
"เก่าไป ใหม่มา" ถือเป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่ง
เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้ สนามบินดอนเมืองก็จำเป็นต้องลาโรงไปโดยปริยาย ทิ้งไว้พียงตำนานและความทรงจำ
ฉันเองก็อดใจหายและคิดถึงดอนเมืองไม่ได้ เมื่อสนามบินดอนเมืองกลายเป็นตำนาน ฉันจึงตัดสินใจเดินทางสู่ดอนเมืองเพื่อล่ำลาสนามบินแห่งนี้ พร้อมๆกับเที่ยวในย่านดอนเมืองควบคู่กันไปเสียเลย
เมื่อพูดถึงสนามบินดอนเมืองแล้ว หลายๆคนโดยเฉพาะคุณผู้หญิงก็คงจะนึกถึงแหล่งช้อปปิ้งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามสนาม บินดอนเมืองนั้นก็คือตลาดแอร์พอร์ต หรือตลาดใหม่ดอนเมือง แหล่งนักช้อปสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศทั้งเสื้อผ้าหน้าผมร้องเท้ากระเป๋าเครื่องประดับน้ำหอมมากมายสารพัด หรือจะเลือกช้อปที่ร้านเจ๊เล้งฝั่ง สนามบินก็ได้ ที่นั้นก็มีหลากหลายทั้งเสื้อผ้าหน้าผมขนมนมเนยแปลกตาแปลกยี่ห้อก็มีให้ได้ เลือกซื้อเลือกกิน แต่เมื่อสนามบินย้ายไปแล้วฉันคิดว่าตลาดนักช้อปเหล่านี้อาจจะเงียบเหงาลงก็ เป็นได้
ส่วนอีกที่หนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสนามบินดอนเมืองนั้นก็คือ"วัดดอนเมือง" ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ วัดดอนเมืองนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และถือเป็นวัดที่เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 6
ที่ฉันบอกไว้ว่าวัดแห่งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสนามบินดอนเมืองก็ตรง ที่ว่า สมัยก่อนบริเวณแถบสนามบินดอนเมืองนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า"ดอนอีเหยี่ยว" เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินมารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ วัดดอนเมืองนั้นเดิมชาวบ้านก็เรียกว่า"วัดดอนอีเหยี่ยว" แต่เมื่อมีการย้ายสนามบิน จากสนามบินสระปทุมมายังดอนอีเหยี่ยว และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นดอนเมือง วัดนี้จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็น"วัดดอนเมือง"
วัดดอนเมืองนี้ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญด้านวัฒนธรรมคู่เขตดอนเมือง ภายในวัดมีสถานที่ที่สำคัญ และน่าสนใจมากมายอาทิ พระอุโบสถ ซึ่งก่อสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิม ที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ด้วยสถาปัตยกรรมไทยทั้งหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง และภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติไว้อย่างสวยงาม สมฝีมือช่างยุคร่วมสมัยรัตนโกสินทร์
นอกจากพระอุโบสถที่สวยงามแล้ว พระเจดีย์ทองสีเหลืองอร่ามตั้งเด่นเป็นสง่าสามารถมองเห็นได้ชัดเจนแต่ไกล จากฝั่งท่าอากาศยานฯก็สวยงามเช่นกัน ซึ่งพระเจดีย์องค์นี้ได้รับการก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงพระราชทานให้เมื่อปีพ.ศ. 2542 ที่ผ่านมา
ถัดจากพระเจดีย์มีพระวิหารที่ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ และยังมีรูปจิตรกรรมฝาผนังซึ่งแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติที่สวย งาม
เมื่ออิ่มบุญแล้ว ฉันขอไปต่ออารมณ์เหิรฟ้ากันที่ "พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ" ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ โดยทางกองทัพอากาศได้เริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2495 เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาอากาศยาน เครื่องสื่อสาร อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่เคยใช้ในกองทัพอากาศ ตลอดจนพัสดุเกี่ยวกับการบินที่น่าสนใจ
เมื่อฉันได้ก้าวย่างเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ฉันได้เห็นคือเครื่องบินลำใหญ่จอดเรียงรายอยู่หลายลำ สำหรับคนบ้านนอกอย่างฉันที่อยู่ในท้องทุ่งท้องนาขี่แต่วัวแต่ควาย แทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นเครื่องบิน แต่มาวันนี้ฉันได้ใกล้ชิดกับเหล่าเครื่องบินมากมายทำให้ฉันรู้สึกตื่นตาตื่น ใจและตื่นเต้นเป็นที่สุด
อาจจะเป็นเพราะความดีใจอย่างเก็บอาการไม่อยู่ของฉัน ทำให้ ร.ต.หญิงเอื้อมพร ศรสุวรรณ เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์ เข้ามาทักและอาสานำชมเครื่องบินต่างๆในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ร.ต.เอื้อมพร เล่าว่า เครื่องบินที่จัดแสดงไว้นั้นเป็นเครื่องบินที่ปลดประจำการแล้วทั้งสิ้น และมีอยู่หลายสิบลำ ทั้งแสดงโชว์อยู่นอกอาคารและภายในอาคาร โดยได้แบ่งอาคารแสดงเป็น 5 อาคารด้วยกัน
