
ทำไม นวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ที่เขียนโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงเป็นได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน?
คนที่ยังไม่เคยอ่านอาจจะนึกไม่ออกว่าทำไมนิยายเรื่องนี้จึงได้รับ ยกย่องถึงขนาดนั้น แต่คนที่มีโอกาสได้อ่านแล้วคงจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่นิยาย แต่สี่แผ่นดินเป็นเหมือนกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละคร ต่างๆ ออกมา ทำให้คนอ่านรู้สึก "อิน" ไปกับตัวละครเหล่านั้นและไม่เบื่อหน่ายที่จะติดตามเรื่องราวต่อไป
และถ้าใครใส่ใจอ่านในรายละเอียดที่คนเขียนตั้งใจถ่ายทอดมา ก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับเกร็ดประวัติศาสตร์มากมายทีเดียวเชียวแหละ ไม่เหมือนกับการอ่านพงศาวดารหรือบันทึกจดหมายเหตุที่หากว่าไม่ระวังแล้วละก็ จะเผลอหลับไปแบบไม่รู้ตัวได้ทีเดียว
ด้วยความที่เป็นวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมของไทย สี่แผ่นดินจึงถูกนำมาทำเป็นละครหลายครั้งด้วยกัน ไม่ต้องพูดถึงหนังสือที่ถูกพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยความนิยมที่ไม่เสื่อมคลาย และล่าสุด สำนักพิมพ์ "นานมีบุ๊คส์" ก็ได้นำเอานิยายเรื่องนี้กลับมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง และไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการจัดทริป "เยือนถิ่นชาววัง ย้อนความหลังแม่พลอย ในสี่แผ่นดิน" พาคนอ่านไปตามรอยแม่พลอยด้วยกันอีกต่างหาก ฉันก็เลยมีโอกาสดีได้ติดสอยห้อยตามเขาไปด้วย
เกริ่นให้คนที่ไม่เคยชมหรืออ่านเรื่องนี้ให้ทราบกันเสียหน่อยว่า สี่แผ่นดินนี้เป็นเรื่องราวของ “แม่พลอย” สาวชาววังคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้ามารับใช้ใกล้ชิดกับเจ้านายภายในพระบรมมหาราชวัง และมีชีวิตอยู่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาจนถึงรัชกาลที่ 8 ทำให้คนอ่านยุคใหม่อย่างเราๆ ได้เห็นความเป็นไปในแผ่นดินของรัชกาลก่อนๆ ได้ดีทีเดียว
การตามรอยแม่พลอยในวันนี้ ฉันขอเริ่มที่บ้านเกิดของแม่พลอยก่อนเลย ที่ "คลองบางหลวง" หรือคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน คลองบางหลวงในอดีตนั้นก็ขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นที่ตั้งของบ้านเรือนขุนนางมาก มายริมสองฝั่งคลองเลยทีเดียว บ้านของพลอยก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็น "บ้านหลังใหญ่มีกำแพงอิฐเสริมรั้วเหล็กกั้นตลอดแม่น้ำ ที่ท่าน้ำมีศาลาหลังใหญ่ทำด้วยไม้..." ตามที่ มรว.คึกฤทธิ์ บรรยายไว้
แต่หากใครคิดจะไปตามหาบ้านของแม่พลอยที่คลองบางหลวง ก็บอกได้เลยว่าออกจะลำบากสักหน่อย เพราะนอกจากแม่พลอยจะเป็นเพียงตัวละครที่สมมติขึ้นมาแล้ว คลองบางหลวงในปัจจุบันนี้ก็ออกจะเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยเป็นย่านขุนน้ำขุนนางในสมัยก่อน ก็กลายเป็นบ้านของประชาชนทั่วไปในปัจจุบัน เหลือเพียงบ้านเก่าหลังใหญ่โตไว้ให้ดูเป็นบางหลังเท่านั้น
จากคลองบางหลวง ฉันตามแม่พลอยมายัง "วังหลวง" หรือ "พระบรมมหาราชวัง" ซึ่งเป็นสถานที่ที่พลอยมีโอกาสใช้ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น โดยได้เข้ามาถวายตัวทำหน้าที่เป็นข้าหลวงของ "เสด็จ" หรือเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่ง ก่อนจะแต่งงานออกเรือนไป พลอยจึงมีความผูกพันกับวังหลวงเป็นพิเศษ
สถานที่ที่แม่พลอยมาอาศัยอยู่ในวังหลวงนี้ก็คือในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งก็จะมีตำหนักของพระมเหสี พระชายา เจ้าจอม และสนมเอก รวมทั้งตำหนักของเชื้อพระวงศ์อีกมากมาย และนอกจากนั้นก็ยังมี "แถวเต๊ง" อาคารแถวยาวสองชั้น เป็นที่อยู่ของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ทำงานอยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งทุกคนที่อยู่ในเขตนี้จะเป็นผู้หญิงทั้งหมด เรียกว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับผู้ชายเลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าในตอนนี้พระบรมมหาราชวังจะไม่มีพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ เจ้าจอม สนมเอก หรือสาวชาววังอาศัยอยู่อย่างเมื่อก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือเป็นเขตหวงห้ามอยู่ดี นักท่องเที่ยวสามารถชมได้แต่ภายนอก คือบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกและชั้นกลางเท่านั้น ฉันจึงตามติดแม่พลอยได้เพียงเท่านั้นเอง
