บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยล"วังวรดิศ" รำลึกวันดำรงราชานุภาพ


ตำหนักใหญ่ในวังวรดิศซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์
วันที่ 1 ธันวาคมที่จะมาถึงนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเพียงวันเริ่มต้นของเดือนสุดท้ายของ ปี ในขณะที่อีกหลายๆคน วันนี้คือวันอิ่มอกอิ่มใจกับเงินเดือนในกระเป๋าที่เพิ่งรับมาสดๆร้อนๆ แต่หากมองให้ลึกลงไปวันที่ 1 ธันวาคม ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกวันหนึ่ง

สำหรับวันสำคัญที่ว่า ก็คือ "วันดำรงราชานุภาพ" เป็นวันที่ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลสำคัญของประเทศไทยและของโลก ตามที่องค์การยูเนสโกยกย่อง ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่ทรงได้รับเกียรตินี้ด้วย

หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อของพระองค์ท่านบ่อยๆ แล้ว โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 57 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร และเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงถวายงานใกล้ชิด ซึ่งรัชกาลที่ 5 เปรียบสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าทรงเป็น "มือขวา" คอยช่วยเหลือการงานต่างๆ ในบ้านเมืองได้อย่างดียิ่ง



ด้านหน้าตำหนักใหญ่ในวังวรดิศซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์
พระองค์ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยผลงานในด้านการปกครองของพระองค์ก็คือ ทรงได้ปฏิรูปการปกครองโดยแบ่งประเทศออกเป็น 71 จังหวัด อันเป็นรากฐานสำคัญในการปกครองและบริหารท้องที่ในปัจจุบัน และได้ปรับปรุงการบริหารราชการให้ทันสมัยตามอย่างอารยประเทศ ทั้งยังทรงเป็นองค์ปฐมผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ (ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ) ฯลฯ

นอกจากนั้นยังทรงเป็นผู้บุกเบิกงานด้านโบราณคดีไทยศึกษา โดยทรงนิพนธ์หนังสือที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้เป็น จำนวนมาก จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็น "องค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี" เลยทีเดียว และไม่แต่เพียงเท่านี้ ในวงการมัคคุเทศก์ก็ยังยกย่องให้ท่านเป็น "องค์พระบิดาของมัคคุเทศก์ไทย" เนื่องจากพระองค์ต้องเสด็จไปตรวจราชการที่ต่างจังหวัดบ่อยๆ ประกอบกับทรงมีพระนิสัยชอบเสด็จประพาสหัวเมือง จึงมักได้รับหน้าที่ "Lord Program Maker" หรือผู้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มาอีกด้วย

ด้วยคุณงามความดีของพระองค์ที่ทรงประกอบมาตลอดพระชนม์ชีพนี้ จึงเหมาะสมแล้วที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้พระองค์เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ในวันครบรอบวันประสูติ 100 ปี และทางคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็น "วันดำรงราชานุภาพ" ด้วยประการฉะนี้

และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์เนื่องใน "วันดำรงฯ" ที่กำลังจะมาถึงนี้ ฉันจะขอพาไปเยี่ยมชมวังของท่านบนถนนหลานหลวง ที่มีชื่อวังไพเราะว่า "วังวรดิศ" ซึ่งตอนนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวของสมเด็จฯ เอาไว้

แม้ว่าวังจะตั้งอยู่ในย่านกลางเมืองของกรุงเทพฯ แต่เมื่อเข้าไปในเขตรั้ววังแล้วเสียงรถราขวักไขว่ภายนอกก็ไม่ตามเข้ามารบกวน อีก ทั้งยังร่มรื่นด้วยเงาของต้นไม้ใหญ่มากมาย ที่ดินบริเวณนี้เดิมเป็นของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของพระองค์เอง และต่อมารัชกาลที่ 5 ก็ได้พระราชทานที่ดินรอบๆ วังเพิ่มให้อีกเพื่อเป็นรางวัลในการที่สมเด็จฯ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) ได้ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และกระทรวงมหาดไทยสยามใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งวังเก่าที่ริมถนนเจริญกรุงคับแคบลงเนื่องจากมีการสร้างอาคารขึ้นรอบ วัง ทำให้พระองค์ต้องย้ายมายังวังใหม่ คือวังวรดิศในปัจจุบัน



ค่าก่อสร้างตำหนักนั้นเป็นเงิน 50,000 บาทด้วยกัน ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานให้ และสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นก็เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบพระราชวังบ้านปืนที่ จังหวัดเพชรบุรี และวังบางขุนพรหมด้วย นั่นคือนาย คาร์ล ดอห์ริง ชาวเยอรมันนั่นเอง

ทีนี้เข้าไปดูด้านในกันบ้างดีกว่า ตำหนักใหญ่ของวังวรดิศนี้มีสองชั้นด้วยกัน ด้านล่างจัดเป็นห้องรับแขกซึ่งสมเด็จฯ ทรงเรียกว่าห้อง Study ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบยุโรป มีรูปจำลอง Piata จากประเทศอิตาลีตั้งอยู่ด้วย และก็ยังมีห้องจีน ตกแต่งแบบจีน มีประติมากรรม ฮก ลก ซิ่วตั้งอยู่ แสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามและประเทศจีน จุดเด่นของห้องอยู่ที่ชุดรับแขกประดับมุกแบบจีนอันงดงามซึ่งได้รับพระราชทาน มาจากรัชกาลที่ 5

ถัดไปเป็นห้องเสวย ซึ่งใช้เป็นที่รับรองเวลาที่พระมหากษัตริย์รวมทั้งพระราชอาคันตุกะเสด็จมา นอกจากนั้นห้องเสวยนี้ยังใช้เป็นที่ฝึกฝนนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงให้รู้จัก วัฒนธรรมประเพณีแบบตะวันตกก่อนที่จะไปเรียนยังต่างประเทศ โดยพระองค์ทรงเป็นครูฝึกสอนเองอีกด้วย

ส่วนระเบียงด้านหลังตำหนักก็เป็นสถานที่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงโปรดใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์แบบไทยๆ คือประทับนั่งกับพื้น โดยใช้เป็นเหมือนระเบียงอเนกประสงค์ ทั้งเป็นที่เสวยกระยาหารกับพระโอรสพระธิดา รับสั่งสนทนากับผู้มาเฝ้า ฯลฯ

ขึ้นบันไดเวียนไปยังชั้นบนกันต่อ ด้านบนนี้มีห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ซึ่งยังมีฉลองพระองค์บางส่วนตั้งอยู่ และห้องทรงพระอักษร มีโต๊ะซึ่งเคยทรงงานตั้งอยู่ โดยข้าวของส่วนใหญ่นั้นก็จะจัดวางตกแต่งในรูปแบบเดิมเหมือนสมัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ จะมีการตกแต่งเพิ่มเติมเล็กน้อยก็ด้วยสิ่งของที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการ เสด็จเยือนยังสถานที่ต่างๆ ของสมเด็จฯ ที่ทายาทได้รวบรวมไว้

ทั้งยังมีห้องเกียรติสถิต หรือ Hall of Fame ที่ประดับรูปภาพของบุคคลในราชสกุลดิศกุลที่ประกอบคุณงามความดีไว้ เช่น ม.จ. จงจิตรถนอม ดิศกุล ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ม.จ. มารยาตรกัญญา ดิศกุล พลเรือเอก ม.จ. กาฬวรรณดิศ ดิศกุล พลโท ม.จ. พิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล ม.ร.ว. สังขดิศ ดิศกุล เป็นต้น

ส่วนห้องที่มีความสำคัญสูงสุดของวังก็คือ ห้องพระบรมอัฐิ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเข้าไปกราบถวายบังคมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ห้องพระบรมอัฐิเป็นประจำทุกวัน

ที่ฉันรู้สึกก็คือบรรยากาศของวังวรดิศนั้นไม่ดูขลังขรึมเหมือนกับวัง อื่นๆ ที่เคยไป แต่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านที่มีคนอยู่อาศัยและได้รับการดูแลรักษาอย่าง ดีจากเจ้าของบ้าน ซึ่งในตอนนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ทายาทชั้นเหลนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเจ้าของวังวรดิศแห่งนี้อยู่

และนอกจากวังวรดิศแล้ว บริเวณวังก็ยังเป็นที่ตั้งของ “หอสมุดดำรงราชานุภาพ” เป็นที่เก็บรักษาหนังสือที่พระองค์ทรงสะสมไว้ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศกว่า 7,000 เล่ม ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา ได้ทูลขอหนังสือเหล่านี้เพื่อจะนำไปทำ "ห้องดำรง" โดยทรงให้เหตุผลว่า พระองค์ท่านคงจะเสียใจมาก ถ้าพบลายพระหัตถ์

หอสมุดดำรงราชานุภาพนี้เดิมตั้งอยู่ที่ระหว่างหอพระสมุดวชิรญาณ (ตึกถาวรวัตถุ) กับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว แต่ต่อมาได้มีการสร้างอาคารใหม่ขึ้นในบริเวณวังวรดิศเพื่อจัดทำเป็นหอสมุด ดำรงราชานุภาพ โดยเป็นอาคาร 3 ชั้น ทรงยุโรป ฉันได้เข้าไปดูภายในแล้วก็ต้องทึ่งกับหนังสือเก่าโบราณมากมาย ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น ใครสนใจก็เข้าไปค้นหาหนังสือกันได้ แต่หนังสือเก่าๆ ก็ต้องติดต่อบรรณารักษ์ให้จัดการให้

วันที่ 1 ธันวาคมนี้ หากใครต้องการจะมารำลึกถึงพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย หรือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้มีคุณูปการหลายต่อหลายด้านต่อประเทศไทย ก็เชิญได้ที่วังวรดิศ และหอสมุดดำรงราชานุภาพ

พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ และหอสมุดดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่ที่ 182 ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. 10100 สอบถามรายละเอียดโทร.0-2282-9110, 0-2281-7577, 0-2280-2133 พิพิธภัณฑ์วังวรดิศเปิดให้เข้าชมทุกวันและเวลาราชการโดยไม่มีการเก็บค่าชม โดยต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า และต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะ ส่วนหอสมุดดำรงราชานุภาพเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ราชพฤกษ์เพลินตา ชมพฤกษาเมืองกรุง


หอรัชมงคล ภายในสวนหลวง ร.9
เกือบหนึ่งเดือนแล้วที่งานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัด เชียงใหม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม กระแสของงานราชพฤกษ์นี้ก็แรงไม่ใช่เล่น จนตอนนี้ใครต่อใครก็อยากจะไปเชียงใหม่กันเป็นแถวๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่มีโอกาส ไปหรือไม่มีเวลา ก็เลยได้แต่ติดเอาไว้ก่อน

เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับฉัน เพราะนอกจากระยะเวลาการจัดแสดงงานราชพฤกษ์ที่จะยาวไปจนถึงปลายเดือนมกราคมปี หน้าแล้ว หากใครที่เป็นคนรักถนอมบุปผา เมื่อดอกไม้เบ่งบานในหัวใจ ไม่ว่าดอกไม้ที่ไหนๆก็สามารถดูให้งดงามได้ ด้วยเหตุนี้ฉันจึงออกตะลอนเมืองกรุงในอารมณ์ดอกไม้บานไปดูสวนสวยและดอกไม้ งามตามสถานที่ต่างๆรับเหมันต์ฤดู

สถานที่แห่งแรกที่ให้อารมณ์น้องๆงานพืชสวนโลกก็ต้องที่นี่เลย "สวนหลวง ร.9" ที่เขาจัดงาน "พรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9" ต่อเนื่องกันมาจนปีนี้ก็เป็นครั้งที่ 19 แล้ว

สำหรับงานพรรณไม้งามฯ นี้ก็เป็นงานประจำปีที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันมากทีเดียว ฉันเองก็เคยพาเที่ยวชมดอกไม้สวยๆ ไปแล้วครั้งหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นบรรยากาศภายในงานก็ไม่ต้องพูดถึง แน่นอนว่าต้องเต็มไปด้วยดอกไม้สวยๆ แน่ๆ เพราะทางสวนเขาได้จัดเอาไม้ดอกไม้ประดับ และสวนนานาชาติ ทั้งสวนอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา สเปน อิตาลี จีน และญี่ปุ่น มาจัดแสดงให้ได้ชมกัน

สวนดอกไม้ที่จัดแสดงภายในสวนหลวง ร.9 นั้น ก็มีมากมายหลายพันธุ์ ส่วนมากจะเน้นดอกไม้แบบไทยๆ สีสันสวยงาม และแน่นอนว่าเมื่อมีต้นไม้ดอกไม้ สิ่งที่จะตามมาติดๆ ก็คือแมลงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวัญใจช่างภาพอย่างผีเสื้อก็ต้องแวะมาเยี่ยมเยียนด้วยเช่น กัน และไม่ได้มีเพียงเฉพาะสวนดอกไม้กลางแจ้งเท่านั้น แต่ที่งานพรรณไม้งามฯ ก็ยังมีการจัดแสดงพันธุ์ไม้ในร่ม ในอาคารโดมแสดงพันธุ์ไม้ ที่จะมีต้นไม้จำพวกบัว รวมทั้งพันธุ์ไม้ทะเลทรายอย่างกระบองเพชรนานาชนิดไว้ด้วย

และถ้าหากว่าที่งานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่มีหอคำหลวงเป็นไฮไลท์ของงาน ที่สวนหลวง ร.9 นี้ก็มีหอรัชมงคลเป็น ไฮไลท์ด้วยเหมือนกัน โดยภายในหอรัชมงคลก็ได้เป็นที่จัดแสดงพระราชประวัติ และพระจริยวัตรในด้านต่างๆ รวมทั้งโครงการพระราชดำริอีกมากมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงมีหอรัชมงคลเท่านั้น ที่นี่ยังมีพลับพลายอด ซึ่งได้จำลองเอาพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์จากพระราชวังบางปะอินมาไว้ที่นี่ เป็นมุมถ่ายรูปที่สวยงามเช่นกัน

สำหรับงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 ในปีนี้ก็จะจัดขึ้นในวันที่ 1-11 ธันวาคม 2549 นี้ กิจกรรมพิเศษนอกจากมาชมดอกไม้แล้ว ก็ยังมีการประกวดต้นลีลาวดีและชวนชม ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกด้วยล่ะ

และสถานที่ถัดมาที่ฉันจะพาไปชมสวนดูดอกไม้ก็คือที่ “สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” ที่ตั้งอยู่ด้านหลังสวนจตุจักร และอยู่ในรั้วเดียวกับพิพิธภัณฑ์เด็กนี่เอง สวนแห่งนี้เป็นสวนที่จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระราชินี เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2535 และแม้จะไม่ได้มีการจัดงานใดๆ เป็นพิเศษ แต่ที่สวนนี้ก็มีดอกไม้ให้ดูกันตลอดปี

ด้วยความที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์นี้สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจจะให้เป็น "สวนป่า" ดังนั้นใครที่ชื่นชอบชื่นชมเรื่องของต้นไม้ดอกไม้รับรองมาที่นี่ไม่ผิดหวัง แน่นอน เพราะพื้นที่สวนกว่า 140 ไร่ นี้ เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น ไม้ดอก และพันธุ์ไม้ต่างๆ มากมาย เรียกว่าหากจะเดินชมกันแบบจริงๆ จังๆ ก็อาจเกิดอาการขาลากได้เลยทีเดียว

ใครที่เข้ามาชมภายในสวนสมเด็จฯ นี้ ก็จะได้พบกับสวนพฤกษศาสตร์ที่มีต้นไม้หลากหลาย แบ่งโซนเป็นต้นไม้สายพันธุ์ต่างๆ เช่นที่ "ลานชบา" ก็จะมีต้นชบากว่า 100 สายพันธุ์ กำลังออกดอกสวยงามหลากสีสัน ทั้งสีชมพู สีส้ม สีขาว และ "ลานอโศก" ใครที่ยังไม่เคยเห็นต้นอโศกและดอกอโศกก็มาชมกันได้ที่นี่ แล้วก็ยังมี "ลานลั่นทม" ที่มีลั่นทมหลากสี แต่ต้องรอหน้าร้อนถึงจะออกดอกเต็มต้นพร้อมเพรียงกัน และที่น่าชมก็ต้อง "ลานบัว" ที่มีดอกบัวสีสันสวยงามทั้งพันธุ์ไทยและต่างประเทศลอยคอดึงดูดแมลงให้เข้ามาหา

นอกจากนั้นที่นี่ก็ยังได้รวบรวมเอา "ดอกไม้พระนาม" ซึ่งได้นำเอาพระนามของสมเด็จพระราชินีไปตั้งเป็นชื่อดอกไม้ เช่น ดอกกล้วยไม้แคทลียาควีนสิริกิติ์ ดอกกุหลาบควีนสิริกิติ์ ดอกดอนญ่าควีนสิริกิติ์ เป็นต้น โดยดอกไม้เหล่านี้ก็มีสีสันและรูปทรงที่สวยงาม สมกับชื่อที่ได้รับพระราชทานพระนามของสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

