็นหน้าผู้คนก็เลยเอาหัวมุดใต้ที่นอนซะอย่างนั้น แต่แมวตัวอื่นๆ นั้นขี้เล่นและขี้อ้อนน่าดู แม้จะเล่นกันผ่านกรงก็เถอะ ฉันเห็นแล้วก็อยากจับมากอดแรงๆ สักที

นอกจากจะได้มารู้จักกับแมวขาวมณีและได้มาชมแมวเหมียวที่แสนจะน่ารัก แล้ว การที่ได้มาเยี่ยมชมอุทยานแมวฯ ก็ทำให้ฉันรู้สึกว่า น่าดีใจที่แมวพันธุ์ไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของเรายังมีผู้ที่ตั้งใจ อนุรักษ์ไว้ เพราะฉะนั้นฉันขอเชิญชวนบรรดาคนรักแมวทั้งหลายให้แวะมาเยี่ยมเยียนเหมียวๆ เหล่านี้กันบ้าง รับรองว่าต้องหลงเสน่ห์แมวขาวมณีแน่นอน

อุทยานแมวไทยโบราณ (นัยน์ตาสองสี) ตั้งอยู่ที่ 103 หมู่ที่ 10 ถ.ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170 เปิดบริการ 10.00-17.00 น. ทุกวัน ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-9765-6697

การเดินทาง จากสายใต้ใหม่ขับรถมาทางถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี มาจนถึงพุทธมณฑลสาย 4 แล้วให้ขับไปทางมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา จากนั้นให้กลับรถเข้าสู่ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรีอีกครั้ง (ฝั่งที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนทวีวัฒนา (ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา) มาอีกประมาณ 400 เมตร อุทยานแมวโบราณจะอยู่ทางขวามือริมคลองทวีวัฒนา สามารถจอดรถได้บริเวณด้านหน้า หรือหากมาทางรถประจำทาง มีสาย 124, 125, 515 หรือรถตู้ปรับอากาศ พาต้าปิ่นเกล้า-พุทธมณฑลสาย 4 ผ่าน