บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

เดินดินไปดูดินที่" พิพิธภัณฑ์ดิน "


ใครจะรู้บ้างว่าห่างจากแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปไม่ไกล นักเป็นที่ตั้งของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งแม้ว่าบ่อยครั้งที่ฉันสัญจรผ่านก็ยังไม่เคยเหลียวมองเลยว่าภายในจะมี สิ่งใดน่าสนใจอยู่บ้าง คิดเพียงว่าเป็นสถานที่ราชการเท่านั้น จนเมื่อไม่นานมานี้ฉันก็มีโอกาสผ่านไปย่านนั้นอีกครั้ง และต้องสะดุดตากับป้ายขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้ากรมพัฒนาที่ดินที่ประกาศเชิญ ชวนให้เข้าเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์ดิน" ฟรี!! ด้วยความใคร่รู้เมื่อสบโอกาสว่างจึงไม่พลาดที่จะแวะชม

พิพิธภัณฑ์ดินแห่ง นี้ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของอาคารที่ทำการกรมพัฒนาที่ดิน เดินตรงเข้าไปในตัวอาคารเลี้ยวขวาก็ถึงแล้ว สำหรับหนุ่มลูกทุ่งอย่างฉันที่ผูกพันอยู่กับไอดินและกลิ่นโคลนสาบควายมาก่อน นั้น จึงค่อนข้างอยากรู้เป็นพิเศษว่าในพิพิธภัณฑ์จะเป็นเช่นไร เผื่อจะได้นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่งกลับไปให้ญาติพี่น้องนำไปพัฒนาผืนดิน แถวท้องไร่ท้องนาบ้านฉันได้อย่างถูกวิธี

ทันทีที่เข้าไปถึงสิ่งที่ฉันอยากรู้ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับดินซะที เดียว แต่อยากรู้ประวัติความเป็นมาขององค์กรก่อนต่างหากเพราะถ้าไม่มีกรมพัฒนาที่ดินก็ ไม่มีพิพิธภัณฑ์ดินเกิดขึ้นแน่นอน ฉันจึงเดินตรงรี่ปรี่เข้าไปดูประวัติของกรมพัฒนาที่ดินก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งก็มีการบอกประวัติพอสังเขปตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจดินครั้งแรกในประเทศ ไทยเมื่อพ.ศ.2478 และที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานด้านการศึกษาสำรวจทรัพยากรดินและ ที่ดิน

ส่วนพิพิธภัณฑ์ดินนั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2545 และเพิ่งได้รับการปรับปรุงล่าสุดไม่นานมานี้ เมื่อเปลี่ยนโฉมแล้วก็ได้เชิญเสด็จสมเด็จพระเทพฯมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นวันครบรอบ 43 ปีการก่อตั้งของกรมพัฒนาที่ดินอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ดินที่ นี่ถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และมีความทันสมัยสมบูรณ์แบบที่สุดในเอเชีย ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ดินแห่งนี้นอกจากจะจัดแสดงประวัติความเป็นมาของการก่อ ตั้งกรมพัฒนาที่ดินแล้ว ก็ยังมีมุมสำหรับการแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการสำรวจดินยุคแรก ๆ

อาทิ เข็มทิศ จอบ เสียม กล่องอุปกรณ์สนามสำหรับการถ่ายภาพทางอากาศและการสำรวจดิน หรืออย่างสว่านเจาะดิน ที่แยกย่อยออกมาเป็น “สว่านกระบอก” สำหรับใช้เจาะดินร่วนหรือดินทราย “สว่านใบมีด” เพื่อใช้เจาะดินเหนียว หรือจะเป็นชุดวัดปฏิกิริยาดินที่ใช้วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินและเครื่องมืออื่นๆอีกกว่า10ชนิด

เครื่องมือเหล่านี้บอกตามตรงเลยว่าฉันก็เพิ่งเคยเห็น เคยรู้จัก ก็เมื่อได้มาที่นี่บางอย่างถ้าไม่บอกก็ไม่รู้หรอกว่าเกี่ยวข้องกับดินได้ อย่างไร มันทำให้รู้ว่าใต้ฝ่าเท้าที่เรายืนอยู่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตแค่ไหน ก็อะไรบ้างล่ะที่ไม่ใช้ดินเป็นส่วนประกอบทั้งสร้างบ้าน ปลูกพืชผักผลไม้ ผลิตผลต่างๆ ทุกอย่างล้วนต้องใช้ดินทั้งนั้น เห็นทีกลับออกจากที่นี้ฉันคงต้องขอกลับไปจุดธูปเทียนบูชาพระแม่ธรณีสักหน่อย เป็นไร