ต้นไม้หายากที่นี่ก็มีเช่นกัน เช่น ย่านดาโอ๊ะ หรือ ต้นเถาใบสีทอง ไม้หายากของไทยที่พบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น ความพิเศษของต้นนี้ก็คือใบจะมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมอยู่ และจะเปลี่ยนเป็นสีทองแดงเหลือบรุ้งในเดือนสิงหาคม-กันยายน และเป็นสีเงินในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ที่สวนสมเด็จฯ ก็ยังมีกล้วยไม้หลายสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน อยู่ภายในอาคารกล้วยไม้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ แต่ตอนนี้ยังไม่เปิดให้เข้าชม เพราะต้องรอให้มีการเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเสียก่อน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จมาเปิดในช่วงประมาณเดือนธันวาคมนี้

เดินมาสองสวนจนชักจะเหนื่อย ฉันขอพักเข้ามาหลบร้อนและพักเหนื่อยที่ "อุทยานการเรียนรู้" หรือ TK Park ที่บนชั้น 8 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า เสียหน่อย ที่นี่เขาก็ไม่น้อยหน้างานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่เหมือนกัน เพราะในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทาง TK Park ได้จัดกิจกรรม "มหัศจรรย์พรรณพฤกษ์" ขึ้น โดยในแต่ละอาทิตย์ก็จะมีกิจกรรมแตกต่างกัน ที่ผ่านมาก็เช่น นิทรรศการและกิจกรรมเรื่อง"หลากหลายเรื่องระบบนิเวศ" ได้รับความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน ต่อด้วยหัวข้อ "เฟิน : พืชดึกดำบรรพ์" ก็ได้รู้จักกับพรรณไม้เก่าแก่ของโลก และที่ผ่านมาหมาดๆ ก็คือกิจกรรม "โลกสวยด้วยกล้วยไม้" ที่ผู้เข้าร่วมจะได้ทั้งปลูกกล้วยไม้ วาดรูปกล้วยไม้ ฯลฯ

แม้จะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของงาน "มหัศจรรย์พรรณพฤกษ์" แต่กิจกรรมในวันที่ 25-26 พฤศจิกายนนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย คือหัวข้อ "เสพศิลป์กลิ่นพฤกษา" โดยจะมีกิจกรรมดนตรีในสวน การใช้กลิ่นหอมของดอกไม้บำบัด และการสร้างศิลป์จากพฤกษา นอกจากนั้นแล้ว บริเวณลานสานฝัน ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมภายใน TK Park ก็ยังได้จัดเป็นมุมสวนหย่อมไว้ โดยมีทั้งมุมพืชทะเลทราย มุมกล้วยไม้ และมุมเฟินให้ความรู้ไว้ด้วย แม้จะไม่กว้างใหญ่เท่าสวนกลางแจ้งของที่อื่นๆ แต่ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย แถมงานนี้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ก็เข้าร่วมได้ไม่แปลกแยก มาเป็นครอบครัวได้ก็ยิ่งดี

สามสถานที่ที่ฉันแนะนำมานี้ก็หวังว่าจะเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ต้อง แกร่วอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ไปชมงานพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ลองไปชมกันดู ถ้าไม่คิดมากว่าจะต้องไปดูสวนภูฏาน หรือดอกทิวลิปจากเนเธอแลนด์ให้ได้แล้วละก็ งานพืชสวนที่กรุงเทพฯ นี้ก็มีดีไม่แพ้ใครเหมือนกันล่ะ

"สวนหลวง ร.9" ตั้งอยู่ที่ ถนนสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. เปิดบริการให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. ค่าผ่านประตู คนละ 10 บาท สอบถามโทร.0-2328-1385-6

"TK Park" (ทีเค ปาร์ค) ตั้งอยู่ที่ ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า สี่แยกราชดำริ เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-20.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น.ให้บริการอ่านหนังฟรี แต่ถ้าต้องการยืมหนังสือ เล่นอินเตอร์เน็ต หรือใช้บริการโซนมินิเธียเตอร์ต้องสมัครสมาชิก สอบถามโทร. 0-2250-7620

"สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์" ตั้งอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ด้านหลังสวนจตุจักร รั้วเดียวกับพิพิธภัณฑ์เด็ก เปิดให้บริการ 05.00 -18.30 น. ทุกวัน สอบถามโทร.0-2272-4358-9

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ย่ำกรุงตามรอยพระราชอาคันตุกะ


วัดพระแก้ว เป็นสถานที่หนึ่งที่พระราชอาคันตุกะให้ความสนใจไปเยี่ยมชม
เชื่อว่าหลายคนคงยังจำความสุขและความปลื้มปีติที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ดีแม้จะผ่านมากว่า 5 เดือนแล้ว

ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากให้วันดีๆ เหล่านั้นผ่านไปเร็วนัก เพราะยังจำได้ถึงความปลื้มใจที่เห็นพระราชอาคันตุกะจากหลายประเทศเสด็จมา ถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวของเรา และพระราชอาคันตุกะแต่ละพระองค์ต่างก็ได้เสด็จไปท่องเที่ยวยังที่ต่างๆ ของประเทศ ก็น่าดีใจว่าสถานที่ท่องเที่ยวของเรานั้นได้มีแขกผู้มีเกียรติจากต่างถิ่นมา เยี่ยมเยียน

ด้วยเหตุนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ วัดพระแก้ว. เขาก็เลยปิ๊งไอเดียอยากให้ประชาชนได้มาท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะกัน บ้าง จึงได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะทั้งทางบกและทางน้ำขึ้น แต่จะไปเที่ยวที่ไหนบ้างนั้นต้องลองไปดูกัน

เริ่มต้นกันที่พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว วัดคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา มีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วประเทศ นอกจากนั้นแล้ว วัดพระแก้วยังถือเป็นที่รวมของสุดยอดศิลปกรรมไทยหลายแขนงเอาไว้ ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมอันมีสิ่งก่อสร้างงดงามต่างๆ ทั้งพระเจดีย์ พระมณฑป และหอพระต่างๆ ในด้านจิตรกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ก็นับเป็นที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดชม

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ก็ยังจะได้ไปชมพระบรมมหาราชวัง สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในอดีต ซึ่งมีพระที่นั่งงดงามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งอมรินทวินิจฉัย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย โดยทั้งสองสถานที่นี้ก็มีพระราชอาคันตุกะหลายพระองค์ทีเดียวที่ได้เสด็จมาชม ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 แห่งราชอาณาจักรเลโซโท เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งราชรัฐโมนาโก เจ้าชายอาโลอิส มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงโซฟี มกุฎราชกุมารี พระชายาแห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงมักซิมา มกุฎราชกุมารีแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

มาต่อกันใกล้ๆ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ วัดที่เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เป็นแหล่งรวมสรรพวิทยาการต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านวรรณกรรม ฯลฯ รวมทั้งสิ่งล้ำค่าต่างๆ ไว้มากมาย เมื่อมาถึงวัดโพธิ์แล้วต้องไม่พลาดไปสักการะพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถที่มีพุทธลักษณะงดงามราวกับเทวดามาสร้างไว้ จากนั้นจึงไปกราบพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ และชมลายประดับมุกมงคล 108 ประการที่พระบาทของพระนอน และอย่าลืมไปกราบสักการะเจดีย์สี่รัชกาลที่ตั้งอยู่ใจกลางวัดโพธิ์ และชมตุ๊กตาศิลาจีนอันมีชื่อเสียงของวัดโพธิ์ด้วยล่ะ

เดินทางกันต่อผ่านถนนราชดำเนินมาที่วัดเทพธิดาราม วัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอัปสร สุดาเทพ พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงได้รับใช้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระราชบิดา

วัดนี้สร้างตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 คือทั้งพระอุโบสถ พระวิหารของวัดนี้ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ส่วนที่หน้าบันก็ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องจีนแทน ส่วนภายในพระอุโบสถก็น่าสนใจไม่น้อย มีพระประธานที่สร้างด้วยศิลาขาวที่อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เฉลิมพระนามว่า "พระพุทธเทววิลาศ"

ส่วนในพระวิหารก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เพราะด้านหน้าพระประธานในพระวิหารนั้น มีรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ที่ได้รับเอตทัคคะ หล่อด้วยดีบุกประดิษฐานถึง 52 องค์ โดยแต่ละองค์ จะมีใบหน้าและอิริยาบถที่แตกต่างกัน โดยมีพระนางปชาบดีโคตรมี (เอตทัคคะด้านรัตตัญูญู) พระน้านางของพระพุทธเจ้าและถือเป็นภิกษุณีองค์แรก ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง

นอกจากนั้นที่นี่ก็ยังมีกุฏิที่สุนทรภู่ กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เคยจำพรรษาขณะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏิไว้และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ทุก วัน

ติดๆ กับวัดเทพธิดารามก็คือวัดราชนัดดาราม วัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ซึ่งภายหลังเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 4) วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นตรงที่โลหะปราสาทงามสง่าที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระนครแทนการสร้างพระเจดีย์เช่นพระอาราม อื่น นับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก ลักษณะของปราสาทสูง 3 ชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอด หมายถึงโพธิ์ปักขิยธรรม 37 ประการ ตรงกลางสร้างเป็นมณฑปภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีบันไดไม้เวียน 67 ขั้น รอบแกนที่เป็นเสาไม้ใหญ่ขึ้นไปด้านบนให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ของกรุงเทพมหา นครด้านบนได้

บริเวณด้านข้างวัดราชนัดดารามก็คือลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ซึ่ง เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และมีพระบรมราชานุสาวรย์ของรัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีศรัทธาแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ด้วย

คราวนี้เดินทางกันไกลหน่อย มาถึงพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดกัน บ้าง ในอดีตนั้นวังแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และพระชายา ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ซึ่งพระองค์เจ้าจุมภฏนี้เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 5

เหตุที่วังแห่งนี้ได้ชื่อว่าวังสวนผักกาด ก็เนื่องจากเคยเป็นสวนผักกาดเก่ามาก่อน และท่านเจ้าของวังนั้นทรงโปรดปรานเครื่องประดับเรือนเป็นอย่างยิ่ง พระองค์จึงทรงตกแต่งตำหนักด้วยโบราณวัตถุหลายประเภท ดังนั้นหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระชายาจึงได้อุทิศวังแห่งนี้ให้เป็นพิพิธภัณท์จัดแสดงโบราณวัตถุ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมได้นับแต่นั้นมา

นอกจากนั้นก็ยังมีการจัดแสดง "พิพิธภัณฑ์ดนตรี ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ" ที่ภายในมีการจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยในทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ซึ่งพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล" โดยเครื่องดนตรีที่จัดแสดงอยู่ภายในห้องล้วนมีประวัติและความสำคัญที่น่า สนใจ ได้แก่ กลองโบราณขนาดใหญ่ ระนาด ฆ้อง และซอสามสาย ซึ่งเจ้าชายอาโลอิส มกุฎราชกุมารแห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ เสด็จมาทอดพระเนตรที่วังสวนผักกาดแห่งนี้ด้วย

ก่อนจะไปปิดท้ายเส้นทางตามรอยฯ กันที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ไปเดินชอปปิ้งยามค่ำคืนกันที่ตลาดนัดกลางคืนของคนเมืองกรุงที่มีสินค้าให้ เลือกซื้อหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า ของประดับ ของแต่งบ้าน งานฝีมือไอเดียบรรเจิดมากมายมารวมไว้

และที่ไม่อยากให้พลาดก็คือ ต้องมาชม "นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก" หรือรู้จักกันดีในชื่อ "โจหลุยส์ เธียเตอร์" ที่เพิ่งไปคว้ารางวัลการแสดงทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยมมาได้สดๆ ร้อนๆ ที่กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเชก ในปี 2549 นี้เอง

ก็เป็นอันจบเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะแต่เพียงเท่านี้ แต่ขอบอกว่านี่เป็นเพียงเส้นทางบนบกเท่านั้น แต่ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่เป็นเส้นทางตามรอยทางน้ำ แต่จะไปตามรอยที่ไหนบ้างนั้นต้องรอดูกันตอนหน้าแล้วล่ะ

สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร.0-2250-5500 ต่อ 3493

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

เที่ยวดอนเมือง ชมเครื่องบินที่ พิพิธภัณฑ์ทัพฟ้า


"เก่าไป ใหม่มา" ถือเป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่ง

เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้ สนามบินดอนเมืองก็จำเป็นต้องลาโรงไปโดยปริยาย ทิ้งไว้พียงตำนานและความทรงจำ

ฉันเองก็อดใจหายและคิดถึงดอนเมืองไม่ได้ เมื่อสนามบินดอนเมืองกลายเป็นตำนาน ฉันจึงตัดสินใจเดินทางสู่ดอนเมืองเพื่อล่ำลาสนามบินแห่งนี้ พร้อมๆกับเที่ยวในย่านดอนเมืองควบคู่กันไปเสียเลย

เมื่อพูดถึงสนามบินดอนเมืองแล้ว หลายๆคนโดยเฉพาะคุณผู้หญิงก็คงจะนึกถึงแหล่งช้อปปิ้งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามสนาม บินดอนเมืองนั้นก็คือตลาดแอร์พอร์ต หรือตลาดใหม่ดอนเมือง แหล่งนักช้อปสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศทั้งเสื้อผ้าหน้าผมร้องเท้ากระเป๋าเครื่องประดับน้ำหอมมากมายสารพัด หรือจะเลือกช้อปที่ร้านเจ๊เล้งฝั่ง สนามบินก็ได้ ที่นั้นก็มีหลากหลายทั้งเสื้อผ้าหน้าผมขนมนมเนยแปลกตาแปลกยี่ห้อก็มีให้ได้ เลือกซื้อเลือกกิน แต่เมื่อสนามบินย้ายไปแล้วฉันคิดว่าตลาดนักช้อปเหล่านี้อาจจะเงียบเหงาลงก็ เป็นได้

ส่วนอีกที่หนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสนามบินดอนเมืองนั้นก็คือ"วัดดอนเมือง" ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ วัดดอนเมืองนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และถือเป็นวัดที่เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 6

ที่ฉันบอกไว้ว่าวัดแห่งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสนามบินดอนเมืองก็ตรง ที่ว่า สมัยก่อนบริเวณแถบสนามบินดอนเมืองนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า"ดอนอีเหยี่ยว" เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินมารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ วัดดอนเมืองนั้นเดิมชาวบ้านก็เรียกว่า"วัดดอนอีเหยี่ยว" แต่เมื่อมีการย้ายสนามบิน จากสนามบินสระปทุมมายังดอนอีเหยี่ยว และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นดอนเมือง วัดนี้จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็น"วัดดอนเมือง"

วัดดอนเมืองนี้ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญด้านวัฒนธรรมคู่เขตดอนเมือง ภายในวัดมีสถานที่ที่สำคัญ และน่าสนใจมากมายอาทิ พระอุโบสถ ซึ่งก่อสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิม ที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ด้วยสถาปัตยกรรมไทยทั้งหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง และภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติไว้อย่างสวยงาม สมฝีมือช่างยุคร่วมสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากพระอุโบสถที่สวยงามแล้ว พระเจดีย์ทองสีเหลืองอร่ามตั้งเด่นเป็นสง่าสามารถมองเห็นได้ชัดเจนแต่ไกล จากฝั่งท่าอากาศยานฯก็สวยงามเช่นกัน ซึ่งพระเจดีย์องค์นี้ได้รับการก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงพระราชทานให้เมื่อปีพ.ศ. 2542 ที่ผ่านมา

ถัดจากพระเจดีย์มีพระวิหารที่ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ และยังมีรูปจิตรกรรมฝาผนังซึ่งแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติที่สวย งาม

เมื่ออิ่มบุญแล้ว ฉันขอไปต่ออารมณ์เหิรฟ้ากันที่ "พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ" ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ โดยทางกองทัพอากาศได้เริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2495 เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาอากาศยาน เครื่องสื่อสาร อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่เคยใช้ในกองทัพอากาศ ตลอดจนพัสดุเกี่ยวกับการบินที่น่าสนใจ

เมื่อฉันได้ก้าวย่างเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ฉันได้เห็นคือเครื่องบินลำใหญ่จอดเรียงรายอยู่หลายลำ สำหรับคนบ้านนอกอย่างฉันที่อยู่ในท้องทุ่งท้องนาขี่แต่วัวแต่ควาย แทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นเครื่องบิน แต่มาวันนี้ฉันได้ใกล้ชิดกับเหล่าเครื่องบินมากมายทำให้ฉันรู้สึกตื่นตาตื่น ใจและตื่นเต้นเป็นที่สุด

อาจจะเป็นเพราะความดีใจอย่างเก็บอาการไม่อยู่ของฉัน ทำให้ ร.ต.หญิงเอื้อมพร ศรสุวรรณ เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์ เข้ามาทักและอาสานำชมเครื่องบินต่างๆในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ร.ต.เอื้อมพร เล่าว่า เครื่องบินที่จัดแสดงไว้นั้นเป็นเครื่องบินที่ปลดประจำการแล้วทั้งสิ้น และมีอยู่หลายสิบลำ ทั้งแสดงโชว์อยู่นอกอาคารและภายในอาคาร โดยได้แบ่งอาคารแสดงเป็น 5 อาคารด้วยกัน

