บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เที่ยว "บ้านครัว" ชมชุมชนทอผ้ากลางกรุง


สืบเนื่องจากการที่ฉันได้เคยลุยกรุงเดินดุ่มๆ ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สันเมื่อไม่นานมานี้ และได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของราชาไหมไทย (แต่เป็นฝรั่ง) ที่ชื่อ "จิม ทอมป์สัน" ว่าเขาเป็นผู้หลงใหลเสน่ห์ของผ้าไหมไทย และเป็นคนที่ช่วยประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยให้โด่งดังไปทั่วโลก

การไปชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนั้นทำให้ฉันได้รู้จักกับ "ชุมชนบ้านครัว" ซึ่งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน โดยมีคลองมหานาคคั่นกลาง โดยรู้จักในฐานะที่เป็นชุมชนที่ทอผ้าไหมส่งให้กับจิม ทอมป์สัน

ก็น่าแปลกเหมือนกันที่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตราชเทวีซึ่งดูเป็นย่านการค้าขายนี้จะมีชุมชนที่ยังทำ อาชีพทอผ้า เพราะที่ฉันเคยเห็นการทอผ้าส่วนมากก็จะอยู่ตามต่างจังหวัดแทบทั้งสิ้น ก็เลยตัดสินใจลองไปดูให้เห็นว่าเขาทอผ้ากันจริงๆ แต่ไม่รู้ทำไม เมื่อฉันเข้าไปถามทางแม่ค้าขายข้าวแกงแถวๆ สะพานหัวช้างว่า จะไปดูชาวบ้านครัวเขาทอผ้ากันได้ที่ไหน แม่ค้ากลับทำหน้างงๆ ก่อนจะบอกว่า เขาทอผ้าหรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าจะไปบ้านครัวละก็ให้เดินไปทางนี้ ก่อนจะชี้มือไปยังทางเดินข้างหน้า

ฉันก็ออกจะใจแป้วกับสีหน้างงๆ ของแม่ค้า เพราะเริ่มทำให้ไม่แน่ใจว่า เอ... จะยังมีชาวบ้านครัวคนไหนทอผ้าอยู่อีกไหมหนอ หรือว่าจะเลิกไปทำอาชีพอื่นกันหมดแล้ว และยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ไม่เห็นบ้านไหนจะมีทีท่าว่าจะทอผ้ากันสักบ้าน หลังจากที่เดินสอดส่องไปได้สักพัก ฉันก็เหลือบไปเห็นป้าย "อู๊ดบ้านครัวไหมไทย" แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าที่นี่เป็นแค่เพียงร้านขายผ้าไหมหรือว่าเป็นบ้านที่ยัง คงทอผ้าไหมอยู่จริงๆ

ไปยืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าบ้านสักประเดี๋ยวหนึ่ง ก่อนที่คนในบ้านซึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการสะบัดม้วนเส้นไหมสีสดใสจะเรียกฉัน ให้เข้ามาชมข้างใน ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่าที่ชุมชนบ้านครัวนี้ยังคงมีการทอผ้าอยู่ และที่นี่ฉันก็ได้พบกับลุงอู๊ด มนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา ชาวชุมชนบ้านครัว และเจ้าของร้านอู๊ดบ้านครัวไหมไทย ที่จะเป็นคนพาฉันชมการทอผ้าที่นี่

ลุงอู๊ดท้าวความให้ฉันฟังว่า ชาวบ้านครัวแต่เดิมนั้นเป็นชุมชนชาวแขกจาม หรือคนอิสลามที่มาจากจามปา หรือประเทศเขมร ซึ่งอพยพมาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสืบทอดลูกหลานมา จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสืบทอดฝีมือการทอผ้าซึ่งเป็นอาชีพของชาวชุมชนบ้านครัวส่วนใหญ่นี้ ด้วย

การทอผ้าของชาวบ้านครัวนี้ก็เพื่อไว้ใช้สอยเองบ้าง รวมทั้งส่งไปขายตามต่างจังหวัด เช่นล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขายคนทางจังหวัดอยุธยาบ้าง จนเมื่อจิม ทอมป์สัน หรือที่ชาวบ้านครัวเรียกว่า"นายห้างจิม"ฝรั่งชาวอเมริกันผู้หลงรักไหมไทย เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าไหมเพื่อส่งขายในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่อยี่ห้อจิม ทอมป์สัน จนผ้าไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลก ก็ทำให้การทอผ้าของชาวบ้านครัวในตอนนั้นเฟื่องฟูยิ่งกว่าครั้งไหนๆ

สำหรับลุงอู๊ดนั้นก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มรู้จักกับการทอผ้าไหมมา ตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยเริ่มประสบการณ์ในแวดวงนี้ด้วยการรับจ้างย้อมไหม โดยเมื่อก่อนนี้จะเป็นการย้อมสีธรรมชาติโดยนำมาต้มกับไม้แกแล ซึ่งจะให้สีเหมือนสีหมากสุก หรือใช้ลูกแสดซึ่งให้สีส้ม จากนั้นในช่วงหลังที่นายห้างจิมเข้ามาจึงมีการใช้สีเคมีกันมากขึ้น

ลุงอู๊ดเล่าถึงบรรยากาศในช่วงสมัยนั้นให้ฟังว่า นายห้างจิมเข้ามาบอกกับคนในชุมชนว่า เขาจะเอาเส้นไหมมาให้ เอาสีมาให้ แล้วให้ทอผ้าส่งเขาได้ไหม จากนั้นแถบนี้ก็เลยทอผ้าส่งจิม ทอมป์สันกันทั้งหมู่บ้าน ถึงเวลาก็ไปเอาไหม เอาสีจากที่บริษัทมาจัดการทอเป็นผืน รวมทั้งเปลี่ยนจากการใช้กี่กระทบแบบเก่ามาเป็นกี่กระตุกเพื่อจะทอผ้าได้เร็ว ขึ้น

และโชคดีที่นายห้างจิมได้ที่ดินมาปลูกสร้างบ้านอยู่อีกฟากของคลองมหา นาคตรงข้ามชุมชนบ้านครัวพอดิบพอดี ดังนั้นชาวบ้านครัวจึงได้มีโอกาสพบกับนายห้างซึ่งแวะเวียนมาดูการผลิตผ้าไหม ถึงที่อยู่บ่อยๆ ฉันเลยถามลุงอู๊ดว่าจิม ทอมป์สันในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ลุงอู๊ดเล่าว่า "เขาก็แวะมาดูการทอผ้าไหมบ่อยๆ ก็เป็นคนอัธยาศัยดี อารมณ์ดี คนบ้านครัวก็รักนายห้างจิม เพราะเป็นคนที่ทำให้ชาวบ้านมีงานทำ ทำให้คนมีเงินขึ้นมา และทำให้เศรษฐกิจแถวนี้ดีขึ้นเยอะเลย"

ลุงอู๊ดเล่าต่อว่า "แต่อยู่มาซัก 20-30 ปี นายห้างจิมก็หายตัวไป เขาว่าไปราชการที่มาเลเซีย ตั้งแต่นั้นทางบริษัทเขาก็ไม่รับผ้าจากของทางบ้านครัวแล้ว เขาก็ไปสร้างโรงงานของเขาเอง ทางบ้านครัวก็เลยต้องเลิกเพราะเมื่อทอผ้าไปแล้วก็ไม่มีตลาดให้ขาย ก็ค่อยๆ เลิกทีละสามบ้านสี่บ้าน เลิกๆๆ จนหมด" จนปัจจุบันนี้ก็เหลืออยู่แค่สองบ้านเท่านั้นที่ยังคงทอผ้าอยู่ คือที่บ้านลุงอู๊ดกับบ้านอีกหลังหนึ่งที่อยู่ติดกัน แต่สำหรับบ้านลุงอู๊ดนั้นจะทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ย้อมสี ไปจนถึงทอออกมาเป็นผืน แต่เส้นไหมนั้นรับซื้อมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งจากประเทศจีนและเวียดนามด้วย ส่วนเหตุที่ลุงอู๊ดยังคงทำอาชีพทอผ้าไหมอยู่มาจนถึงตอนนี้ก็เพราะมีความ รู้สึกว่า อยู่กับไหมมาชั่วชีวิตแล้ว และมีความรู้ในเรื่องผ้าไหมดี ก็เลยคิดว่าจะทำต่อไป

คุยกับคุณลุงมาพอหอมปากหอมคอแล้ว ฉันก็เริ่มลุกเดินชมรอบๆ บ้านซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์ในการทอผ้า ลุงอู๊ดอธิบายขั้นตอนที่เส้นไหมจะถูกทอออกมาเป็นผืนให้ฉันฟังว่า ในขั้นแรกจะต้องฟอกไหม หรือนำเส้นไหมดิบมาต้มเพื่อเอากาวออกเสียก่อน จากนั้นจึงย้อมสี และต้มอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงให้สีติดทน แล้วจึงล้างและกระทบไหมให้เส้นไหมไม่พันกัน จากนั้นนำไปตากให้แห้ง แล้วนำมากรอเข้าใส่หลอดด้าย แล้วก็นำไปทอเป็นผืนด้วยเเรงงานคนจนได้ออกมาเป็นผืนผ้าไหมสวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่ชอบงานแฮนด์เมด

ผ้าไหมของลุงอู๊ดนั้นเป็นที่รู้จักไปถึงต่างประเทศเลยทีเดียวเชียว เพราะหลังจากที่ทางราชการเข้ามาส่งเสริมเรื่องโอทอป (OTOP) หรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมของลุงก็ได้ไปออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ และมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศถ่ายทอดเรื่องราวกลับไป ทำให้ที่บ้านลุงอู๊ดมีคนมาเยี่ยมชมบ่อยๆ รวมทั้งก็มีนักท่องเที่ยวที่ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์บ้านไทยจิม ทอมป์สันแล้วก็อยากเห็นแหล่งทอผ้าไหมของจิม ทอมป์สันขึ้นมา ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะแนะนำให้มาชมที่นี่

ไม่ น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าในกรุงเทพมหานครนี้จะยังมีชุมชนเล็กๆ ที่ทอผ้าไหมเป็นอาชีพ แถมยังทอกันมายาวนานเป็นร้อยๆ ปีมาแล้วอีกด้วย แม้ในตอนนี้จะเหลืออยู่เพียงสองบ้านเท่านั้นที่ยังคงมีภาพนี้ให้เห็น แต่ก็นับว่าเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมขั้นตอนการผลิตผ้าไหม รวมทั้งเลือกซื้อผ้าไหมของชาวชุมชนบ้านครัวเหนือได้ที่ ลุงอู๊ดบ้านครัวไหมไทยได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ที่ 847/1 สุดซอยเกษมสันต์ 3 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2215-9864

การเดินทาง ให้เข้ามาทางซอยเกษมสันต์ 3 ซึ่งอยู่ตรงข้ามศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สาขาสนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อเดินเข้ามาจนสุดซอยจะเจอสะพานข้ามคลองมหานาค เมื่อข้ามสะพานมาแล้วให้เดินมาทางซ้ายมือมาอีกประมาณ 100 เมตร จะเจอลุงอู๊ดบ้านครัวไหมไทยอยู่ในซอยทางขวามือ

เพลิดเพลินตาไปกับหมู่ปลาสวยงาม ใน ม.เกษตร



ถ้าหากสยามโอเชี่ยนเวิลด์ คือแหล่งจำลองของโลกใต้ท้องทะเลแล้วล่ะก็ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็คงไม่แคล้วเป็นโลกใต้น้ำของสัตว์น้ำจืดเป็นแน่ ที่ฉันเปรียบแบบนี้คงไม่ผิดนักเพราะในความรู้สึกของฉันคิดเช่นนี้จริง ๆ

นับว่าเป็นโชคดีที่ฉันมาส่งญาติผู้น้องที่เพิ่งก้าวเข้ามาเป็นน้อง ใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้เข้าเยี่ยมชม "สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ"ซึ่งตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัย ทันทีที่มาถึงก็แทบอดใจไม่ไหว อยากจะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศข้างใน
เมื่อมองดูจากภายนอกแล้วบางทีฉันก็เผลอนึกไปเองว่าฉันมาถูกที่หรือ ว่าหลงมายืนอยู่หน้าอาคารเรียนของคณะใดคณะหนึ่ง กันแน่เพราะภายนอกดูไม่แตกต่างไปจากอาคารเรียนหลังอื่นๆในมหาวิทยาลัยแห่ง นี้เลย

ฉันกวาดสายตามองรอบนอกอยู่ชั่วขณะ จากนั้นจึงย่างสามขุมเข้าไปหน้าอาคารซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยบริการขายบัตรเข้า ชมอยู่ ราคาบัตรก็แสนถูกเพียงแค่ 20 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าคุ้มค่าคุ้มราคาไม่แพ้บัตรราคาเป็นร้อยแถวสยาม

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯแห่งนี้ ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2483 เดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวต่อมาในปีพ.ศ.2516ได้ทำการรื้อถอนและก่อสร้างขึ้น ใหม่ เป็นอาคาร3ชั้น ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและแคนาดา หลังจากนั้นได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2521 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นองประธานในพิธี ล่าสุดในปีพ.ศ.2546 พึ่งได้ทำการปรับปรุงในมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น

ที่นี่มีการจัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำจืดทั้งท้องถิ่นของไทย และปลาน้ำจืดต่างประเทศบางชนิดรวมแล้วกว่า 100ชนิด มาไว้ที่นี่ ทันทีที่ฉันเดินเข้าไปตู้แรกที่เจอหาใช่ปลาไม่แต่เป็น เจ้า"เต่าบิน"ที่ มันมีหน้าที่คอยทำความสะอาดคราบขาวและคราบตะไคร่ต่างๆ ที่เกาะอยู่ภายในตู้ปลาต่างหากชมความน่ารักของเจ้าเต่าบินแล้วพอปลายตามองมา ยังตรงหน้าฉันก็เจอตู้ปลาขนาดใหญ่ที่เขียนบอกชนิดของปลาที่อยู่ในตู้ว่า เทพา เทโพ สวาย ด้วยความเขลาฉันไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวไหนเป็นพันธุ์อะไรจึงต้องคอยอาศัยคู่ มือชมปลาที่ทางเจ้าหน้าแจกให้

ถึงได้รู้ว่าเจ้าปลาที่มีลักษณะลำตัวป้อมสั้น แต่ตัวโตมีครีบก้นยื่นออกมาเป็นเส้นยาวเรียวมีสีเทาอมน้ำตาลท้องมีสีจางอม ชมพูมันคือ"ปลาเทโพ"ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในท้องน้ำลุ่มแม่ น้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มแม่น้ำโขงนั่นเอง เมื่อเดินมายังตู้ปลาใบถัดมาก็สร้างความฉงนให้เกิดขึ้นในใจฉันเป็นที่สุด เพราะตู้ใบนี้ไม่มีปลาอาศัยอยู่เลยแม้แต่ตัวเดียวแต่กลับมีพรรณไม้น้ำเต็มไป หมดจึงกระซิบถามเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวกอยู่ใกล้ๆว่าเขามีต้นไม้น้ำ ไว้ทำไหม

เจ้าหน้าที่จึงช่วยไขข้อสงสัยของฉันให้กระจ่างว่า พรรณไม้น้ำบรรดาคนนิยมเลี้ยงปลาจะปลูกไว้เพื่อประดับเสริมความสวยงามให้แก่ ตู้ปลา แล้วมันยังเพิ่มชีวิตชีวาให้ตู้ปลาดูเป็นธรรมชาติมายิ่งขึ้นอีกด้วย ฉันจึงค่อย ๆ ไล่เรียงดูทีละชื่อพร้อม ๆ กับศึกษาคู่มือที่ได้มาควบคู่กันไปด้วย อย่าง"ต้นหลิวน้ำ"ที่เป็นพรรณไม้น้ำพื้นเมืองของไทยมีสีเขียวอ่อนสดใส

หรือจะเป็น"หญ้าหัวหงอก"ที่ ฉันเคยพบเห็นอยู่ตามทุ่งนาบ้านฉัน ก็พึ่งรู้คราวนี้แหละว่าสามารถปรับตัวให้อยู่ใต้น้ำได้ดีที่เรียกกันว่าหญ้า หัวหงอกคงเพราะว่าบริเวณยอดจะมีสีเขียวอ่อนๆจนเกือบขาวอันนี้ก็อีกฉันไม่ยัก กะรู้ว่าเขานิยมนำมาไว้ประดับตู้ปลากันตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็แถวบ้านฉันยังเคยนำมาแกงกินเลยนั่นก็คือ"ผักกูดนา"หรือ อีกชื่อหนึ่งผักกูดเขากวางเป็นเฟิร์นน้ำชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่บริเวณที่น้ำ ท่วมถึงต้นที่งอกพ้นน้ำจะมีลำต้นตรงใบแตกกิ่งคล้ายเขากวาง ส่วนต้นที่อยู่ใต้ผิวน้ำจะอ่อนกว่าและใบแผ่ออกนิ่มบาง

ฉันเดินมุ่งหน้าต่อไปยังตู้ปลาอื่นอื่นอีกหลายตู้แวะทักทายเจ้าปลา น้อยใหญ่หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นปลาม้า ปลากาดำ ปลาชะโอน และเจ้าปลายี่สกที่อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ก่อนจะเดินขึ้นไปบนชั้น2 ฉันสะดุดกับความน่ารักของเจ้าปลาเสือตอลายใหญ่ ที่ตัวแบนๆ ลำตัวมีสีเหลืองอมน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้มก้านครีบอ่อนมีแถบบั้งสีดำพาดห้าแถบ แต่ก่อนพบมากในเขตแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก และบึงบอระเพ็ดที่บอกว่าแต่ก่อนพบมากเป็นเพราะเดี๋ยวนี้มันใกล้จะสูญพันธุ์ เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว

ใกล้ๆกับบันไดทางขึ้นชั้น2 ฉันสังเกตเห็นมุมที่มีตู้ปลาขนาดเล็กตั้งเรียงรายอยู่หลายใบครั้นพอเดินเข้า ไปใกล้ๆ จึงได้เห็นชัดว่าเป็นอาณาเขตของปูตัวน้อยที่เดินโต๋เต๋ไปมาอยู่ในตู้ มีทั้ง "ปูเจ้าฟ้า"และ"ปูราชินี" ที่จัดเป็นสัตว์น้ำสงวนและคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535ซึ่งหาดูได้ยากก็สามารถชมกันได้ที่นี่

แทบอดใจไม่ไหวเมื่อคิดว่าข้างบนนั้น จะต้องมีพันธุ์ปลานานาชนิดแหวกว่ายรอคอยการมาเยี่ยมของฉันอยู่ และก็จริงดังคาดเพียงแค่บันไดทางขึ้นก็แฝงสาระไว้ให้ฉันได้ประเทืองปัญญา ด้วยการทำแผนภูมิแสดงวิวัฒนาการของปลาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ไว้อย่างชัดเจนเป็น ขั้นเป็นตอน

เมื่อก้าวขึ้นมาถึงบริเวณชั้น 2 สัตว์ชนิดแรกที่ฉันได้พบก็คือเต่าที่โดนสตาฟฟ์ไว้หลากหลายชนิดมีทั้งเต่าลาย ตีนเป็ด เต่ากระวาน เต่าเหลือง เต่าหับ ที่ตั้งนิ่งไม่ไหวติงชั้นบนนี้ก็ยังมีตู้ปลาหลากหลายชนิดให้ชมกันอย่างเพลิน ตาทั้ง ปลาสังกะวาดที่มีลำตัวแบนแต่โดดเด่นด้วยหนวดถึง 3 คู่ หรือจะเป็นปลาหมอช้างเหยียบปลาตัวเล็กที่มีจะงอยปากสั้นทู่แต่ครีบหลังยาว ก้านครีบแข็ง