แต่ไหนๆ ก็เข้ามาถึงนี่แล้ว ก็มาชมพระที่นั่งต่างๆ ที่เขตพระราชฐานชั้นกลางนี้เลยดีกว่า ในเขตพระราชฐานชั้นนี้จะมีพระที่นั่งสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-5 เช่น หมู่พระมหามณเฑียรที่มีพระที่นั่งอยู่สามองค์ในบริเวณเดียวกัน มีชื่อคล้องจองไพเราะมาก นั่นก็คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์ประธาน และเป็นที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่ที่ให้ข้าราชการที่ใกล้ชิดคุ้นเคยและไว้วางพระราชหฤทัยเฝ้า ปัจจุบันใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกจนถึงรัชกาล ปัจจุบัน และที่นี่ยังเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชอีกด้วย ส่วนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ บางคราวก็ใช้เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ด้วย
ถัดออกมาจากหมู่พระวิมาน คือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง มีลักษณะเป็นตึกปูนแบบตะวันตก แต่มียอดเป็นปราสาทแบบไทย ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่เก็บพระอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระ มเหสี เป็นที่เสด็จออกให้เข้าเฝ้า หรือรับรองแขกบ้านแขกเมือง และนอกจากนั้นแล้วก็ยังมีพระที่นั่งสำคัญอื่นๆ อีก เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งบรมพิมาน ฯลฯ
และระหว่างหมู่พระมหามณเฑียรกับพระที่นั่งจักรีนั้น จะมีประตูกั้นระหว่างเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ชื่อว่าประตูสนามราชกิจ หรือที่เรียกกันว่าประตูย่ำค่ำ เป็นประตูที่พลอยใช้ผ่านเข้าออกระหว่างเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน
พูดถึงเรื่องประตูแล้วก็ยังมีอีกประตูหนึ่งที่พูดถึงกันบ่อยในเรื่อง นั่นก็คือประตูศรีสุดาวงศ์ หรือที่เรียกว่าประตูดิน ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พ่อค้าแม่ค้ามักจะนำของมาขายที่บริเวณนี้ และก็เป็นประตูที่พลอยได้พบกับคู่รักคนแรกอีกด้วย หลายคนคงจะเคยได้ยินสำนวนเจ้าชู้ประตูดินกันบ้างแล้ว ซึ่งก็มาจากชื่อของประตูนี้นี่เอง เพราะผู้ชายหนุ่มๆ มักจะมาแอบมองสาวชาววังกันที่ประตูดินแห่งนี้นี่แหละ
แต่ก็ใช่ว่าพลอยจะได้อยู่แค่ในบริเวณวังหลวงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงปลายของรัชกาลที่ 5 นั้น พระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมและคลองสามเสน เนื่องจากในวังหลวงเริ่มแออัดด้วยผู้คนมากขึ้นทุกวัน
พระราชวังแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า "พระราชวังดุสิต" ในเรื่องสี่แผ่นดินได้กล่าวถึงพระราชวังดุสิตไว้ตั้งแต่ตอนที่ความนิยมของรถ จักรยานได้เริ่มเข้ามาภายในวังว่า พลอยเองก็ต้องหัดขี่จักรยานไว้ เพราะเจ้านายเริ่มทรงจักรยานออกจากวังไปที่สวนดุสิต ข้าหลวงผู้ติดตามจึงต้องหัดขี่จักรยานให้เป็นด้วยเช่นกัน
ในขณะนั้น รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังดุสิตบ่อยขึ้น และเสด็จไปประทับอยู่เป็นเวลานานๆ โดยพระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งแต่เดิมคือพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ตั้งอยู่ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รื้อมาปลูกไว้ที่พระราชวังดุสิตนี้แทน และพระราชทานชื่อใหม่ว่าพระที่นั่งวิมานเมฆ
เมื่อพระมหากษัตริย์ย้ายมาประทับที่นี่ บรรดาพระมเหสี พระชายา เจ้าจอมต่างๆ ก็มาอยู่ในตำหนักต่างๆ ที่พระราชวังดุสิตด้วยเช่นกัน ในสี่แผ่นดินได้กล่าวถึงความสำราญของพระเจ้าอยู่หัวพระราชวังดุสิตไว้ว่า ทรงโปรดการปลูกต้นไม้นานาชนิด ทั้งไม้ดอกไม้ใบ ทำให้ทั้งพระราชวังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ นอกจากนั้นพระองค์ยังโปรดฯ การถ่ายภาพ และล้างอัดภาพด้วยพระองค์เอง ให้สร้างห้องมืดสำหรับล้างอัดภาพไว้ที่วังนี้ด้วย โดยพระองค์ได้เสด็จมาประทับและพักผ่อนที่พระราชวังแห่งนี้ด้วยความสำราญพระ ราชหฤทัยอย่างสม่ำเสมอจนสิ้นรัชกาล