อาคารแรกจะจัดแสดงประวัติการบินของไทย เครื่องบินที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย และเครื่องบินที่เคยประจำการในกองทัพอากาศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารที่ 2 จัดแสดงอากาศยานหาดูได้ยาก อาคารที่ 3จัดแสดงอากาศยานปราบปรามผู้ก่อการร้ายในประเทศ อาคาร 4 จัดแสดงเครื่องแบบทหารอากาศ ยุทธภัณฑ์สายสรรพาวุธ อุปกรณ์การบิน ห้องปรับอากาศความดันต่ำ แบบจำลองเครื่องบินเล็ก อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และอาคารสุดท้าย จัดแสดงเฮลิคอปเตอร์และขับไล่ใบพัดรุ่นสุดท้าย

ร.ต.เอื้อมพร พาฉันไปดูเครื่องบินที่เหลือเพียงลำเดียวในโลก มีชื่อว่า "เครื่องบินขับไล่แบบที่ 10 ฮอว์ค 3" (บ.ข.10 Hawk3) เข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ.2478 เป็นเครื่องบินขับไล่ปีก 2 ชั้น 1 ที่นั่ง สามารถพับฐานล้อได้ ติดอาวุธปืนกลอากาศจำนวน 2 กระบอก ลูกระเบิดใต้ปีกจำนวน 4 ลูก ลูกระเบิดใต้ลำตัวจำนวน 1 ลูก เคยประจำการในช่วงพ.ศ.2478- 2492

เครื่องบินที่เหลืออยู่เพียงลำเดียวในโลกอีกเช่นกันก็คือ "เครื่องบินโจมตีแบบที่ 1 คอร์แซร์" (Corsair V-93 S) ซึ่งเป็นเครื่องบินประเภทตรวจการณ์โจมตีทิ้งระเบิด เข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ.2477 คอร์แซร์นี้เป็นเครื่องบินที่มีบทบาทการสู้รบทางอากาศครั้งแรกของไทย คือในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ.2483-2484

เครื่องบินโจมตีแบบที่ 1 (บ.จ.1) นี้เป็นแบบ 2 ที่นั่ง ปีก 2 ชั้น ติดอาวุธปืนหน้าแบบวิคเกอร์ 4 กระบอก ปืนหลังแบบวิคเกอร์ 1 กระบอก และลูกระเบิดติดใต้ปีก ใช้ประจำการตั้งแต่ พ.ศ.2477-2493

นอกจากนี้คนไทยเราก็สามารถสร้างเครื่องบินได้เอง โดยในปีพ.ศ. 2470 พันโทหลวงเวชยันต์รังสฤษฏ์ (อดีตผบ.ทบ) ได้ออกแบบและสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดขึ้นใช้ในราชการได้เป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานนามว่า "บริพัตร" (Boripatra) กองทัพอากาศกำหนดแบบเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ 2 (บ.ท.2)

เครื่องบิน บ.ท. 2 นี้เป็นแบบ 2 ที่นั่ง มีปีก 2 ชั้น กว้าง 44 ฟุต (13.8 เมตร) ยาว 28 ฟุต 9 นิ้ว (8.6286 เมตร) สูง 10 ฟุต 5 นิ้ว (3.127 เมตร) น้ำหนัก 1,845.8 กิโลกรัม บินด้วยอัตราความเร็วสูงสุด 290.7 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใบพัดด้านหน้าทำจากไม้ ดูแล้วทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในเครื่องบินสัญชาติไทยแท้ๆลำนี้จริงๆ

อีกทั้ง บ.ท.2 ลำนี้ยังเคยเดินทางไปเยือนต่างประเทศ 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกไปเยือนประเทศอินเดียตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย ในปี พ.ศ.2472 และครั้งที่สองไปเยือนอินโดจีนฝรั่งเศส ที่เมืองฮานอย เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้ง ที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2473 สรุปได้ว่าบ.ท.2ได้ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2470-พ.ศ.2483 เป็นเวลาทั้งสิ้น 13 ปี

นอกจากนี้ยังมีเหล่าเครื่องบินอีกหลายสิบลำที่ ร.ต.เอื้อมพร พาฉันไปรู้จัก ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจและภูมิใจในความสามารถในการคิดค้นสร้างสิ่งหนักๆ เหล่านี้ให้สามารถลอยไปในอากาศได้

วันนี้นอกจากฉันจะได้มาเก็บภาพความทรงจำของอดีตสนามบินที่เคยยิ่ง ใหญ่ของประเทศไทยแล้ว ยังได้เที่ยวไปในสถานที่ต่างๆที่น่าสนใจรอบๆสนามบินดอนเมือง สนามบินที่วันนี้กลายเป็นตำนานไปแล้ว

วัดดอนเมือง ตั้งอยู่ที่ริมถนนเชิดวุฒากาศ (ถนนโลคอลโรด) แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ โทร.0-2566-1954

พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ ตั้งอยู่ที่ 171 กองทัพอากาศ ถ.พหลโยธิน แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น. โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วง หน้าก่อนประมาณ 1 อาทิตย์ นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศยังเปิดสอนการทำโมเดลเครื่องบินด้วย กระดาษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันเสาร์และอาทิตย์ สอบถามโทร.0-2534-1764 , 0-2534-1853

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

เดินดินไปดูดินที่" พิพิธภัณฑ์ดิน "


ใครจะรู้บ้างว่าห่างจากแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปไม่ไกล นักเป็นที่ตั้งของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งแม้ว่าบ่อยครั้งที่ฉันสัญจรผ่านก็ยังไม่เคยเหลียวมองเลยว่าภายในจะมี สิ่งใดน่าสนใจอยู่บ้าง คิดเพียงว่าเป็นสถานที่ราชการเท่านั้น จนเมื่อไม่นานมานี้ฉันก็มีโอกาสผ่านไปย่านนั้นอีกครั้ง และต้องสะดุดตากับป้ายขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้ากรมพัฒนาที่ดินที่ประกาศเชิญ ชวนให้เข้าเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์ดิน" ฟรี!! ด้วยความใคร่รู้เมื่อสบโอกาสว่างจึงไม่พลาดที่จะแวะชม

พิพิธภัณฑ์ดินแห่ง นี้ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของอาคารที่ทำการกรมพัฒนาที่ดิน เดินตรงเข้าไปในตัวอาคารเลี้ยวขวาก็ถึงแล้ว สำหรับหนุ่มลูกทุ่งอย่างฉันที่ผูกพันอยู่กับไอดินและกลิ่นโคลนสาบควายมาก่อน นั้น จึงค่อนข้างอยากรู้เป็นพิเศษว่าในพิพิธภัณฑ์จะเป็นเช่นไร เผื่อจะได้นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่งกลับไปให้ญาติพี่น้องนำไปพัฒนาผืนดิน แถวท้องไร่ท้องนาบ้านฉันได้อย่างถูกวิธี

ทันทีที่เข้าไปถึงสิ่งที่ฉันอยากรู้ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับดินซะที เดียว แต่อยากรู้ประวัติความเป็นมาขององค์กรก่อนต่างหากเพราะถ้าไม่มีกรมพัฒนาที่ดินก็ ไม่มีพิพิธภัณฑ์ดินเกิดขึ้นแน่นอน ฉันจึงเดินตรงรี่ปรี่เข้าไปดูประวัติของกรมพัฒนาที่ดินก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งก็มีการบอกประวัติพอสังเขปตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจดินครั้งแรกในประเทศ ไทยเมื่อพ.ศ.2478 และที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานด้านการศึกษาสำรวจทรัพยากรดินและ ที่ดิน

ส่วนพิพิธภัณฑ์ดินนั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2545 และเพิ่งได้รับการปรับปรุงล่าสุดไม่นานมานี้ เมื่อเปลี่ยนโฉมแล้วก็ได้เชิญเสด็จสมเด็จพระเทพฯมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นวันครบรอบ 43 ปีการก่อตั้งของกรมพัฒนาที่ดินอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ดินที่ นี่ถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และมีความทันสมัยสมบูรณ์แบบที่สุดในเอเชีย ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ดินแห่งนี้นอกจากจะจัดแสดงประวัติความเป็นมาของการก่อ ตั้งกรมพัฒนาที่ดินแล้ว ก็ยังมีมุมสำหรับการแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการสำรวจดินยุคแรก ๆ

อาทิ เข็มทิศ จอบ เสียม กล่องอุปกรณ์สนามสำหรับการถ่ายภาพทางอากาศและการสำรวจดิน หรืออย่างสว่านเจาะดิน ที่แยกย่อยออกมาเป็น “สว่านกระบอก” สำหรับใช้เจาะดินร่วนหรือดินทราย “สว่านใบมีด” เพื่อใช้เจาะดินเหนียว หรือจะเป็นชุดวัดปฏิกิริยาดินที่ใช้วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินและเครื่องมืออื่นๆอีกกว่า10ชนิด

เครื่องมือเหล่านี้บอกตามตรงเลยว่าฉันก็เพิ่งเคยเห็น เคยรู้จัก ก็เมื่อได้มาที่นี่บางอย่างถ้าไม่บอกก็ไม่รู้หรอกว่าเกี่ยวข้องกับดินได้ อย่างไร มันทำให้รู้ว่าใต้ฝ่าเท้าที่เรายืนอยู่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตแค่ไหน ก็อะไรบ้างล่ะที่ไม่ใช้ดินเป็นส่วนประกอบทั้งสร้างบ้าน ปลูกพืชผักผลไม้ ผลิตผลต่างๆ ทุกอย่างล้วนต้องใช้ดินทั้งนั้น เห็นทีกลับออกจากที่นี้ฉันคงต้องขอกลับไปจุดธูปเทียนบูชาพระแม่ธรณีสักหน่อย เป็นไร

สำหรับคนขี้ร้อนก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะข้างในพิพิธภัณฑ์เปิดแอร์เย็น ฉ่ำทีเดียว สามารถเดินดูได้เรื่อยๆ เพลินตาดีด้วยแถมยังได้ความรู้เกี่ยวกับพื้นปฐพีเพิ่มขึ้นด้วย ฉันพอจะจำเรื่องดินในชั่วโมงวิทยาศาสตร์เมื่อครั้นเรียนมัธยมได้บ้าง ที่อธิบายถึงการกำเนิดดินไว้ว่า ดินเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินชนิดต่าง ๆ โดยใช้เวลาที่นานมาก หินที่สลายตัวผุกร่อนก็จะมีขนาดต่าง ๆ กัน เมื่อผสมรวมกับซากพืช ซากสัตว์ น้ำ อากาศ ก็กลายเป็นเนื้อดินซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของ ดิน

ที่นี่มีการนำตัวอย่างดินด้านวิวัฒนาการการสำรวจจำแนกดินของประเทศ ไทยมาจัดแสดงให้ชมด้วย ซึ่งจะบอกถึงการจำแนกดินว่าเป็นดินชนิดใด การกำเนิดของดินชนิดนั้นเป็นอย่างไร ควรอยู่ในสภาพพื้นที่ใด การระบายน้ำดีหรือไม่ พืชพรรณธรรมชาติที่เหมาะสมกับชนิดของดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินปลูกพืชชนิด ใดมีข้อจำกัดใดและมีข้อเสนอแนะต่อสภาพดินในแต่ละชนิดพอสังเขปให้ด้วยซึ่งก็ นับว่ามีประโยชน์มากทีเดียว

เมื่อเดินเข้าไปถึงด้านในสุดของพิพิธภัณฑ์ก็จะพบ การแสดงหน้าตัดชุดดินของไทยตามสภาพภูมิประเทศจำแนกตามกลุ่มชุดดินที่ทางกรม พัฒนาที่ดินได้จัดหมวดหมู่ไว้ตามลักษณะ ศักยภาพ และการจัดการที่คล้ายคลึงกันซึ่งแบ่งดินออกเป็น 62 กลุ่มชุดดิน ซึ่งปัจจุบันพบว่าผลงานนี้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง

อย่างเช่น กลุ่มชุดดินที่35 ก็จะมีข้อมูลอย่างชัดเจนระบุว่าเป็นกลุ่มชุดดินที่อยู่ในเขตแห้งแล้ง พร้อมกันนี้ยังมีตัวอย่างกลุ่มชุดดินจากที่ต่างๆในกลุ่มนี้มาในชมอีกด้วย เช่น ชุดดินโคราช ชุดดินห้างฉัตร ชุดดินดอนไร่ ชุดดินวาริน เป็นต้น ทำให้เราได้รู้ว่าสภาพดินในแต่ละพื้นที่มีหน้าตาเป็นอย่างไรซึ่งก็มีครอบ คลุมครบทุกชนิดดิน

ยังมีมุมสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลวิชาการเกี่ยว กับดิน และให้ศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงดินทั้ง 62 กลุ่มชุดดิน ที่สามารถสืบค้นหาได้ด้วยตนเองอีกด้วย เรียกว่างานนี้เป็นประโยชน์ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า แม้ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตต่ำ หรือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรก็ตามก็จะมีข้อ แนะนำให้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของดินเสียทั้งดินเปรี้ยวจัด ดินตื้น ดินเค็ม ดินเป็นทรายจัด ดินกรด ดินพรุ พื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน พร้อมกับแผนที่ประเทศไทยที่บ่งชี้ว่า พื้นดินส่วนนี้มีลักษณะของดินเสียที่ควรแก้ไขอย่างไรอีกด้วย อืม...ตอนนี้ฉันเริ่มคิดถึงผืนนาที่บ้านเกิดเสียแล้วสิ ที่ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นคงเป็นเพราะฉันปลูกพืชไม่เหมาะสมกับชนิดของดินเป็นแน่ แท้

ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือมุมจัดแสดงโครงการอันเนื่องพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์แห่งดิน” มีภาพและการบรรยายถึงแนวพระราชดำริที่เป็นประโยชน์ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการแกล้งดินที่ทรงให้มีการทดลองทำดินเปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวแก่ราษฎร โครงการหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน โครงการพัฒนาดินเลว ที่มีพระราชประสงค์ให้มีการฟื้นฟูสภาพดินเพื่อเกษตรกร เป็นต้น

อ้อ!!ใครที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเลยก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ แล้วก่อนกลับก็อย่าลืมแวะลงทะเบียนด้วยเพื่อว่าจะได้เป็นหลักฐานยืนยันว่า เรานั้นได้มาเที่ยวที่นี้แล้ว ส่วนฉันก็ขอนำความรู้เรื่องดินๆที่ได้วันนี้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะ เอาไปบอกญาติพี่น้องบ้านนาได้อย่างถูกต้อง

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้ามาชม "พิพิธภัณฑ์ดิน" ได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ติดต่อที่ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2579-8515

วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

เที่ยว “ ท่าเตียน ” ชุมชนเก่าแก่คู่วัดโพธิ์


ตึกเก่าแก่ทรงยุโรปสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อยู่คู่ท่าเตียนมาช้านาน
เมื่อวันก่อนฉันมีโอกาสได้ไปเดินชมงาน“พิพิธพาเพลิน มหาวิทยาลัยวัดโพธิ์”ที่ วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นงานที่บอกเล่าถึงความเป็นมา ภูมิปัญญาและเกร็ดความรู้ต่างๆเกี่ยวกับวัดโพธิ์และชุมชนท่าเตียนที่เป็น ชุมชนเก่าแก่ที่อยู่คู่กับวัดโพธิ์มาช้านาน

ในงานนี้ฉันได้รู้จักกับคุณลุง“จุล ดุลยวิจิตรเกษม” คนเก่าคนแก่และปราชญ์ท้องถิ่นสำคัญแห่งชุมชนท่าเตียนที่มากไปด้วยความรู้และความทรงจำเกี่ยวกับชุมชนท่าเตียน

และด้วยความติดใจในความเป็นปราชญ์ท้องถิ่นของคุณลุงจุล ในวันรุ่งขึ้นฉันจึงตั้งใจว่าจะกลับไปเดินเที่ยวในท่าเตียนให้หนำใจสักครั้ง โดยนัดหมายให้คุณลุงจุลเป็นไกด์กิตติมศักดิ์พาเที่ยวชมในชุมชนท่าเตียน ซึ่งลุงแกก็ตอบรับด้วยความยินดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ในสายของวันถัดมาหลังงานพิพิธพาเพลินฯ ฉันจึงมุ่งหน้าสู่ท่าเตียนในทันที

สัมผัสแรกที่ฉันมาถึงยังชุมชนท่าเตียนก็คือ กลิ่นเหม็นบ้างหอมบ้างของพวกปลาตากแห้งที่ลอยมาเตะจมูกหลังจากที่ฉันเดิน เข้ามาถึงยังท่าเตียน ตลอดฝากฝั่งด้านตลาดท่าเตียนตั้งแต่แยกจากถนนมหาราชเข้ามายังท่าเรือท่า เตียนเต็มไปด้วยบรรดาร้านขายปลาแห้งมากมายที่ทำเอาน้ำย่อยในกระเพาะเกิด คึกคักขึ้นมาอย่างกะทันหัน เพราะถ้าปลาแห้งที่ใครๆว่าเหม็นเหล่านี้ เมื่อเอาไปทอดแล้วละก็ อร่อยเด็ดทีเดียว