เปลี่ยนตู้มาเจอะกับ"ปลาช่อนงูเห่า"ดู บ้าง เพียงแค่ฟังชื่อก็สร้างความหวาดหวั่นแล้วแต่เจ้านี่ไม่ได้ดุร้ายมีพิษสง เหมือนงูจริง ๆ หรอกที่เรียกว่าปลาช่อนงูเห่าก็เพราะความที่ลำตัวมันเรียกยาวกว่าปลาช่อน ทั่วไปตัวมีสีเขียวมะกอกอมเทาและแต้มประสีคล้ำ ความพิเศษของมันคือพบได้ไม่บ่อยนักในปัจจุบัน

นอกจากปลาเป็นๆที่แหวกว่ายลอยไปมาอยู่ในตู้แล้วก็ยังมีโครงกระดูกของปลาขนาด ใหญ่อย่างปลากระโห้ที่ มีความยาวถึง145 เซนติเมตรหนักถึง 80.5กิโลกรัม ซึ่งจับได้จากแม่น้ำเจ้าพระยาเขตจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อประมาณ 50ปีที่แล้วตั้งไว้ให้ชมอีกด้วย

อีกตัวก็เป็นปลากระโห้กะมันต่าง จากตัวแรกตรงที่เป็นปลาที่ใช้ปูนปลาสเตอร์หล่อจากปลาตัวจริงตัวนี้จัดเป็น ความภาคภูมิใจของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่นี่เพราะได้รับพระราชทานมาจากพระ ตำหนักสวนจิตรลดาเมื่อเดือนธันวาคมปีพ.ศ.2541
ส่วนโครงกระดูกที่วางอยู่ในตู้ถัดไปเป็นโครงกระดูกของปลาบึกซึ่งจัด เป็นปลาไม่มีเกล็ดที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจับได้จากแม่น้ำโขงก็มีจัดแสดง ไว้รอคอยให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชมศึกษาร่างกายมัน

แม้จะเป็นครั้งแรกที่ฉันได้มาชมปลาที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งนี้ ก็ไม่ได้สร้างความผิดหวังให้ฉันเลยกลับสร้างความตื่นเต้นราวกับเด็กตัวเล็กๆ ที่ได้มองเห็นอะไรใหม่ๆที่แปลกตาเป็นโลกอีกใบ ที่มีมนต์สะกดให้ตราตรึงอยู่กับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่คอยแหวกว่ายรอให้ฉันมา ยลโฉมมันอย่างใจจดใจจ่อนอกจากจะได้รับความบันเทิงใจแล้วครั้งนี้ฉันยังพกพา ความรู้แบบปลาๆ กลับบ้านอีกด้วย

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯตั้งอยู่ใน บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใกล้ทางเข้า-ออกประตูพหลโยธิน2เปิดให้เข้าชม ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา10.00-16.00น. หยุดทุกวันจันทร์ อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก/นักเรียน นักศึกษา 10บาท สอบถามเพิ่มเติมโทร0-2940-6543,0-2562-0600 ต่อ5118,5222

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ท่อง“พาหุรัด”เที่ยวกระจาย สไตล์ “ลิตเติ้ล อินเดีย”




ถ้าเอ่ยถึงถนนสายผ้าหรือย่านรวมรวมผ้านานาชนิดในกรุงเทพฯ รวมถึงข้าวของอีกสารพัดอย่าง จากดินแดนภารตะ แน่นอนว่าคงจะไม่ทีที่ไหนโดดเด่นเกิน“พาหุรัด” เป็นแน่แท้ ซึ่งนี่ก็หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการออกมาตะลุยท่องในดินแดนลิตเติ้ลอินเดีย ครั้งนี้

แต่ว่าก่อนที่ฉันจะไปสำรวจตลาดพร้อมจับจ่ายสบายแฮร์ที่ย่านค้าผ้าที่ ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯนั้น ฉันต้องขอเล่าถึงความเป็นมาของถนนพาหุรัดแบบคร่าวๆพอหอมปากหอมคอกันก่อน

เดิมถนนพาหุรัดก่อนที่จะมาเป็นย่านลิตเติ้ลอินเดียดังเช่นในปัจจุบัน พาหุรัดเป็นที่ดินส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงองค์น้อย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ แต่พระราชธิดาได้สิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 10 ชันษา พระมารดาจึงได้นำทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชธิดามาสร้างเป็นถนน และพระราชทานนามว่า “ถนนพาหุรัด” เพื่อเป็นอนุสรณ์และอุทิศเป็นส่วนกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย

ถนนพาหุรัดจึงได้ถือกำเนิดขึ้นนับแต่นั้นมา ซึ่งถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว และด้วยความที่ย่านนี้มีสินค้าที่มีให้เลือกสรรอย่างมากมายและหลากหลายทั้ง ผ้าตัด อุปกรณ์ตัดเย็บ รวมไปถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปสารพัดชาติ ทั้งชุดไทย ชุดจีน โดยเฉพาะส่าหรีที่มีขายแทบจะทุกหย่อมในพาหุรัดเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้พาหุรัดยังมีชุมชนเล็กๆที่ยังคงดำเนินวิถีแบบภารตะอยู่ จนทำให้หลายๆคน ขนานนามย่านพาหุรัด ว่าเป็น “ลิตเติ้ล อินเดีย”เมืองไทย

ส่วนแขกโพกผ้าที่อาศัยและทำมาค้าขายกันที่ย่านพาหุรัด ไม่ใช่แขกฮินดู หากแต่เป็นแขกซิกข์ ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในย่านพาหุรัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พาหุรัดจึงมีวัดซิกข์แห่งแรกของไทย หรือ“คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา”(วัดซิกข์)ที่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางความ จอแจพลุกพล่าน

วัดซิกข์แห่งนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชุมชนที่นี่ เป็นศูนย์กลางของการประกอบศาสนกิจ ชุมนุมเจริญธรรม เป็นสถานที่ประกอบพิธีมงคลสมรสต่อหน้าพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ และงานเฉลิมฉลองวันสำคัญทางศาสนา

คำว่า “ซิกข์” เป็นภาษาปัญจาบี มาจากคำว่า “สิกข์” หรือ “สิกขา” ใน ภาษาบาลีและตรงกับคำว่า ศิษย์ ซึ่งแปลว่า ผู้ศึกษาโดยถือว่าผู้ที่นับถือศาสนาซิกข์ทุกคนเป็นศิษย์ของคุรุ หรือ ครู คำว่า คุรุ เป็นคำเรียกพระศาสดาของชาวซิกข์

ส่วนการตั้งหลักแหล่งของชาวซิกข์นั้น มักจะตั้งบ้านเรือนใกล้เคียงกันเป็นกลุ่ม และมักจะตั้งอยู่โดยรอบศาสนาสถานหรือวัดของตน ซึ่งชาวซิกข์เรียกว่า “คุรุดวารา” (หมายถึงประตูที่ทอดไปสู่พระศาสดา) เนื่องจากวัดของชาวซิกข์มีบทบาทอย่างสูงต่อชุมชน ทั้งทางกิจกรรมสังคมและเศรษฐกิจ

ฉันเดินขึ้นไปยังชั้น 4 ของวัดแห่งนี้ เพื่อสักการะพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ ซึ่งผู้ดูแลได้แนะนำให้ฉันก้มลงกราบที่พื้น 1 ครั้ง แล้วเดินวนรอบที่ประทับพระคัมภีร์ ก่อนจะรับอาหารของพระเจ้าที่ผู้ดูแลหยิบยืนให้

ด้วยความที่ฉันไม่ใช่ผู้ที่นับถือซิกข์ ไม่ได้มีลักษณะเป็นแขกแม้แต่ประการเดียว และก็เข้าไปด้วยความเก้ๆกังๆ แต่ทุกคนที่วัดซิกข์แห่งนี้ กลับแนะนำและต้อนรับฉันอย่างเป็นกันเองมากไปด้วยอัธยาศัยไมตรี ทำให้ความเกร็งของฉันหายไปโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะไม่ค่อยเข้าใจความหมายในการสักการะและพิธีกรรมของซิกข์เท่าไรนัก แต่ฉันก็กลับออกมาด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอิบใจในมิตรไมตรีที่ได้รับ

หลังเข้าวัดไหว้สักการะพระมหาคัมภีร์เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อไปก็เป็นเวลาของการออกเดินสำรวจตลาดพาหุรัดแหล่งขายผ้าอันเลื่องชื่อ

ตามตรอกซอกซอยในย่านนี้ไม่ว่าจะเหลียวซ้ายแลขวาไปทางไหน ก็เห็นแต่ผ้า ผ้า ผ้า และก็ผ้าเต็มไปหมด ทั้งผ้าตัด และเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงอุปกรณ์การตัดเย็บ ทั้งเข็ม ด้าย กระดุมหลากหลายสารพัดรูปแบบ อีกทั้งยังมีเครื่องแต่งตัวหลากสไตล์ตั้งแต่หัวจรดเท้าอย่างที่หลายๆคนรู้ กัน นอกจากนี้แล้วที่เห็นจะเยอะไม่แพ้กันก็คงจะเป็นร้านขายของชำร่วยและชุดแต่ง งาน ที่ถือได้ว่าพาหุรัดเป็นอีกแหล่งซื้อหาของวันวิวาห์สำหรับคู่บ่าวสาวเลยก็ ว่าได้

เดินต่อมาเรื่อยๆ ฉันก็มาหยุดอยู่หน้าที่ว่างเปล่าขนาดใหญ่ ที่แต่เดิมตรงนี้คือห้าง ATM แหล่ง รวมผ้าที่ขึ้นชื่อที่สุดในย่านลิตเติ้ลอินเดีย แต่หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ไปเมื่อหลายปีก่อนทำให้ห้าง ATM กลายเป็นเพียงตำนานแห่งความทรงจำเท่านั้น

ข้างๆห้างATMเก่าจะมีซอยเล็กๆที่สามารถเดินทะลุวนไปยังวัดซิกข์ได้ แต่ถึงจะเป็นซอยเล็กๆแต่ก็ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายสไตล์อินเดียที่ออกแนวขรึม ขลังนิดๆ ในซอยนี้มีร้าน “เฟริส์ ช๊อพ” (ร้านเจย์ดี) ที่ขายกำยานและธูปหอม ที่นำเข้าจากอินเดีย

เจ้าของร้านบอกกับฉันว่า กำยานจะต่างจากธูปตรงที่กำยานจะไม่มีก้าน มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมสีออกดำๆ และให้กลิ่นที่ฉุนกว่าธูป มีทั้งแบบเปียกและแห้ง รวมทั้งมีกลิ่นหลากหลายให้เลือกตามความชอบของแต่ละคน เช่น กลิ่นดอกไม้ ดอกมะลิ กุหลาบ จำปี กลิ่นผลไม้ กลิ่นสมุนไพร ชาวแขกจะนิยมนำไปใช้เพื่อบูชาเทพเจ้า โดยเชื่อว่าจะจุดกำยานก่อนเพื่อไล่สิ่งที่ไม่ดี แล้วจึงจุดธูปเพื่อบูชาเทพเจ้าต่อไป

ถัดจากร้านเจย์ดีเป็นร้าน “ซันนี่ วิดีโอ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นร้านขายดีวีดี วีซีดีทั้งหนัง ละคร และเพลงอินเดียที่อัพเดทที่สุดไม่ว่าจะเป็นหนังรัก หนังตลก หนังแอ็คชั่น หรือหนังแนวไหนๆ ซึ่งเมื่อฉายในอินเดียแล้ว หนังเหล่าจะถูกนำลงแผ่นอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ใครที่ชอบหนังและเพลงอินเดียสามารถมาเลือกซื้อเลือกหากันได้ตามใจชอบ

ไม่ไกลจากร้านซันนี่มีโต๊ะตั้งขายหมากหวานอยู่ หรือที่คนแถวนี้รู้จักกันในนาม “ร้านอ้วนหมากหวาน” ถ้า มองผ่านๆก็เหมือนหมากบ้านฉัน ที่ปู่ย่าตาทวดเคี้ยวกันปากแดงทั้งวี่ทั้งวัน แต่หมากหวานนี้จะต่างกันตรงที่มีเครื่องเยอะกว่า และมีรสหวานของมะพร้าวหรือกุหลาบเชื่อม

สำหรับวิธีทำหมากหวานนั้นก็จะคล้ายๆกับหมากบ้านเรา คือ นำใบพลูมาทาปูนกินหมาก แต่ทาเพียงแค่ป้ายนิดเดียวเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นปูนจะกัดปากเอาได้ พอป้ายปูนเสร็จแล้วก็ให้ใส่กุหลาบเชื่อม เม็ดสีๆเล็กๆคล้ายลูกกวาด แต่มีรสซ่า ตามด้วย น้ำผึ้ง เม็ดสมุนไพร มะพร้าวแห้งคั่วเนย กานพลู ก็เป็นอันเสร็จสรรพได้หมากหวานรสถึงใจมาเคี้ยวกร้วมๆกันอย่างเพลินปาก

ปัจจุบันคนอินเดียและคนเนปาลในย่านแห่งนี้จะไม่ค่อยนิยมหมากหวานแบบ สดๆนี้แล้ว แต่จะนิยมแบบซองสำเร็จรูปแทนซึ่งจะมีหลากหลายรสชาติให้เลือก ส่วนหมากหวานแบบสดๆจะนิยมใช้ถวายบูชาเทพเจ้า หรือใช้ในงานพิธีต่างๆมากกว่า หากใครสนใจละก็ลองซื้อสักคำมาลิ้มลองกันได้ ราคาไม่แพงแค่คำละ 3 บาทเท่านั้นเอง

ฉันเดินไปเคี้ยวหมากหวานไป ก่อนจะไปหยุดยังร้าน“ไซโก้”ที่ เต็มไปด้วยเทวรูปมากมาย เจ้าของร้านหญิงไทยเชื้อจีนแต่ใจภารตะบอกกับฉันว่า เทวรูปทั้งหมดมีทั้งทำในไทยและนำเข้ามาจากอินเดีย อาทิ พระแม่อุมาประทับสิงโต พระศิวะ พระพิฆเณศ และอีกหลายรูปเคารพในหลายอิริยาบท ส่วนลูกค้าที่มาซื้อก็มีหลายเชื้อชาติทั้งแขก จีน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั้งพี่ไทยเราก็ศรัทธาในเทวรูปกันเยอะเช่นกัน

เดินเที่ยวลิตเติ้ลอินเดียมาหลายร้านแล้ว อาการหิวถามหา ฉันจึงเลือกปิดท้ายทริปด้วยการไปร้านอาหารแขกในย่านนั้นเติมพลังปิดท้ายทริป ก่อนอำลาจากย่านหาหุรัด ย่านที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศแบบภารตะสมดังฉายา ลิตเติ้ลอินเดียเมืองไทย

ลิตเติ้ลอินเดีย หรือ พาหุรัด ตั้งอยู่บนถ.พาหุรัด และถ.จักรเพชร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตรงข้ามกับห้างดิโอลด์สยาม และห้างเซ็นทรัล วังบูรพา

การ เข้าสักการะพระมหาคัมภีร์และชมวัดซิกข์นั้น บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ โดยต้องแต่งกายสุภาพ ถอดรองเท้า และสำหรับผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมผมด้วย ซึ่งผ้าคลุมผมทางวัดมีจัดเตรียมไว้ให้

บ้านหม่อมคึกฤทธิ์


ถ้าฉันพูดถึง "บ้านซอยสวนพลู" คนที่ได้ยินอาจจะนึกไม่ออกว่าซอยนี้อยู่ตรงส่วนไหนของกรุงเทพฯ แต่ถ้าถามว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของใคร ฉันว่าน่าจะมีหลายคนที่ตอบได้ถูกต้องว่า หมายถึงบ้านของศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และอีกหลายตำแหน่งที่ประชาชนต่างมอบให้ท่านด้วยความยกย่อง ซึ่งนับได้ว่า มรว.คึกฤทธิ์ เป็นหนึ่งในยอดปูชนียบุคคลแดนสยามที่ฝากผลงานไว้ให้ผู้คนประจักษ์มากมาย

แม้ว่าท่านจะล่วงลับไปนานกว่าสิบปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีผู้ที่ระลึกถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ที่ท่านได้ทำไว้เมื่อยังมีชีวิต และเนื่องในวันที่ 20 เมษายนนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ มรว.คึกฤทธิ์ ฉันจึงถือโอกาสพาเที่ยว พร้อมกับระลึกถึงท่านไปพร้อมๆ กันที่ "บ้าน มรว.คึกฤทธิ์" ในซอยสวนพลู ย่านสาทรแห่งนี้

สำหรับบ้าน มรว.คึกฤทธิ์ที่ฉันมาเยี่ยมเยือนในวันนี้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประเภทบ้านบุคคลสำคัญ ซึ่งยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมเหมือนเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ บรรยากาศภายในรั้วบ้านเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ไทยๆ หลากหลายชนิด ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ประดับ ฯลฯ ทำให้บรรยากาศร่มรื่นน่าสบาย

ฉันซื้อบัตรเข้าชมราคา 50 บาท จากเจ้าหน้าที่ซึ่งถามฉันว่า ต้องการเดินชมเองหรืออยากจะให้มีคนเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับบ้าน มรว.คึกฤทธิ์ระหว่างชมไปด้วย แน่นอนว่าฉันย่อมเลือกอย่างหลัง

เจ้าหน้าที่แนะนำให้ฉันกราบทำความเคารพรูปของ มรว.คึกฤทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก่อนจะเริ่มอธิบายถึงสถานที่ที่ฉันกำลังนั่งอยู่นี้ว่า ตรงส่วนนี้เรียกว่า "ศาลาไทย" เป็นศาลาซึ่งตั้งใจสร้างไว้เพื่อใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์ในการจัดกิจกรรม ต่างๆ ของเจ้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญเลี้ยงพระ งานไหว้ครูโขนละคร และงานเลี้ยงต่างๆ โดยรูปแบบของศาลาไทยนี้ได้มาจากศาลาใหญ่หน้าพระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหาร

นอกจากนั้นบนศาลาไทยยังมีตู้ใส่หัวโขนสองตู้ที่ตั้งอยู่บนยกพื้นภาย ในศาลา หลายคนคงจะทราบกันอยู่แล้วว่า มรว.คึกฤทธิ์นั้น เป็นผู้ก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ขึ้น โดยตั้งใจจะให้เยาวชนไทยเข้าใจวัฒนธรรมไทยผ่านสื่อนาฏศิลป์ โดยตัวท่านเองได้หัดโขนละครมาตั้งแต่เด็ก อย่างที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า "เรื่อง เล่นโขนนี้ในวังมีโรงหัดโขนในสมัยรัชกาลที่ 6 เราเป็นเด็กเข้าไปวิ่งเล่นอยู่ในวังเกือบทุกวัน ท่านขุนณัฐกานต์ท่านนึกยังไงของท่านจำไม่ได้เสียแล้ว มาจับไปหัดโขนให้..."


