บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

"หอเกียรติภูมิรถไฟ" ของดีที่ซ่อนอยู่ในสวนจตุจักร


รถไฟจิ๋วขบวนนี้กำลังวิ่งวนไปตามราง

แหล่งที่มา : manager.co.th (โดย : หนุ่มลูกทุ่ง)

“วาว วาว เสียงรถไฟวิ่งไปฤทัยครื้นเครง เรามันคนกันเองไม่ต้องเกรงใจใคร พวกเราเพลินชมไพรนั่งรถไฟถึงในไทรโยค โยนทุกข์ใดในโลกสู่ไทรโยคไป”

ฉันเดินฮัม เพลง มนต์ไทรโยคของวง ดิ อินโนเซ้นท์ ไปพลางๆหลังจากพาตัวเองแวะเวียนมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ภายในสวนจตุจักรเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากแวะมาชมหมู่มวลแมกไม้อันร่มรื่นแล้ว ฉันยังมีเป้าหมายสำคัญคือตั้งใจที่จะมาเยี่ยมชม "หอเกียรติภูมิรถไฟ" ซึ่งตั้งอยู่ภายในสวนด้วยนั้นเอง

หลายๆคนที่เคยมาพักผ่อนที่สวนจตุจักรอาจเคยสังเกตเห็นอาคารหลังใหญ่ ตั้งอยู่แถวๆบริเวณลาดจอดรถประตู 2 ในวันธรรมดาอาคารแห่งนี้จะถูกปิดตาย มองภายนอกคล้ายโกดังเก็บของแต่ในวัน เสาร์- อาทิตย์ ประตูจะถูกเปิดออกพร้อมกับเผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายใน

ที่นั้นแหละคือ"หอเกียรติภูมิรถไฟ"สถานที่ซึ่งเป็นขุมทรัพย์แห่งการ เรียนรู้ สำหรับผู้ที่มีใจรักและสนใจในเรื่องรถไฟ หอเกียรติภูมิรถไฟแห่งนี้ เปิดดำเนินการมานานกว่า 16 ปี แต่เดิมอาคารหลังนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างขึ้น เพื่อให้เป็น "พิพิธภัณฑ์รถไฟ"

ต่อมาการรถไฟฯ เลิกโครงการและไม่ใช้ประโยชน์จากอาคารพิพิธภัณฑ์รถไฟ ชมรม "เรารักรถไฟ" จึงขออนุมัติจากการรถไฟเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2533 และใช้ชื่อสถานที่ว่า "หอเกียรติภูมิรถไฟ" เพื่อสอดคล้องกับสิ่งของและวัตถุประสงค์ของการจัดแสดง

เพราะไม่เพียงรถไฟที่เป็นเกียรติภูมิของชาติเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีนโยบายจะจัดแสดงสิ่งของ ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่ยานยนต์ทุกชนิด รวมถึงการคมนาคม การสื่อสาร การศึกษา การพิมพ์ การถ่ายภาพ เป็นต้น

แม้จะเป็นวันอาทิตย์ก็จริงแต่ฉันก็สังเกตว่ามีผู้เข้าชมบางตา ทั้งๆที่ตอนฉันเดินเลียบสวนสาธารณะเข้ามานั้นมีผู้คนขวักไขว่ไม่รู้ด้วยเหตุ ใดจึงพากันมองข้ามสิ่งดีๆใกล้ตัวไป อดคิดไม่ได้ว่าถ้าฉันเป็นรถไฟและมีความรู้สึกก็คงน้อยใจเป็นแน่ ก็ดูสิอุตส่าห์ฝ่าแดดลมฝนมาหลายปี เพื่อรอคอยให้เราเข้าไปศึกษาหาประโยชน์จากตัวมัน แต่เรากลับไม่สนใจเสียนี่

อาคารหลังนี้คาดคะเนด้วยสายตาก็มีขนาดใหญ่โตพอสมควร ฉันเริ่มต้นจากเข้าไปถวายสักการะพระรูปของรัชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับบริเวณทางเข้าก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองพร้อมกับรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของ พระองค์ท่าน ที่ทรงพระราชทานกำเนิดการรถไฟให้เป็นการขนส่งมวลชนอย่างแรกในประเทศ

จากนั้นจึงเริ่มเดินดูรอบๆด้วยความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก เริ่มต้นที่"เกวียนไม้"ที่ ตั้งไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ควีนวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรให้ราชทูตนำขบวนรถไฟจำลองมาถวาย พร้อมด้วยข้อเสนอขอให้อังกฤษสร้างทางรถไฟสายแรกตัดข้ามคลองคอดกระให้
ซึ่งอาจหมายถึงการสูญเสียเอกราช รัชกาลที่4ทรงรับขบวนรถไฟจำลองไว้ก่อนปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า "สยามยังยากจน เรามีเกวียนใช้ก็พอแล้ว" มิเช่นนั้นไม่แน่ว่าป่านนี้เราอาจเป็นเมืองขึ้นไปแล้วก็ได้