และที่จุดนัดหมาย คุณลุงจุลออกมายืนยิ้มเผล่รอฉันอยู่แล้ว

ลุงจุล หรือที่ชาวท่าเตียนรู้จักกันในชื่อเล่นว่า "ลุงจุ่น" เป็นเสมือนองค์ความรู้ที่มีลมหายใจของชุมชนท่าเตียน เนื่องจากคุณลุงจุ่นอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก และเคยได้เรียนรู้ศึกษาอยู่ที่วัดโพธิ์จึงทำให้คุณลุงเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่อง ราวของท่าเตียนได้เป็นอย่างดี

คุณลุงเล่าว่า ที่ท่าเตียนแห่งนี้เป็นชุมชนมาตั้งสมัยอยุธยาแล้วเรียกว่าชุมชนบางกอก ในสมัยรัตนโกสินทร์บริเวณท่าเตียนแห่งนี้เคยเป็นตลาดท้ายสนมหรือตลาดท้ายวัง มาก่อน และเป็นตลาดที่มีความคึกคัก มีเรือมาจอดเทียบท่าส่งของและค้าขายกันเต็มท่า ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางตลาดขนส่งสินค้าทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุด ของกรุงเทพฯแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการคมนาคมทางน้ำอีกด้วย ไม่ว่าใครจะเดินทางไปไหนมาไหน หรือจะไปต่างประเทศก็ตามก็ต้องมาขึ้นลงเรือที่ท่านี้ทั้งสิ้น

และตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็เต็มไปด้วยเรือนแพของชาวบ้านที่ มาอาศัยอยู่และค้าขายในแถบนี้ จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ทำให้บริเวณท่าเรือ เรือนแพต่างๆ ที่อยู่ริมน้ำ ตลาดท้ายวัง วังของเจ้าขุนมูลนายและบริเวณใกล้เคียง ถูกเผาเรียบเป็นหน้ากลอง จึงสันนิษฐานว่าด้วยเพลิงไหม้ครั้งนี้จึงเป็นมูลเหตุที่มาของชื่อ “ท่าเตียน”

นอกจากนี้ลุงจุลยังเล่าตำนานสนุกๆอีกด้านหนึ่งของท่าเตียนให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยักษ์วัดโพธิ์ที่ดูแลความเรียบร้อยที่วัดโพธิ์ กับยักษ์วัดแจ้งที่ดูแลความเรียบร้อยที่วัดแจ้งหรือวัดอรุณฝั่งตรงข้าม ยังเป็นเพื่อนรักกันมาก วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน(น่าแปลกที่ยักษ์ก็ต้องใช้เงินเหมือน กัน) จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้งพร้อมทั้งนัดวันที่จะนำ เงินไปส่งคืน แต่พอถึงวันคืนเงิน ยักษ์วัดโพธิ์กลับเบี้ยวเอาเสียดื้อๆ

ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืนแต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้ ในที่สุดจึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน

ด้วยความที่ยักษ์ทั้ง 2 ต่างเป็นยักษ์ที่มีร่างกายมหึมาและมีกำลังมหาศาล เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตาย ลงหมด หลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ทั้งสองประลองกำลังกันนั้นจึงราบเรียบ กลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย เมื่อพระอิศวรได้ยินเรื่องราวที่ต่อสู้กันทำให้บรรดามนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงได้ลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง 2 กลายเป็นหิน โดยยักษ์วัดโพธิ์ทำหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถ ส่วนยักษ์วัดแจ้งทำหน้าที่ เฝ้าวิหารวัดแจ้งเรื่อยมา

ส่วนฤทธิ์จากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำชุมชนละแวกนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ท่าเตียน”เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

นั่นเป็นตำนานสนุกๆที่ฉันเคยรับฟังมาเมื่อสมัยเด็ก ซึ่งหลังจากที่ท่าเตียนมอดไหม้จนโล่งเตียน(หรือถูกยักษ์ทั้ง 2 ตนสู้รบจนราบเรียบตามตำนาน) ชาวบ้านก็ได้ทำการสร้างตึกขึ้นมาใหม่

โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้สร้างตึกแบบยุโรปขึ้นตรงท่าโรงโม่หรือซอยทางเข้าท่าเรือข้ามฟากท่าเตียน ซึ่งจะสร้างเป็นตัวยูไปทางซอยท่าเรือแดง ส่วนตรงกลางตึกรูปตัวยูคือตลาดท่าเตียน ส่วนตึกที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 จะอยู่แถวซอยประตูนกยูง แต่ยังมีตึกที่เก่ากว่านั้นตรงใกล้ๆซอยประตูนกยูง ที่เคยเป็นอู่จอดเรือของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส แถวนั้นจึงมีห้องพักของพวกฝีพาย เป็นอาคารชั้นเดียว 11 ห้อง ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้ทางชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกัน อนุรักษ์รักษาไว้

นอกจากนี้หลายคนคงไม่รู้ว่าท่าเตียนเป็นแหล่งที่กำเนิดเพลงไทยสำเนียงลาวอันอมตะนั้นก็คือ“เพลงลาวดวงเดือน”หลาย คนอ่านดูอาจจะคุ้นแต่นึกไม่ออก งั้นฉันขอร้องเนื้อเพลงท่อนแรกให้ได้ถึงบางอ้อกันก็แล้วกัน..โอ้ละหนอดวง เดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย…

คุณลุงจุลบอกฉันว่า เพลงลาวดวงเดือนเดิมชื่อว่า เพลงลาวดำเนินเกวียน ซึ่งเป็นเพลงที่ทรงพระนิพนธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (หรือพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์) พระราชโอรสองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งแถวท่าเตียนนี้เคยเป็นที่อยู่ของขุนนางและเจ้าขุนมูลนายหลาย พระองค์รวมทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมด้วย ต้นเหตุของการนิพนธ์เพลงนี้เนื่องจากว่าครั้งหนึ่งกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ได้เสด็จไปยังเชียงใหม่ และเกิดชอบพอกับเจ้าหญิงชมชื่น พระธิดาองค์โตของเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ ทรงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น แต่ด้วยเนื้อเพลงมีคำว่าดวงเดือนอยู่หลายคำ จึงได้เรียกเพี้ยนกันมาจนกลายเป็นชื่อเพลงลาวดวงเดือน

ลุงจุลเล่าต่อว่า “แต่ก่อนจะมีร้านขายเหล้าเล็กๆแต่สรรพคุณมากล้น และจะมีนายพลเรือทั้งหลายนิยมมานั่งกินเหล้ายาดองแล้วใช้ริมฟุตบาทถนนฝั่ง ตลาดท่าเตียนเป็นเวทีบรรเลงเพลงไทยกันเป็นประจำ มานั่งตีขิมริมถนน ซึ่งภาพเหล่านั้นหาดูที่ไหนไม่ได้นอกจากที่ท่าเตียน ท่าเตียนจึงเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรมในยุคนั้น”

“เมื่อ 50 กว่าปีก่อนสมัยที่ลุงยังเด็กๆ ตลาดท่าเตียนคึกคักมากแทบจะเดินชนกันเลย แถวๆนี้ตรงซอยประตูนกยูงเคยมีร้านทำท็อฟฟี่ทั้งแถวเลย เช้าๆลุงจะตื่นมาดูสาวๆมาเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อมารอห่อท็อฟฟี่ บางทีแซงกันแล้วตีกันเองก็มี เราดูแล้วสนุกดี แต่ที่เลิกกันไปเพราะตอนหลังเขาใช้เครื่องจักรทำได้ปริมาณที่เยอะกว่าเร็ว กว่า”

เมื่อวันเวลาผ่านพ้นมา ท่าเตียนแหล่งชุมชนที่เคยเป็นศูนย์รวมทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การคมนาคม ได้ซบเซาลงหลังจากที่เกิดตลาดย่อยขึ้นมาเยอะ และการคมนาคมสะดวกขึ้นคือมีการสร้างถนนทำให้การสัญจรทางน้ำลดบทบาทลง อีกทั้งยังมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หลังจากตลาดสดย้ายจากท่าเตียนไปอยู่ที่ปากคลองตลาดแล้ว ที่ท่าเตียนก็เหลือแต่ตลาดปลาเค็มกับตลาดโชว์ห่วยหรือร้านค้าของชำที่นับวัน จะยิ่งเหลือน้อยลงทุกที

ปัจจุบันสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ท่าเตียนก็คือความเป็นตลาดปลาแห้ง ซึ่งก็ค่อนข้างที่จะเงียบเหงาผิดกับแต่ก่อน ท่าเรือที่เคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำก็เหลือเพียงท่าเรือข้ามฟากจาก ฝั่งท่าเตียนไปยังฝั่งวัดอรุณฯ สิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่หลายรัชกาลก็ยังคงมีอยู่บ้างในชุมชนท่า เตียน ซึ่งหากคนที่ไม่รู้จักเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชนนี้ก็คงจะไม่ สังเกตและไม่รู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของท่าเตียนชุมชนอันเก่าแก่คู่วัด โพธิ์แห่งนี้

เมื่อรู้เรื่องราวของชุมชนท่าเตียนแล้ว ใครอยากจะไปเดินซื้ออาหารแห้งจากทะเลเช่นปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาหมึกแห้งก็สามารถมาจับจ่ายที่ตลาดท่าเตียนได้ ส่วนใครจะมาเดินชมชุนชนที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งอดีตที่ผสมผสานกับความ เป็นปัจจุบันก็สามารถไปสัมผัสกับบรรยากาศเหล่านั้นได้ที่ท่าเตียนได้ หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ที่ยังมีลมหายใจ

ท่าเตียน ตั้งอยู่บนถนนมหาราชตรงข้ามกับวัดโพธิ์ และริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีรถประจำทางผ่านหลายสายอาทิ สาย 1,25,32,44,47, 53,ปอ.44 หากไปทางน้ำมีท่าเรือข้ามฟากท่าเตียน-วัดอรุณ และท่าเรือด่วนเจ้าพระยา

นอกจากข้อสันนิษฐานเรื่องที่มาของ"ท่าเตียน"ว่ามาจากการถูกไฟไหม้ ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 4 แล้ว ยังมีข้อสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์บางท่านว่า ท่าเตียนน่าจะมาจากคำว่า"ฮาเตียน" ในภาษาเวียดนาม ซึ่งในอดีตท่าเตียนเคยเป็นชุมชนของชาวเวียดนามมาก่อน

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

เลียบถิ่นชาววัง... ตามรอย " แม่พลอย " แห่งสี่แผ่นดิน


ทำไม นวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ที่เขียนโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงเป็นได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน?

คนที่ยังไม่เคยอ่านอาจจะนึกไม่ออกว่าทำไมนิยายเรื่องนี้จึงได้รับ ยกย่องถึงขนาดนั้น แต่คนที่มีโอกาสได้อ่านแล้วคงจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่นิยาย แต่สี่แผ่นดินเป็นเหมือนกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละคร ต่างๆ ออกมา ทำให้คนอ่านรู้สึก "อิน" ไปกับตัวละครเหล่านั้นและไม่เบื่อหน่ายที่จะติดตามเรื่องราวต่อไป

และถ้าใครใส่ใจอ่านในรายละเอียดที่คนเขียนตั้งใจถ่ายทอดมา ก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับเกร็ดประวัติศาสตร์มากมายทีเดียวเชียวแหละ ไม่เหมือนกับการอ่านพงศาวดารหรือบันทึกจดหมายเหตุที่หากว่าไม่ระวังแล้วละก็ จะเผลอหลับไปแบบไม่รู้ตัวได้ทีเดียว

ด้วยความที่เป็นวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมของไทย สี่แผ่นดินจึงถูกนำมาทำเป็นละครหลายครั้งด้วยกัน ไม่ต้องพูดถึงหนังสือที่ถูกพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยความนิยมที่ไม่เสื่อมคลาย และล่าสุด สำนักพิมพ์ "นานมีบุ๊คส์" ก็ได้นำเอานิยายเรื่องนี้กลับมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง และไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการจัดทริป "เยือนถิ่นชาววัง ย้อนความหลังแม่พลอย ในสี่แผ่นดิน" พาคนอ่านไปตามรอยแม่พลอยด้วยกันอีกต่างหาก ฉันก็เลยมีโอกาสดีได้ติดสอยห้อยตามเขาไปด้วย

เกริ่นให้คนที่ไม่เคยชมหรืออ่านเรื่องนี้ให้ทราบกันเสียหน่อยว่า สี่แผ่นดินนี้เป็นเรื่องราวของ “แม่พลอย” สาวชาววังคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้ามารับใช้ใกล้ชิดกับเจ้านายภายในพระบรมมหาราชวัง และมีชีวิตอยู่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาจนถึงรัชกาลที่ 8 ทำให้คนอ่านยุคใหม่อย่างเราๆ ได้เห็นความเป็นไปในแผ่นดินของรัชกาลก่อนๆ ได้ดีทีเดียว

การตามรอยแม่พลอยในวันนี้ ฉันขอเริ่มที่บ้านเกิดของแม่พลอยก่อนเลย ที่ "คลองบางหลวง" หรือคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน คลองบางหลวงในอดีตนั้นก็ขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นที่ตั้งของบ้านเรือนขุนนางมาก มายริมสองฝั่งคลองเลยทีเดียว บ้านของพลอยก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็น "บ้านหลังใหญ่มีกำแพงอิฐเสริมรั้วเหล็กกั้นตลอดแม่น้ำ ที่ท่าน้ำมีศาลาหลังใหญ่ทำด้วยไม้..." ตามที่ มรว.คึกฤทธิ์ บรรยายไว้

แต่หากใครคิดจะไปตามหาบ้านของแม่พลอยที่คลองบางหลวง ก็บอกได้เลยว่าออกจะลำบากสักหน่อย เพราะนอกจากแม่พลอยจะเป็นเพียงตัวละครที่สมมติขึ้นมาแล้ว คลองบางหลวงในปัจจุบันนี้ก็ออกจะเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยเป็นย่านขุนน้ำขุนนางในสมัยก่อน ก็กลายเป็นบ้านของประชาชนทั่วไปในปัจจุบัน เหลือเพียงบ้านเก่าหลังใหญ่โตไว้ให้ดูเป็นบางหลังเท่านั้น

จากคลองบางหลวง ฉันตามแม่พลอยมายัง "วังหลวง" หรือ "พระบรมมหาราชวัง" ซึ่งเป็นสถานที่ที่พลอยมีโอกาสใช้ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น โดยได้เข้ามาถวายตัวทำหน้าที่เป็นข้าหลวงของ "เสด็จ" หรือเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่ง ก่อนจะแต่งงานออกเรือนไป พลอยจึงมีความผูกพันกับวังหลวงเป็นพิเศษ

สถานที่ที่แม่พลอยมาอาศัยอยู่ในวังหลวงนี้ก็คือในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งก็จะมีตำหนักของพระมเหสี พระชายา เจ้าจอม และสนมเอก รวมทั้งตำหนักของเชื้อพระวงศ์อีกมากมาย และนอกจากนั้นก็ยังมี "แถวเต๊ง" อาคารแถวยาวสองชั้น เป็นที่อยู่ของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ทำงานอยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งทุกคนที่อยู่ในเขตนี้จะเป็นผู้หญิงทั้งหมด เรียกว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับผู้ชายเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าในตอนนี้พระบรมมหาราชวังจะไม่มีพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ เจ้าจอม สนมเอก หรือสาวชาววังอาศัยอยู่อย่างเมื่อก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือเป็นเขตหวงห้ามอยู่ดี นักท่องเที่ยวสามารถชมได้แต่ภายนอก คือบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกและชั้นกลางเท่านั้น ฉันจึงตามติดแม่พลอยได้เพียงเท่านั้นเอง

แต่ไหนๆ ก็เข้ามาถึงนี่แล้ว ก็มาชมพระที่นั่งต่างๆ ที่เขตพระราชฐานชั้นกลางนี้เลยดีกว่า ในเขตพระราชฐานชั้นนี้จะมีพระที่นั่งสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-5 เช่น หมู่พระมหามณเฑียรที่มีพระที่นั่งอยู่สามองค์ในบริเวณเดียวกัน มีชื่อคล้องจองไพเราะมาก นั่นก็คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์ประธาน และเป็นที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่ที่ให้ข้าราชการที่ใกล้ชิดคุ้นเคยและไว้วางพระราชหฤทัยเฝ้า ปัจจุบันใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกจนถึงรัชกาล ปัจจุบัน และที่นี่ยังเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชอีกด้วย ส่วนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ บางคราวก็ใช้เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ด้วย

ถัดออกมาจากหมู่พระวิมาน คือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง มีลักษณะเป็นตึกปูนแบบตะวันตก แต่มียอดเป็นปราสาทแบบไทย ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่เก็บพระอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระ มเหสี เป็นที่เสด็จออกให้เข้าเฝ้า หรือรับรองแขกบ้านแขกเมือง และนอกจากนั้นแล้วก็ยังมีพระที่นั่งสำคัญอื่นๆ อีก เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งบรมพิมาน ฯลฯ