ดังนั้นหัวโขนที่อยู่ในตู้นี้จึงถือเป็นของรักของหวงของ มรว.คึกฤทธิ์ นอกจากนั้นหัวโขนเหล่านี้ต่างก็เคยใช้ในการแสดงโขนจริงมาแล้ว และบางหัวเป็นฝีมือของครูชิด แก้วดวงใหญ่ ซึ่งเป็นครูประดิษฐ์หัวโขนที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกด้วย

ภายในศาลาไทยยังมีตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำปิดทองอยู่สองใบ ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 180 ปี เพราะทำขึ้นเมื่อต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ตู้หนึ่งในสองใบนี้ค่อนข้างจะพิเศษตรงที่เป็นฝีมือของถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ซึ่งได้นำตู้ที่ลวดลายเลอะเลือนไปหมดแล้วใบนี้มาเขียนขึ้นใหม่ นอกจากนั้นด้านข้างศาลาไทยยังมีเก๋งจีนซึ่งมีรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้ากวนอู ซึ่งเป็นของที่ระลึกของเติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของประเทศจีนอีกด้วย

จากศาลาไทย ฉันผ่านสวนหย่อมเล็กๆ เรียกว่าสวนเขมร ที่ตกแต่งด้วยโบราณวัตถุทั้งของจริงและของจำลอง ไม่ว่าจะเป็นศิวลึงค์ หรือนางอัปสรพ่นน้ำ กำแพงศิลาแลง และทับหลังต่างๆ โดยจะเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งก็ย่อมได้

จากนั้นจึงเข้าสู่ส่วนของเรือนไทย เจ้าหน้าที่เล่าให้ฉันฟังถึงความใฝ่ฝันของ มรว.คึกฤทธิ์ที่จะมีบ้านเรือนไทย ตามที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า "เพราะรักเรือนไทยมานานแสนนาน เนื่องจากเห็นความสวยงาม อยากอยู่อย่างไทย มีนอกชานเล่น…" ดังนั้น มรว.คึกฤทธิ์จึงได้ซื้อที่ดิน 5 ไร่ในซอยสวนพลู และได้ซื้อเรือนไทยเก่าจากบริเวณเสาชิงช้า และเรือนไทยภาคกลางอีกสองหลังจากอำเภอผักไห่ มาปลูกบนที่ดินในซอยสวนพลูตามแบบที่ท่านฝันไว้

สำหรับช่างที่มาปลูกสร้างบ้านนั้น ก็ได้ช่างจากอำเภอผักไห่ที่มีความผูกพันกับราชสกุลปราโมช เพราะบรรพบุรุษเคยเป็นเลกฝีพายที่ทำงานอยู่กับบิดาของ มรว.คึกฤทธิ์มาก่อน ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน บ้านเรือนไทยในซอยสวนพลูนี้ก็สร้างเสร็จ และท่านได้ให้ทำพายมีลวดลายสีทองประดับไว้เหนือประตูของเรือนประธาน เพื่อเป็นการ “เซ็นชื่อ” หรือทำสัญลักษณ์แทนตัวผู้สร้างไว้ด้วย

เรือนไทยหลังนี้ เรียกว่าเป็นหมู่เรือนไทย เพราะประกอบด้วยเรือนไม้ขนาดต่างๆ กัน 5 หลัง และมีนอกชานเชื่อมถึงกันโดยตลอด เรือนประธานของหมู่เรือนไทยนี้เรียกกันว่า "เรือนคุณย่า" ชื่อนี้มีที่มาออกจะน่าขนลุกเล็กน้อย คือมีคนขับรถสามล้อมาถาม มรว.คึกฤทธิ์ถึงที่บ้าน เพราะมีผู้หญิงแก่คนหนึ่งเรียกสามล้อจากเสาชิงช้ามายังบ้านในซอยสวนพลูหลัง นี้หลายครั้งแล้ว เมื่อมาถึงก็ไม่ยอมจ่ายค่ารถ เดินหายเข้าไปในบ้านของท่าน แรกๆ ก็ไม่กล้าทวงเพราะเห็นว่ามาบ้านของนักการเมืองใหญ่ แต่เมื่อหลายครั้งเข้าจึงมาถามดู

มรว.คึกฤทธิ์ จึงเรียกคนในบ้านมาถามว่ามีใครเห็นหญิงแก่คนนั้นบ้าง ก็ไม่มีใครเห็น จึงไปสอบถามกับทางเจ้าของบ้านเก่าที่เสาชิงช้าจึงได้ความว่า เจ้าของบ้านเดิมซึ่งเป็นหญิงชรารักบ้านหลังนี้มาก จึงตั้งใจว่าไม่ว่าบ้านหลังนี้จะเป็นของใคร ก็จะตามมาอยู่ด้วย มรว.คึกฤทธิ์จึงจุดธูปเชิญให้หญิงชรามาอยู่ที่บ้านหลังนี้ด้วยกัน และเรียกชื่อว่าเรือนคุณย่า ซึ่งจัดเป็นห้องรับแขกสำคัญๆ รวมทั้งมีข้าวของมีค่าหลายอย่าง เช่น เตียงเท้าสิงห์ลงรักปิดทองประดับกระจกสี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระแท่นทรงงานของรัชกาลที่ 2 รวมทั้งตู้หุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี อิเหนา และตู้เครื่องถมทองมีค่าต่างๆ มากมาย


ด้านข้างของเรือนคุณย่าทางขวามือติดบันไดคือหอพระ ส่วนอีกด้านหนึ่งเรียกหอขวาง เป็นที่นั่งเล่นส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ตกแต่งด้วยเครื่องปั้นดินเผาศิลปะบ้านเชียง และเครื่องสังคโลก ส่วนเรือนขนาดกลางอีกสองหลังนั้นคือเรือนนอน ซึ่งแบ่งเป็นสามส่วนด้วยกันคือห้องพระ เตียงนอน และห้องแต่งตัว ในเรือนนอนนี้มีของสำคัญคือตลับงาช้างขนาดต่างๆ นับสิบตลับวางอยู่ในตู้ ตลับงาช้างเหล่านี้เป็นของที่ "เล่น" หรือสะสมกันมากในสมัยรัชกาลที่ 5

ฝั่งตรงข้ามกับเรือนนอนคือส่วนของห้องทำงาน แบ่งเป็นห้องเล็กและห้องใหญ่ ด้านในเต็มไปด้วยหนังสือหนังหามากมายทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ มีโต๊ะหนังสือขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายใน แต่สถานที่ทำงานของท่านส่วนใหญ่จะอยู่ที่โต๊ะไม้ใต้ถุนบ้านเสียมากกว่า

พูดถึงใต้ถุนบ้านแล้วก็ลงมาดูกันเสียหน่อยดีกว่า บ้านหลังนี้ก็มีใต้ถุนตามแบบมาตรฐานเรือนไทยทั่วไป ใต้ถุนไม่สูงมากนัก ปูพื้นด้วยแผ่นกระเบื้องเพื่อไม่ให้เฉอะแฉะเมื่อฝนตก รวมทั้งยังทำให้มีพื้นที่มากขึ้นด้วย เพราะใต้ถุนบ้านนี้ได้จัดเป็นส่วนของโต๊ะกินข้าว เป็นโต๊ะไม้ยาว เจ้าหน้าที่บอกฉันว่า ครัวที่นี่จะต้องจัดอาหารไว้ให้พอสำหรับ 8-10 คนทุกวัน เพราะ มรว.คึกฤทธิ์ มักจะมีแขกมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ท่านจึงปฏิบัติตามคำกล่าวที่ว่า "ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ"

ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าบ้านหลังนี้จะสร้างเป็นบ้านเรือนไทย แต่ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาไว้ด้วย เช่นการติดเครื่องปรับอากาศในห้องทำงานโดยไม่ทำให้เสียบรรยากาศเรือนไทย หรือห้องน้ำที่มีสุขภัณฑ์สมัยใหม่ครบถ้วน และที่ฉันทึ่งก็คือ เรือนไทยแห่งนี้มีแม้กระทั่งลิฟท์ ที่ติดตั้งไว้เมื่อคราวที่เจ้าของบ้านมีอายุมากขึ้น ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถขึ้นลงบันไดได้สะดวกอย่างแต่ก่อน

แม้จะบ้านในซอยสวนพลูนี้จะตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง แต่ด้วยความที่สถานที่ตั้งของบ้านอยู่ลึกเข้ามาในซอย ทำให้เสียงรบกวนจากรถราต่างๆ เข้ามาไม่ถึง บ้านเรือนไทยหลังนี้จึงยังสงบร่มรื่นได้อย่างแท้จริง และแม้ฉันจะไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน แต่ก็บอกได้ว่าบ้านหลังนี้คงจะทำให้ผู้อาศัยเกิดความสุขได้ไม่น้อยเลยที เดียว

บ้านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ หรือที่หลายคนติดปากว่าบ้านซอยสวนพลูนั้น เป็นสถานที่ที่เคยต้อนรับผู้คนมากมายที่ตั้งใจจะมาพบปะพูดคุยกับเจ้าของบ้าน แม้เมื่อประมุขของบ้านจะจากไปแล้ว แต่บ้านหลังนี้ก็ยังคงอยู่เพื่อต้อนรับทุกท่านที่ยังคงนึกถึงและเคารพเจ้า ของบ้าน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตลอดไป

บ้าน มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งอยู่ที่ 19 ซอยพระพินิจ ถนนสาทรใต้ กทม. 10120 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะเปิดให้ชมในเวลา 10.00-17.00 น. เสียค่าเข้าชมคนละ 50 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบคนละ 20 บาท ผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นกลุ่มในวันอื่น โปรดติดต่อและนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ติดต่อสอบถามโทร.0-2679-3630

การเดินทาง สามารถเข้าได้ทั้งทางถนนสาทรใต้ โดยเข้าทางซอยสาทร 3 แล้วเลี้ยวขวาแรก เข้าซอยพระพินิจ หรือเข้ามาทางถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 7 ในวันหยุดราชการสามารถจอดรถได้ในซอยพระพินิจ และถนนนราธิวาสฯ

ถนนสาทรใต้มีรถประจำทางสาย 17, 116, 149 และ ปอ.173 ผ่าน ซอยสาทร 3 มีรถประจำทางสาย 22, 62, 67, 89 ผ่าน และถนนนราธิวาสฯ มีรถประจำทางสาย 77 ผ่าน หรือสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีช่องนนทรีได้

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สวนสราญรมย์


หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งอันร้อนระอุไปแล้ว ฉันก็ยังไม่รู้แน่ว่าสถานการณ์การเมืองของบ้านเราในตอนนี้จะเป็นไปในทิศทาง ไหนกันแน่ แต่อย่างน้อยหนุ่มลูกทุ่งอย่างฉันก็ได้กลับบ้านนอกไปทำหน้าที่ของพลเมืองที่ ดีกับเขาด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะมีอะไรหลายๆ อย่างในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ดูแปลกประหลาดผิดธรรมดาไปบ้างก็ตาม

แต่ในเมื่อผ่านเรื่องการเมืองร้อนๆ ไปแล้วก็แล้วกันไป ฉันว่าเราไปหาที่เย็นๆ พักผ่อนเดินเล่นตามประสาคนชอบเที่ยวกันดีกว่า และวันนี้ฉันจะพาไปยัง "สวนสราญรมย์" สวนสาธารณะกลางเกาะเมืองรัตนโกสินทร์

สวนสราญรมย์แต่เดิมนั้น เรียกว่าเป็นพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งฉันคงต้องเท้าความต่อไปว่า พระราชวังสราญรมย์นั้นก็คือพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใกล้ๆ กับพระบรมมหาราชวัง โดยในตอนแรกนั้นพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะใช้วังนี้เป็นที่ประทับ และคอยแนะนำข้อราชการแผ่นดินต่างๆ หลังจากที่ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนพินิตประชานาถในขณะนั้น) แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่พระราชวังจะสร้างเสร็จ

พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อจนสำเร็จ และพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าน้องยาเธอก่อนที่จะออก วัง (การมีวังที่ประทับถาวร) รวมทั้งยังใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมืองจากต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนั้นในระหว่างปีพ.ศ.2428-2430 พระราชวังสราญรมย์แห่งนี้ก็ยังเคยเป็นที่ทำการของกระทรวงต่างประเทศ หรือที่ขณะนั้นยังเรียกชื่อว่าเป็น “ศาลาว่าการต่างประเทศ” โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ เป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ

ในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังคงใช้พระราชวังสราญรมย์ในประโยชน์ต่างๆ กัน เช่นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงใช้วังนี้เป็นที่ประทับแห่งหนึ่ง และโปรดฯ ให้ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะเช่นเดิม รวมทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นสถานที่จัดงานรื่นเริงต่างๆ อีกด้วย และในช่วงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชวังสราญรมย์ก็ได้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง และได้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมรวมทั้งซ่อมแซมตัวพระราชวัง จนเมื่อทางกระทรวงได้ย้ายที่ทำการไปยังถนนศรีอยุธยา พระราชวังสราญรมย์จึงได้เริ่มการซ่อมแซมใหญ่อีกครั้งจนปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2549 นี้เอง

ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องของสวนสราญรมย์กันบ้าง พระราชอุทยานสราญรมย์ก็สร้างขึ้นพร้อมๆ กับตัวพระราชวังเช่นกัน และเนื่องจากพระราชวังแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่รับรองแขกจากต่างประเทศอยู่เสมอ จึงได้มีการประดับตกแต่งพระราชอุทยานอย่างสวยงามด้วยต้นไม้ดอกไม้ และยังมีการนำสัตว์ต่างๆ มาเลี้ยงไว้ในสวน เช่น จระเข้ กวาง รวมทั้งนกต่างๆ อีกด้วย

นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนสำราญพระราชอิริยาบถของเจ้านายต่างๆ ในอดีตแล้ว พระราชอุทยานนี้ก็ยังใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่ฝึกซ้อมวิชาทหารแก่มหาดเล็กรักษาพระองค์ รวมทั้งจัดงานฤดูหนาวประจำปี ในรัชกาลที่ 6 และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ได้ใช้เป็นที่ตั้งสโมสรคณะราษฎร์สราญรมย์ แถมยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดประกวดนางสาวไทยอีกด้วย และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2503 รัฐบาลได้มอบให้กรุงเทพมหานครดูแลและปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะตั้งแต่นั้น มา

นั่นคือบรรยากาศของสวนสราญรมย์เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว และสภาพปัจจุบันของสวนนี้ที่ฉันเพิ่งได้ไปสัมผัสมาก็ยังคงความร่มรื่นสวยงาม ไม่แพ้กับเมื่ออดีต และบรรยากาศอย่างหนึ่งที่ฉันคิดว่าสวนอื่นๆ ไม่มีเหมือนที่นี่ก็คือกลิ่นอายของความเป็นพระราชอุทยานในอดีต ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นในรูปของสิ่งก่อสร้างและประดับตกแต่งต่างๆ และทำให้สเน่ห์ของสวนสราญรมย์นี้ไม่เหมือนกับที่ไหนๆ

เริ่มตั้งแต่ประตูรั้วที่งดงามด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษาและซุ้มประตูที่ สวยงาม แม้แต่ประตูก็ยังได้รับการอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้วด้วย ฉันเดินเข้ามาภายในสวนทางประตูด้านถนนเจริญกรุง และสิ่งแรกที่ได้เห็นก็คือน้ำพุพานโลหะขนาดใหญ่แบบตะวันตกสีเงินสองชั้น บนพานน้ำพุประดับด้วยเทวดาตัวน้อยๆ ดูน่ารักน่าชัง และช่วยเสริมให้บรรยากาศในสวนสราญรมย์นี้ดูคลาสสิคเข้าไปใหญ่

เนื่องจากเป็นพระราชอุทยาน ดังนั้นภายในสวนสราญรมย์นี้จึงมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าอยู่หัว เช่น พระอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระอัครมเหสี และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงโศกเศร้าเสียใจมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้นเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิและเป็นอนุสรณ์แห่งความ รักของพระองค์ บริเวณฐานของอนุสาวรีย์มีคำจารึกพระราชประวัติและคำอาลัยของรัชกาลที่ 5 เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยจารึกลงบนแผ่นหินอ่อนไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

และบริเวณริมรั้วด้านทิศเหนือ ก็เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ศาลเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนที่เห็นครั้งแรกฉันคิดว่าเป็นศาลเจ้าของชาวจีนเสียอีก เพราะศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองนี้มีลักษณะเป็นเก๋งจีนทรงหกเหลี่ยมสูง 3 ชั้น บริเวณด้านหน้าศาลมีที่ให้จุดธูปเทียนบูชาเจ้าแม่กันด้วย

ส่วนทางด้านหลังของสวนทางฝั่งถนนราชินี จะมีอาคารเรือนกระจกที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ใช้เป็นที่ทำการของ "ทวีปัญญาสโมสร" ซึ่งมีสมาชิกเป็นบรรดาเจ้านาย และข้าราชการระดับสูง กิจกรรมของสโมสรนี้ก็คือการออกหนังสือทวีปัญญารายเดือน การเล่นกีฬาในร่มและกลางแจ้ง รวมถึงการแสดงละคร และเป็นห้องอ่านหนังสือ เป็นการจัดตั้งสโมสรแบบชาวตะวันตกนั่นเอง แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นโรงเรียนต้นไม้ ที่เปิดสอนและอบรมเรื่องต้นไม้ เช่น การปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ หรือการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน และการจัดสวน การขยายพันธุ์ เป็นต้น

นอกจากบรรดาต้นไม้ดอกไม้อันร่มรื่นภายในสวนแล้ว สิ่งที่ทำให้บรรยากาศของสวนสราญรมย์ต่างไปจากสวนแห่งอื่นๆ ก็คือ ศาลาพักผ่อนภายในสวน ซึ่งมีทั้งศาลากระโจมแตร และศาลาแปดเหลี่ยม สำหรับศาลากระโจมแตรนั้นก่อนนี้เคยใช้เป็นที่บรรเลงแตรวงทหารเรือ และบรรเลงดนตรีเมื่อมีงานเลี้ยงในบริเวณพระราชอุทยาน ส่วนศาลาแปดเหลี่ยม ก็เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมที่นิยมกันมากในสมัยรัชกาลที่ 5

หลังจากเดินชมรอบๆ สวนแล้ว ฉันก็เลือกมานั่งพักอยู่ในศาลาแปดเหลี่ยม เป็นโชคดีของฉันที่ดอกลั่นทมหลายต้นใกล้ๆ นั้นกำลังออกดอกสีขาวอมเหลืองบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมเย็นๆ ชื่นใจดีเหลือเกิน บรรยากาศที่นี่ดีจนอดไม่ได้ที่จะหลับตาวาดภาพเมื่อครั้งที่สวนสราญรมย์ยังคง เป็นพระราชอุทยานสราญรมย์ มีพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี และข้าราชบริพาร บรรดาเจ้าขุนมูลนายออกมาเดินชมสวน บรรยากาศในตอนนั้นคงจะมีชีวิตชีวามากทีเดียว

ก็เป็นเรื่องน่ายินดีกับสิ่งที่ฉันได้ยินมาว่า เร็วๆ นี้ ทางกรุงเทพมหานครก็มีโครงการจะจัดให้สวนสราญรมย์เป็นสวนวัฒนธรรมแห่งแรก ของกรุงเทพในบรรยากาศของยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีแห่งการครองราชย์ครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เท่าที่ฉันเห็นในขณะนี้ก็คือได้มีการก่อสร้างศาลาไม้หลังเล็กๆ จำนวนหลายหลังด้วยกันเพื่อจัดทำบรรยากาศให้ใกล้เคียงกับในอดีตอย่างที่ ตั้งใจ ถ้าโครงการนี้เสร็จเมื่อไรฉันก็คงจะต้องกลับไปชื่นชมบรรยากาศของต้นกรุงรัตน โกสินทร์ที่สวนสราญรมย์แห่งนี้กันอีกครั้งหนึ่ง

สวนสราญรมย์ ตั้งอยู่ระหว่างถนนเจริญกรุง ตัดกับถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. 10200 เวลาเปิดปิด 05.00 -20.00 น. ทุกวัน มีรถประจำทางสาย 1, 6, 12, 25, 43, 48, 75, 86 ผ่านทางถนนเจริญกรุง สาย ปอ.1, ปอ.12 ผ่านทางถนนราชินี และสาย 3, 9, 91, ปอ.6, ปอ.7 ผ่านทางถนนสนามไชย สอบถามโทร.0-2221-015, 0-2222-1035