สำหรับคนขี้ร้อนก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะข้างในพิพิธภัณฑ์เปิดแอร์เย็น ฉ่ำทีเดียว สามารถเดินดูได้เรื่อยๆ เพลินตาดีด้วยแถมยังได้ความรู้เกี่ยวกับพื้นปฐพีเพิ่มขึ้นด้วย ฉันพอจะจำเรื่องดินในชั่วโมงวิทยาศาสตร์เมื่อครั้นเรียนมัธยมได้บ้าง ที่อธิบายถึงการกำเนิดดินไว้ว่า ดินเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินชนิดต่าง ๆ โดยใช้เวลาที่นานมาก หินที่สลายตัวผุกร่อนก็จะมีขนาดต่าง ๆ กัน เมื่อผสมรวมกับซากพืช ซากสัตว์ น้ำ อากาศ ก็กลายเป็นเนื้อดินซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของ ดิน

ที่นี่มีการนำตัวอย่างดินด้านวิวัฒนาการการสำรวจจำแนกดินของประเทศ ไทยมาจัดแสดงให้ชมด้วย ซึ่งจะบอกถึงการจำแนกดินว่าเป็นดินชนิดใด การกำเนิดของดินชนิดนั้นเป็นอย่างไร ควรอยู่ในสภาพพื้นที่ใด การระบายน้ำดีหรือไม่ พืชพรรณธรรมชาติที่เหมาะสมกับชนิดของดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินปลูกพืชชนิด ใดมีข้อจำกัดใดและมีข้อเสนอแนะต่อสภาพดินในแต่ละชนิดพอสังเขปให้ด้วยซึ่งก็ นับว่ามีประโยชน์มากทีเดียว

เมื่อเดินเข้าไปถึงด้านในสุดของพิพิธภัณฑ์ก็จะพบ การแสดงหน้าตัดชุดดินของไทยตามสภาพภูมิประเทศจำแนกตามกลุ่มชุดดินที่ทางกรม พัฒนาที่ดินได้จัดหมวดหมู่ไว้ตามลักษณะ ศักยภาพ และการจัดการที่คล้ายคลึงกันซึ่งแบ่งดินออกเป็น 62 กลุ่มชุดดิน ซึ่งปัจจุบันพบว่าผลงานนี้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง

อย่างเช่น กลุ่มชุดดินที่35 ก็จะมีข้อมูลอย่างชัดเจนระบุว่าเป็นกลุ่มชุดดินที่อยู่ในเขตแห้งแล้ง พร้อมกันนี้ยังมีตัวอย่างกลุ่มชุดดินจากที่ต่างๆในกลุ่มนี้มาในชมอีกด้วย เช่น ชุดดินโคราช ชุดดินห้างฉัตร ชุดดินดอนไร่ ชุดดินวาริน เป็นต้น ทำให้เราได้รู้ว่าสภาพดินในแต่ละพื้นที่มีหน้าตาเป็นอย่างไรซึ่งก็มีครอบ คลุมครบทุกชนิดดิน

ยังมีมุมสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลวิชาการเกี่ยว กับดิน และให้ศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงดินทั้ง 62 กลุ่มชุดดิน ที่สามารถสืบค้นหาได้ด้วยตนเองอีกด้วย เรียกว่างานนี้เป็นประโยชน์ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า แม้ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตต่ำ หรือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรก็ตามก็จะมีข้อ แนะนำให้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของดินเสียทั้งดินเปรี้ยวจัด ดินตื้น ดินเค็ม ดินเป็นทรายจัด ดินกรด ดินพรุ พื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน พร้อมกับแผนที่ประเทศไทยที่บ่งชี้ว่า พื้นดินส่วนนี้มีลักษณะของดินเสียที่ควรแก้ไขอย่างไรอีกด้วย อืม...ตอนนี้ฉันเริ่มคิดถึงผืนนาที่บ้านเกิดเสียแล้วสิ ที่ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นคงเป็นเพราะฉันปลูกพืชไม่เหมาะสมกับชนิดของดินเป็นแน่ แท้

ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือมุมจัดแสดงโครงการอันเนื่องพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์แห่งดิน” มีภาพและการบรรยายถึงแนวพระราชดำริที่เป็นประโยชน์ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการแกล้งดินที่ทรงให้มีการทดลองทำดินเปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวแก่ราษฎร โครงการหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน โครงการพัฒนาดินเลว ที่มีพระราชประสงค์ให้มีการฟื้นฟูสภาพดินเพื่อเกษตรกร เป็นต้น

อ้อ!!ใครที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเลยก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ แล้วก่อนกลับก็อย่าลืมแวะลงทะเบียนด้วยเพื่อว่าจะได้เป็นหลักฐานยืนยันว่า เรานั้นได้มาเที่ยวที่นี้แล้ว ส่วนฉันก็ขอนำความรู้เรื่องดินๆที่ได้วันนี้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะ เอาไปบอกญาติพี่น้องบ้านนาได้อย่างถูกต้อง

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้ามาชม "พิพิธภัณฑ์ดิน" ได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ติดต่อที่ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2579-8515

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น