และระหว่างหมู่พระมหามณเฑียรกับพระที่นั่งจักรีนั้น จะมีประตูกั้นระหว่างเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ชื่อว่าประตูสนามราชกิจ หรือที่เรียกกันว่าประตูย่ำค่ำ เป็นประตูที่พลอยใช้ผ่านเข้าออกระหว่างเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน

พูดถึงเรื่องประตูแล้วก็ยังมีอีกประตูหนึ่งที่พูดถึงกันบ่อยในเรื่อง นั่นก็คือประตูศรีสุดาวงศ์ หรือที่เรียกว่าประตูดิน ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พ่อค้าแม่ค้ามักจะนำของมาขายที่บริเวณนี้ และก็เป็นประตูที่พลอยได้พบกับคู่รักคนแรกอีกด้วย หลายคนคงจะเคยได้ยินสำนวนเจ้าชู้ประตูดินกันบ้างแล้ว ซึ่งก็มาจากชื่อของประตูนี้นี่เอง เพราะผู้ชายหนุ่มๆ มักจะมาแอบมองสาวชาววังกันที่ประตูดินแห่งนี้นี่แหละ

แต่ก็ใช่ว่าพลอยจะได้อยู่แค่ในบริเวณวังหลวงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงปลายของรัชกาลที่ 5 นั้น พระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมและคลองสามเสน เนื่องจากในวังหลวงเริ่มแออัดด้วยผู้คนมากขึ้นทุกวัน

พระราชวังแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า "พระราชวังดุสิต" ในเรื่องสี่แผ่นดินได้กล่าวถึงพระราชวังดุสิตไว้ตั้งแต่ตอนที่ความนิยมของรถ จักรยานได้เริ่มเข้ามาภายในวังว่า พลอยเองก็ต้องหัดขี่จักรยานไว้ เพราะเจ้านายเริ่มทรงจักรยานออกจากวังไปที่สวนดุสิต ข้าหลวงผู้ติดตามจึงต้องหัดขี่จักรยานให้เป็นด้วยเช่นกัน

ในขณะนั้น รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังดุสิตบ่อยขึ้น และเสด็จไปประทับอยู่เป็นเวลานานๆ โดยพระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งแต่เดิมคือพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ตั้งอยู่ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รื้อมาปลูกไว้ที่พระราชวังดุสิตนี้แทน และพระราชทานชื่อใหม่ว่าพระที่นั่งวิมานเมฆ

เมื่อพระมหากษัตริย์ย้ายมาประทับที่นี่ บรรดาพระมเหสี พระชายา เจ้าจอมต่างๆ ก็มาอยู่ในตำหนักต่างๆ ที่พระราชวังดุสิตด้วยเช่นกัน ในสี่แผ่นดินได้กล่าวถึงความสำราญของพระเจ้าอยู่หัวพระราชวังดุสิตไว้ว่า ทรงโปรดการปลูกต้นไม้นานาชนิด ทั้งไม้ดอกไม้ใบ ทำให้ทั้งพระราชวังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ นอกจากนั้นพระองค์ยังโปรดฯ การถ่ายภาพ และล้างอัดภาพด้วยพระองค์เอง ให้สร้างห้องมืดสำหรับล้างอัดภาพไว้ที่วังนี้ด้วย โดยพระองค์ได้เสด็จมาประทับและพักผ่อนที่พระราชวังแห่งนี้ด้วยความสำราญพระ ราชหฤทัยอย่างสม่ำเสมอจนสิ้นรัชกาล

ปิดท้ายทริป "เยือนถิ่นชาววัง ย้อนความหลังแม่พลอยฯ" กันที่บ้านของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในซอยสวนพลูกันดีกว่า ซึ่งแม้ว่าบ้านนี้จะไม่ได้ไปปรากฏในเรื่องสี่แผ่นดินก็ตาม แต่ก็มีความสำคัญตรงที่เราจะได้มาเรียนรู้ประวัติของท่านเจ้าของบ้านผู้แต่ง นิยายเรื่องนี้กัน เพราะนอกจากในแง่มุมของการเป็นนักเขียนแล้ว มรว.คึกฤทธิ์ก็ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบ้านการเมือง หรือเรื่องของโขนละครก็ตามที

บ้านของ มรว.คึกฤทธิ์ นี้ เป็นบ้านเรือนไทยอันงดงาม 5 หลังประกอบกัน มีนอกชานเชื่อมถึงกันโดยตลอด ยังจัดแสดงข้าวของต่างๆ เหมือนในขณะที่เจ้าของบ้านยังคงมีชีวิตอยู่ และจัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ ที่ท่านเจ้าของบ้านสะสมเอาไว้ นอกจากนั้นบริเวณบ้านก็ยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม่ใหญ่น่าอยู่เป็นอย่างมาก

พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ที่ ถ.หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 ใกล้สนามหลวง เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น. ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. ค่าธรรมเนียม-ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท โทรศัพท์ 0-2623-5500 ต่อ 1124, 3100

การแต่งกายที่เหมาะสมในการเข้าชม ควรแต่งกายให้สุภาพ ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น รวมทั้งกางเกงที่ยาวไม่ถึงตาตุ่ม ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือบางจนเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าแตะที่ไม่สุภาพหรือไม่มีสายรัดข้อเท้า

การเดินทาง รถ ประจำทางสาย : 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศสาย : 1, 8, 25, 38, 39, 44, 506, 507, 512 หรือเดินทางโดยทางเรือ โดยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าช้าง

พระที่นั่งวิมานเมฆ ตั้งอยู่ในพระราชวังสวนดุสิต ถนนราชวิถี เขตดุสิต กทม. เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม นักเรียน นักศึกษา นักบวช 20 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท การเข้าชมโปรดแต่งกายสุภาพ ส่วนภายในพระที่นั่งวิมานเมฆเปิดให้เข้าชมเป็นรอบๆทุกครึ่งชั่วโมง ภาษาไทย 09.30-15.00 น. ภาษาอังกฤษ 09.45-15.15น. โดยห้ามถ่ายรูปภายในอาคาร นอกจากนี้หากมีโอกาสพิเศษพระที่นั่งวิมานเมฆก็จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าไป เที่ยวชมยามค่ำคืน ส่วนการแสดงนาฏศิลป์ไทยเปิดแสดงวันละ 2 รอบ 10.30 น. และ 14.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2628-6300

การเดินทาง รถประจำทาง : 12 18 28 70 108 รถปรับอากาศ : 510 515 ปอ.พ.4 มีที่จอดรถภายในพระราชวัง

บ้าน มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งอยู่ที่ 19 ซอยพระพินิจ ถนนสาทรใต้ กทม. 10120 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะเปิดให้ชมในเวลา 10.00-17.00 น. เสียค่าเข้าชมคนละ 50 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบคนละ 20 บาท ผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นกลุ่มในวันอื่น โปรดติดต่อและนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ติดต่อสอบถามโทร.0-2679-3630

การเดินทาง สามารถเข้าได้ทั้งทางถนนสาทรใต้ โดยเข้าทางซอยสาทร 3 แล้วเลี้ยวขวาแรก เข้าซอยพระพินิจ หรือเข้ามาทางถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 7 ในวันหยุดราชการสามารถจอดรถได้ในซอยพระพินิจ และถนนนราธิวาสฯ

ถนนสาทรใต้มีรถประจำทางสาย 17, 116, 149 และ ปอ.173 ผ่าน ซอยสาทร 3 มีรถประจำทางสาย 22, 62, 67, 89 ผ่าน และถนนนราธิวาสฯ มีรถประจำทางสาย 77 ผ่าน หรือสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีช่องนนทรีได้

ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับแม่พลอยอีกมากมายทีเดียวที่ฉันยังพูดไม่หมด แต่หากจะให้พูดทั้งหมดก็เห็นทีจะไม่ไหว เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจก็อย่าลืมหา “สี่แผ่นดิน” มาอ่านดูเอง แล้วจากนั้น จะเริ่มตามรอยแม่พลอยด้วยตัวเองอีกครั้งก็คงดีไม่น้อย

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ชมสิ่งละอันพันละน้อยใน " วัดพระแก้ว "


ฉันกลับมายืนอยู่ที่วัดพระแก้วอีกครั้งตามสัญญาที่บอกว่าจะพากลับมา เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่ได้พูดถึงเมื่อตอนที่แล้ว เพราะวัดพระแก้วนี้เป็นถึงวัดในวังหลวง เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไปทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าอย่างนั้นเราก็มามีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ในวัดพระแก้วกันเถอะ

เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินผ่านเข้ามาในประตูวิเศษไชยศรี ประตูทางเข้าใหญ่ที่อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เมื่อเดินเข้ามาแล้วก็จะเห็นสนามหญ้าเขียวขจีอยู่ทางซ้ายมือ สนามนั้นมีชื่อว่าสนามไชย และถัดจากสนามไชยเข้าไปก็จะเป็นกำแพงรั้วสีขาวของวัดพระแก้ว มองเข้าไปเห็นยอดของพระศรีรัตนเจดีย์ ยอดพระมณฑป และยอดปราสาทพระเทพบิดร วางเรียงตัวซ้อนกัน แถมด้วยหลังคาพระอุโบสถตั้งอยู่ข้างๆ ดูได้มุมพอเหมาะพอเจาะพอดี บรรดากรุ๊ปทัวร์ทั้งหลายจึงนิยมให้ลูกทัวร์มาถ่ายรูปหมู่กันตรงนี้

และนอกจากจะเป็นฉากยอดฮิตของนักท่องเที่ยวแล้ว มุมนี้ก็ถือเป็น "มุมเหรียญบาท" อีกตะหาก อ้าว... ถ้าไม่เชื่อก็ลองเอาเหรียญบาทมาพลิกดูด้านหลังสิ รูปเดียวกันเปี๊ยบเลย

เอ้า... ทีนี้เดินกันต่อมุ่งหน้าเข้าสู่ประตูวัดพระแก้วกันเถอะ คนไทยอย่างเราไม่ต้องเสียสตางค์ค่าตั๋ว เดินสบายใจเฉิบเข้าสู่วัดพระแก้วได้เลย สำหรับประตูที่ทุกคนจะต้องผ่านเข้าไปนี้ก็คือประตูพระฤๅษี เมื่อผ่านเข้าไปก็จะได้เจอกับฤๅษีเฒ่านั่งชันเข่าอยู่บนแท่นสูงท่าทางสบาย อารมณ์ หน้าตาก็ดูจะใจดี ยิ้มแย้มให้ทุกคนที่ผ่านประตูเข้ามายังอาณาเขตวัดพระแก้วราวกับเป็นคนต้อน รับแขกอย่างไรอย่างนั้น

ว่าแต่... ท่านฤๅษีผู้นี้เป็นใครกันนะ มีป้ายติดบอกไว้ว่าท่านชื่อชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งตามพุทธประวัติแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์นั้นก็เป็นแพทย์ที่เก่งมาก รวมทั้งยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าอีกด้วย และสำหรับพระฤๅษีตนนี้ก็เป็นฤๅษีหมอที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของยาสมุนไพร และแพทย์แผนโบราณทั้งหลาย ซึ่งรูปหล่อของท่านได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นรูปหล่อโลหะสำริด

ส่วนทางด้านหลังพระฤๅษีก็จะมี พระโพธิธาตุพิมาน พระปรางค์โบราณที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากพุทธคยา ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากทางเหนือ พร้อมทั้งให้สร้างมณฑปทรงมงกุฎไว้ประดิษฐานพระปรางค์นี้อีกด้วย

ทีนี้เดินต่อมากราบพระแก้วมรกตพระประธานของวัดกันบ้าง หากใครอยากจะกราบไหว้ด้วยธูปเทียนดอกไม้ เขาก็มีที่จุดธูปเทียนบูชาอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ บางคนไม่ไหว้อย่างเดียว แต่ขอบนบานศาลกล่าวต่อพระแก้วอีกต่างหาก ซึ่งหากว่าสิ่งที่บนเอาไว้สำเร็จขึ้นมาก็จะต้องมาแก้บนกันตรงนี้แหละ

สำหรับของที่ผู้คนนิยมนำมาแก้บนพระแก้วมรกตนั้นก็มีตั้งแต่สิ่งของ ธรรมดาอย่างพวงมาลัย ดอกไม้ ผลไม้ ฯลฯ ไปจนถึงของที่ดูจะแปลกกว่าที่อื่นๆ อย่างน้ำพริกปลาร้า และไข่ต้ม เพราะเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตมาจากประเทศลาว ก็คงต้องชอบอาหารอีสานอะไรทำนองนั้น ซึ่งเรื่องที่คนนิยมมาบนบานกับท่านก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่นเรื่องสุขภาพการงานต่างๆ

ไม่ใช่แต่จะมีคนมาขอโน่นขอนี่กับท่านเพียงอย่างเดียว แต่พระแก้วมรกตยังต้องทนฟังใครต่อใครที่มาสาบานกับท่าน เพราะเมื่อคนสองคนที่ขัดแย้งกันต่างถือว่าตัวเองพูดความจริงไม่มีใครยอมใคร จะพึ่งใครให้มาตัดสินก็ไม่ได้ จึงต้องหันมาหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เห็นตัวอย่างมามากแล้วทั้งประชาชนทั้งนักการเมือง ไม่ยอมให้ท่านอยู่อย่างสงบๆ บ้างเลย

กราบพระแก้วตรงจุดนี้แล้วก็เข้าไปกราบท่านในพระอุโบสถอีกครั้ง นั่งสงบจิตสงบใจสักพักหนึ่ง แล้วค่อยออกมาแวะชมครุฑยุดนาคทรงเครื่องสังวาลตรงบริเวณฐานพระอุโบสถด้านนอก กันดีกว่า ตรงนี้ก็เป็นมุมถ่ายรูปยอดฮิตอีกมุมหนึ่ง เพราะฉากหลังที่เป็นครุฑยุดนาคขนาด ย่อมเรียงรายกันไปรอบพระอุโบสถนั้นดูสวยงามมากทีเดียว ว่าแต่ว่า... ครุฑเหล่านี้มีอยู่กี่ตัวกันแน่นะ อยากรู้ก็ต้องเดินนับกันเสียหน่อย 1-2-3 ....นับได้ 112 ตัวพอดี ถ้าใครกลัวฉันจะนับไม่ถูกลองไปนับใหม่ดูอีกรอบ แล้วมาบอกกันด้วยนะ อ้อ... แล้วอย่าลืมแวะชมสิงโตสำริด 6 คู่ที่ว่ากันว่านำมาจากเมืองบันทายมาศของเขมร รวมกับที่หล่อขึ้นเองในไทยที่ตั้งอยู่ด้านข้างประตูด้วยล่ะ

จากพระอุโบสถ เดินมาบนฐานไพทีบริเวณปราสาทพระเทพบิดร มาดูสัตว์ประหลาดในจินตนาการแบบไทยๆ เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ที่เรียกว่าสัตว์หิมพานต์กันดีกว่า สัตว์หิมพานต์เหล่านี้มีอยู่ทั้งหมด 7 คู่ด้วยกัน ยืนอยู่ตามมุมต่างๆ ใกล้ๆ ตัวปราสาท ก็มีทั้งอสุรวายุภักษ์ ท่อนบนเป็นยักษ์ท่อนล่างเป็นนก อัปสรสีห์ ท่อนบนเป็นนางอัปสร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ยืนพนมมือ สิงหพานร ท่อนบนเป็นพญาวานร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ สองมือถือกระบอง

แล้วก็ยังมีกินนร และกินนรี ท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว มือหนึ่งยกระดับอก เทพปักษี เป็นเทวดาที่มีปีกและหางเหมือนนก มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ อีกข้างหนึ่งจีบระดับอก เทพนรสิงห์ ท่อนบนเป็นเทวดา ท่อนล่างเป็นราชสีห์ มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งถือกิ่งไม้ไว้ระดับอก และอสูรปักษี ท่อนบนเป็นยักษ์ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะเอว อีกมือหนึ่งยื่นออกมาด้านหน้า สัตว์หิมพานต์เหล่านี้เป็นรูปหล่อปิดทองเป็นประกายงดงาม และมักจะเป็นดาราหน้ากล้องของนักท่องเที่ยวอยู่เสมอๆ

แต่ว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดบนฐานไพทีนอกจากสิ่งก่อสร้างใหญ่โตแล้วก็ต้องยกให้ นครวัดจำลอง ที่เมื่อใครได้เห็นก็ต้องร้องว่า "มาได้ยังไงนี่?!?"