เที่ยวบ้านจักรยาน


เที่ยวบ้านจักรยาน ชมวัดวาย่านตลิ่งชัน

ฉันเชื่อว่าในวัยเด็กของแทบทุกคนคงต้องเคยมีประสบการณ์ถลอก ปอกเปิกกับการหัดขี่จักรยานสองล้อมาแล้วทั้งนั้น เรียกว่าถ้าไม่ได้แผลไม่ได้เลือดก็ยังขี่ไม่เป็นเสียที จนเมื่อแผลเก่าๆ เริ่มตกสะเก็ดนั่นแหละ ถึงจะเรียนรู้เทคนิคการหยุดจักรยานแบบที่ไม่ต้องเอาตัวเข้าแลกได้ ซึ่งฉันว่าการหัดขี่จักรยานนี้น่าจะเรียกว่าเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งของวัย เด็กเลยก็ว่าได้ และเมื่อขี่จักรยานได้คล่องแล้ว ก็จะเริ่มพัฒนาการขั้นต่อไป นั่นก็คือต้องหัดขี่แบบปล่อยมือข้างเดียว หรือถ้าจะให้ดูเก๋าๆ หน่อยก็ต้องปล่อยให้ได้ทั้งสองข้าง ใครทำได้ก็นับว่าเท่ไม่น้อย

ฉันเองเมื่อนึกถึงความพยายามในการหัดขี่จักรยานของตัวเองเมื่อตอน เด็กๆ ทีไร เป็นต้องอมยิ้มด้วยความตลกทุกครั้ง เพราะจำได้ว่าในตอนนั้นกลัวล้มก็กลัว แต่กลัวขี่จักรยานไม่เป็นแล้วอายเพื่อนมากกว่า จึงต้องมุมานะหัดขี่จนสำเร็จจนได้ (แต่หัดขี่แบบปล่อยสองมือยังไง้.. ยังไง ก็ทำไม่ได้เสียที)

เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วฉันก็ไม่ได้ขี่จักรยานบ่อยๆ อีก แต่ที่นึกถึงความรู้สึกเก่าๆ ขึ้นมาก็เพราะตอนนี้ฉันกำลังอยู่ที่ "บ้านจักรยาน" บนถนนสวนผัก สถานที่ท่องเที่ยวของเขตตลิ่งชันที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่สำหรับคนที่คลั่งไคล้ในเรื่องของจักรยานแล้ว ที่นี่ก็คือสวรรค์ดีๆ นี่เอง

เมื่อมองดูจากภายนอก "บ้านจักรยาน" ก็ดูเหมือนจะเป็นบ้านคนธรรมดาๆ เท่านั้นเอง แต่เชื่อฉันไหมล่ะว่าข้างในนั้นมีจักรยานเป็นพันๆ คันเลยทีเดียว แต่ก็ชักสงสัยเหมือนกัน เพราะเมื่อเข้าไปด้านในแล้วก็ยังไม่เห็นจักรยานสักคัน แต่กลับมีตุ๊กตาดินเผาตัวเล็กตัวน้อยวางอยู่เต็มไปหมด แถมยังมีข้าวของเก่าๆ ประเภทขวดน้ำอัดลม ขวดเหล้าเก่าๆ แบบที่หาไม่ได้ในปัจจุบันแล้ว แถมด้วยพัดลมตั้งโต๊ะ พัดลมแขวนแบบที่ฉันเคยเห็นในหนังย้อนยุคบ่อยๆ หนังสือเก่า และข้าวของหน้าตาโบราณอีกมากมาย เอ๊ะ... ตกลงที่นี่ใช่บ้านจักรยานแน่หรือ

จนเมื่อฉันเดินลึกเข้ามาด้านในของโรงเรือนอีกหลังหนึ่ง จึงได้ถึงบางอ้อว่าจักรยานมากมายมาหลบกันอยู่ตรงนี้นี่เอง และมารู้ทีหลังว่าบรรดาข้าวของมากมายที่ฉันเห็นเมื่อสักครู่นี้นั้น ก็เป็นของสะสมของเจ้าของบ้านเช่นกัน ซึ่งเจ้าของบ้านคนที่ว่าก็คือ อาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ซึ่งชื่นชอบการผลิตผลงานเครื่องปั้นดินเผา ถึงขนาดเคยตั้งโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งขายทั้งในและต่างประเทศอีก ด้วย และแน่นอนว่า "จักรยาน" ต้องเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทวีไทยโปรดปรานเช่นกัน

จากครั้งแรกที่ได้รู้จักกับจักรยานเมื่ออายุ 12 ปี และมีจักรยานเป็นของตัวเองครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี แต่เสน่ห์ของจักรยานก็ทำให้อาจารย์ไทยทวีเกิดความคิดที่จะสะสมจักรยานขึ้น โดยได้เริ่มลงมือเสาะหาจักรยานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 และหยุดการหาจักรยานมาสะสมในปี 2543 โดยในช่วง 5 ปีนี้ จักรยานที่อาจารย์หามาได้ก็มีจำนวนกว่าพันคันเลยทีเดียว

มาดูบรรยากาศด้านในบ้านจักรยานกันบ้างดีกว่า แน่นอนว่าต้องละลานตาไปด้วยจักรยาน ซึ่งก็มีทั้งวางโชว์เรียงอยู่บนพื้น และแบบที่แขวนโชว์อยู่กลางอากาศ แต่รวมๆ แล้วไม่ว่าจะมองไปด้านไหนก็ล้วนแต่เห็นจักรยานทั้งสิ้น ต้องขอบอกว่าฉันเองก็ไม่ได้เป็นเซียนจักรยานมาจากที่ไหนหรอก ความผูกพันกับจักรยานก็ดูเหมือนจะมีแค่ขี่ได้ ขี่เป็น และชอบขี่เท่านั้นเอง แต่แม้จะเกี่ยวข้องเพียงเท่านี้ฉันก็ยังอดจะตาค้างไม่ได้

นอกจากนั้นยังรู้มาว่าที่นี่มีจักรยานยี่ห้อ "เดตัล" ซึ่งเป็นจักรยานยี่ห้อแรกที่เข้ามาขายในประเทศไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 โน่น และมียี่ห้อชื่อดังในอดีตอย่างราเล่ห์ ฮัมเบอร์ ฟิลลิปส์ เฮอคิวลิส รัดจ์ และบีเอสเอ ฉันว่าถ้าคนรักจักรยานมาเห็นละก็คงต้องตาค้างยิ่งกว่าฉันแน่ๆ

แต่แม้จะมีจักรยานที่มีค่ามีราคาเป็นจำนวนมากขนาดนี้ แต่อาจารย์ทวีไทยก็ไม่ขอเรียกที่แห่งนี้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เรียกว่าเป็นบ้านจักรยานเท่านั้นเอง โดยให้เหตุผลว่าหากจะทำพิพิธภัณฑ์จะต้องมีการจัดเก็บของ รวมทั้งต้องมีการให้ความรู้อย่างมีกระบวนการ ไม่ใช่ว่ามีอะไรมากแล้วก็เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างนั้นไม่ได้ ซึ่งฉันก็ว่าจริงอย่างนั้น เพราะที่บ้านจักรยานนี้อาจจะไม่มีข้อมูล หรือมีป้ายอธิบายรายละเอียดอะไรของจักรยานแต่ละคันเลย แต่ถ้าใครมีข้อสงสัยอะไรหรืออยากได้ความรู้เพิ่มเติมแล้วละก็ สามารถสอบถามพูดคุยกับอาจารย์ทวีไทยได้เลย ไม่มีหวงอยู่แล้ว

จะว่าไปแล้ว การขี่จักรยานนั้นน่าจะเป็นการเดินทางด้วยพาหนะที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่ สุด แถมยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่งด้วย แต่ว่าตั้งแต่มาอยู่ในเมืองกรุงนี้แล้วฉันก็ไม่ค่อยจะได้ไปไหนมาไหนด้วยการ ขี่จักรยานสักเท่าไร เพราะถนนในกรุงเทพก็ยังไม่มีช่องทางเฉพาะสำหรับจักรยาน ฉันกลัวว่าถ้าเกิดขี่ๆ ไปแล้วสักวันอาจโดนรถเมล์สอยไปนอนใต้ล้อรถคงไม่ดีแน่ๆ แต่ถ้ามีใครจัดทำช่องทางของจักรยานขึ้นในถนนสายต่างๆ และมีความปลอดภัยมากพอ ฉันคนหนึ่งนี่แหละที่จะขี่จักรยานไปทำงานไปนู่นไปนี่ ไม่ต้องเปลืองน้ำมันสบายใจดี

หลังจากที่ฉันเดินชมบ้านจักรยานจนอิ่มแล้ว แต่จะกลับบ้านเลยก็ใช่ที่ เพราะไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านจักรยานนั้นเป็นที่ตั้งของวัดชัยพฤกษ์มาลา วัดเก่าแก่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาโน่น ไหนๆ ก็ได้มาแถวนี้แล้วฉันจึงตั้งใจว่าจะแวะไปกราบพระเสียหน่อย

สำหรับวัดชัยพฤกษ์มาลานี้ เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วโดยไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ สร้าง แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะมาตลอด ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 4 ซึ่งวัดเก่าแก่หลายร้อยปีขนาดนี้ สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดก็ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีสิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือวิหารและอุโบสถเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งก็มีการซ่อมแซมต่อเติมหลายครั้งด้วยกัน หลังจากที่ฉันเข้าไปไหว้พระในอุโบสถหลังเก่าที่กำลังซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว ก็เดินมาไหว้พระภายในวิหารหลังเก่าซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน


น่าแปลกใจมิใช่น้อยที่เห็นว่าวิหารหลังนี้มีประตูอยู่ด้านข้าง เป็นประตูเล็กๆ ที่ต้องค้อมตัวลงเวลาเดินผ่าน แถมไม่ได้มีแค่ประตูเดียว แต่มีตั้งห้าบานด้วยกัน ผิดไปจากวัดอื่นๆ ที่จะมีประตูแค่หนึ่งหรือสองบาน หรือมากสุดก็แค่สามบานอยู่ด้านหน้า

มารู้เอาตอนหลังว่า สิ่งที่ฉันเพิ่งเดินผ่านเข้ามาและคิดว่าเป็นประตูนั้น จริงๆ แล้วเป็นหน้าต่างวิหาร แต่เนื่องจากวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับคลอง (คลองมหาสวัสดิ์) จึงเกิดน้ำท่วมบ่อยๆ และต้องถมที่ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหนีน้ำ ถมไปถมมาจนพื้นสูงขึ้นมาถึงหน้าต่างจนกลายเป็นทางเข้าทางออกในปัจจุบันนี้

คลองมหาสวัสดิ์นี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย การขุดคลองนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางการคมนาคมจากเมืองบางกอกไปยังพระปฐมเจดีย์ รวมทั้งช่วยในเรื่องของการเกษตร ความยาวของคลองก็ประมาณ 28 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่คลองบางกอกน้อยไปจนถึงแม่น้ำนครชัยศรี ระยะทางเท่าๆ กับถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรีนั่นแหละ

เมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ขุดคลองขึ้นแล้ว ก็โปรดฯ ให้สร้างศาลาขึ้นด้วยในทุกๆ 100 เส้น (4 กิโลเมตร) เพื่อไว้เป็นที่พักของชาวบ้าน และเป็นที่รวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ จนมาถึงสมัยปัจจุบัน ศาลาเหล่านั้นที่ส่วนมากเหลือแต่เพียงชื่อ ก็ได้กลายเป็นชุมชนต่างๆ เช่นศาลาที่อยู่ตรงกลางของคลองนี้ก็ได้กลายเป็นบ้านศาลากลาง ศาลาหลังหนึ่งที่มีการจารึกตำรายาไว้ ก็เรียกว่าเป็นศาลายา ส่วนศาลาอีกหลังหนึ่งที่ใช้เป็นสถานที่ทำศพ ก็กลายเป็นศาลาทำศพ หรือศาลาธรรมสพน์ในปัจจุบัน

จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวย่านตลิ่งชันทีไร ฉันก็มีอันต้องนึกไปถึงตลาดน้ำตลิ่งชันไปเสียทุกที แถมนึกออกอยู่ที่เดียวเท่านั้นด้วย จนเกือบจะพาลคิดไปว่าสงสัยในเขตนี้คงมีที่เที่ยวแค่ที่เดียวจริงๆ แต่ตอนนี้รู้แล้วละว่าในแถบนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมาก อยากให้ลองมาเที่ยวกันดู

บ้านจักรยาน ตั้งอยู่ที่ 76/10 หมู่ 4 ซอยสวนผัก 6 ถนนสวนผัก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 การเดินทาง ให้ขับรถตรงเข้ามาในซอยชัยพฤกษ์ เมื่อเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าสู่ถนนสวนผัก ซอยสวนผัก 6 จะอยู่ทางขวามือ เมื่อเข้ามาในซอยประมาณ 20 เมตร บ้านจักรยานจะอยู่ทางขวามือ เปิดให้ชมทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามโทร. 0-2424-4705

วัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 2 หมู่ 4 ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 การเดินทาง เข้ามาในซอยชัยพฤกษ์เช่นเดียวกัน แต่เมื่อเจอสามแยกให้ตรงไป วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ สอบถามโทร.0-2434-1401

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ตลาดนัดสวนจตุจักร



ตลาดนัดสวนจตุจักร
ตอน 1
ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นอกจากจะนั่งๆนอนๆอยู่กับบ้านแล้ว ฉันมักจะออกไปซอกแซกตะลุยเมืองกรุงฯ ในขณะที่บางวันก็จะออกไปเดินห้างดูสินค้าดูสาวๆ แต่ถ้าหากจะซื้อเสื้อผ้า กางเกงยีนส์ตัวงาม หรือของตกแต่งบ้าน ฉันจะมุ่งหน้าไปที่"ตลาดนัดสวนจตุจักร" เพราะที่นี่มีสินค้ามากมายหลายอย่างให้เลือก แถมสนนราคาก็เริ่มทั้งที่ย่อมเยา พอรับได้ และประเภทที่ถามราคาแล้วเดินออกทันที

สำหรับตลาดนัดสวนจตุจักรนั้นถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะตลาดแห่งนี้กินเนสส์บุ๊ค ได้บันทึกไว้ว่าเป็น“ตลาดนัดใหญ่ที่สุดในโลก” เพราะมีพื้นที่ราว 70 ไร่ มีแผงขายของนับหมื่นแผง

ตลาดนัดสวนจตุจักรถือกำเนิดขึ้นมาหลังการปิดตลาดนัดสนามหลวงในปีพ.ศ. 2521 เพราะรัฐบาลในยุคนั้นต้องการใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ของคนกรุงเทพฯ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มอบที่ดินในพื้นที่ย่านพหลโยธินต่อจากบริเวณ สวน(สาธารณะ)จตุจักรด้านใต้ให้ทางกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะทำการก่อสร้างตลาดนัดแห่งใหม่ขึ้นในกทม.จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 และจากนั้นมาตลาดนัดสวนจตุจักรก็สั่งสมชื่อเสียงจนกลายเป็นที่นิยมของคน กรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดและชาวต่างอย่างต่อเนื่อง และมีคนเนื่องแน่นในทุกเสาร์-อาทิตย์

สำหรับวันนี้ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันเพราะทันที่ที่เหยียบถิ่นตลาดนัด สวนจตุจักร ฉันเห็นผู้คนเดินขวักไขว่ไปหมด แน่นอนว่าแต่ละคนต่างมีที่มาและจุดหมายต่างกันออกไป สำหรับฉันวันนี้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่าขอเดินชมของให้ทั่ว ส่วนเมื่อเจออะไรถูกใจค่อยเข้าไปต่อรองราคากันอีกที

ว่าแล้วฉันก็ออกเดินลุยถั่วตะลุยตลาดนัดสวนจตุจักรทันที งานนี้หลงทางไม่ว่า แต่หากหลงสินค้าเสื้อผ้า อาจหมดตัวได้ ร้านในตลาดสวนจตุจักรมีอยู่หลายร้านที่โดดเด่นสะดุดตาฉัน อย่างร้านแรกเป็นร้าน“ขายโปสการ์ดและรูปภาพเก่า ๆ” ที่ตั้งอยู่แถวโซนจตุจักรพลาซ่า ติดร้านอาหารโถพลู โครงการ27

ร้านนี้แม้ไม่มีชื่อร้านแต่มีเสน่ห์ยิ่งนัก เพราะภายในร้านโดดเด่นไปด้วยภาพถ่ายและของที่ทางร้านนำมาขาย ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์เพราะส่วนใหญ่ เป็นภาพการเรียกร้องประชาธิปไตย เช่นเหตุการณ์14ตุลาและพฤษภาทมิฬ และภาพบุคคลสำคัญด้านการเรียกร้องเอกราชอย่างประธานาธิบดีโฮจิมินท์ มหาตมะคานธี และภาพเหตุการณ์ทางประวัติ ศาสตร์อีกมากมาย

เจ้าของร้านภาพเก่าได้เล่าให้ฉันฟังว่า ร้านนี้เปิดมา 2 ปีกว่าแล้ว จุดประสงค์หลักของร้านคือต้องการขายอะไรก็ได้ที่ไม่มอมเมาเยาวชนและสังคม แม้จะขายไม่ค่อยได้ก็ทน เรียกยอมรับสภาพกำไรน้อยหรือทำใจเผื่อขาดทุนไว้แล้ว

เจอร้านอุดมการณ์อย่างนี้ฉันเอาใจช่วยเต็มที่ เพราะทุกวันนี้รู้สึกเอียนกับนักการเมืองผู้ไร้อุดมการณ์เต็มที ว่าแล้วก็ควักกระเป๋าซื้อภาพโดนใจใบงามๆไปหลายตังค์

จากร้านขายภาพเก่าไร้ชื่อ แต่ไม่ไร้เสน่ห์ฉันเดินแวะเวียนเข้า-ออกอีกหลายร้าน ก่อนจะมาหยุดอยู่บริเวณทางขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร ที่มีร้านขายของผุดขึ้นเต็มไปหมดเหตุที่หยุดเพราะว่าฉันเจอร้าน“เต็มฝัน”ที่ ชวนมองไม่น้อย

ร้านนี้ถึงแม้จะจะดูออกเหงานิดๆ แต่สำหรับฉันนี่คือร้านที่ทำให้เรานึกถึงวัยเด็กไม่น้อย เพราะสินค้าภายในร้าน เป็นงานเย็บมือที่ดูแล้วกิ๊บเก๋น่ารักดี ไม่ว่าเป็นของฝากอย่างตุ๊กตาหมีใบชาและหมอนรูปสัตว์ต่างๆที่มีหลากหลายสีให้ เลือกโดยผ้าที่ใช้เป็นผ้าฝ้ายนำมาเย็บอย่างปราณีตยัดไส้ด้วยใบชาสำหรับ ดูดกลิ่นโดยเฉพาะ ซึ่งมีตั้งแต่ราคา 15 บาท ไปจนถึง 1,000บาท


จากร้านเต็มฝันฉันเดินมาจนถึงจตุจักรโครงการ 4 ซอย 48 แล้วหยุดแวะชมงานศิลปะที่ร้าน “SAWDUST” ร้านนี้เขานำไม้เก่าธรรมดามาดัดแปลงเติมสีสันใหม่จนเกิดเป็นงานศิลปะสวยๆ งามๆขึ้นมา มีทั้งงานเขียนจากปลายพู่กัน และงานเพ้นท์ที่เน้นสีสันสดใส ที่ดูแล้วเพลินตาดี

ฉันเดินลัดเลาะฝ่าผู้คนต่อไปจนถึงโครงการ 14 และก็ต้องชะงักลงอีกครั้งที่ร้าน“วี พริ้นท์ แบ๊ก” ในซอย 7 เนื่องจากสงสัยว่าร้านนี้เขาขายอะไรกันแน่??? เพราะเมื่อกวาดสายตามองไปทั่วร้านเห็นมีแต่ถุงกระดาษเต็มไปหมด แต่เมื่อพินิจพิจารณาอย่างดีก็ถึงบางอ้อ

