
ฉันกลับมายืนอยู่ที่วัดพระแก้วอีกครั้งตามสัญญาที่บอกว่าจะพากลับมา เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่ได้พูดถึงเมื่อตอนที่แล้ว เพราะวัดพระแก้วนี้เป็นถึงวัดในวังหลวง เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไปทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าอย่างนั้นเราก็มามีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ในวัดพระแก้วกันเถอะ
เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินผ่านเข้ามาในประตูวิเศษไชยศรี ประตูทางเข้าใหญ่ที่อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เมื่อเดินเข้ามาแล้วก็จะเห็นสนามหญ้าเขียวขจีอยู่ทางซ้ายมือ สนามนั้นมีชื่อว่าสนามไชย และถัดจากสนามไชยเข้าไปก็จะเป็นกำแพงรั้วสีขาวของวัดพระแก้ว มองเข้าไปเห็นยอดของพระศรีรัตนเจดีย์ ยอดพระมณฑป และยอดปราสาทพระเทพบิดร วางเรียงตัวซ้อนกัน แถมด้วยหลังคาพระอุโบสถตั้งอยู่ข้างๆ ดูได้มุมพอเหมาะพอเจาะพอดี บรรดากรุ๊ปทัวร์ทั้งหลายจึงนิยมให้ลูกทัวร์มาถ่ายรูปหมู่กันตรงนี้
และนอกจากจะเป็นฉากยอดฮิตของนักท่องเที่ยวแล้ว มุมนี้ก็ถือเป็น "มุมเหรียญบาท" อีกตะหาก อ้าว... ถ้าไม่เชื่อก็ลองเอาเหรียญบาทมาพลิกดูด้านหลังสิ รูปเดียวกันเปี๊ยบเลย
เอ้า... ทีนี้เดินกันต่อมุ่งหน้าเข้าสู่ประตูวัดพระแก้วกันเถอะ คนไทยอย่างเราไม่ต้องเสียสตางค์ค่าตั๋ว เดินสบายใจเฉิบเข้าสู่วัดพระแก้วได้เลย สำหรับประตูที่ทุกคนจะต้องผ่านเข้าไปนี้ก็คือประตูพระฤๅษี เมื่อผ่านเข้าไปก็จะได้เจอกับฤๅษีเฒ่านั่งชันเข่าอยู่บนแท่นสูงท่าทางสบาย อารมณ์ หน้าตาก็ดูจะใจดี ยิ้มแย้มให้ทุกคนที่ผ่านประตูเข้ามายังอาณาเขตวัดพระแก้วราวกับเป็นคนต้อน รับแขกอย่างไรอย่างนั้น
ว่าแต่... ท่านฤๅษีผู้นี้เป็นใครกันนะ มีป้ายติดบอกไว้ว่าท่านชื่อชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งตามพุทธประวัติแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์นั้นก็เป็นแพทย์ที่เก่งมาก รวมทั้งยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าอีกด้วย และสำหรับพระฤๅษีตนนี้ก็เป็นฤๅษีหมอที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของยาสมุนไพร และแพทย์แผนโบราณทั้งหลาย ซึ่งรูปหล่อของท่านได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นรูปหล่อโลหะสำริด
ส่วนทางด้านหลังพระฤๅษีก็จะมี พระโพธิธาตุพิมาน พระปรางค์โบราณที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากพุทธคยา ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากทางเหนือ พร้อมทั้งให้สร้างมณฑปทรงมงกุฎไว้ประดิษฐานพระปรางค์นี้อีกด้วย
ทีนี้เดินต่อมากราบพระแก้วมรกตพระประธานของวัดกันบ้าง หากใครอยากจะกราบไหว้ด้วยธูปเทียนดอกไม้ เขาก็มีที่จุดธูปเทียนบูชาอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ บางคนไม่ไหว้อย่างเดียว แต่ขอบนบานศาลกล่าวต่อพระแก้วอีกต่างหาก ซึ่งหากว่าสิ่งที่บนเอาไว้สำเร็จขึ้นมาก็จะต้องมาแก้บนกันตรงนี้แหละ