ต้องเฉลยว่า ที่มีนครวัดจำลองมาอยู่ในวัดพระแก้วได้นี้ก็เพราะรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยในขณะนั้นเขมรยังเป็นของประเทศสยามอยู่ รัชกาลที่ 4 โปรดปราสาทหินของเขมรมาก รวมทั้งเห็นว่าเป็นของแปลก จึงมีรับสั่งให้รื้อเอานครวัดมาไว้ที่ประเทศไทย ผู้ที่รับคำสั่งก็จนด้วยเกล้าเพราะปราสาทหินนครวัดนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะ เคลื่อนย้ายได้ พระองค์จึงเปลี่ยนพระทัยให้นำเอาปราสาทหินที่เล็กกว่ามาแทน ก็คือปราสาทตาพรหม แต่คณะที่ทรงส่งไปดำเนินการก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้สำเร็จ ซ้ำยังโดนชาวเขมรทำร้าย เพราะปราสาทเหล่านี้เป็นของรักของหวงของชาวเขมร ในท้ายที่สุดพระองค์จึงโปรดให้สร้างนครวัดจำลองขึ้นแทนและนำมาไว้ในวัดพระ แก้วแห่งนี้

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือยักษ์วัดพระแก้วที่ ตัวสูงใหญ่หน้าตาขึงขัง ทำหน้าที่เป็นทวารบาลถือกระบองยืนยามเฝ้าประตูอยู่คนละด้านวันทั้งคืนอย่าง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ยักษ์ทั้ง 6 คู่ เหล่านี้ต่างก็มีที่มาจากเรื่องรามเกียรติทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่คู่แรกที่ยืนเฝ้าประตูพระฤๅษี มีชื่อว่า จักรวรรดิ และอัศกรรณมารา คู่ที่เฝ้าประตูเกยเสด็จ (หน้า) มีชื่อว่า สุริยาภพ และอินทรชิต คู่ที่เฝ้าประตูหน้าวัวชื่อ มังกรกัณฐ์ และวิรูฬหก คู่ที่เฝ้าประตูพระศรีรัตนศาสดาชื่อว่า ทศคีรีธร และทศคีรีวัน คู่ที่เฝ้าประตูเกยเสด็จ (หลัง) มีชื่อว่า ทศกัณฐ์ และสหัสเดชะ และคู่สุดท้าย เฝ้าประตูสนามไชยคือ ไมยราพ และวิรุญจำบัง

ยักษ์แต่ละตัวนั้นก็จะมีสีสันและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ใครอยากรู้จักตัวไหนให้มากขึ้นก็ต้องกลับไปอ่านรามเกียรติกันใหม่เสียแล้ว แต่รับรองว่าแต่ละตัวก็มีบทบาทที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ยักษ์เหล่านี้ก็มีสิ่งที่แปลกกว่าทวารบาลทั่วไปอยู่อย่างหนึ่งคือ ทวารบาลอื่นๆ มักจะสร้างให้หันหน้าออกด้านนอก นัยว่าให้ช่วยปกป้องความชั่วร้ายต่างๆ ที่จะเข้ามาด้านใน เช่นยักษ์ที่วัดอรุณราชวรารามฯ ก็ยืนเฝ้าอยู่ด้านนอก หันหน้าออกนอกพระอุโบสถ แต่ยักษ์ที่วัดพระแก้วนี้กลับอยู่ด้านใน แถมยังหันหน้าเข้าสู่ด้านในวัดเหมือนกันหมดเสียอีก ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัดพระแก้วนี้เหมือนกัน

ปิดท้ายอีกนิดหนึ่ง ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว เรียกว่าไม่ไปไม่ได้เลยทีเดียว เพราะมีข้าวของมากมายที่สำคัญๆ เก็บรักษาเอาไว้ แต่คนส่วนมากมักเดินไปไม่ค่อยถึง เพราะตัวพิพิธภัณฑ์จะอยู่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเลี้ยวออกตั้งแต่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไปเสีย แล้ว

เดิมชมวัดพระแก้วกันมาสามตอนติดกันก็ดูเหมือนจะยังไม่อิ่ม แต่จะเดินนานกว่านี้ฉันก็กลัวว่าจะมีคนเบื่อเอาเสียก่อน เอาเป็นว่าถ้าใครยังไม่จุใจ ก็ต้องใช้เวลามาเดินชมเอง แต่รับรองว่ามีแต่สิ่งที่ควรค่าแก่การชมทั้งสิ้น เพราะที่นี่คือวัดที่มีความสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานครของเรา

พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ที่ ถ.หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 ใกล้สนามหลวง เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น. ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. ค่าธรรมเนียม-ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท โทรศัพท์ 0-2623-5500 ต่อ 1124, 3100

การแต่งกายที่เหมาะสมในการเข้าชม ควรแต่งกายให้สุภาพ ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น รวมทั้งกางเกงที่ยาวไม่ถึงตาตุ่ม ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือบางจนเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าแตะที่ไม่สุภาพหรือไม่มีสายรัดข้อเท้า

การเดินทาง รถ ประจำทางสาย : 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศสาย : 1, 8, 25, 38, 39, 44, 506, 507, 512 หรือเดินทางโดยทางเรือ โดยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าช้าง

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

เที่ยว"คลองถม"ชมแหล่งชอปยามราตรี


ในยามค่ำคืนที่ใครหลายๆคนใช้เป็นเวลาพักผ่อน จากการทำงานอันเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน ก็ยังมีใครอีกหลายๆคน ที่เลือกจะพักผ่อนด้วยการออกจากบ้านมาเดินเล่น ชมกรุงเทพฯยามราตรีดังที่เคยมีคำกล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นมหานครที่ไม่เคยหลับใหล

หลังจากที่เคยได้ฟังกิตติศัพท์ของตลาด"คลองถม" ยามค่ำคืนมาหลายสัปดาห์ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ฉันก็เลือกที่จะไปตะลุยคลองถมตอนมืดกับเขาบ้าง โดยที่พอจะรู้ประวัติมาบ้างว่าเดิมคลองถมนั้นเรียกกันว่า"คลองสำเพ็ง"เป็นย่านการค้าที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนวรจักรและถนนเจริญกรุงกับเยาวราชมาแต่โบราณ

ที่เรียกกันว่าคลองสำเพ็งก็มาจาก การที่ปลายคลองด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนปลายคลองอีกด้านออกสู่คลองมหานาค เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปมีการตัดถนนเพิ่มขึ้น และทางการได้ลดจำนวนคลองลง
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ.2475ไม่นาน จากนั้นก็ได้มีการสร้างถนนขึ้นบริเวณคลองนี้ ตอนแรกก็ถมกันด้วยขยะทั่วไป ต่อมาก็แปรสภาพมาเป็นถนน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ละแวกนั้นมาแต่เดิม ไม่ต้องการให้คนรุ่นหลัง ลืมการถมคลองคราวนั้นเลยเรียกกันว่า "คลองถม"เรียกกันติดปากเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

คลองถมในปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นแหล่งขายของมือสองและของเก่า รวมทั้งอุปกรณ์รถยนต์ประดับยนต์ นับรวมไปถึงของกระจุกกระจิกจิปาถะอีกมากมาย แม้คลองถมจะเปิดขายของกันทุกวันอยู่แล้ว แต่ในช่วงคืนวันเสาร์โฉมหน้าของที่นี่จะเปลี่ยนไป เพราะจะเปิดขายกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ไปจนถึงช่วงค่ำของวันอาทิตย์กันเลยทีเดียว

การมาคลองถมของฉันเริ่มขึ้น เมื่อฉันย่างเท้าลงจากรถตุ๊กตุ๊ก ที่จอดให้ฉันลงบริเวณหน้าวัดพระพิเรนทร์ ทีแรกฉันก็นึกอยู่เหมือนกันว่า "คลองถมไปทางไหน" เหลียวซ้ายแลขวาก็หันไปเจอะกันป้ายตัวเขื่องที่เขียนไว้ว่า "คลองถม เซ็นเตอร์"ฉันก็รู้ทันทีว่าไม่ต้องหาอีกต่อไป เพราะตลาดคลองถมก็คือถิ่นที่ฉันยืนอยู่นี่เอง

ฉันเลือกมาเดินตั้งแต่ยามโพล้เพล้ใกล้ค่ำ เพราะคนเพิ่งเริ่มทยอยกันมายังไม่ถึงขั้นแน่นขนัด เนื่องจากแหล่งคลองถมอย่างค่ำคืนกินบริเวณกว้าง ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลกลาง วกไปจนถึงสี่แยกวรจักร หน้ากองปราบเก่า ฉันจึงเริ่มต้นจากการเดินเลียบถนนบริเวณรอบนอกก่อน เพราะดูจะเดินได้สะดวกสบายที่สุด

ของขายที่วางกันเรื่อรายอยู่ตลอดสองทางเดินนั้น มันทำให้ฉันอมยิ้มไปตลอดทาง เพราะอะไรนะหรือ ก็ของใช้บางอย่าง ฉันไม่เหมือนคนสมัยนี้เขาใช้กันแล้วนะสิ อย่างเช่น เพจเจอร์ โทรศัพท์บ้านรุ่นลายคราม ม้วนวิดีโอเทป หรือแม้กระทั่งกระโถน เขาก็นำมาวางขายกัน

จริงอยู่ของใช้บ้างอย่างแม้ไม่เก่ามาก บางอย่างเป็นของที่หนุ่มลูกทุ่งอย่างฉัน เคยเห็นก่อนเข้ากรุง แต่มันก็มีค่าพอที่จะทำให้ฉันหวนคิดถึงช่วงเวลาเก่าๆ ที่ของเหล่านี้ ยังใหม่เอี่ยมเป็นความภูมิใจของคนผู้เป็นเจ้าของ แต่ก็นั้นแหละยุคสมัยเปลี่ยนไป โลกหมุนเร็วขึ้นของที่ออกมาใหม่ ใช้เวลาไม่นานก็กลายเป็นของเก่าไปแล้ว

ถนนเส้นที่ฉันเดินนี้ไม่รู้จะให้คำจำกัดความมันว่าอย่างไรดี เพราะมีของหลากรูปแบบผสมปนเปกันเต็มไปหมด จะบอกว่าเป็นเส้นที่ขายของมือสอง ก็ยังเห็นของใหม่ถอดด้ามมีอยู่ไม่น้อย ฉันเดินดูของไปเรื่อยๆมองดูอยากแวะตรงไหนก็แวะ

เหล่มองนาฬิกามือสองที่กองพะเนินเป็นภูเขา ทำเอาฉันอึ้งและทึ่งไปกับความสามารถของคนขาย ที่ไปเสาะหามาได้มากขนาดนี้ ยิ่งเห็นราคาตาก็ลุกวาวก็ขายแค่เรือนละ30บาทเท่านั้น
แต่ก็ต้องใช้เวลาและสายตาอันแหลมคมบวกกับความเป็นคนช่างสังเกตอยู่ สักหน่อย จึงจะได้ของดีราคาเยามาครอบครอง เครื่องคิดเลขราคาถูกแต่เป็นของใหม่ย่านนี้ก็มีให้เลือกสรรกันหลายเจ้า

ถัดมาไม่ไกล ฉันก็พบว่าตัวเองได้เดินมาอยู่กลางซอยแล้ว เป็นทางสี่แยกซะด้วยเลยไม่รู้จะตัดสินใจเดินต่อไปทางไหนดี แม้เพิ่งเริ่มเดินได้ไม่นาน ความหิวโหยก็มาเยือน ฉันเลยควักกระเป๋าซื้อแห้วต้ม หรือที่คนเดี๋ยวนี้นิยมเรียกมันว่า สมหวังต้มมากินควบคู่ไปกับการเดินดูของ

อ้อ!เกือบ ลืมบอกไปว่า ท้ายที่สุดฉันก็ตัดสินใจเดินเลี้ยวขวา เพราะได้คุยกับแม่ค้าขายแห้วต้มว่า ทางขวามือจะมีของจำพวกแผ่นเกมส์ ม้วนวิดีโอเทป และเทปคาสเซ็ทเพลงเก่าๆวางขายอยู่ ในซอยเล็กๆนี้
ฉันก็เจอของอย่างที่แม่ค้าบอกไว้เยอะจริงๆ โดยเฉพาะเทปคาสเซ็ท ฉันจำได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ขายกันที่ตลับละ70-80บาท แต่ที่เห็น ณ วันนี้เหลือแค่ตลับละ10บาท หรืออย่างม้วนวิดีโอเทปที่ขายกันแบบอยากขายจริงๆราคาแค่ 5 บาท

มีอยู่ร้านหนึ่งที่ฉันได้มีโอกาสสอบถามราคา และพุดคุยกับเจ้าของร้านเขาบอกว่า แผ่นเสียงที่เขานำมาวางขายอยู่นี่ จริงๆแล้วมันเป็นของสะสมส่วนตัวของเขา แต่ด้วยความจำเป็นบ้างอย่าง เขาจึงต้องนำมันออกมาขาย ซึ่งจะขายเฉพาะคืนวันเสาร์เท่านั้น เพราะมีคนเยอะกว่าวันธรรมดา ราคาก็มีหลายระดับตั้งแต่200-600บาทก็มี

ด้วยความหวังที่ว่าคนที่มาซื้อไป จะเป็นคนที่มีใจรักในเสียงดนตรีเหล่านี้อย่างแท้จริง เสียดายที่ในร้านมีแต่แผ่นเพลงภาษาอังกฤษ คนที่ไม่ค่อยสันทัดภาษาปะกิดอย่างฉัน เลยต้องร้องเพลง "ถอยดีกว่า"

ออกจากร้านแผ่นเสียงมาเงยหน้ามองฟ้าก็พบว่ามืดแล้ว รอบข้างฉันเริ่มมีฝูงชนแน่นขนัดกว่าตอนหัวค่ำ ฉันไม่รอช้าเพราะอยากเดินดูให้ทั่วเดินไปเดินมาไหง มาโผล่ที่ร้านขายแห้วต้มได้ยังไงก็ไม่รู้
พลันได้ยินเสียงคนประมูลของแว่วๆเข้าหูมาเลยต้องเดินไปดูสักหน่อยพบ ว่า กำลังประมูลลูกโยโย่ กันอยู่คนมุงกันเต็มไปหมด แม้อยากเห็นแต่คนเยอะจนไม่สามารถทนเบียดเสียดได้ ฉันจึงเลี่ยงไปเดินดูของอย่างอื่นแทน

ฉันเดินไปเรื่อยเปื่อยดูโน้นนิดนี่หน่อย ของบางอย่างก็ก่อให้เกิดความสงสัยว่าจะขายได้เหรอเนี่ย อย่าง โซ่เส้นมหึมาที่สนิทเขรอะที่ไม่มีใครกล้าจับ เครื่องทำน้ำอุ่น ยุคบุกเบิกที่ไม่แน่ว่าจะใช้การได้ดีดังเดิมหรือไม่ ซึ่งก็อยู่กันที่ความพอใจของผู้ซื้อ

เดินมาเรื่อยถึงในส่วนที่เป็นคลองถมเซ็นเตอร์ ที่มีทั้งอุปกรณ์เครื่องมือช่าง เครื่องดนตรี อุปกรณ์รถยนต์เป็นส่วนใหญ่ จะซื้อของที่นี่บางครั้งก็ต้องดูดีๆหน่อย เพราะประเภทของร้อนเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางก็ยังคงมีให้เห็น
ผ่านส่วนเซ็นเตอร์มา ก็มีซอยให้ฉันเดินอีกแล้วคราวนี้ทำให้ฉันนึกขึ้นมาได้ว่า ฉายาอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือ"ตลาดมืดหรือตลาดไฟฉาย"เพราะแถบที่ฉันยืนอยู่ขณะนี้เกือบทั้งแถบไม่มีไฟฟ้าส่องให้ความสว่างอยู่เลย

เวลาที่ลูกค้าต้องการจะเลือกสินค้า พ่อค้าแม่ค้าก็จะส่องไฟฉายคนละกระบอง สองกระบองให้ลูกค้า นับว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของคืนวันเสาร์ที่คลองถมแห่งนี้ ส่วนของที่เอามาขายกันนะเหรอ
ก็เป็นของจำพวกตุ๊กตาโมเดลซะเป็นส่วนใหญ่ พ่อค้าที่นี่ยืนยันว่าราคาขายถูกกว่าในห้างหลายช่วงตัว ส่วนจะราคาเท่าไหร่นั้นก็ลองแวะมาต่อรองกันเอาเอง

เหลือบมองดูนาฬิกาอีกทีปรากฏว่า เวลาล้วงเลยจวนเจียนจะเที่ยงคืนแล้ว แม้ใจฉันจะสู้อยากจะเดินดูให้ทั่วดังที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่ร่างกายเริ่มแสดงอาการว่าปวดเมื่อยเต็มทนแล้ว ฉันจึงขออำลาคลองถมยามค่ำคืนวันเสาร์ด้วยการซื้อตุ๊กตาโมเดลที่อยากได้มาซะ ให้สมใจ ก่อนกลับบ้านไปด้วยความสนุกและสุดง่วง

"คลองถม" ตั้ง อยู่เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย แถวหน้าร.พ.กลางและแยกวรจักร สามารถจอดรถได้ในบริเวณวัดพระพิเรนทร์ ตรงข้ามกองปราบเก่า ค่าจอด20-30บาท หรือจะไปจอดที่ข้างตึกรพ.กลางคิดค่าจอดชม.ละ30บาท ส่วนบริการของขสมก.มีรถเมล์สาย 8,10,37,73ผ่าน สำหรับคลองถมในวันเสาร์นั้น จะมีความพิเศษกว่าวันอื่นที่เปิดขายกันแต่หัวค่ำไปจนถึงค่ำวันอาทิตย์