อ้อ...ร้าน วี พริ้นท์ แบ๊ก ขายถุงกระดาษนี่เอง ซึ่งก็มีทั้งถุงกระดาษสารพัดแบบ แบบแขวน และมีมากมายหลายขนาดให้เลือกซื้อเลือกหา สำหรับฉันมองว่าถุงพวกนี้มันเหมาะที่จะนำไปเก็บเป็นของสะสมมากกว่าใช้ เพราะแต่ละแบบไม่ได้มีตามท้องตลาดทั่วไป ถ้าซื้อไปใช้คงเสียดายแย่ ซึ่งใครจะไปรู้ไม่แน่ว่าอีกสิบปีข้างหน้าอาจจะกลายเป็นของหายากที่ต้องแย่ง กันซื้อในราคาสูงก็เป็นได้

ต่อกันด้วยร้าน “ก.ไก่” อยู่ที่โครงการ 10 ซอย 19 ร้านนี้เขานำของจากเศษวัสดุเหลือใช้ อย่าง เศษไม้สัก กะลามะพร้าว มาดัดแปลงทำเป็นโมบาย พวงกุญแจ หรือกรอบรูปน่ารัก ๆ ทั้งนั้น ที่สำคัญเป็นงานฝีมือล้วน ๆ ด้วย ฉันชอบเพราะว่าเขาตกแต่งร้าน ให้เป็นโทนสีเดียวกันหมดมี สีดำ สีน้ำตาล งานทุกชิ้นจะมีสีสด ๆ แซมอยู่นิดเดียวเท่านั้น เน้นความเป็นธรรมชาติตามเดิมก่อนแปรรูป เหมาะเป็นของประดับบ้านอย่างยิ่ง

ห่างจากกันไปไม่เท่าไร ในโครงการ14 ซอย2 สำหรับใครที่กำลังมองหากางเกงยีนส์ มีร้านกางเกงยีนส์อยู่ร้านหนึ่งชื่อร้าน “ควายสุพรรณ” ฉันว่ากางเกงยีนส์ ก็ธรรมดาทั่วไปเหมือน ๆ กับร้านอื่นที่ขายในสวนจตุจักรนั่นแหละ แต่เขาโดดเด่นไม่เหมือนใครตรงกลยุทธ์การเรียกลูกค้าของเจ้าของร้าน ที่มีวิธีการเรียกลูกค้าเหมือนพวกท่องอาขยานด้วยเสียงดังลั่นซอย แถมหน้าตาคุณเจ้าของร้านก็ดูโหดสุดๆ ออกแนวเพื่อชีวิตประมาณน้าๆวงคาราบาว

แต่ว่าก็ได้ใจลูกค้าหลายคนๆ และยิ่งบวกกับราคากางเกงยีนส์ที่แสนถูก จึงไม่แปลกเลยที่จะมีคนแน่นร้าน ส่วนฉันแม้ไม่หลงไปกับเสน่ห์ของเจ้าของร้านความสุพรรณ แต่ว่าก็หลงเสน่ห์กางเกงยีนส์ในร้านที่ต้องควักเงินซื้อกางเกงยีนส์หุ่นงาม มาหนึ่งตัว

หันมาดูกันแถบริมทางเข้าประตู 3 ตรงที่มีทางเดินกว้างๆกันบ้าง แถวนี้มีร้านน่าสนใจอยู่หลายร้าน อย่างร้านขาย “เสื้อยืดเพ้นส์ลายดอกไม้” ที่มีอยู่เจ้าเดียวอยู่ติดถนนในละแวกนั้น ร้านนี้แม้ไม่มีชื่อร้านแต่ก็น่าสนใจดี ส่วนอีกร้านอยู่ใกล้ๆกันเป็นร้านขาย “กระเป๋ายีนส์” ที่ประดับด้วยลูกปัดนานาชนิด ระยิบระยับแพรวพราว รูปแบบสวย ๆ เยอะแยะให้เลือก แต่ถ้าผู้ชายถือคงจะไม่เหมาะ เพราะเดี๋ยวจะถูกคนครหาเอาว่าเป็นผู้ชายนะย่ะ

ส่วนอีกร้านหนึ่งที่โดนใจฉันอีกแล้ว คือ “ที แอนด์ ที” ที่อยู่ในโครงการ 5 (เดินตรงไปไม่ต้องเลี้ยวเข้าซอย) ร้านนี้เป็นร้านขายเข็มขัดโดยเฉพาะ มีเข็มขัดหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อ ซึ่งฉันการันตีว่าเข็มขัดเยอะจริงๆ เหมาะสำหรับบรรดาผู้นิยมในแฟชั่นเข็มขัดเป็นที่สุด แถมแต่ละเส้นยังไม่ซ้ำแบบใครอีกด้วย

จากร้านเข็มขัดฉันได้ยินเสียงเพลงของวณิพกแว่วมา จึงเดินไปดูและฟังเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ พร้อมกับกับเหลือบดูนาฬิกา โอ้ว...4 โมงเย็นแล้ว ยังเดินไม่ทั่วสวนจตุจักรเลย ฉะนั้นในตอนต่อไปฉันขอมาลุยตลาดนัดสวนจตุจักรอีกสักครั้งให้หายอยากกันไป เลย...

ตอน2
และแล้วการชอปปิ้ง ในตลาดนัดสวนจตุจักรก็ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อเวลาหมุนมาครบหนึ่งอาทิตย์ เพราะว่าเมื่อครั้งก่อนฉันยังเดินเที่ยวตลาดนัดสวนจตุจักรไม่ทั่วเลย มาคราวนี้เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ฉันจึงตัดสินใจว่าจะต้องตื่นแต่ เช้าตรู่แล้วจะเดินให้ทั่วให้จงได้

แต่ครั้งนี้ฉันเลือกที่จะไม่สุ่มเสี่ยงหรือเดินดุ่มๆไปอย่างไร้จุด หมายเหมือนเช่นคราวก่อน ฉันจึงเลือกมุ่งหน้าเดินไปยังกองอำนวยการตลาดนัดจตุจักรทันที ความจริงฉันหน้าจะคิดได้ตั้งแต่แรกแล้วว่า มีปัญหาอะไรต้องนึกถึงกองอำนวยการตลาดนัด ซึ่งเป็นแหล่งให้บริการข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับจตุจักรทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น หลงกับเพื่อนหากันไม่เจอ ลืมของ ของหาย หรือถูกล้วงกระเป๋า ก็ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากที่นี่


เป้าหมายของฉันอยู่ที่แผนที่ของตลาดนัดสวนจตุจักร ทันทีที่ฉันเอ่ยถามขอแผนที่จากเจ้าหน้าที่ แทบไม่ตามสาธยายอะไรมากมาย เขาก็ยื่นให้ฉันอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเตือนฉันว่าระวังกระเป๋าดีๆ ล่ะไอ้หนุ่ม ว่าแล้วฉันจึงเริ่มต้นเดินจากแหล่งที่เขาขายต้นไม้กันเยอะๆ เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้แก่ตัวเอง

จะว่าไปสำหรับคนที่รักและชื่นชอบต้นไม้ในสวนจตุจักรจริงๆ ล่ะก็ ไม่จำเป็นต้องมาวันเสาร์-อาทิตย์ก็ได้ เพราะในวันธรรมดาอย่างวันพุธ วันพฤหัสบดี บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ต้นไม้เขาจะนำต้นไม้ กล้วยไม้ สารพัด ต่าง ๆ มาวางขายรอบถนนสายหลัก และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการตัดแต่งสวน หรือต้นไม้จะวางเรียงราย ตั้งแต่ทางเข้าจากถนนกำแพงเพชร 2 ยาวจรดถึงด้านถนนกำแพงเพชรที่ติดกับถนนใหญ่

ร้านโดนใจฉันในโซนต้นไม้นี้ เห็นจะไม่มีใครเกินร้าน "ผักสวนครัว" ที่ราวกับยกสวนมาตั้งไว้กลางถนนคอนกรีต ราคาก็ถูกแสนถูกต้นละ 20-30 เอง ร้านตั้งอยู่ริมทางเดิน ด้านประตูทางเข้าถนนพหลโยธิน เดินลัดเลาะตามโซนต้นไม้ ไปไม่ไกลจากกันนัก แถวโครงการ4ซอย1

ฉันอดที่จะอมยิ้มไม่ได้ เมื่อเห็นตุ๊กตาที่มีเส้นผมเป็นหญ้าสีเขียวงอกอยู่บนหัว ด้วยความสงสัยถึงวิธีการทำ ฉันจึงลองสอบถามคุณพี่เจ้าของร้าน จึงได้รู้มาว่าไอ้เจ้าตุ๊กตาผมสีเขียว มันมีชื่อเดียวกับชื่อร้านว่า "GREEN FRESH HAIR DOLL’S"

มีวิธีปลูกผมง่ายๆ แค่นำไปแช่น้ำ3ชั่วโมง ให้ชุ่มตัวนำตุ๊กตาขึ้นจากน้ำ วางบนถ้วยแก้ว ใส่น้ำให้เต็มแก้ว ใส่กระป๋องปิดฝา3วันแรก รดน้ำชุ่ม ๆ เมื่อเส้นผม (ที่ทำด้วยเมล็ดพืช) เริ่มงอกจึงนำออกจากกระป๋อง เพียงเท่านี้ก็สามารถ ตัด ซอย ได้ตามใจชอบ

ที่สำคัญเจ้าตุ๊กตาตัวจ้อยนี้ เป็นภูมิปัญญาของคนไทย สังเกตดี ๆ จึงพบว่าข้างในทำง่าย ๆ แค่เพียงนำเมล็ดพืช กับขุยมะพร้าว มาไว้คู่กันจัดรูปแบบให้สวยงามก็สามารถบอกกับใคร ๆ ได้อย่างภาคภูมิใจว่า เป็นฝีมือคนไทยที่จดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้วด้วย

อีกร้านหนึ่งในโครงการ4ซอย51/1 มีร้านชื่อว่า "น้ำตกไม้และต้นไม้" เป็น การนำเอาต้นไม้ และไม้ประดับประเภทต่าง ๆที่สามารถปลูกในน้ำได้ มาจัดรูปแบบใหม่ โดยการนำไปปลูกไว้กับท่อนไม้ แล้วเลี้ยงให้ออกรากกับท่อนไม้ แปลกดีเหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย

ทิ้งทวนแถวโซนต้นไม้ด้วยร้าน "DICE" ร้านนี้อยู่แถวทางเดินริมถนนประตู1ใกล้ ๆ กับโซนต้นไม้ เขาไม่ได้ขายต้นไม้หรอก แต่เขาขายไอเดียเกี่ยวกับหมวกกันน็อค สำหรับมอเตอร์ไซค์และจักรยานเสือภูเขา ที่บอกว่าเขาขายไอเดีย เพราะร้านนี้ไม่ได้มีแต่หมวกกันน็อคแบบเฉย ๆ แต่เป็นหมวกที่มีสีสัน ลวดลาย แบบต่าง ๆ ทั้งสวยทั้งปลอดภัยดีจริง ๆ

ฉันเดินเล่นเรื่อย ๆ มองดูหนุ่มๆ สาว ๆ ที่หน้าตาจิ้มลิ้ม แต่งกายสวยงาม เดินสวนกันไปมาให้ขวักไขว้ไปหมด ที่นี่นอกจากจะเป็นตลาดนัด สำหรับเลือกซื้อสินค้าแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งกระชับมิตรของเพื่อนฝูงอีกด้วย ฉันเดินเรื่อย ๆ ตั้งใจว่าจะมาเดินหาซื้อหนังสือสักเล่ม แถวโซนหนังสือ เจอะร้านหนังสือร้านแรกคือร้าน "55 Book Stall" อยู่ตรงทางเข้าโครงการ27 หนังสือเยอะมาก มีทั้งมือหนึ่งแบบใหม่แกะกล่อง และมือสองคุณภาพดี

เมื่อเดินเข้ามาในซอยเล็กๆ ของโครงการ27 ที่มีร้านหนังสือมากมาย วางเรียงรายเต็มไปหมด ฉันกวาดสายตามองไปรอบ ๆ ก่อนหยุดยืน เลือกหนังสือที่ "ร้านสามสิบจตุจักร" อ่านไปอ่านมาชักติดลม จนต้องควักกระเป๋าจ่ายแล้วได้หนังสือติดมือมา2-3เล่ม

ถึงตอนนี้ฉันมายืนอยู่ใต้หอนาฬิกา อีกหนึ่งสัญลักษณ์ตลาดนัดสวนจตุจักร ก็พบว่าเกือบเที่ยงแล้ว แต่ต่อมหิวในกระเพาะคงยังไม่ทำงาน ฉันจึงคิดที่จะเดินเล่นต่อไปเรื่อย ๆ มองแผนที่ ก็สะดุดตากับร้านที่เขาแนะนำไว้ ชื่อร้าน "หนังอินดี้" จึงคิดจะตามไปดูในที่สุด หลังจากเดินหาจนเมื่อยตุ้มแล้ว ก็เจอจนได้

ร้านนี้เขาเน้นขายหนังแนวนอกกระแส ไม่มีฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ทั่วไป ภายในร้านก็จะมี หนังที่หาดูได้ยาก หนังที่กวาดรางวัลมาทั่วโลก พี่เจ้าของร้านบอกว่าเขาเชื่อมั่นว่าร้านเขา มีครบทุกเรื่องใครเป็นแฟนหนังแนวนี้ ก็ลองไปหากันดู ร้านเขาตั้งอยู่ในโครงการ7

หลังจากออกจากร้านหนังอินดี้มา ฉันก็เลี้ยวเข้าไปในโซนสัตว์เลี้ยง จุดประสงค์เพื่อจะไปดูความน่ารักของสัตว์เลี้ยงประเภทต่าง ๆ ฉันเกิดอาการรักสัตว์อย่างเฉียบพลัน อยากเลี้ยงไปหมด ยิ่งเมื่อเห็นเจ้าปลาสวยงามตัวน้อยแหวกว่ายในตู้ปลาที่ร้าน "น้องพลอย" อยู่ที่จตุจักรพลาซ่า โซนD ซอย 7 แล้วแสนเพลินตาเพลินใจ

ก่อนจะเดินทอดน่องสบายอารมณ์ดูนก หนู ที่วางขายทั่วไปริมทาง อดทึ่งไม่ได้ที่เขามีขายแม้กระทั่งลูกจิงโจ้ตัวเล็ก ๆ ที่เขาติดกระดาษไว้ว่าเป็นจิงโจ้จากประเทศออสเตรเลีย จนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นลูกหนู หรือลูกจิงโจ้กันแน่ ไอ้ฉันมันก็คนบ้านนอกคอกนา ไม่ค่อยจะรู้กฎหมายอะไรหรอก แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เมืองไทยมีกฎหมายอนุญาตนำเข้าสัตว์ประเภทนี้หรือไม่ ยังไงๆ ก็รบกวนคุณตำรวจตรวจสอบที สงสารสัตว์ต่างบ้านต่างเมือง

ฉันเดินมาหยุดที่ร้าน "CAT Station" ในโครงการ 15 ซอย 4 ที่เป็นร้านขายลูกแมวแต่ถ้าจะหาซื้อลูกแมวราคาถูกล่ะก็ไม่ควรเดินเข้าร้าน นี้เพราะที่นี่เขาขายแต่ลูกแมวเปอร์เซียเท่านั้น เน้นคุณภาพ ต้องเป็นพันธุ์แท้ รับผสมพ่อพันธ์ชั้นดีมีสกุล นำเข้าจากเยอรมัน เดนมาร์ก ฉันนึกสนใจคิดอยู่ว่าจะเอาเจ้าเหมียวสีสวาทพันธุ์ไทยของฉันมาผสมดู อยากรู้ว่าลูกมันออกมาหน้าตาจะเป็นอย่างไร

ออกจากโซนสัตว์มาฉันต้องแปลกใจที่เห็นพ่อค้า แม่ขาย ทยอยปิดร้านจึงแหงนหน้ามองท้องฟ้าเป็นการบ่งบอกว่าชั่วโมงนี้ผีตากผ้าอ้อม แล้ว เจียนจะเคารพธงชาติอยู่มะรอมมะร่อ งั้นก็ได้เวลากลับแล้วซิ การเดินทางในเขาวงกตอันแสนสนุก อย่างตลาดนัดสวนจตุจักรของฉันหมดลงแล้ว คราวหน้าหากมีโอกาสคงได้มาเที่ยวชอปปิ้งอีก

ตลาดนัดสวนจตุจักรตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เปิดทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น

การเดินทางมายังตลาดนัดสวนจตุจักร มาได้หลายเส้นทางไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า BTS นั่งมาลงที่สถานีสะพานควาย หรือสถานีหมอชิตก็ได้ หรือถ้าเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินก็มาขึ้นที่สถานีกำแพงเพชร

รถเมล์ก็มีผ่านหลายสายไม่ว่าจะเป็นสาย 3,8,26,27,28,29,34,38,39,44,52,59,63,77,90,96,104,408,112,122 มีไมรโคร บัส สาย 2,5,8,12,15,16

ถ้ามารถส่วนตัว มีที่จอดรถอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม ถนนกำแพงเพชร2 จอดรถได้ประมาณ1,500คัน เสียค่าจอดรถ 40 บาท จอดได้ตลอดวัน

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ล่องคลองบางกอกใหญ่


ล่องคลองบางกอกใหญ่ ชม 2 วัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา
หลังจากไปเที่ยวท่องล่อง"คลองบางกอกน้อย"ยลวิถีชีวิตวัฒนธรรมแห่ง ย่านฝั่งธนมาบุรีมาแล้ว อารมณ์ติดใจในบรรยากาศแห่งการเที่ยวคลองในเมืองกรุงฯยังคงคุกรุ่นอยู่ในจิต ใจ เพราะฉะนั้นการออกเที่ยวลุยกรุงในทริปนี้ฉันจึงขอตามต่ออารมณ์เที่ยวคลองกัน ที่"คลองบางกอกใหญ่" อดีตแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่มีความเป็นมาน่าสนใจยิ่งหย่อนไปกว่าคลอง บางกอกน้อย

คลองบางกอกใหญ่ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "คลองบางหลวง" ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าอันทรงคุณค่าที่ผ่านกาลเวลา แห่งความเปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 3 ราชธานี ตั้งแต่ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์

ในอดีตลำน้ำสายนี้ได้ทำหน้าที่รับใช้ชาติมาแล้วมากมาย เป็นทั้งเส้นทางเดินทัพ เส้นทางลำเลียงเสบียงอาหาร รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์สำคัญที่น่ายกย่อง ก็คือ เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถูกพม่าเผ่าทำลาย พระยาตากในขณะนั้นได้รวบรวมกำลังพลและต่อเรือรบกว่า 100 ลำ จัดทัพเรือย้อนกลับมาทางปากอ่าวสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รุกเข้าตีทัพพม่า และกอบกู้เอกราชจนสำเร็จ

หลังจากกู้เอกราชได้แล้ว พระองค์ก็ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตากสินมหาราช และสร้างราชธานีธนบุรีขึ้นบนเกาะที่เกิดจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็คือพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน รวมทั้งพระราชทานที่ดินริมฝั่งน้ำแก่เจ้านาย และขุนนางข้าหลวงแผ่นดินในสมัยนั้น อันเป็นที่มาของ"คลองบางหลวง" เพราะตั้งอยู่ริมวังหลวง ซึ่งปัจจุบันก็คือคลองบางกอกใหญ่นั่นเอง

สำหรับการล่องเรือชมคลองอีกครั้งในทริปนี้ ฉันเริ่มต้นขึ้นที่ท่าเรือเดิมนั่นก็คือท่าเรือ"ท่าช้าง"หลังเรือนำเที่ยว เคลื่อนออกจากท่า ฉันมองเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯตั้ง โดดเด่นริมฝั่งน้ำ ความงามของพระปรางค์แห่งนี้มีชื่อเสียงเลื่องลือไกลไปทั่วโลก จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งสยามประเทศ และเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นแห่งฝั่งธนฯ

ถัดจากวัดอรุณฯเรือนำเที่ยวเลาะแล่นไปตามสายน้ำไหลเอื่อย ผ่านป้อมวิไชยประสิทธิ์และพระราชวังเดิม ที่เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินฯ มุ่งหน้าเข้าสู่เขตคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งในช่วงนี้ฉันได้เห็นร่องรอยอดีตอันยิ่งยง จากสิ่งปลูกสร้างและอาคารบ้านเรือนที่ตั้งอยู่เรียงรายริมสองฝั่งคลอง