สำหรับของที่ผู้คนนิยมนำมาแก้บนพระแก้วมรกตนั้นก็มีตั้งแต่สิ่งของ ธรรมดาอย่างพวงมาลัย ดอกไม้ ผลไม้ ฯลฯ ไปจนถึงของที่ดูจะแปลกกว่าที่อื่นๆ อย่างน้ำพริกปลาร้า และไข่ต้ม เพราะเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตมาจากประเทศลาว ก็คงต้องชอบอาหารอีสานอะไรทำนองนั้น ซึ่งเรื่องที่คนนิยมมาบนบานกับท่านก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่นเรื่องสุขภาพการงานต่างๆ
ไม่ใช่แต่จะมีคนมาขอโน่นขอนี่กับท่านเพียงอย่างเดียว แต่พระแก้วมรกตยังต้องทนฟังใครต่อใครที่มาสาบานกับท่าน เพราะเมื่อคนสองคนที่ขัดแย้งกันต่างถือว่าตัวเองพูดความจริงไม่มีใครยอมใคร จะพึ่งใครให้มาตัดสินก็ไม่ได้ จึงต้องหันมาหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เห็นตัวอย่างมามากแล้วทั้งประชาชนทั้งนักการเมือง ไม่ยอมให้ท่านอยู่อย่างสงบๆ บ้างเลย
กราบพระแก้วตรงจุดนี้แล้วก็เข้าไปกราบท่านในพระอุโบสถอีกครั้ง นั่งสงบจิตสงบใจสักพักหนึ่ง แล้วค่อยออกมาแวะชมครุฑยุดนาคทรงเครื่องสังวาลตรงบริเวณฐานพระอุโบสถด้านนอก กันดีกว่า ตรงนี้ก็เป็นมุมถ่ายรูปยอดฮิตอีกมุมหนึ่ง เพราะฉากหลังที่เป็นครุฑยุดนาคขนาด ย่อมเรียงรายกันไปรอบพระอุโบสถนั้นดูสวยงามมากทีเดียว ว่าแต่ว่า... ครุฑเหล่านี้มีอยู่กี่ตัวกันแน่นะ อยากรู้ก็ต้องเดินนับกันเสียหน่อย 1-2-3 ....นับได้ 112 ตัวพอดี ถ้าใครกลัวฉันจะนับไม่ถูกลองไปนับใหม่ดูอีกรอบ แล้วมาบอกกันด้วยนะ อ้อ... แล้วอย่าลืมแวะชมสิงโตสำริด 6 คู่ที่ว่ากันว่านำมาจากเมืองบันทายมาศของเขมร รวมกับที่หล่อขึ้นเองในไทยที่ตั้งอยู่ด้านข้างประตูด้วยล่ะ
จากพระอุโบสถ เดินมาบนฐานไพทีบริเวณปราสาทพระเทพบิดร มาดูสัตว์ประหลาดในจินตนาการแบบไทยๆ เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ที่เรียกว่าสัตว์หิมพานต์กันดีกว่า สัตว์หิมพานต์เหล่านี้มีอยู่ทั้งหมด 7 คู่ด้วยกัน ยืนอยู่ตามมุมต่างๆ ใกล้ๆ ตัวปราสาท ก็มีทั้งอสุรวายุภักษ์ ท่อนบนเป็นยักษ์ท่อนล่างเป็นนก อัปสรสีห์ ท่อนบนเป็นนางอัปสร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ยืนพนมมือ สิงหพานร ท่อนบนเป็นพญาวานร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ สองมือถือกระบอง
แล้วก็ยังมีกินนร และกินนรี ท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว มือหนึ่งยกระดับอก เทพปักษี เป็นเทวดาที่มีปีกและหางเหมือนนก มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ อีกข้างหนึ่งจีบระดับอก เทพนรสิงห์ ท่อนบนเป็นเทวดา ท่อนล่างเป็นราชสีห์ มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งถือกิ่งไม้ไว้ระดับอก และอสูรปักษี ท่อนบนเป็นยักษ์ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะเอว อีกมือหนึ่งยื่นออกมาด้านหน้า สัตว์หิมพานต์เหล่านี้เป็นรูปหล่อปิดทองเป็นประกายงดงาม และมักจะเป็นดาราหน้ากล้องของนักท่องเที่ยวอยู่เสมอๆ
แต่ว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดบนฐานไพทีนอกจากสิ่งก่อสร้างใหญ่โตแล้วก็ต้องยกให้ นครวัดจำลอง ที่เมื่อใครได้เห็นก็ต้องร้องว่า "มาได้ยังไงนี่?!?"