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

บ้านตุ๊กตาที่"บางกอกดอลล์"


นี่เป็นครั้งแรก ที่ฉันได้เดินทางมาที่ซอยหมอเหล็ง หรือชื่ออย่างเป็นทางการฟังดูดีว่าซอยรัชฏภัณฑ์ ในย่านมักกะสัน ซอยเดียวกับบ้านของอดีตนายก ชวน หลีกภัย นั่นแหละ

ฉันมาที่แห่งนี้ก็เพราะได้ยินกิตติศัพท์ของ"บางกอกดอลล์" (Bangkok Doll)ที่แปลตรงตัวได้ว่า ตุ๊กตากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงบรรดาตุ๊กตาต่างๆ มากมายทั้งของไทยและตุ๊กตานานาชาติ ซึ่งถึงแม้อายุฉันจะเลยวัยเล่นตุ๊กตามาหลายปีดีดักแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังอยากจะไปดูตุ๊กตาเหล่านี้อยู่ดี เพราะได้ยินมาว่า ตุ๊กตาบางกอกดอลล์นี้เคยได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานา ชาติครั้งที่ 3 เมื่อปี 2521 ที่ประเทศโปแลนด์มาด้วย

แต่ก่อนจะไปดูตุ๊กตาแต่ละตัวนั้น ฉันว่าเรามารู้จักกับคนที่สร้างบ้านตุ๊กตาขึ้นมาก่อนดีกว่า นั่นก็คือ คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ผู้ที่ได้เคยไปร่ำเรียนวิชาการทำตุ๊กตามาจาก "โอซาวาดอลล์" ประเทศญี่ปุ่น
และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณหญิงทองก้อนประดิษฐ์ตุ๊กตาขึ้นมา นั้น ก็คือแพทย์หญิงชาวฟิลิปปินส์ผู้ประสบความสำเร็จในการทำตุ๊กตาจนสร้างชื่อ เสียงให้กับประเทศ ทำให้คุณหญิงต้องการทำตุ๊กตาที่มีเอกลักษณ์แบบไทยๆขึ้นมาบ้าง

ตุ๊กตาที่คุณหญิงทองก้อนทำขึ้นนั้นไม่ใช่ตุ๊กตาหมีแมวหมาแต่อย่างใด แต่เป็นตุ๊กตาคนในลักษณะต่างๆ ที่ทำขึ้นภายใต้ชื่อตุ๊กตาบางกอก หรือบางกอกดอลล์ โดยคุณหญิงทองก้อนได้เคยประดิษฐ์ตุ๊กตาละครรำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระราชินีนาถในนามสมาคมศิษย์เก่าวังหลัง-วัฒนา เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาด้วย

หลังจากนั้น ทางสำนักพระราชวังก็ได้ติดต่อมาให้ทางบางกอกดอลล์ทำตุ๊กตาขึ้นเพื่อเป็นของ ขวัญพระราชทานแก่เจ้าหญิงอเล็กซานดร้าแห่งเค้นท์ที่เสด็จมาเยือนประเทศไทยใน โอกาสนั้น และต่อมา ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ก็ได้กลายเป็นของขวัญพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ เมื่อพระองค์เสด็จไปเยือนยังประเทศต่างๆ

และนั่นก็ทำให้ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ที่มีเอกลักษณ์แบบไทยๆ ได้เดินทางไปทั่วโลก ซึ่งเมื่อนับมาจนถึงตอนนี้ ก็เป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว และปัจจุบันนี้ บางกอกดอลล์นี้ยังมีการทำตุ๊กตาขายกันอยู่โดยลูกค้าก็มีทั้งคนไทยและคนต่าง ชาติ รวมทั้งลูกค้าที่มาสั่งทำตุ๊กตาตามแบบที่ตัวเองต้องการด้วย แต่ก่อนจะควักเงินซื้อกันนั้น ฉันว่าไปดูภายในบ้านตุ๊กตาบางกอกดอลล์นี้ก่อนดีกว่า ว่ามีตุ๊กตาแบบไหนที่น่าสนใจบ้าง

หากดูจากภายนอก บางกอกดอลล์ก็ดูเป็นบ้านคนธรรมดาหลังหนึ่งในซอยเล็กๆ ซึ่งหากไม่เข้าไปดูก็คงไม่รู้ว่า ภายในนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตุ๊กตาหลายร้อยตัว เรียกว่าเป็น"บ้านตุ๊กตา" ของแท้เลยทีเดียว โดยเมื่อเข้าไปในห้องแรกนั้น ก็จะเห็นตู้กระจกขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยตุ๊กตาซึ่งไม่ได้มีไว้ขาย
เพราะเป็นตุ๊กตารุ่นเก่าๆ ที่เป็นฝีมือคุณหญิงเอง และตุ๊กตาที่เป็นฝีมือคนอื่นแต่เป็นของสะสมของคุณหญิงด้วย สำหรับตุ๊กตาฝีมือคุณหญิงทองก้อนนั้น ก็เป็นตุ๊กตาแบบไทยทั้งชายหญิงใบหน้ายิ้มละไมในเครื่องแต่งกายต่างๆ เช่น ชุดไทย ชุดนักเรียน ชุดลูกเสือเนตรนารี ชุดครุยรับปริญญา ชุดข้าราชการ ชุดพระยาแรกนาขวัญ และแม้แต่ชุดของสาวยาคูลท์!!

และนอกจากตุ๊กตาในชุดเครื่องแบบเดี่ยวๆ เหล่านี้แล้ว ก็ยังมีแบบที่จัดไว้อย่างเป็นเรื่องราวด้วย โดยแสดงถึงวิถีชีวิตแบบไทยๆ เช่น แสดงถึงบ้านเรือนของคนไทยสมัยก่อนที่เป็นเรือนไทยยกพื้นสูง ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกร เลี้ยงควายไว้ทำนา หรือตุ๊กตารูปผู้หญิงกำลังใส่บาตรพระสงฆ์อยู่หน้าบ้าน เป็นต้น

ส่วนอีกด้านหนึ่งของตู้กระจก รวมทั้งตู้ใบใหญ่ที่อยู่ด้านตรงข้ามนั้น ก็เป็นที่อยู่อาศัยของตุ๊กตาต่างชาติหลายเชื้อชาติด้วยกัน ซึ่งเป็นตุ๊กตาที่คุณหญิงทองก้อนได้มาจากประเทศต่างๆ ทั้งจากประเทศแถบยุโรปอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ บัลแกเรีย โปแลนด์ ฝั่งเอเชียก็มีจากทางประเทศจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และอีกหลายๆ ประเทศ

แต่ที่ฉันชอบที่สุดก็คงจะเป็นตุ๊กตาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นตุ๊กตาที่มีใบหน้าเป็นรูปควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลลิปพระสวามี ในเครื่องแต่งกายอย่างสวยงาม รวมทั้งมีตุ๊กตาทหารสวมหมวกสีดำทรงสูงเป็นองครักษ์อีกต่างหาก ตุ๊กตาเด็กผู้หญิงจากเบลเยี่ยมเองก็ดูน่ารักในชุดกระโปรงบานสีน้ำเงินขลิบ ลูกไม้ขาวสวมหมวกใบโต ส่วนตุ๊กตาชายชราช่างทำรองเท้าจากตุรกีก็สีสันสดใสดูมีชีวิตชีวาไม่น้อยเลย ทีเดียว

ไม่แน่เหมือนกันนะว่า พอถึงตอนดึกๆ ที่ไม่มีใครเห็น บรรดาตุ๊กตาทั้งไทยทั้งต่างชาติเหล่านี้อาจจะลุกขึ้นมาบิดขี้เกียจด้วยความ เมื่อยขบจากการนั่งนิ่งๆ มาทั้งวัน และก็ไม่แน่อีกเหมือนกันที่ตุ๊กตาเหล่านี้อาจจะมีการมานั่งเม้าท์แลกเปลี่ยน ข่าวสารของแต่ละประเทศกันอย่างเมามันก็เป็นได้

ชมตุ๊กตาในห้องแรกเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ฉันก็เข้ามาดูอีกห้องหนึ่งที่อยู่ด้านในกันบ้าง ตุ๊กตาในห้องนี้ส่วนมากแล้วจะเป็นตุ๊กตาในชุดไทยที่เป็นตัวละครในวรรณคดี ต่างๆ เช่นจากเรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา รวมทั้งตุ๊กตาในชุดนางรำ และชุดลิเกก็มีด้วยเช่นกัน

ดูแล้วก็ต้องทึ่งในความสามารถของคนทำตุ๊กตา ที่สามารถสร้างให้มีท่าทางได้อ่อนช้อยเหมือนจริง นางรำก็เหมือนกับกำลังรำอยู่จริง พระรามและทศกัณฑ์ก็เหมือนว่ากำลังสู้รบกันอยู่จริงๆ
และที่ต้องยกนิ้วให้เลยก็คือชุดที่ตุ๊กตาเหล่านั้นสวมใส่ก็สวยงาม เหมือนกับที่คนจริงใส่ไม่มีผิด เรียกว่าคนทำต้องพิถีพิถันกันทุกขั้นตอนเลยทีเดียว ซึ่งใครที่สนใจอยากจะซื้อตัวไหนหรือชุดไหน เขาก็มีราคาติดไว้ให้เลือกซื้อกันตามกำลังทรัพย์ ซึ่งก็มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันเลยทีเดียว

และในห้องนี้ฉันก็เจอผลงานที่ฉันชอบเข้าอีกแล้ว เป็นตุ๊กตาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นกองทัพของพระรามและพระลักษณ์ กำลังประจันหน้าอยู่กับกองทัพยักษ์ของทศกัณฑ์ จัดแสดงอยู่ในตู้กระจกยาวระดับสายตาพอดี ทั้งสองกองทัพนั้นต่างก็แต่งกายอย่างสวยงามและออกท่าทางเหมือนจะรบกันจริงๆ ยังไงอย่างงั้น

อย่างหนึ่งที่ฉันคิดว่าเป็นลักษณะเด่นของบางกอกดอลล์ก็คือ สีหน้าของตุ๊กตาที่จะมีใบหน้ายิ้มละไมตลอดเวลา แม้ทุกใบหน้าจะมาจากพิมพ์เดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ได้ดูเหมือนกันไปหมด เพราะแต่ละตัวก็จะมีท่าทางหรือลักษณะเฉพาะของตัวเอง แต่ที่เหมือนกันก็คือตุ๊กตาทุกตัวจะยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ ว่า นี่แหละยิ้มสยาม

เมื่อเต็มอิ่มกับตุ๊กตาอันงดงามน่ารักเหล่านี้แล้ว ก่อนจะกลับก็ต้องขอแวะเข้าไปชมการขั้นตอนการทำเสียหน่อยจึงจะครบสูตร โดยภายในห้องเล็กๆ ข้างห้องจัดแสดงตุ๊กตานี้ก็เป็นสถานที่ที่สร้างสรรค์ตุ๊กตาเหล่านี้ให้มี ชีวิตขึ้นมา โดยเริ่มตั้งแต่การกดพิมพ์ลงบนผ้าให้เป็นใบหน้า เขียนหน้าเขียนตา เย็บแขนขาและลำตัวมาประกอบกัน ก่อนจะแต่งองค์ทรงเครื่อง และดัดท่าทางไปตามเนื้อเรื่องต่างๆ

ฉันนั่งดูช่างที่กำลังทำตุ๊กตาอย่างตั้งใจ ไม่ได้ซักถามคุณพี่คนทำมากนัก เพราะกลัวว่าจะไปรบกวนสมาธิจนทำให้ตุ๊กตาในมือหมดสวย เดี๋ยวเจ้าตุ๊กตาตัวนั้นมันจะมาต่อว่าฉันได้ จึงนั่งดูอยู่เงียบๆ เท่านั้น แต่ก็รับรู้ได้ถึงความใส่ใจและความปราณีตในการทำตุ๊กตาแต่ละตัวขึ้นมา จนทำให้ตุ๊กตา "บางกอกดอลล์"ยิ้มละไมมาได้จนทุกวันนี้

บางกอกดอลล์ (Bangkok Dolls) ตั้งอย่ที่ 85 ซอยรัชฏภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง) ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.30-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดโทร.0-2245-3008 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.bangkokdolls.com

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

“พระที่นั่งอนันตสมาคม”


ฉันเชื่อว่าทุกคนคงจะยังจดจำภาพบรรยากาศการเสด็จออกมหาสมาคม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ดีทีเดียว เพราะภาพในวันนั้นทำให้น้ำตาของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศถึงกับหลั่งไหลออกมา ด้วยความปลื้มปิติ ที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกรของพระองค์

ในวันนั้นฉันไม่ได้ไปดูบรรยากาศจริงๆ ที่บริเวณพระที่นั่งอนันตฯ และลานพระบรมรูปทรงม้าหรอก แต่ก็ได้ใส่เสื้อเหลืองรอชมการถ่ายทอดสดอยู่หน้าจอโทรทัศน์เหมือนกับอีก หลายๆ คน และมาจนถึงตอนนี้ ฉันก็ยังรู้สึกว่า บรรยากาศแห่งความปลื้มปิตินั้นยังไม่จางหายไปจากพระที่นั่งอนันตสมาคมเลย เพราะเมื่อได้เห็นหรือได้ผ่านไปแถวนั้นเมื่อไร ก็จะนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นทุกครั้ง

และหลังจากที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมมาหลายครั้ง แล้ว คราวนี้ฉันก็ได้มีโอกาสเข้าไปชมด้านในพระที่นั่งบ้าง เพราะมีเรื่องที่น่ายินดีก็คือ หลังจากที่เคยเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเด็กเท่านั้น แต่ในตอนนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคมก็ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวันแล้ว วันนี้ฉันจึงตั้งใจจะเข้าไปรำลึกภาพของวันอันเป็นมงคลนั้นในมุมต่างๆ ภายในพระที่นั่ง

แต่มีกฎเหล็กของพระที่นั่งอนันตฯ อยู่ข้อหนึ่งก็คือ การห้ามถ่ายภาพ ซึ่งในตอนแรกฉันเข้าใจว่าห้ามถ่ายเฉพาะภายในพระที่นั่งเท่านั้น แต่พอมาถึงจริงๆ แล้วจึงได้รู้ว่า เขาไม่อนุญาตให้ยกกล้องขึ้นถ่ายกันตั้งแต่ก้าวเข้าไปในประตูรั้วกันเลยที เดียว สามารถถ่ายรูปกันได้เฉพาะบริเวณนอกรั้วเท่านั้น งานนี้จึงต้องเก็บภาพประทับใจกันด้วยสายตาและความทรงจำอย่างเดียวเลย

สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2450 หลังจากที่มีพระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยแล้ว ทรงเห็นว่าพระที่นั่งต่างๆ ที่สร้างไว้นั้นยังไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่างๆ จึงทรงมีพระราชดำริสร้างพระที่นั่งอนันตฯ ขึ้นอีกหลังหนึ่งเพื่อเป็นท้องพระโรงสำหรับต้อนรับแขกเมือง หรือประชุมราชการแผ่นดิน

ในการก่อสร้างนั้น พระองค์ได้ทรงจ้างช่างจากอิตาลี คือ มิสเตอร์ เอ็ม. ตามานโย (M.Tamango) เป็นผู้ออกแบบ นาย ซี อัลเลกรี เป็นวิศวกร โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง แต่การก่อสร้างดำเนินไปได้เพียงสองปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงรับช่วงการก่อสร้างต่อจนสำเร็จลงในอีก 6 ปีต่อมา หรือใน พ.ศ.2458 รวมเวลาการสร้างทั้งหมดก็ 8 ปีพอดี

เอาล่ะ ทีนี้ก็มาว่ากันด้วยเรื่องความสวยงามขององค์พระที่นั่งกันบ้าง หลายคนคงทราบแล้วว่าพระที่นั่งอนันตฯ นี้เป็นอาคารแบบโดมคลาสสิคของโรมัน เป็นศิลปะแบบอิตาเลียนเรเนอซองส์ ผสมกับศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ซึ่งรูปทรงของพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นแบบเดียวกับวิหารเซนต์ปีเตอร์แห่ง โรม และโบสถ์เซนต์ปอล กรุงลอนดอนอีกด้วย และหากมองลงมาจากบนอากาศ ก็จะเห็นผังของพระที่นั่งเป็นรูปไม้กางเขนแบบลาติน

ลักษณะเด่นของพระที่นั่งอนันตสมาคมก็อยู่ที่ช่วงบนของอาคารซึ่งเป็น รูปโดมซึ่งทำจากทองแดง มีโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง และโดมเล็กๆ อยู่รายรอบอีก 6 โดมด้วยกัน นอกจากนั้นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความสง่างามของโดมเหล่านี้ก็คือหินอ่อนสีขาว มีริ้วลายสีน้ำตาลแก่แกมหม่น สั่งเข้ามาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องหินอ่อนที่มีคุณภาพ ซึ่งนำมาทำเป็นตัวอาคาร และบางส่วนยังแกะสลักเป็นรูปพันธุ์พฤกษา และรูปคนเพื่อประดับอาคารอีกด้วย