โดยบ้านเรือนส่วนหนึ่งยังคงเป็นบ้านโบราณที่มีบริเวณกว้างขวาง ซึ่งล้วนต่างเป็นบ้านที่สืบเชื้อสายมาจากขุนนางข้าราชการหรือผู้ที่มีฐานะ ดีๆจากสมัยธนบุรีจนถึงยุครัตนโกสินทร์

ไม่ใช่แค่บ้านเรือนเท่านั้นที่เป็นเงาสะท้อนถึงอดีตแห่งคลอง บางกอกใหญ่ แต่ที่คลองแห่งนี้ยังมีวัดวาอารามเก่าแก่เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนเรื่องราว แห่งอดีตที่นับวันได้ถูกความเจริญทางวัตถุแห่งโลกทุนนิยมโจมตีอย่างต่อ เนื่อง

"วัดปากน้ำภาษีเจริญ" ถือเป็นจุดแรกที่ฉันแวะขึ้นฝั่ง สำหรับวัดแห่งนี้มีประวัติคร่าวๆว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ทำการบูรณะวัดปากน้ำฯครั้งใหญ่เกือบทั้ง อาราม

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 วัดปากน้ำได้ชำรุดทรุดโทรมลง และขาดเจ้าอาวาสประจำวัด ทางเจ้าคณะปกครองจึงได้ส่ง พระสมุห์สด จนทสโร(หรือที่เรียกกันว่าหลวงพ่อสด) จากวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งหลวงพ่อสดมีชื่อเสียงมากในเรื่องวิปัสสนา ท่านจึงเป็นผู้ดูแลเรื่องการศึกษา ปฏิบัติธรรม จนกลายเป็นที่นับถือของคนทั่วไป กระทั่งหลวงพ่อสดมรณภาพลงจึงได้นำร่างมาบรรจุในโลงตั้งไว้ที่วัด และทำหุ่นขี้ผึ้งขนาดองค์จริงให้ประชาชนได้สักการบูชา

เนื่องจากหลวงพ่อสดเป็นผู้ปลุกเสกหลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่นแรกๆ โดยทำจากเนื้อดินเผา พระเครื่อง พระผง ในการทำพระผงจะนำดินที่เป็นมงคลจากสถานที่ต่างๆหลายๆที่เอามารวมกัน แล้วทำพิธีกรรมประกอบขึ้นมา จึงมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่นหนึ่งนั้น ท่านจะเลือกผู้ที่มาเป็นเจ้าของด้วยตัวเอง ถ้าผู้นั้นมีบุญพอหลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่นหนึ่งก็จะไปปรากฏหรือทำให้ผู้นั้นพบ เจอ แต่ถ้าผู้ที่ได้เป็นเจ้าของหมดบุญหรือทำผิดศีลผิดธรรม หลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่นหนึ่งจะเดินทางกลับมาหาท่านเอง เรื่องนี้จะจริงหรือเท็จอย่างไรฉันไม่อาจรู้ได้ รู้แต่ว่าไม่ลบหลู่เป็นดีที่สุด

ในวัดปากน้ำมีคนมากมายมานั่งกราบไหว้ปิดทององค์หลวงพ่อสด ซึ่งฉันก็ไม่รอช้าขอเข้าไปจุดเทียนจุดธูปนั่งลงน้อมกราบองค์หลวงพ่อสดเพื่อ ความสิริมงคลกับเข้าด้วยอีกคน หลังจากไหว้เสร็จฉันนำดอกไม้ไปวางบนพานที่มีดอกไม้ดอกบัววางไว้จนล้น จากนั้นจึงไปปิดทองที่รูปหล่อหลวงพ่อสดที่เป็นสีทองอร่ามสุกใส ก่อนที่จะขึ้นไปกราบร่างหลวงพ่อสดที่บรรจุในโลง และหุ่นขี้ผึ้งจำลองพร้อมๆ กับพุทธศาสนิกชนอีกหลายๆคน หลังจากนมัสหลวงพ่อสดในวัดปากน้ำแล้ว ฉันก็ออกเดินเท้าต่อไปยังวัดอัปสรสวรรค์ฯ ที่อยู่ใกล้ๆกัน อย่างไม่รอรี

"วัดอัปสรสวรรค์" มีชื่อเต็มว่า"วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร"วัดนี้ถือเป็นวัดระดับ“อันซีนบางกอก” เพราะมีความพิเศษตรงที่ คาดว่าจะเป็นวัดหนึ่งเดียวในโลกที่มีพระประธานในพระอุโบสถถึง 28 องค์ ที่ถือว่าน่าสนใจเป้นอย่างยิ่ง

สำหรับประวัติคร่าวๆของวัดนี้มีอยู่ว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า"วัดหมู" สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างให้กับชาวจีนชื่อ"อู๋" ที่มีอาชีพเลี้ยงหมู เพราะเดิมนั้นบริเวณวัดแห่งนี้มีคนเลี้ยงหมูกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหมูที่คนเอามาปล่อยที่วัดอีกต่างหาก ทำให้วัดนี้มีหมูเดินเพ่นพ่านอยู่เต็มวัด ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า"วัดหมู"

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเจ้าจอมองค์หนึ่งชื่อว่าเจ้าจอมน้อย เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่3 ขอพระบรมราชานุญาตปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ทั้งวัด และพระราชทานนามว่า "วัดอัปสรสวรรค์" เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง

เมื่อฉันเดินผ่านซอยเล็กๆที่จนทะลุไปถึงวัดอัปสรสวรรค์แล้ว สิ่งที่สะดุดตาก็คงจะเป็นพระปรางค์ ที่ตั้งอยู่ตอนหน้าพระอุโบสถ เป็นพระปรางค์สีขาว(หม่น)ดูเก่าแก่ก่ออิฐถือปูน 1 องค์ สูงราว 15 วา หลังจากชมพระปรางค์แล้วก็เข้าไปไหว้พระประธานในพระอุโบสถสักหน่อยดีกว่า

หลังจากที่ก้าวเท้าเข้ามาในพระอุโบสถ สิ่งที่ทำให้ฉันแปลกใจอย่างมากก็คือพระประธาน ฉันไปวัดไหนๆก็จะเห็นแต่พระประธานองค์โต ตั้งตระง่าอยู่กลางพระอุโบสถ แต่สิ่งที่สองตาของฉันจับภาพได้ กลายเป็นพระประธานองค์เล็กที่นับจำนวนได้ถึง 28 องค์ มีสีทองสุกใส พระพุทธรูปทั้ง 28 องค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานชุกชีเดียวกันลดหลั่นกัน พระประธานแต่ละองค์มีหน้าตักกว้าง 1 ศอก สูง 1 ศอก4นิ้ว

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมภายในพระอุโบสถถึงมีพระประธานหลายองค์ แล้วพระประธานแต่ละองค์คืออะไร พระประธานแต่ละองค์หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในชาติภพต่างๆแล้ว 27 พระองค์ ส่วนองค์ที่ประดิษฐานอยู่หน้าสุดคือพระพุทธโคดม ที่เป็นพระศาสดาองค์ปัจจุบัน รวมทั้งหมด 28 พระองค์ และที่ฐานพระพุทธรูปมีพระนามจาลึกด้วยงาช้างทุกพระองค์

ฉันนั่งกราบไหว้พระประธานและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเรียบร้อยแล้ว ก็ได้นั่งสงบใจชมความสวยงามภายในพระอุโบสถต่ออีกสักครู่ใหญ่ เพียงแค่นี้ฉันก็รู้สึกสดชื่นและสบายใจอย่างบอกไม่ถูก เรียกได้ว่าเมื่อมาเที่ยววัดชมคลองบางกอกใหญ่แล้ว หากปลดปล่อยหัวใจและจินตนาการไปกับลำคลองสายประวัติศาสตร์ งานนี้ไม่มีวันพลาดกับบรรยากาศเพลินกายสบายใจแน่นอน

สอบถามข้อมูลเที่ยวคลองบางกอกใหญ่เพิ่มเติมได้ที่กองการท่องเที่ยวกรุงเทพ มหานคร โทร. 0-2225-7612-4

วัดปากน้ำฯ ตั้งอยู่ที่ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 โทร.0-2467-0811 , 0-2457-9042

วัดอัปสรสวรรค์ฯ ตั้งอยู่ที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 โทร.0-2467-5392 , 0-2458-0917 พระอุโบสถเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. หากประสงค์จะเข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ต้องโทรศัพท์แจ้งทางวัดเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับผู้ที่สนใจล่องเรือเที่ยงคลองบางกอกใหญ่ชมวัด สามารถรวมกลุ่มมาติดต่อที่เรือมิตรเจ้าพระยา ท่าช้าง (เรือจุได้ประมาณ 40 คน)

"วังเทวะเวสม์" วังแห่งบิดาการต่างประเทศ


ถ้าถามถึง "วัง" ในย่านเทเวศร์แล้วละก็ หลายคนคงจะนึกถึงวังบางขุนพรหม หรือไม่ก็วังเทเวศร์ขึ้นมาทันที แต่วันนี้ฉันไม่ได้ไปสองวังที่ว่านั้นหรอก ฉันจะพาไปที่ "วังเทวะเวสม์" ต่างหาก เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ยังไม่เคยได้ยินเรื่องราวของวังนี้มาก่อน

วังเทวะเวสม์ เป็นอาคารโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในเขตของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับวังบางขุนพรหม สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2457 แล้วเสร็จในอีก 4 ปีถัดมา และเป็นวังของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 กับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ต้นราชสกุลเทวกุล และเป็นพระอนุชาต่างพระมารดากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกด้วย

ถ้าพูดถึงเรื่องของสถาปัตยกรรมแล้ว วังนี้มีความสวยงามด้วยศิลปะแบบนีโอ คลาสสิค ซึ่งออกแบบโดยเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ โดยวังเทวะเวสม์นั้นเรียกรวมตำหนักใหญ่ ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และตึกของหม่อมในพระองค์อีก 7 หลัง รวมทั้งเรือนแพ ซึ่งเป็นที่พำนัก และเป็นท่าน้ำของวังเทวะเวสม์ (ปัจจุบันเหลือเพียง 3 อาคาร คือตำหนักใหญ่ ตึกหม่อมลม้าย และเรือนแพ เท่านั้น)

สำหรับตำหนักใหญ่ ก่อสร้างด้วยด้วยเทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ในขณะนั้น การตกแต่งก็เป็นรูปแบบคลาสสิค เช่นเสาแบบไอโอนิก (Ionic) ที่มุขทางเข้าตำหนัก หรือเสาแบบคอรินเทียน (Corinthian) ที่ผนังอาคารชั้นบน เป็นต้น

แต่นอกจากความสวยงามของตัววังแล้ว สิ่งที่น่าสนใจของวังเทวะเวสม์ก็อยู่ที่เจ้าของวัง หรือสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ บุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่ทุกคนควรจะได้รับทราบเรื่องราวของ พระองค์ไว้

สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการต่างประเทศของไทย” เนื่องจากได้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเป็นคนแรก และดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 38 ปี ด้วยกัน นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ที่มีส่วนแก้ไขวิกฤตการณ์สำคัญของบ้านเมืองมาหลายครั้ง

เท่าที่ฉันเล่ามาก็เป็นรายละเอียดเพียงคร่าวๆ เท่านั้นเอง ถ้าอยากรู้ลึกกว่านี้ก็ขอเชิญเข้าไปชมภายในวังเทวะเวสม์ ซึ่งได้ทำเป็นห้องจัดแสดงถาวรไว้สองห้องด้วยกัน โดยห้องแรกคือ ห้อง "เทพสถิตย์สถาพร" ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติของพระองค์ไว้

เมื่อเข้ามาในห้องนี้ สิ่งแรกที่จะเห็นก็คือ พระรูปหินอ่อน ซึ่งเป็นของรูปสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการขนาดครึ่งพระองค์ พระรูปหินอ่อนนี้ได้มาจากประเทศอังกฤษ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปในร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษ

ในห้องนี้ มีพระราชประวัติของพระองค์อย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่พระเชษฐา พระขนิษฐา และพระอนุชาร่วมพระชนนีเดียวกันมีพระองค์ใดบ้าง แผนผังราชตระกูลนี้ทำให้ฉันเข้าใจว่า ทำไมสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจึงมีศักดิ์เป็นพระมาตุลา (ลุง) ของของรัชกาลที่ 6 ทั้งที่ทรงเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 5 นั่นก็เพราะว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระมเหสีของรัชกาลที่ 5 นั้นทรงเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการนั่นเอง

นอกจากนั้น ก็ยังมีพระราชประวัติตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ รวมทั้งการศึกษาที่พระองค์ได้รับ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการต่างประเทศ ทั้งที่พระองค์มิได้ทรงไปเรียนยังต่างประเทศเลย แต่ได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างประเทศจนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี จนทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงใช้สอยพระองค์ในงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษต่างๆ

ที่มาของการยกย่องพระองค์ให้เป็น "พระบิดาแห่งการต่างประเทศ" นั้น เริ่มตรงที่พระองค์ได้ทรงงานเกี่ยวกับการต่างประเทศเป็นอย่างแรก ก็คือการได้รับตำแหน่งเป็น "ไปรเวตสิเกรตารีฝรั่ง" (Private Secretary) หรือราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศในรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเป็นผู้กราบบังคมทูลให้มีการตั้งราชทูตไทยไปประจำในต่างประเทศโดย เริ่มที่อังกฤษเป็นประเทศแรก โดยเมื่อก่อนที่ยังไม่มีราชทูตไปประจำอยู่นั้น ก็ต้องใช้วิธีแต่งราชทูตพิเศษออกไปเจรจาเป็นครั้งคราวเมื่อมีปัญหา

และเมื่อพระองค์มีพระชันษาเพียง 27 ปี ก็ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ โดยถือว่าเป็นเสนาบดีพระองค์แรกที่รู้ภาษาต่างประเทศ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ถือเป็นพระกรุณาธิคุณแก่ประชาชนไทยรุ่นหลัง ยิ่งนัก ก็คือเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งมีกรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามและฝรั่งเศส เหตุการณ์นั้นทำให้ประเทศเราต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป การเจรจาของพระองค์ทรงช่วยให้ประเทศสยามในขณะนั้นไม่เสียเอกราชโดยที่ยอม เสียพื้นที่ส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่เอาไว้

และเมื่อมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการก็ยังคงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอยู่ เช่นเดิม และทรงได้รับการนับถือว่าเป็นหลักในราชการแผ่นดินรองจากพระเจ้าอยู่หัวเลยที เดียว และในสมัยนี้ก็มีเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามสงบ ปรากฏว่าเราอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ชนะสงคราม พระองค์จึงถือโอกาสนี้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่ประเทศเสียประโยชน์ นับว่าเป็นพระปรีชาสามารถของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการที่ทรงถวายความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เป็นอย่างมาก

และด้วยการที่ทรงปฏิบัติรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงสร้างวังเทวะเวสม์พระราชทานแก่สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ โดยวังเทวะเวสม์นี้สร้างเสร็จในปี 2461 พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นวังพร้อมกับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 ปีไปพร้อมๆ กันด้วย

ว่ากันด้วยเรื่องประวัติของท่านเจ้าของวังมาเสียยาว คราวนี้มาดูกันเกี่ยวกับเรื่องของตัววังกันบ้างดีกว่า ไปดูกันที่ “ห้องบุราณสถานบูรณะ” นั้น เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับเรื่องราวของการบูรณะวังทั้งสองใน ความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย อันได้แก่ วังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์แล้ว ทายาทของพระองค์ได้ขายวังแห่งนี้ให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นที่ทำ การ และต่อมากระทรวงสาธารณสุขจะย้ายสถานที่ จึงได้ขายวังแห่งนี้ต่อให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งรับเป็นผู้บูรณะวังเทวะเวสม์แห่งนี้ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ.2530

ในห้องบุราณสถานบูรณะนี้ได้จัดแสดงประวัติของวัง รวมทั้งขั้นตอนในการบูรณะ ปัญหา รวมทั้งวิธีการซ่อมแซมให้ดูอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมหลังคา ผนัง ประตูหน้าต่าง หรือแม้กระทั่งการซ่อมสี ซึ่งฉันว่าเป็นความรู้มากๆ เลยทีเดียว

นอกจากสองห้องจัดแสดงหลักนี้แล้ว ภายในวังเทวะเวสม์ก็ยังได้คงบรรยากาศในบางห้องไว้แบบเดิม เช่น ในห้องเทวะวงศ์วิศิษฎ์ในชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องที่ทรงใช้ต้อนรับแขกข้าราชบริพาร หรือห้องเทพไท้ประทานพร ในชั้นที่สอง ก็เป็นห้องที่ใช้ต้อนรับแขกผู้ใหญ่เช่นพระเจ้าแผ่นดิน

ตามความคิดของฉันนั้น วังแห่งนี้อาจจะไม่ใช่วังที่ใหญ่โต หรือเป็นวังที่งดงามเหนือกว่าวังอื่นๆ ก็จริง แต่วังแห่งนี้นี่แหละ เป็นสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องราวของเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งทำงานเพื่อประเทศชาติตลอดมา จนกลายเป็นบุคคลสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้เอาอย่าง และสรรเสริญถึงความดีงามของพระองค์ตลอดไป

วังเทวะเวสม์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลา 09.00-16.00 น. ผู้เข้าชมต้องมาเป็นหมู่คณะ และติดต่อเข้าชมล่วงหน้า ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-22835286, 0-2283-6723

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เที่ยววัด “แม่นาค” รำลึกตำนานรักอมตะ


พี่มากขาาาา.....