ต้องเฉลยว่า ที่มีนครวัดจำลองมาอยู่ในวัดพระแก้วได้นี้ก็เพราะรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยในขณะนั้นเขมรยังเป็นของประเทศสยามอยู่ รัชกาลที่ 4 โปรดปราสาทหินของเขมรมาก รวมทั้งเห็นว่าเป็นของแปลก จึงมีรับสั่งให้รื้อเอานครวัดมาไว้ที่ประเทศไทย ผู้ที่รับคำสั่งก็จนด้วยเกล้าเพราะปราสาทหินนครวัดนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะ เคลื่อนย้ายได้ พระองค์จึงเปลี่ยนพระทัยให้นำเอาปราสาทหินที่เล็กกว่ามาแทน ก็คือปราสาทตาพรหม แต่คณะที่ทรงส่งไปดำเนินการก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้สำเร็จ ซ้ำยังโดนชาวเขมรทำร้าย เพราะปราสาทเหล่านี้เป็นของรักของหวงของชาวเขมร ในท้ายที่สุดพระองค์จึงโปรดให้สร้างนครวัดจำลองขึ้นแทนและนำมาไว้ในวัดพระ แก้วแห่งนี้
อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือยักษ์วัดพระแก้วที่ ตัวสูงใหญ่หน้าตาขึงขัง ทำหน้าที่เป็นทวารบาลถือกระบองยืนยามเฝ้าประตูอยู่คนละด้านวันทั้งคืนอย่าง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ยักษ์ทั้ง 6 คู่ เหล่านี้ต่างก็มีที่มาจากเรื่องรามเกียรติทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่คู่แรกที่ยืนเฝ้าประตูพระฤๅษี มีชื่อว่า จักรวรรดิ และอัศกรรณมารา คู่ที่เฝ้าประตูเกยเสด็จ (หน้า) มีชื่อว่า สุริยาภพ และอินทรชิต คู่ที่เฝ้าประตูหน้าวัวชื่อ มังกรกัณฐ์ และวิรูฬหก คู่ที่เฝ้าประตูพระศรีรัตนศาสดาชื่อว่า ทศคีรีธร และทศคีรีวัน คู่ที่เฝ้าประตูเกยเสด็จ (หลัง) มีชื่อว่า ทศกัณฐ์ และสหัสเดชะ และคู่สุดท้าย เฝ้าประตูสนามไชยคือ ไมยราพ และวิรุญจำบัง
ยักษ์แต่ละตัวนั้นก็จะมีสีสันและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ใครอยากรู้จักตัวไหนให้มากขึ้นก็ต้องกลับไปอ่านรามเกียรติกันใหม่เสียแล้ว แต่รับรองว่าแต่ละตัวก็มีบทบาทที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่ยักษ์เหล่านี้ก็มีสิ่งที่แปลกกว่าทวารบาลทั่วไปอยู่อย่างหนึ่งคือ ทวารบาลอื่นๆ มักจะสร้างให้หันหน้าออกด้านนอก นัยว่าให้ช่วยปกป้องความชั่วร้ายต่างๆ ที่จะเข้ามาด้านใน เช่นยักษ์ที่วัดอรุณราชวรารามฯ ก็ยืนเฝ้าอยู่ด้านนอก หันหน้าออกนอกพระอุโบสถ แต่ยักษ์ที่วัดพระแก้วนี้กลับอยู่ด้านใน แถมยังหันหน้าเข้าสู่ด้านในวัดเหมือนกันหมดเสียอีก ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัดพระแก้วนี้เหมือนกัน
ปิดท้ายอีกนิดหนึ่ง ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว เรียกว่าไม่ไปไม่ได้เลยทีเดียว เพราะมีข้าวของมากมายที่สำคัญๆ เก็บรักษาเอาไว้ แต่คนส่วนมากมักเดินไปไม่ค่อยถึง เพราะตัวพิพิธภัณฑ์จะอยู่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเลี้ยวออกตั้งแต่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไปเสีย แล้ว
เดิมชมวัดพระแก้วกันมาสามตอนติดกันก็ดูเหมือนจะยังไม่อิ่ม แต่จะเดินนานกว่านี้ฉันก็กลัวว่าจะมีคนเบื่อเอาเสียก่อน เอาเป็นว่าถ้าใครยังไม่จุใจ ก็ต้องใช้เวลามาเดินชมเอง แต่รับรองว่ามีแต่สิ่งที่ควรค่าแก่การชมทั้งสิ้น เพราะที่นี่คือวัดที่มีความสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานครของเรา
พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ที่ ถ.หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 ใกล้สนามหลวง เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น. ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. ค่าธรรมเนียม-ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท โทรศัพท์ 0-2623-5500 ต่อ 1124, 3100
การแต่งกายที่เหมาะสมในการเข้าชม ควรแต่งกายให้สุภาพ ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น รวมทั้งกางเกงที่ยาวไม่ถึงตาตุ่ม ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือบางจนเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าแตะที่ไม่สุภาพหรือไม่มีสายรัดข้อเท้า
การเดินทาง รถ ประจำทางสาย : 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศสาย : 1, 8, 25, 38, 39, 44, 506, 507, 512 หรือเดินทางโดยทางเรือ โดยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าช้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น