ปิดท้ายทริป "เยือนถิ่นชาววัง ย้อนความหลังแม่พลอยฯ" กันที่บ้านของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในซอยสวนพลูกันดีกว่า ซึ่งแม้ว่าบ้านนี้จะไม่ได้ไปปรากฏในเรื่องสี่แผ่นดินก็ตาม แต่ก็มีความสำคัญตรงที่เราจะได้มาเรียนรู้ประวัติของท่านเจ้าของบ้านผู้แต่ง นิยายเรื่องนี้กัน เพราะนอกจากในแง่มุมของการเป็นนักเขียนแล้ว มรว.คึกฤทธิ์ก็ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบ้านการเมือง หรือเรื่องของโขนละครก็ตามที
บ้านของ มรว.คึกฤทธิ์ นี้ เป็นบ้านเรือนไทยอันงดงาม 5 หลังประกอบกัน มีนอกชานเชื่อมถึงกันโดยตลอด ยังจัดแสดงข้าวของต่างๆ เหมือนในขณะที่เจ้าของบ้านยังคงมีชีวิตอยู่ และจัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ ที่ท่านเจ้าของบ้านสะสมเอาไว้ นอกจากนั้นบริเวณบ้านก็ยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม่ใหญ่น่าอยู่เป็นอย่างมาก
พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ที่ ถ.หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 ใกล้สนามหลวง เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น. ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. ค่าธรรมเนียม-ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท โทรศัพท์ 0-2623-5500 ต่อ 1124, 3100
การแต่งกายที่เหมาะสมในการเข้าชม ควรแต่งกายให้สุภาพ ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น รวมทั้งกางเกงที่ยาวไม่ถึงตาตุ่ม ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือบางจนเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าแตะที่ไม่สุภาพหรือไม่มีสายรัดข้อเท้า
การเดินทาง รถ ประจำทางสาย : 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศสาย : 1, 8, 25, 38, 39, 44, 506, 507, 512 หรือเดินทางโดยทางเรือ โดยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าช้าง
พระที่นั่งวิมานเมฆ ตั้งอยู่ในพระราชวังสวนดุสิต ถนนราชวิถี เขตดุสิต กทม. เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม นักเรียน นักศึกษา นักบวช 20 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท การเข้าชมโปรดแต่งกายสุภาพ ส่วนภายในพระที่นั่งวิมานเมฆเปิดให้เข้าชมเป็นรอบๆทุกครึ่งชั่วโมง ภาษาไทย 09.30-15.00 น. ภาษาอังกฤษ 09.45-15.15น. โดยห้ามถ่ายรูปภายในอาคาร นอกจากนี้หากมีโอกาสพิเศษพระที่นั่งวิมานเมฆก็จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าไป เที่ยวชมยามค่ำคืน ส่วนการแสดงนาฏศิลป์ไทยเปิดแสดงวันละ 2 รอบ 10.30 น. และ 14.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2628-6300
การเดินทาง รถประจำทาง : 12 18 28 70 108 รถปรับอากาศ : 510 515 ปอ.พ.4 มีที่จอดรถภายในพระราชวัง
บ้าน มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งอยู่ที่ 19 ซอยพระพินิจ ถนนสาทรใต้ กทม. 10120 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะเปิดให้ชมในเวลา 10.00-17.00 น. เสียค่าเข้าชมคนละ 50 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบคนละ 20 บาท ผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นกลุ่มในวันอื่น โปรดติดต่อและนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ติดต่อสอบถามโทร.0-2679-3630
การเดินทาง สามารถเข้าได้ทั้งทางถนนสาทรใต้ โดยเข้าทางซอยสาทร 3 แล้วเลี้ยวขวาแรก เข้าซอยพระพินิจ หรือเข้ามาทางถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 7 ในวันหยุดราชการสามารถจอดรถได้ในซอยพระพินิจ และถนนนราธิวาสฯ
ถนนสาทรใต้มีรถประจำทางสาย 17, 116, 149 และ ปอ.173 ผ่าน ซอยสาทร 3 มีรถประจำทางสาย 22, 62, 67, 89 ผ่าน และถนนนราธิวาสฯ มีรถประจำทางสาย 77 ผ่าน หรือสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีช่องนนทรีได้
ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับแม่พลอยอีกมากมายทีเดียวที่ฉันยังพูดไม่หมด แต่หากจะให้พูดทั้งหมดก็เห็นทีจะไม่ไหว เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจก็อย่าลืมหา “สี่แผ่นดิน” มาอ่านดูเอง แล้วจากนั้น จะเริ่มตามรอยแม่พลอยด้วยตัวเองอีกครั้งก็คงดีไม่น้อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น