ฉันเชื่อว่า หลายๆ คนที่เคยได้ยินได้ฟังประโยคอมตะอย่าง“พี่มากขาาาา.....” นอกจากจะออกอาการขนลุกแล้ว คงจะอดนึกถึงหนังผีไทยน่าสะพรึงขวัญ เรื่อง“แม่นาคพระโขนง”ไม่ ได้ ซึ่งนอกจากหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังผีที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศขนหัวลุกแล้ว หนังเรื่องแม่นาคพระโขนง ยังเป็นตำนานความรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้ชมอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้

และเนื่องในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ฉันจึงถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมเหมาะเจาะในการไปเยือนยัง “วัดมหาบุศย์” หรือที่มักนิยมเรียกกันอย่างติดปากว่า “วัดแม่นาคพระโขนง” เหตุที่เรียกเช่นนี้ เพราะภายในวัดมหาบุศย์ มีศาลแม่นาค หรือ “ย่านาค” ตั้งอยู่ ผู้คนจึงพากันเรียกว่า วัดแม่นาคพระโขนง

เล่ากันว่า วัดมหาบุศย์ เป็นวัดราษฎร์ที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2305 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย พระมหาบุตร วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติโยมของท่านในคลองพระโขนง ชาวบ้านรู้ข่าวจึงได้นิมนต์ให้อยู่ และนำสร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า “วัดมหาบุศย์” ตามชื่อของท่าน และยังเป็นวัดที่มีส่วนเกี่ยวพันกับหนังผีคู่เมืองไทยอย่างเรื่องแม่นาค พระโขนงอีกด้วย

เมื่อฉันมาถึงยังวัดมหาบุศย์ ฉันเห็นป้ายชี้ทางไปยังศาลย่านาค จะใช้ชื่อ แม่นาค หรือ ย่านาค ก็เหมือนกัน แต่คนแถวนี้เขานิยมเรียกว่า ย่านาค ซึ่งศาลนี้เองเป็นเหมือนจุดมุ่งหมายของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคู่รัก และสำหรับฉัน...ที่นั่นก็เป็นหนึ่งในจุดหมายของการมายังวัดนี้เช่นกัน ก็จะปฏิเสธได้อย่างไร ในช่วงนี้เป็นเทศกาลแห่งความรัก ใครๆ ก็อยากขอพรกันทั้งนั้น

แต่ก่อนที่จะไปยังศาลย่านาค ฉันขอเข้าไปกราบขอพรจากหลวงพ่อยิ้ม ใน “วิหารหลวงพ่อยิ้ม” เสียก่อน เพราะอยู่ตรงด้านหน้าวัด วิหารนี้เป็นวิหารเล็กๆ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อยิ้ม ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ฉันสังเกตว่า คนที่มากราบไหว้หลวงพ่อยิ้มมักจะเสี่ยงเซียมซีควบคู่ไปด้วย ฉันเองก็เลยไม่พลาดขอตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงโชคกับเขาบ้าง ปรากฏว่า ผลออกมาดีทำให้ฉันยิ้มหน้าบานมีกำลังใจขึ้นมาอย่างฉับพลันเลยทีเดียว

และที่ฉันสังเกตเห็นอย่างขำๆ อีกอย่าง ก็คือ ไม่ใช่แต่คนเท่านั้นที่มากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อยิ้ม แม้แต่แมวเหมียวก็เข้าไปนั่งตั้งจิตอธิษฐานอยู่ข้างๆ หญิงสาวที่มานมัสการหลวงพ่อ หลังจากที่หญิงคนนั้นลุกออกมา แมวตัวนั้นก็เดินเนิบๆ ออกมาด้วย จากภาพที่เห็นมันช่างเป็นความบังเอิญที่ดูน่ารักน่าขันยิ่งนัก เอ..หรือจะเป็นเรื่องจริง ฉันก็ไม่อาจรู้ได้

ถัดจากวิหารหลวงพ่อยิ้มไปเป็น “อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม” ภาย ในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่กลางแจ้งแต่มากด้วยร่มไม้ทำให้ดูร่มรื่นสบายตา ฉันแวะไหว้เจ้าแม่ พร้อมทั้งท่องบทบูชาเจ้าแม่กวนอิมที่แปะอยู่ตรงหน้า แต่เพราะภาษาเป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาจีน ฉันจึงต้องผันวรรณยุกต์ ตัวสะกดกันจนหน้ามืด

หลังจากพยายามอ่านบทบูชาอยู่นานสองนาน ฉันก็เดินต่อไปยังโบสถ์ แต่ระหว่างทางฉันสังเกตเห็นสวนหย่อมเล็กๆ ข้างทางมีตุ๊กตาปูนปั้นน่ารักๆ อยู่มากมาย เมื่อฉันเดินไปใกล้ๆ ก็ได้ยินคุณยายเล่าให้หลานสาวตัวเล็กๆ ที่พามาเดินเล่นในวัด ว่า “..ตัวสีดำนี้คือเจ้าเงาะ และนางรจนา..” พร้อมทั้งเล่านิทานตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่

ฉันอมยิ้มด้วยความอิ่มเอมใจ เพราะสวนเล็กๆ ที่เห็นนั้นเป็นเหมือน “สวนเล่าเรื่อง” ที่ มีทั้งเจ้าเงาะป่าตัวดำ กับนางรจนา ชูชก กับกัณหา-ชาลี ตอนที่ กัณหา-ชาลี หลบชูชกอยู่ใต้ใบบัวในสระ หรือจะเป็นสังข์ทอง พระอภัยมณี และยังมีรูปปั้นการละเล่นไทยๆ เช่น งูกินหาง เป่าหนังยาง อีกด้วย

จากสวนเล่าเรื่อง ฉันไปหยุดยังหน้าโบสถ์ เพราะไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ เนื่องจากทางวัดไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้า จะเปิดก็แต่เมื่อเวลาพระท่านทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เท่านั้น ฉันก็ได้แต่ยืนพนมมือสาธุอยู่ข้างนอกประตูโบสถ์ เพราะฉันถือว่า ไหว้พระอยู่ที่ใจ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไหว้ได้ แต่ถ้าให้ดีเข้าไปนั่งสงบจิตสงบใจอยู่ในวัดก็จะทำให้จิตเราสงบและมีสมาธิมาก ขึ้น

ถัดจากโบสถ์ ฉันเดินตามป้ายบอกทางเข้าไปยังริมน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งมี “ศาลย่านาค” ตั้งอยู่ เมื่อฉันเข้ามาถึงเห็นผู้คนมากมายมาจุดธูปจุดเทียนขอพรจากย่านาค ส่วนมากจะเป็นเด็กหญิงรุ่นๆ ที่มาเป็นคู่ชายหญิงก็มีให้เห็นเหมือนกัน อาจจะเพราะช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลแห่งความรัก ก็ได้กระมัง จึงได้เห็นวัยรุ่นหนุ่มสาวมากราบไหว้ขอพรกันอย่างหนาตา

ผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกที่พันอยู่รอบต้นไม้อย่างหนาแน่น ชุดไทย ชุดเด็ก ของเล่นเด็ก รวมถึงรูปวาดแม่นาค มีให้เห็นมากมายภายในศาลย่านาคแห่งนี้ เท่าที่ฉันได้พูดคุยกับเด็กๆ วัยรุ่นที่มาขอพรจากย่านาค เด็กๆ บอกว่า นอกจากศาลย่านาคแห่งนี้แล้วข้างๆ ยังมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองอยู่ด้วย คนที่มาจะนิยมมาขอพรในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องการงาน การเรียน โชคลาภ แต่ที่โดดเด่นก็คงจะเป็นเรื่องของความรัก เพราะตามตำนานเรื่องแม่นาคพระโขนงเขาเล่ากันมาว่า...

ที่ริมคลองวัดมหาบุศย์ มีเรือนหลังเล็กๆ ไกลผู้คน ชาวบ้านต่างรู้จักกันดีว่า นี่คือ เรือนของแม่นาคกับทิด มาก แม้ว่าจะยากจน แต่ว่าก็เป็นคู่ผัวเมียที่รักกันมาก ในช่วงที่แม่นาคตั้งท้อง บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ทิดมากถูกเรียกไปเป็นทหารเกณฑ์ ยังไม่ทันพ้นทหารกลับมานางนาคต้องมาสิ้นใจตายทั้งกลม!! เพราะทนความเจ็บปวดจากการคลอดลูกไม่ไหว เมื่อตายแล้วพวกชาวบ้านช่วยกันเอาศพของนางไปฝังไว้ที่ใต้ต้นตะเคียนคู่ แต่ด้วยความรักผัว จึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด เฝ้ารอวันที่ผัวจะกลับมา

จากนั้นก็มักจะมีคนเห็นว่า นางนาคออกมาสำแดงตนให้เห็นอยู่บ่อยๆ บางทีก็เห็นมาผูกเปลกับต้นตะเคียนคู่ แล้วจะเห่กล่อมลูกด้วยเสียงที่โหยหวน ชาวบ้านพากันหวาดกลัวผีแม่นาคเป็นอันมาก จนเมื่อถึงวันที่ทิดมากได้กลับมาบ้านเห็นแม่นาคนั่งกล่อมลูกอยู่ที่ชานหน้า บ้าน ด้วยความดีใจรีบวิ่งไปหาลูกเมีย แต่ก็ต้องสะดุ้งเมื่อตัวของนางนาคเย็นผิดปกติ แม่นาคเหมือนจะอ่านใจผัวออก รีบยกสำรับข้าวปลาอาหารออกมารับขวัญ

และตั้งแต่นั้นมาทิดมากกับนางนาค ก็อยู่กินกันตามปกติเหมือนเดิม แม้จะมีชาวบ้านแอบมาบอกว่า นางนาคตายแล้วทิดมากก็ไม่ยอมเชื่อ และยังตามหลอกหลอนผู้ที่มาบอกความจริงกับผัวของตน จนกระทั่งวันหนึ่งทิดมากนั่งอยู่ใต้ถุนบ้าน ส่วนนางนาคก็กำลังทำกับข้าวตำน้ำพริกอยู่ในครัวบนเรือน เผอิญทำมะนาวหลุดมือหล่นไปใต้ถุนบ้าน นางนาครีบหย่อนมือที่ยาวเฟื้อยผิดจากปกติลงไปเก็บด้วยความรวดเร็ว ทิดมากเห็นดังนั้นก็ตกใจมากจนหนีไปพึ่งวัด

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ท่านรู้ข่าวการอาละวาดของผีแม่นาค ซึ่งก่อความหวาดกลัวและเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก แม้แต่หมอผีเก่งๆ ก็ยังพ่ายแพ้ ท่านจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ และเรียกนางนาคขึ้นมาคุยกัน ผลสุดท้ายท่านเจาะเอากระดูกหน้าผากของนางมาลงยันต์ และทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ผีนางนาคก็ไม่ออกมาอาละวาดอีกเลย

จากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ประทานกระดูกหน้าผากนางนาคให้กับหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) เก็บรักษาไว้ และต่อมาก็ได้ประทานต่อให้ หลวงพ่อพริ้ง (พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์) อีกต่อ จนมาถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไม่นานนักแม่นาคก็มากราบลา จากนั้นก็ไม่มีใครพบกระดูกหน้าผากของแม่นาคอีกเลย

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ตำนานแม่นาคพระโขนงที่เล่าต่อๆ กันมา ส่วนจะมีจริงหรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ และใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ที่ตำนานแม่นาคพระโขนงคงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ได้ นอกจากเรื่องชวนขนหัวลุกแล้ว ตำนานแห่งความรักที่มั่นคงของแม่นาคต่อทิดมากนั้นถือเป็นหนึ่งในตำนานรัก อมตะของเมืองไทยที่น่าเทิดทูนยกย่องเป็นอย่างยิ่ง

...ความตายแม้พรากจาก แต่ความรักของแม่นาคยังคงอยู่เป็นนิรันดร์...

วัดมหาบุศย์ 749 หมู่ที่ 11 ซ.อ่อนนุช 7 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250 การเดินทางสามารถลงรถไฟฟ้าสถานีอ่อนนุช แล้วเดินย้อนขึ้นไปปากซอยอ่อนนุชประมาณ 400 เมตร จากปากซอยอ่อนนุช เข้าไปประมาณ 500 เมตร ถึงซอยอ่อนนุช 7 ปากซอยจะมีป้ายวัดมหาบุศย์ เดินเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร ถึงวัดมหาบุศย์ โทร.0-2311-3636, 0-2311-2183

เที่ยวไปกับจักรยาน…ตะลุยย่านบางมด


การเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ นั้นก็มีหลายแบบ จะนั่งรถเมล์เที่ยวก็ได้ นั่งเรือเที่ยวก็เย็นสบายดี หรือจะเดินเท้าท่องเที่ยวก็ได้ใกล้ชิดธรรมชาติไม่น้อย แต่สำหรับทริปนี้ฉันจะขอเปลี่ยนบรรยากาศมาลองขี่จักรยานเที่ยวดูบ้าง เพราะนอกจากจะไม่ใช่ใช้น้ำมันแล้วยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ขี่ไป ชมวิวไป หากเหนื่อยนักก็พักเสียก่อนไม่ได้เร่งรีบร้อนรนไปไหน

ยิ่งเมื่อทางกองการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ กับกรุงเทพมหานคร ได้ทำเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยวย่านบางมดเพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย เมื่อมีโอกาสเหมาะฉันจึงไปยืมจักรยานเพื่อนมาปั่นกินลมชมวิวร่วมกับสมาชิก นักปั่นจำนวนหนึ่ง

การขี่จักรยานนั้นแน่นอนว่าจะได้รับสายลมแสงแดดอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเตรียมตัวก่อนไปขี่จักรยานนั้นก็คือต้องเตรียม เสื้อผ้าให้เหมาะสม ควรเป็นเสื้อแขนยาวที่ระบายความร้อนได้ดี เพื่อป้องกันแสงแดดและทำให้เราไม่ร้อนจนเกินไป กางเกงที่ใส่หากเป็นกางเกงสำหรับขี่จักรยานโดยเฉพาะก็จะดีมาก เพราะจะทำให้ขี่ได้นานโดยไม่เมื่อย สวมหมวกกันแดดอีกใบ จากนั้นก็เตรียมไปลุยย่านบางมดกันได้เลย

เราเริ่มต้นขี่จักรยานจากสวนธนบุรีรมย์ใน ตอนเช้าที่อากาศกำลังดี วิ่งไปตามถนนพุทธบูชา มุ่งหน้าไปที่ซอยประชาอุทิศ 69 มาดูฟาร์มแพะกันก่อนเป็นที่แรก น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ในกรุงเทพฯ จะมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่จริงๆ แล้วน่าจะอยู่ตามชานเมืองหรือที่ต่างจังหวัดมากกว่า ส่วนเหตุที่มีฟาร์มแพะอยู่ในแถบนี้ก็เนื่องจากว่าชาวชุมชนในย่านนี้เป็นชาว ไทยอิสลามอยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น จึงนิยมเลี้ยงแพะไว้กินเนื้อแทนหมูนั่นเอง

ที่นี่มีฟาร์มแพะอยู่ถึง 2 ฟาร์มด้วยกัน และฟาร์มแห่งแรกที่ฉันแวะมาเยือนเป็นแห่งแรกนี้ก็เป็นฟาร์มแพะเนื้อ ที่บรรดาผู้เลี้ยงแพะมารวมตัวกันในชื่อว่า "กลุ่มเกษตรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ" ซึ่งก็มีทั้งแพะและแกะมาเลี้ยงรวมกัน ฉันเองก็ไม่ค่อยจะได้คลุกคลีสัมผัสกับสัตว์ประเภทนี้สักเท่าไร แต่มาวันนี้ก็ได้มาใกล้ชิดถึงขนาดได้ "จับแพะ" (แบบที่ตำรวจชอบทำ) จึงได้รู้ว่าแพะนี่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงเชื่องๆ ที่น่ารักไม่ใช่น้อย แต่ก็น่าสงสารที่บรรดาแพะเหล่านี้จะต้องถูกกิน

นอกจากจะได้ชมและจับแพะแล้ว ที่นี่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแพะๆ มาขาย ทั้งสบู่ ครีมอาบน้ำ โลชั่นบำรุงผิว และครีมหน้าขาวที่ทำมาจากนมแพะ ถ้าอยากลองว่าผลิตภัณฑ์จากแพะใช้ดีแค่ไหนก็ลองมาซื้อกันได้ที่นี่

จากฟาร์มแพะเนื้อ มาที่ฟาร์มแพะนมบ้าง ฟาร์มที่นี่ชื่อว่า "ซาอุดี้ฟาร์ม" มีแพะอยู่มากกว่า 300 ตัว อยู่รวมกันในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ที่กั้นแบ่งเป็นคอกๆ ส่วนมากเป็นแพะสีขาวสะอาด มีทั้งแม่แพะและลูกแพะอยู่ในคอกเดียวกัน

นมแพะนี้เขาว่ามีประโยชน์มาก มีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับน้ำนมคน และดูดซึมสู่ร่างกายได้ง่ายกว่านมวัว แถมยังมีเอนไซม์ วิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยปรับระดับไขมันในเลือด และรักษาโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย ว่าแล้วก็ดื่มนมแพะจากฟาร์มซักขวดหนึ่งดีกว่า

ได้นมแพะเพิ่มพลังทำให้มีแรงขี่จักรยานเต็มร้อย ฉันปั่นต่อยัง "วัดพุทธบูชา" เพื่อแวะไหว้พระ สำหรับวัดแห่งนี้มีประวัติการสร้างอยู่ว่า นายเล็กและนางทองคำ เหมือนโค้ว เป็นผู้ยกที่ดินให้สร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ.2497 ฉันเลี้ยวรถเข้าไปในบริเวณวัดเพื่อแวะไปไหว้พระประธานในโบสถ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิษณุโลกมาเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพุทธบูชา แห่งนี้

ได้พักไหว้พระสบายๆ แล้วก็อย่าลืมเดินไปด้านหลังโบสถ์ซึ่งอยู่ติดกับคลองบางมด ในคลองแห่งนี้เต็มไปด้วยปาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ฯลฯ ใครอยากทำบุญให้อาหารปลาที่นี่ต่อก็ได้ โดยที่ท่าน้ำวัดพุทธบูชานี้สามารถนั่งเรือหางยาวชมทัศนียภาพสองฝั่งคลอง บางมดได้ หรือจะนั่งยาวไปออกที่ชายทะเลกรุงเทพฯ ก็ยังได้ด้วย

แต่ตอนนี้ฉันยังไม่อยากนั่งเรือ จึงขอเดินทางด้วยจักรยานต่อไปที่ "วัดยายร่ม" เอ... ยายร่มนี่เป็นใครกันหนอ ถ้าอยากรู้ต้องรีบๆ ปั่นไปดูแล้วล่ะ แต่ระยะทางจากวัดพุทธบูชาไปที่วัดยายร่มนี่ไกลพอดูเชียวล่ะ เพราะฉะนั้น ก้มหน้าก้มตาปั่นกันต่อไปดีกว่า

ไม่นานเราก็เดินทางมาถึงวัดยายร่มจนได้ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว คือสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2365 เดิมมีชื่อว่าวัดจุฬามณี แต่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อตามชื่อคนสร้าง ก็คือยายร่มซึ่งเป็นชาวบางมดนี่เอง วัดแห่งนี้แม้จะเป็นวัดเก่าแก่แต่ก็ไม่เหลือสิ่งก่อสร้างเก่าๆ แล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น โบสถ์ของวัดยายร่มนั้นมีความงดงามแปลกจากวัดอื่นๆ โดยพระครูโสภิตบุญญาทร เจ้าอาวาสวัดได้นำรูปแบบงานแกะสลักไม้แบบล้านนามาใช้แทนการวาดจิตรกรรมฝา ผนัง โดยได้นำช่างจากอำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่มาเป็นผู้แกะสลัก

ไม้ที่นำมาแกะสลักนั้นก็คือไม้สัก แต่ละแผ่นนั้นก็ต้องใช้เวลาและความประณีตเป็นอย่างมาก บางแผ่นใช้เวลาถึง 6 เดือนเลยทีเดียว และเมื่อแกะเสร็จแล้วไม้จำหลักเหล่านั้นก็ถูกนำมาติดไว้ภายในโบสถ์ทั้งหลัง จึงนับว่าเป็นโบสถ์ที่งดงามและน่าสนใจอีกหลังหนึ่งของเขตจอมทอง

และในบริเวณวัดยายร่มนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตจอมทอง" อีกด้วย ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะบอกถึงเรื่องราวต่างๆ ในเขตจอมทองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการขุดคลองด่าน ขึ้นในเขตจอมทอง ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนี้ผูกพันกับคลองมาเป็นเวลานาน

พิพิธภัณฑ์นี้ยังทำให้ฉันรู้ว่า วิถีชีวิตของชาวชุมชนเขตจอมทองนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบอาชีพทำสวน โดยสวนส้มบางมดนั้นถือเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อดังที่เคยได้ยินชื่อเสียงกันมาเป็น เวลานานแล้ว แม้ว่าจะมีบางช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจนทำให้สวนส้มบางมดแทบจะสูญพันธุ์ ไป แต่ปัจจุบันก็ได้มีการปลูกส้มบางมดขึ้นในหลายพื้นที่เพื่อให้ชาวสวนส้มรักษา พันธุ์ส้มของตนเอาไว้

และนอกจากการทำสวนแล้ว ในเขตจอมทองนี้ก็ยังเคยมีการปลูกข้าวอีกด้วย เรียกว่าเป็นนาสวน คือปลูกข้าวไว้ในร่องสวนเพื่อกินเองในครอบครัว ไม่เสียพื้นที่ว่างในสวนแถมยังมีข้าวกินอีกต่างหาก แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีนาข้าวในเห็นแล้วล่ะ ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเขตจอมทองมากกว่านี้ก็ต้องมาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์นี้เองเสียแล้ว