อาคารแรกจะจัดแสดงประวัติการบินของไทย เครื่องบินที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย และเครื่องบินที่เคยประจำการในกองทัพอากาศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารที่ 2 จัดแสดงอากาศยานหาดูได้ยาก อาคารที่ 3จัดแสดงอากาศยานปราบปรามผู้ก่อการร้ายในประเทศ อาคาร 4 จัดแสดงเครื่องแบบทหารอากาศ ยุทธภัณฑ์สายสรรพาวุธ อุปกรณ์การบิน ห้องปรับอากาศความดันต่ำ แบบจำลองเครื่องบินเล็ก อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และอาคารสุดท้าย จัดแสดงเฮลิคอปเตอร์และขับไล่ใบพัดรุ่นสุดท้าย
ร.ต.เอื้อมพร พาฉันไปดูเครื่องบินที่เหลือเพียงลำเดียวในโลก มีชื่อว่า "เครื่องบินขับไล่แบบที่ 10 ฮอว์ค 3" (บ.ข.10 Hawk3) เข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ.2478 เป็นเครื่องบินขับไล่ปีก 2 ชั้น 1 ที่นั่ง สามารถพับฐานล้อได้ ติดอาวุธปืนกลอากาศจำนวน 2 กระบอก ลูกระเบิดใต้ปีกจำนวน 4 ลูก ลูกระเบิดใต้ลำตัวจำนวน 1 ลูก เคยประจำการในช่วงพ.ศ.2478- 2492
เครื่องบินที่เหลืออยู่เพียงลำเดียวในโลกอีกเช่นกันก็คือ "เครื่องบินโจมตีแบบที่ 1 คอร์แซร์" (Corsair V-93 S) ซึ่งเป็นเครื่องบินประเภทตรวจการณ์โจมตีทิ้งระเบิด เข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ.2477 คอร์แซร์นี้เป็นเครื่องบินที่มีบทบาทการสู้รบทางอากาศครั้งแรกของไทย คือในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ.2483-2484
เครื่องบินโจมตีแบบที่ 1 (บ.จ.1) นี้เป็นแบบ 2 ที่นั่ง ปีก 2 ชั้น ติดอาวุธปืนหน้าแบบวิคเกอร์ 4 กระบอก ปืนหลังแบบวิคเกอร์ 1 กระบอก และลูกระเบิดติดใต้ปีก ใช้ประจำการตั้งแต่ พ.ศ.2477-2493
นอกจากนี้คนไทยเราก็สามารถสร้างเครื่องบินได้เอง โดยในปีพ.ศ. 2470 พันโทหลวงเวชยันต์รังสฤษฏ์ (อดีตผบ.ทบ) ได้ออกแบบและสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดขึ้นใช้ในราชการได้เป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานนามว่า "บริพัตร" (Boripatra) กองทัพอากาศกำหนดแบบเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ 2 (บ.ท.2)
เครื่องบิน บ.ท. 2 นี้เป็นแบบ 2 ที่นั่ง มีปีก 2 ชั้น กว้าง 44 ฟุต (13.8 เมตร) ยาว 28 ฟุต 9 นิ้ว (8.6286 เมตร) สูง 10 ฟุต 5 นิ้ว (3.127 เมตร) น้ำหนัก 1,845.8 กิโลกรัม บินด้วยอัตราความเร็วสูงสุด 290.7 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใบพัดด้านหน้าทำจากไม้ ดูแล้วทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในเครื่องบินสัญชาติไทยแท้ๆลำนี้จริงๆ
อีกทั้ง บ.ท.2 ลำนี้ยังเคยเดินทางไปเยือนต่างประเทศ 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกไปเยือนประเทศอินเดียตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย ในปี พ.ศ.2472 และครั้งที่สองไปเยือนอินโดจีนฝรั่งเศส ที่เมืองฮานอย เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้ง ที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2473 สรุปได้ว่าบ.ท.2ได้ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2470-พ.ศ.2483 เป็นเวลาทั้งสิ้น 13 ปี
นอกจากนี้ยังมีเหล่าเครื่องบินอีกหลายสิบลำที่ ร.ต.เอื้อมพร พาฉันไปรู้จัก ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจและภูมิใจในความสามารถในการคิดค้นสร้างสิ่งหนักๆ เหล่านี้ให้สามารถลอยไปในอากาศได้
วันนี้นอกจากฉันจะได้มาเก็บภาพความทรงจำของอดีตสนามบินที่เคยยิ่ง ใหญ่ของประเทศไทยแล้ว ยังได้เที่ยวไปในสถานที่ต่างๆที่น่าสนใจรอบๆสนามบินดอนเมือง สนามบินที่วันนี้กลายเป็นตำนานไปแล้ว
วัดดอนเมือง ตั้งอยู่ที่ริมถนนเชิดวุฒากาศ (ถนนโลคอลโรด) แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ โทร.0-2566-1954
พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ ตั้งอยู่ที่ 171 กองทัพอากาศ ถ.พหลโยธิน แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น. โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วง หน้าก่อนประมาณ 1 อาทิตย์ นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศยังเปิดสอนการทำโมเดลเครื่องบินด้วย กระดาษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันเสาร์และอาทิตย์ สอบถามโทร.0-2534-1764 , 0-2534-1853
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น