สิ่งที่ฉันสนใจเป็นพิเศษก็คงจะเป็น "รถจักรไอน้ำ หมายเลข 10089" เป็นรถจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายที่บริษัทเกียวซานโกเกียวในญี่ปุ่นสร้างขึ้นก่อน เลิกกิจการ เพราะหมดยุคไอน้ำเมื่อสามสิบปีก่อนและจากการถอดชิ้นส่วนออกมาตรวจโดยละเอียด พบว่าไม่มีริ้วรอยการใช้งาน

สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามความต้องการของบริษัทโรงงานน้ำตาลใช้ขนอ้อย จากไร่ป้อนโรงงาน แต่พอมาถึงท่าวัดพระยาไกรก็เลิกใช้รถไฟเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ในการขนอ้อย "10089" จึงทิ้งไว้ในโกดังที่ท่าเรือ และไม่เคยใช้งานแต่อย่างใด

บริเวณใกล้ๆกันนั้นยังมีรถจักรไอน้ำที่ได้รับคำจำกัดความว่าเป็น"ผู้ปิดทอง หลังพระ" ของการรถไฟมีชื่อว่ารถจักรไอน้ำ "สูงเนิน" ซึ่งทำหน้าที่ตัดฟืน ขนน้ำ จากป่าที่ที่หัวหวายมาให้ขบวนรถไฟลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำใช้ที่สถานีสูงเนิน กลางดงพญาไฟในอดีต

ขณะที่ฉันเดินสำรวจอยู่นั้นก็จะมีเสียงบรรยายถึงประวัติ และสิ่งที่น่าสนใจจากเสียงตามสายมาเป็นระยะๆ ฉันสังเกตเห็นว่านอกจากฉันและผู้เข้าเยี่ยมชมอีกสองสามคนแล้ว ยังมีชายวัยกลางคนอีกคนหนึ่งที่คอยผุดลุกผุดนั่งเดินไปกวาดตรงโน้นปัดฝุ่น ตรงนี้พร้อมกับคอยบังคับปิด เปิดสวิตช์เจ้ารถไฟโมเดลให้วิ่งไปตามราง

ด้วยความสงสัยอยู่ในทีฉันจึงเดินเข้าไปสวัสดีและทักทาย จึงรู้ว่าตัวเองกำลังคุยอยู่กับ คุณจุลศิริ วิรยศิริ อายุ 58 ปี ผู้อำนวยการหอเกียรติภูมิรถไฟ และเหมาทุกตำแหน่งในหอเกียรติภูมิรถไฟ เขาเล่าให้ฉันฟังว่า ตอนนี้ที่นี่เสื่อมโทรมลงไปมากเพราะขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา

"ที่นี่เป็นของเอกชนก่อตั้งโดยคุณพ่อผม รายได้หลักก็อาศัยการรับบริจาคจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเท่านั้น เราไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ขนาดให้ดูฟรีคนก็ยังน้อย ผมเองก็ท้อใจหลายครั้งแต่เหตุผลที่ไม่สามารถละทิ้งได้ก็คือต้องการอนุรักษ์ เพื่อเป็นมรดกในอนุชนรุ่นหลัง ถ้าวันหนึ่งไม่ทำแล้วก็คงจะยกให้เอกชนจัดทำเป็นมูลนิธิดำเนินการหาทุน แต่ตอนนี้ก็ขอแค่มีคนเข้าชมก็พอใจเป็นที่สุดแล้ว"

ฉันรับฟังด้วยความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูกก่อนจะจบบทสนทนาแล้วขอตัวเดินไปดู รถไฟต่อ และต้องอัศจรรย์ใจกับ "รถโยก" ขนาดเล็กที่มีประวัติบอกไว้ว่าใช้สำหรับตรวจทางนำขบวนรถไฟเมื่อครั้งงาน "ร้อยปียานยนต์ไทย" ถูกลากจูงอยู่กับที่ด้วยหัวรถจักรดีเซล "ฮันสเล็ท" ซึ่งโรงงานมักกะสันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ซ่อมอนุรักษ์จากซากรถที่ใช้การ ไม่ได้แล้ว จนกลับใช้เครื่องยนต์ลากจูงฉุดลากขบวนรถไฟได้

ถัดมาเป็นตู้รถไฟที่ลากจูงคันแรก คือ "รถ ร.พ." ซึ่งเป็นตู้รถไฟไม้ที่นับได้ว่าเก่าที่สุดในประเทศไทย และอาจเป็นตู้รถไฟพยาบาลที่สร้างด้วยไม้สักทองหลังสุดท้ายของโลก รถ ร.พ.เกิดขึ้นพร้อมกับการแพทย์แผนตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสมัยรัชกาล ที่ 5 เมื่อทรงสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้นก็ทรงตระหนักถึงราษฎรที่อยู่ต่างจังหวัด