ดูแต่เพียงภายนอกฉันก็ว่าอลังการมากแล้ว แต่เมื่อเข้าไปด้านในก็ยิ่งต้องทึ่งกับความงดงามมากขึ้นไปอีก เริ่มตั้งแต่ทางขึ้นซึ่งเป็นบันไดหินอ่อนโค้งสวยงาม และบันไดทางขึ้นอันเดียวกันนี้ ก็ยังเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระประมุขและพระราชวงศ์จากประเทศต่างๆ ที่มาร่วมในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงอีกด้วย

ชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นเป็นห้องโถงยาว เพดานสูง ลมพัดผ่านช่องหน้าต่างบานยาวเย็นสบายตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ นอกจากนั้นก็ยังมีลวดลายอันงดงามตั้งแต่เพดานซึ่งทำเป็นรูปโค้งเชื่อมหัวเสา ทั้งสองด้าน ส่วนตัวเสาก็สร้างด้วยหินอ่อนทั้งต้น มีลวดลายการแกะสลักอย่างงดงาม โดยเฉพาะเสาที่เรียกว่าเป็นแบบ “โครินเธียน” ที่หัวเสาสลักด้วยลวดลายใบไม้อันสวยงาม เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นอกจากนั้น เหนือพระทวาร หรือประตูทุกประตู ก็ยังมีตุ๊กตาแบบโรมันแกะสลักจากหินอ่อนมีพวงมาลัยหินอ่อนคล้องคอประดับไว้ อย่างน่าชม

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมงดงามเป็นอย่างมากก็ คือภาพเขียนแบบเฟรสโก (ภาพเขียนสีบนปูนเปียก) บนเพดานโดม โดยฝีมือของจิตรกรชาวอิตาเลียน คือนายซี. รีโกลี และศาสตราจารย์กาลิเลโอ กินี โดยรูปเหล่านั้นจะเป็นรูปที่แสดงถึงเหตุการณ์เด่นๆ ในแต่ละรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-6

เริ่มตั้งแต่เพดานโดมทางทิศเหนือ เป็นภาพเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ขณะที่พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กำลังเสด็จกลับจากทัพที่ไปเมืองเขมร และมีพสกนิกรไปกราบบังคมทูลอัญเชิญ ให้ทรงรับราชสมบัติปกครองแผ่นดินอันนับเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี

หันมามองอีกด้านของเพดานโดมด้านทิศตะวันออก หรือตรงบันไดทางขึ้นนั้น เป็นรูปเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำลังเสด็จในกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และด้านหลังมีรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ และใต้โดมเดียวกันนั้น อีกด้านหนึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 3 กำลังเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคเช่นกัน แต่ด้านหลังเป็นภาพพระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพน และปราสาทราชมณเฑียรต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และป้อมเผด็จดัสกร ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและบูรณะขึ้น

ส่วนเพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพในสมัยรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ รายล้อมไปด้วยพระภิกษุและนักบวชในศาสนาอื่นๆ แสดงถึงความเป็นองค์เอกอัครศาสนูปภัมภกของทุกศาสนา โดยไม่มีการกีดกัน ส่วนเพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพที่ฉันคุ้นตามากที่สุด ซึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานอภัยทาน และทรงยกเลิกประเพณีทาสในประเทศไทยโดยสิ้นเชิงอย่างไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

และเพดานโดมทางด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง แสดงภาพเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 6 เสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลา ที่มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อพุทธศักราช 2454

นอกจากนั้นใต้โดมกลางซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด ก็มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงมีพระราชดำริก่อสร้างพระที่ นั่งอนันตสมาคม และบนเพดานตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางก็จะมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” พระปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสร้างพระที่นั่งแห่งนี้จนแล้วเสร็จสมบูรณ์

งานนี้กว่าฉันจะเดินแหงนหน้าคอตั้งบ่าดูสิ่งสวยงามที่อยู่ภายในพระ ที่นั่งอนันตฯ จนหมด ก็เล่นเอาปวดคอมากโขทีเดียว ซึ่งระหว่างที่เดินชมภายในพระที่นั่งไปนั้น ฉันก็นึกไปถึงภาพที่ได้เห็นเมื่อวันที่ในหลวงเสด็จออกมหาสมาคม ได้เห็นสีหบัญชรที่พระองค์ทรงออกไปยืนโบกพระหัตถ์ให้ประชาชน และภาพในวันที่พระประมุขและผู้แทนพระองค์จากประเทศต่างๆ แต่งกายด้วยฉลองพระองค์อันสวยงาม มาถวายพระพรชัยมงคลแด่ในหลวงของเรา ณ สถานที่อันงดงามแห่งนี้ น่าแปลกที่เมื่อคิดถึงทีไร ฉันก็ยังคงจำความประทับใจในวันนั้นได้อย่างมีความสุขทุกครั้งไป และเชื่อว่าทุกคนก็คงเป็นเหมือนฉันเช่นกัน

พระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ทางเข้าจะอยู่บริเวณข้างรัฐสภา ริมถนนอู่ทองใน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. ห้องขายบัตรปิดเวลา 15.00 น. กรุณาแต่งกายด้วยชุดสุภาพ ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา ภิกษุ สามเณร แม่ชี 10 บาท สอบถามรายละเอียดโทร.0-2628-6300, 0-2244-1549

เขาดินมิติใหม่ ชมไนท์ซาฟารีกรุงเทพฯ


ไนท์ซาฟารีกรุงเทพฯ

บางคนอาจจะแปลกใจ ว่าทำไมแค่ในเวลาเพียงครึ่งปีนี้ฉันมาเที่ยวเขาดินตั้งสองรอบเข้าไปแล้ว รอบแรกก็เมื่อวันเด็กแห่งชาติเดือนกุมภาพันธ์ ผ่านมาแค่ 6 เดือน คราวนี้ก็พามาเที่ยวอีกแล้ว มีอะไรติดใจนักหนาหรืออย่างไร

ก็อย่างที่ฉันทิ้งท้ายไว้ครั้งก่อนว่า ทางสวนสัตว์ดุสิตยัง มีเมกกะโปรเจกต์ที่ตั้งใจไว้ว่าจะเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวแบบไนท์ ซาฟารีด้วยการขยายเวลาปิดไปจนถึงสามทุ่ม และมีการส่องสัตว์ในตอนกลางคืนให้ผู้ชมได้เห็นวิถีชีวิตของสัตว์ที่หากินใน ช่วงหัวค่ำ เช่น หมี เสือ สิงโต ฯลฯ มาคราวนี้โปรเจกต์นั้นก็พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมเรียบร้อยแล้ว

การเข้าชมสวนสัตว์ตอนกลางคืน หรือที่ทางสวนสัตว์ดุสิตเขาเรียกว่า Dusit Evening Zoo นี้ ก็ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมแล้ว โดยมีคอนเซปต์ว่า "ยามเย็นเดินเล่นที่...เขาดิน" เป็นบริการใหม่ในการเที่ยวชมสวนสัตว์ทั้งกลางวัน และสัมผัสบรรยากาศพลบค่ำแสนสบาย ฟังดูน่าสนใจใช่ไหมล่ะ ฉันถึงต้องมาเที่ยวสวนสัตว์ดุสิตอีกเป็นครั้งที่สองไงล่ะ

ตอนที่ฉันไปถึงสวนสัตว์ก็เป็นเวลาหกโมงกว่าๆ แดดกำลังร่มลมกำลังตกพอดี การเข้ามาชมสวนสัตว์ในยามค่ำคืนนี้เขาก็มีให้เลือกสองแบบคือ เดินชมสัตว์ต่างๆ และบรรยากาศภายในสวนสัตว์ด้วยตัวเอง หรือจะนั่งบนรถพ่วงและมีวิทยากรพาชมก็ได้ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ฉันจึงเลือกการนั่งรถพ่วงชมสวนสัตว์ด้วยค่าบริการเพียง 20 บาท เท่านั้น

มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยก่อนที่รถพ่วงจะเริ่มเคลื่อนขบวนตอนหนึ่งทุ่ม ฉันจึงออกมาเดินสำรวจสวนสัตว์ตอนพลบค่ำเสียหน่อย ผู้คนบางตาน่าดูเมื่อเทียบกับตอนกลางวัน แถมบรรยากาศในสวนสัตว์ยังเงียบเชียบ เพราะปลอดจากเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ มากมายอย่างในตอนกลางวัน ความมืดและความเงียบเช่นนี้ก็ทำให้ดูน่ากลัวมิใช่น้อย แต่ก็นับว่าเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่แตกต่างไป ส่วนในเรื่องของความปลอดภัยนั้นทางสวนสัตว์ก็เตรียมดูแลเต็มที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ขี่จักรยานและมอเตอร์ไซค์ตรวจตราอยู่อย่างขันแข็ง ถ้าใครที่กลัวคนก็สบายใจได้ แต่ถ้ากลัวสิ่งที่ไม่มีชีวิต อันนี้ก็ตัวใครตัวมัน

เมื่อได้เวลาหนึ่งทุ่ม รถพ่วงก็พาฉันและเพื่อนร่วมคันอีกประมาณ 20 กว่าชีวิต ออกเดินทางไปพร้อมกัน โดยมีวิทยากรหนึ่งคนคอยบรรยาย รวมทั้งคอยส่องสปอร์ตไลท์ไปยังกรงสัตว์ต่างๆ ที่ผ่านให้เราได้เห็นกันอีกด้วย ผู้บรรยายเล่าเท้าความไปถึงตั้งแต่ที่เมื่อสวนสัตว์ดุสิตยังเป็นเขาดินวนา หรือเป็นพระราชอุทยานของพระราชวังดุสิตนั่นเอง

รถพ่วงเดินทางข้ามสะพานปลา ซึ่งมีทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด ฯลฯ เป็นจุดแรก ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังโซนสัตว์แอฟริกา ซึ่งมียีราฟ สัตว์ที่ตัวสูงที่สุดในโลก ที่เมื่อฉายสปร์อตไลท์ส่องไปก็เห็นมันกำลังเคี้ยวใบไม้หยับๆ อยู่อย่างเอร็ดอร่อย และในกรงเดียวกันนั้นก็ยังมีม้าลาย สัตว์สายตาสั้นแต่จมูกไวมาก และนกกระจอกเทศ สัตว์ปีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่รวมกันด้วย

ก่อนจะผ่านไปที่น้ำพุขนาดใหญ่หน้าประตูทางเข้าฝั่งถนนราชวิถี ซึ่งเป็นน้ำพุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นพระราชอุทยานเช่นกัน ติดๆ กับน้ำพุจะเป็นโซนของบรรดาลิงค่างบ่างชะนีทั้งหลายซึ่งพากันเงียบเสียงไป บ้างแล้ว สงสัยว่ากำลังจะเตรียมตัวเข้านอนกันพอดี ส่วนด้านหลังกรงลิงเหล่านี้ก็เป็นที่อยู่ของแพนด้าแดงและไฮยีนา สมาชิกใหม่ที่น่ารักของสวนสัตว์ แต่การนั่งรถพ่วงชมนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ ต้องเดินไปดูเอาเอง

ดูลิงเสร็จคราวนี้มาดูเสือกันบ้าง ที่กรงเสือขาวซึ่งเป็นเสือที่หายาก ในโลกนี้เหลือไม่ถึง 200 ตัวแล้ว แต่ตอนนี้ทางสวนสัตว์ดุสิตสามารถเพาะพันธุ์ลูกเสือขาวเกิดใหม่มาได้ 2 ตัวด้วยกัน เป็นตัวเมียทั้งคู่ ถ้ามองจากภายนอกคงจะไม่เห็นเพราะแม่เสือยังไม่พาลูกออกมาโชว์ตัว ต้องดูผ่านจอโทรทัศน์ที่เขาฉายกล้องวงจรปิดให้ดู ฉันเห็นมันกำลังดูดนมแม่สบายใจอยู่พอดี

นั่งในรถพ่วงมานาน ทีนี้ก็ได้ยืดแข้งยืดขากันบ้าง ด้วยการเดินลงมาชมบรรดาสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ในอาคารสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว ภายในอาคารก็มีทั้งเต่า จระเข้น้ำจืดน้ำเค็ม กิ้งก่า อีกัวน่า งู คางคก ฯลฯ ฉันว่าสัตว์พวกนี้ดูตอนกลางวันก็น่ากลัวพออยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมาดูตอนกลางคืนใช้ไฟส่องจ้องตากันในความมืดก็ยิ่งดูน่ากลัวเข้าไป ใหญ่

ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงก็กลับ ออกมาข้างนอก มาดูกรงหมีคน หรือหมีหมากันต่อ ที่เรียกหมีชนิดนี้ว่าหมีคนก็เพราะมันสามารถยืนสองขาได้เหมือนคน แถมยังมีรอยเท้าเหมือนคนอีกต่างหาก แต่อีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่าหมีหมาเพราะเวลาที่มันต่อสู้กัน จะส่งเสียงร้องเหมือนหมานั่นเอง ที่นี่ฉันได้เห็นคนดูแลกำลังให้อาหารพวกมันอยู่พอดี

ต่อมาก็มาถึงที่อยู่ของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และเป็นขวัญใจของเด็กๆ มาทุกยุคทุกสมัย นั่นก็คือ ฮิปโปโปเตมัสนั่นเอง จากบนรถพ่วงนั้นสามารถมองเห็นฮิปโปแม่ลูก ชื่อว่ามะขามกับถั่วแดงกำลังลอยตัวอยู่ในน้ำอย่างสบายใจเฉิบ


และเมื่อรถพ่วงแล่นมาได้ต่ออีกหน่อยก็มีเสียงหวอดังขึ้นอย่างโหยหวน น่าขนลุกดีแท้ เป็นสัญญาณว่าพวกเราทุกคนบนรถพ่วงจะต้องลงหลุมหลบภัยเพื่อหลบระเบิดกันแล้ว หลุมหลบภัยแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นหลุมหลบภัยสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้หลบเวลามีเครื่องบินมาทิ้ง ระเบิด เมื่อเทียบบรรยากาศของหลุมหลบภัยในตอนกลางวันกับกลางคืนแล้ว ฉันให้ตอนกลางคืนเต็มสิบเลย เพราะนอกจากจะมีเสียงหวอช่วยเพิ่มความตื่นเต้นแล้ว ก็ยังมีการทำเอฟเฟคต์เป็นเหมือนไฟกำลังลุกไหม้ รวมทั้งมีการฉายวีดิทัศน์ความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย

นอกจากจะได้ชมบรรดาสัตว์ต่างๆ แล้ว ที่สวนสัตว์ก็ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามของพระที่นั่งอนันตสมาคมยามค่ำคืนอีก ด้วย ณ บริเวณสระน้ำขนาดใหญ่ที่ในตอนกลางวันใช้เป็นที่ถีบจักรยานน้ำ พอตกกลางคืนผืนน้ำตรงนี้ก็สงบนิ่งสะท้อนเงาพระที่นั่งอนันตฯ ได้อย่างงดงามทีเดียว

รถพ่วงยังคงแล่นพาชมสัตว์ต่างๆ ภายในสวนสัตว์ไปเรื่อยๆ และผู้ชมแต่ละคนรวมทั้งฉันด้วยต่างก็พากันชะเง้อชะแง้มองตามแสงไฟสปอร์ตไลท์ ที่ผู้บรรยายส่องไปยังสัตว์แต่ละตัว ดูๆ ไปก็ได้อารมณ์สนุกสนานแบบไนท์ซาฟารีเหมือนกันนะ แถมไม่ต้องไปดูไกลถึงไนท์ซาฟารีเจ้าปัญหาที่เชียงใหม่อีกด้วย ใครที่สนใจ เลิกงานแล้วจะแวะมาชมก็ยังได้ เพราะสวนสัตว์เขาเปิดรออยู่ถึงสามทุ่มแน่ะ

สวนสัตว์ดุสิต ตั้งอยู่เลขที่ 71 ถนนพระราม 5 แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพ อยู่ข้างสนามเสือป่า และอยู่ตรงข้ามรัฐสภา เปิดให้เข้าชมในเวลา 08.00-21.00 น. ทุกวัน โดยหลัง 18.00 น. จะเปิดเฉพาะประตูใหญ่ฝั่งถนนราชวิถี และประตูทางเข้าที่จอดรถฝั่งถนนอู่ทองใน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ประชาสัมพันธ์สวนสัตว์ดุสิต โทร.0-2281-2000 ต่อ 128, 129

อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 10 บาท สำหรับการเข้าชมสวนสัตว์ในตอนกลางคืนสามารถเดินชมและสัมผัสบรรยากาศยามค่ำ คืนได้เอง หรือนั่งชมบนรถพ่วงโดยมีวิทยากรนำชม ใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม. ค่าบริการรถพ่วง ผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เด็ก คนละ 10 บาท มีรถพ่วงรอบ 19.00 น. และ 20.00 น. จุดจำหน่ายบัตรรถพ่วงอยู่บริเวณทางเข้าด้านอาคารจอดรถ

การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 18, 28, 108 และรถประจำทางปรับอากาศสาย 70, 528, 515, 539, 542 ผ่าน