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินพระน้องยาเธอฯ ให้ออกแบบรถพยาบาลหลังแรกของไทย และโปรดเกล้าสั่งไม้สักทองจากบราซิลขนไปต่อที่ประเทศอังกฤษแล้วนำเข้ามาใน ประเทศไทย แต่ก็คาดว่าไม่มีโอกาสใช้รัชกาลที่ 5 ทรงสวรรคตเสียก่อน

ในโบกี้ต่อมาเป็นตู้ รถจ.พ. หรือรถจัดเฉพาะพยาบาล มีลักษณะภายนอกแบบเดียวกับรถ รพ.แต่ภายในตกแต่งคล้ายคลินิค ตรวจร่างกายแบบฉุกเฉิน ทั้งสองคันยังอยู่ในสภาพดี และถือว่าเป็นรถไฟที่เก่าที่สุดของประเทศไทย
นอกจากนั้นแล้วลุงจุลศิริก็ยังเล่าให้ฉันฟังว่า มีรถจัดเฉพาะอื่นๆ เช่น รถ จ.ขจก. ซึ่งเป็นตู้รถที่บรรทุกทหารที่จะไปปราบปรามโจรก่อการร้าย หรือ รถจ.ล.ย. ซึ่งเป็นตู้รถจัดเฉพาะลำไย ที่เอาไว้จัดส่งลำไย ทำให้ฉันนึกขันอยู่ในใจว่า นี่ถ้าเป็นผลไม้อื่นๆ ก็คงต้องมีชื่อเรียกอีกมากมายเป็นแน่

อ๋อ...และที่นี่เขายังนำเอาตู้รถไฟมาดัดแปลงเป็นห้องสมุด "ยานยนต์เฉลิมพระเกียรติ์" มีหนังสือเอกสารให้อ่านมากมาย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกด้วยข้างในก็ติดแอร์เย็นฉ่ำทีเดียว แถมยังมีรถไฟจำลองขนาดเล็กมากมายให้ชมอีกด้วย
รวมถึง "รถราง"ซึ่งในปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้วกว่า 30 ปี ฉันก็รู้จากที่นี่แหละว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียเชียวน่าที่ริเริ่ม นำรถรางมาใช้

เมื่อเดินเข้าไปข้างในสุดก็จะเป็นส่วนของ "หอเกียรติภูมิยานยนต์ พีระ-เจ้าดาราทอง" มีรถยนต์ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์อย่างรถ "เฟี๊ยตโทโปลิโน่" ที่เหมือนไม่ผิดเพี้ยนกับรถยนต์พระที่นั่งครั้งทรงพระเยาว์ของในหลวงรัชกาล ปัจจุบัน รถ "ดัทสันบลูเบิร์ด" ฉายาว่า "แท็กซี่เลือดไทย" เพราะสร้างในเมืองไทยเป็นคันแรก ใกล้ๆกันก็มีซากเครื่องสมัยสงครามโลกครั้ง2ให้ชมด้วย

ฉันเพลิดเพลินจำเริญใจกับเหล่ารถไฟจนเต็มอิ่มแล้วก็ได้เวลาโบกมือลา แต่ก็ยังไม่วายเหลียวหลังกลับไปมองหอเกียรติภูมิรถไฟด้วยความเสียดายว่า สถานที่ดีๆ แถมยังให้ดูฟรีอย่างนี้ แต่กลับเงียบเหงาไม่มีคนมาชมเท่าไรนัก

และก่อนที่ฉันจะกลับ ก็ไม่ลืมที่จะแวะสั่นระฆังรถไฟที่ตั้งอยู่บริเวณทางออกสามครั้งดังๆเป็นการ บอกลาเหล่ารถไฟและสิ่งของทุกชิ้นที่อยู่ใน "หอเกียรติภูมิรถไฟ"แห่งนี้

"หอเกียรติภูมิรถไฟ"ตั้ง อยู่ที่ลานจอดรถประตู 2 สวนจตุจักร ถนนกำแพงเพชร 3 กทม.10900 เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00น. ไม่เสียใช้จ่ายในการเข้าชม วันธรรมดาหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะโทร.08-1615-5776 การเดินทางเริ่มจากลงรถไฟฟ้า B T S สถานีหมอชิต แล้วเดินเลาะริมสวนสาธารณะจตุจักรมาเรื่อยๆแล้วเลี้ยวเข้าลานจอดรถประตู 2 จุดสังเกตอยู่ตรงข้ามธนาคารทหารไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น