มาปิดเส้นทางขี่จักรยานกันที่ "วัดหลวงพ่อโอภาสี" ในซอยพุทธบูชา 39 หลวงพ่อโอภาสีนี้เป็นพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปเป็น อย่างมาก ท่านบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยการเพ่งพระอาทิตย์ บูชาไฟเพื่อทำเตโชกสิณ เล่ากันว่าท่านนำข้าวของทั้งหลายที่ญาติโยมถวายมาเผาไฟ เพื่อแสดงถึงการตัดกิเลสทั้งหลาย เพราะท่านถือว่า จิตใจของมนุษย์นั้นถูกเผาผลาญด้วยไฟราคะแห่งกิเลสซึ่งไม่สามารถต้านทานได้ นอกจากจะกลายเป็นเถ้าถ่าน มีเพียงการตายเท่านั้นจึงจะหลุดพ้น

แต่เดิมนั้นหลวงพ่อโอภาสีอาศัยอยู่ที่วัดบวรนิเวศ และได้เดินทางมาแสวงหาที่สงบปฏิบัติธรรมที่ละแวกนี้ เมื่อก่อนนี้คนเรียกวัดหลวงพ่อโอภาสีว่าสวนอาศรมบางมด จนเมื่อได้มีการออกประกาศจัดตั้งให้เป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2536 นี้เอง

สำหรับตัวหลวงพ่อนั้นได้มรณภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย และยังเก็บไว้ให้ผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้กัน โดยอยู่ภายในองค์เจดีย์หลวงพ่อโอภาสีนั่นเอง และมีประชาชนเดินทางมาบูชาถึงที่วัดเป็นจำนวนมาก

ฉันจบเส้นทางขี่จักรยานด้วยร่างกายที่ค่อนข้างระบมเนื่องจากไม่ได้ ออกกำลังกายบ่อยนัก แต่ก็เชื่อว่าถ้าได้ขี่จักรยานบ่อยๆ เข้าก็ สิ่งหนึ่งที่จะได้แน่ๆ ก็คือร่างกายที่แข็งแรง และก็จะได้ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในอีกบรรยากาศหนึ่งที่สนุกสนานไม่น้อยเลยทีเดียว

สอบถามเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยวครั้งหน้าได้ที่ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612 ถึง 4

เที่ยว“วัดหมู”ดูพระประธาน 28 องค์แห่งเดียวในเมืองกรุงฯ


หลังจากที่ได้รู้จักกับเรื่องหมูๆ ในกรุงเทพฯ กันไปในตอนที่แล้ว วันนี้ฉันยังเหลืออีกหนึ่ง “หมู” ที่ยังไม่ได้แนะนำให้รู้จักกัน นั่นก็คือ “วัดหมู” หรือ “วัดอัปสรสวรรค์” นั่นเอง

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยใดนั้นยังไม่สามารถระบุหลัก ฐานที่แน่ชัดได้ รู้แต่สาเหตุที่เรียกวัดนี้ว่าวัดหมูนั้นก็เนื่องจากว่า ผู้สร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวจีนชื่ออู๋ มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อมีวัดแล้วหมูเหล่านั้นก็มาเดินเพ่นพ่านเต็มลานวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหมูกันมาตั้งแต่นั้น แม้ภายหลังไม่มีหมูมาเดินแล้วก็ยังเรียกกันว่าวัดหมูต่อมา

ภายหลังจากที่จีนอู๋สร้างวัดนี้ขึ้นแล้ว เวลาล่วงไปวัดก็ทรุดโทรมลงไปตามกาล จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัว เพื่อปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้ง วัด

และหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มอีก และในครั้งนั้นก็ได้พระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดอัปสรสวรรค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง และในการบูรณะครั้งนี้ ทำให้วัดอัปสรสวรรค์ กลายมาเป็นวัดที่มีความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทย

ฉันไปถึงวัดอัปสรสวรรค์ในตอนสายๆ ภายในวัดค่อนข้างเงียบผู้คนบางตา ไม่คึกคักเหมือนกับวัดข้างเคียงอย่างวัดปากน้ำภาษีเจริญที่มีคนแวะเวียนไป มากมายทุกวัน

เมื่อฉันไปถึง อย่างแรกที่ทำก็คือเข้าไปกราบพระในพระอุโบสถก่อนเป็นอย่างแรก พระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์นี้ขนาดไม่ใหญ่โตนัก สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมีลายประดับปูนปั้นแบบจีน กล่าวกันว่าสร้างคล้ายกับที่วัดราชโอรสารามฯ วัดประจำรัชกาลที่ 3

สำหรับความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทยของวัดหมูนั้นอยู่ภายในพระ อุโบสถ นั่นก็คือ แทนที่พระประธานจะมีเพียงองค์เดียวเหมือนกับโบสถ์วัดอื่นๆทั่วไป แต่ภายในอุโบสถนี้ก็กลับมีพระประธานอยู่มากถึง 28 องค์ด้วยกัน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้ รัชกาลที่ 3 เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

เหตุที่สร้างพระพุทธรูปมากถึง 28 พระองค์ ก็เพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภาพต่างๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ ได้แก่ พระพุทธตัณหังกร พระพุทธเมธังกร พระพุทธสรณังกร พระพุทธทีปังกร พระพุทธโกณฑัญญะ พระพุทธสุมังคละ พระพุทธสุมนะ พระพุทธเรวตะ พระพุทธโสภิตะ พระพุทธอโนมทัสสี พระพุทธปทุมะ พระพุทธนารทะ พระพุทธปทุมุตตระ พระพุทธสุเมธะ พระพุทธสุชาตะ พระพุทธปิยทัสสี พระพุทธอัตถทัสสี พระพุทธธรรมทัสสี พระพุทธสิทธัตถะ พระพุทธติสสะ พระพุทธปุสสะ พระพุทธวิปัสสี พระพุทธสิขี พระพุทธเวสสภู พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ และพระพุทธโคตมะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวของพระองค์

พระพุทธรูปทั้ง 28 พระองค์นี้ เป็นปางมารวิชัย หล่อขึ้นให้มีขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงตั้งลดหลั่นกันลงมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมงดงามแปลกตาไม่มีวัดไหนใน ประเทศไทยและวัดไหนในโลกจะมีเหมือน และถ้าอยากจะรู้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหนก็ดูได้จากตัวอักษรจารึกพระนามอยู่ที่ ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์ แต่จะไปชะเง้อชะแง้หรือปีนป่ายดูก็ใช่ที่ เอาเป็นว่าฉันจะบอกให้ว่าองค์ที่อยู่ด้านบนสุดนั้นคือพระพุทธเจ้าองค์แรก หรือพระพุทธตัณหังกร ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าสุดของแถวล่างก็คือ พระพุทธโคตมะ หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั่นเอง

และด้วยความที่วัดแห่งนี้เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีพระประธาน 28 พระองค์ ที่วัดนี้จึงมีบทสวดมนต์พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ซึ่งเป็นบทสวดมนต์เฉพาะของวัดอัปสรสวรรค์ ซึ่งจะใช้สวดทุกครั้งที่ทำวัตรเช้าเย็น และจะเพิ่มบทสวดนี้เป็นกรณีพิเศษด้วยในการสวดมนต์ในพิธีการต่างๆ

ด้วยความพิเศษที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเช่นนี้ พระพุทธรูปประธาน 28 องค์ ในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์จึงถูกยกย่องให้เป็น “อันซีน บางกอก” ไปด้วยประการฉะนี้
ส่วนที่ตั้งอยู่ข้างๆ พระอุโบสถนั้นก็คือพระวิหาร เป็นศิลปะแบบจีนเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธรูปอยู่สององค์ เป็นพระปางมารวิชัยทั้งสององค์ และในภายหลังได้มีผู้มาสร้างรูปหล่อนางสุชาดา กำลังถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้าด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพระวิหารวัดอัปสรสวรรค์ก็คือภาพ ทวารบาลที่ประตูวิหาร ซึ่งเขียนลงรักปิดทองเป็นรูปนางฟ้ากำลังเพลิดเพลินอยู่ในสระบัว ดูอ่อนช้อยงดงามสมกับชื่อวัดอัปสรสวรรค์ ต่างจากวัดอื่นๆ ที่มักทำเป็นรูปเทวดาหรือทหารที่ดูขึงขังมากกว่า

และระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารนั้น เป็นที่ตั้งของพระมณฑปสีขาวองค์ไม่ใหญ่นัก แต่ภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางฉันสมอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่าได้มาจากเวียงจันท์ ซึ่งอัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับพระบรมธาตุ พระบาง และพระแซกคำ

พระพุทธรูปปางฉันสมอนี้ปางคนอาจจะยังไม่คุ้นหูนัก ฉันจึงอยากขออธิบายถึงที่มาหน่อยหนึ่งว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข หรือตรัสรู้ได้ 7 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารเลย ท้าวสักกอมรินทราธิราชจึงได้นำผลสมอ หรือลูกสมอซึ่งเป็นทิพย์โอสถไปถวาย พระพุทธจริยาที่เสวยผลสมอนั้นจึงถูกนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางฉันสมอนั่น เอง

แต่พระพุทธรูปปางฉันสมอในพระมณฑปนี้ เจ้าอาวาสได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้บนกุฏิ และได้นำองค์จำลองมาประดิษฐานไว้แทนเพื่อความปลอดภัย

จากนั้นฉันเดินข้ามถนนสายเล็กๆ ภายในวัดมาหยุดยืนอยู่ที่หน้าหอไตรเก่าแก่กลางน้ำของวัด หอไตรแห่ง นี้สร้างอยู่กลางสระน้ำเพื่อป้องกันมอดปลวกจะมากัดแทะหนังสือเสียหาย พูดถึงลวดลายของหอไตรแห่งนี้แล้วก็สวยงามมากทีเดียว ฝาผนังประดับกระจก ส่วนบานประตูและหน้าต่างก็เขียนด้วยลายรดน้ำ แม้จะดูเก่าแก่ไปมากแต่ก็ยังคงความสวยงามให้เห็น โดยหอไตรนี้ยังเป็นต้นแบบของ “หอเขียน” ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดอีกด้วย

นอกจากนั้น บริเวณด้านหน้าของพระอุโบสถและพระวิหาร ก็ยังมีพระปรางค์องค์สูงใหญ่ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่ สร้างขึ้นคู่กับวัด พระปรางค์องค์นี้มีความสูงประมาณ 15 วา และใกล้ๆ กันนั้น ก็เป็นศาลาท่าน้ำริมคลองด่าน ที่สามารถซื้อขนมปังให้อาหารปลาตรงนี้ก็ได้ หรือใครอยากจะยืนชมวิว ชมเรือหางยาวที่แล่นพานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศชมคลองก็ได้เช่นกัน

วัดอัปสรสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ 174 ถ.เทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160 พระอุโบสถและพระวิหารเปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2467-5392, 0-2458-0917

การเดินทาง สามารถนั่งรถประจำทางสาย 4, 9, 10, 175 มาจนสุดสาย จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร มีป้ายบอกทางไปจนถึงวัด

เที่ยวย้อนอดีต ที่ "บางลำพู"


แม้จะผูกพันและคุ้นเคยกับย่านบางลำพูมาช้านานเพราะที่ทำ งานอยู่ใน ละแวกนี้ แต่จะว่าไปแล้วบางลำพูยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจให้เที่ยวชม ค้นหา ยิ่งได้คนเก่าคนแก่แห่งบางลำพูพาไปเที่ยวชม ดังเช่นทริปนี้ที่โชคดีมากๆเมื่อ คุณป้านิด อรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู ที่ผูกพันอยู่ในย่านนี้มานานถึง 74 ปี ขันอาสาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ พาฉันไปรู้จักกับบางลำพูแบบเจาะลึกมากไปด้วยความรู้และความเพลิดเพลิน

ป้านิดอุ่นเครื่องประเดิมทริปด้วยการเล่าถึงอดีตสมัยยังเด็กๆว่า “แต่ก่อนนี้บ้านป้าอยู่ริมน้ำ ตลอดแนวแม่น้ำมีต้นลำพูอยู่เยอะมาก ตกกลางคืนก็จะมีหิ่งห้อยมาเกาะมีแสงวับๆแวบๆ สมัยนั้นคนเขาพูดกันว่า เรือที่แล่นมาถึงแถวคุ้งน้ำตรงนี้ พอเห็นแสงหิ่งห้อยก็จะรู้แล้วว่ามาถึงบางลำพู”

ป้านิดรำลึกความหลัง ซึ่งด้วยความสมบูรณ์ของต้นลำพูในแถบนี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ที่ยุคสมัยหนึ่งมักมีการเขียนผิดเป็น “บางลำภู” ที่หากว่ากันตามศัพท์ “ลำภู” หมายถึง“ลำของภูเขา”แต่ในละแวกนี้มีแต่ลำน้ำเจ้าพระยาหาได้มีภูเขาแต่อย่าง ใดไม่ แต่ด้วยความที่ต้นลำพูค่อยๆเลือนหายไปเรื่อยๆตามกาลเวลา คนก็ยิ่งเขียนคำว่า “บางลำภู” กัน(ผิด)อย่างแพร่หลายมากขึ้น

กระทั่งในปี พ.ศ. 2540 อาจารย์สมปอง ดวงไสว อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดสังเวช ได้เขียนบทความ “ลำพูต้นสุดท้ายที่บางลำพู” เพื่อมายืนยันที่มาของชื่อ “บางลำพู” ซึ่งอาจารย์สมปองและชาวชุมชนบางลำพูได้ออกค้นหาจนค้นพบต้นลำพูต้นสุดท้าย ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณสวนสันติชัยปราการ ที่ปัจจุบันลำพูต้นนี้แตกลูกแตกหลานออกมาอีกจำนวนหลายต้น

หากจะว่าไปจริงๆแล้ว ลำพูต้นนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้สวนสันติชัยปราการถูกสร้างขึ้น เพราะนอกจากเรื่องราวของต้นลำพูต้นสุดท้ายจะเป็นที่รู้จักจากการนำเสนอออกไป ในสื่อต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงมีรับสั่งให้ทางราชการอนุรักษ์ต้นไม้ต้น นี้ไว้ให้ดีที่สุดอีกด้วย ดังนั้นทางกรุงเทพมหานครที่กำลังจะสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม จึงได้ทำประตูระบายน้ำเพื่อให้ระบบนิเวศน์ของต้นลำพูไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

นอกจากนั้น ทางราชการก็ยังได้เกิดความคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณต้นลำพูและป้อม พระสุเมรุ เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถวายแด่ในหลวงในวโรกาสที่พระองค์มีพระชนมายุ 72 พรรษา ใน ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งก็คือ “สวนสันติชัยปราการ” นั่นเอง

หลังป้านิดนวดความรู้ฉันด้วยที่มาอันถูกต้องของชื่อบางลำพูแล้ว คุณป้าพาฉันไปย้อนตำนานกับตลาดบางลำพู ที่เดิมมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตลาดยอด ซึ่งปัจจุบันคือ(ซาก) ตึกนิวเวิลด์นั่นแหละ

ตลาดบางลำพู ถือเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของที่ได้รับความนิยมมากทีเดียว โดยในสมัยนั้นแหล่งค้าขายที่คนรู้จักกันดีก็จะมีที่เยาวราช พาหุรัด และบางลำพูนี้เอง และร้าน “นพรัตน์” ร้านขายเสื้อเชิ้ตแห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวป้านิดเอง ก็เป็นหนึ่งในร้านค้าย่านนี้ด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แหล่งการค้าในยุคหลังๆก็เปลี่ยนตาม ผู้คนนิยมไปเดินซื้อของย่านอื่นๆ แทน ทำให้บางลำพูไม่คึกคักเหมือนก่อน แต่ก็ยังถือเป็นแหล่งตลาดการค้าเช่นเดิม แต่จะเป็นแหล่งแฟชั่นวัยผู้ใหญ่ และแหล่งซื้อชุดนักเรียน ชุดนักศึกษาเสียมากกว่า หากใครได้ไปบางลำพูในช่วงใกล้ๆ เปิดเทอมก็จะเห็นพ่อแม่พาเด็กๆ มาซื้อชุดนักเรียน เห็นนักศึกษามาลองเสื้อลองกระโปรงกันเป็นที่สนุกสนาน

นอกจากนั้น ย่านบางลำพูนี้ก็ยังขึ้นชื่อเรื่องของกินที่มีอยู่มากมาย ส่วนใหญ่แล้วราคาก็จะย่อมเยาสบายกระเป๋ายิ่งนัก แถมยังมีให้เลือกชิมหลากหลาย ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด บะหมี่หมูแดง ขนมจีน ฯลฯ ส่วนขนมของหวานนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะมีเยอะมาก ไปดูเอาเองดีกว่าที่บริเวณหน้าห้างตั้งฮั่วเส็ง ยิ่งตอนเที่ยงๆ นั้นแทบจะไม่มีที่เดินเพราะคนแน่นขนัดจริงๆ

ว่ากันด้วยเรื่องการเป็นแหล่งช้อปแหล่งกินกันไปแล้ว มาว่ากันด้วยเรื่องศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนบางลำพูอย่าง “วัด” กันบ้างดีกว่า ป้านิดบอกฉันว่าในย่านบางลำพูนี้มีวัดสำคัญๆ อยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือวัดบวรนิเวศวิหาร วัดชนะสงคราม และวัดสังเวชวิศยาราม

สำหรับวัดบวรนิเวศนั้น หลายๆ คนก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว โดยวัดแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในพระอุโบสถมีพระประธานสำคัญอย่างพระพุทธชินสีห์และพระสุวรรณเขต อีกทั้งยังมีพระไพรีพินาศอันโด่งดังอยู่ที่นี่ด้วย

ส่วนวัดชนะสงครามนั้น ก็เป็นวัดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณชื่อวัดกลางนา ต่อมาวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ได้ปฏิสังขรณ์วัด และให้พระสงฆ์และประชาชนชาวมอญมาอาศัยอยู่บริเวณนี้ และตั้งชื่อวัดใหม่ว่าวัดตองปุ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงครามอีกครั้งหนึ่ง

วัดนี้น่าจะเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในแถบนี้ดี เพราะถือเป็นเส้นทางเดินลัดจากถนนพระอาทิตย์มายังถนนข้าวสารได้ ดังนั้นเมื่อฉันเข้าไปภายในพระอุโบสถจึงได้เห็นฝรั่งหลายคนที่เข้ามาชมความ งามภายในเช่นกัน บางคนยังนั่งสมาธิอยู่หน้าพระประธานด้วยก็ยังมี

ส่วนวัดสังเวชวิศยารามนั้น ก็ถือเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมนั้นก็มีชื่อว่าวัดบางลำพู จนรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อให้เป็นวัดสังเวชวิศยาราม และเป็นศูนย์รวมของชาวชุมชนวัดสังเวชฯ มาในปัจจุบัน และไม่เพียงแต่วัดเท่านั้น แต่ในย่านบางลำพูก็ยังมีมัสยิดจักรพงษ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชาวอิสลามในย่านนี้อีกด้วย และในซอยทางเข้ามายังมัสยิดจักรพงษ์นั้นก็ยังมีร้านอาหารอิสลามที่ชวนกิน อยู่หลายร้านด้วยล่ะ

ที่สำคัญ ย่านบางลำพูยังถือเป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นแห่งกทม. เพราะในย่านนี้เป็นที่ตั้งของสำนักนาฎศิลป์และดนตรีไทยหลายๆ สำนัก ทั้งโรงละครร้อง วิกลิเก และโรงหนังพากย์ ฯลฯ อีกทั้งด้วยบรรยากาศของบ้านขุนนางเก่าแก่บนถนนพระอาทิตย์ ทำให้เมื่อเวลามีการจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม หรืองานศิลปะต่างๆ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ หรือสวนสันติชัยปราการจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้จัดเสมอ

อย่างเช่นงานสงกรานต์ที่ป้านิดบอกว่า “ถ้าพูดถึงงานสงกรานต์ที่บางลำพูแล้วคนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นงานสงกรานต์แบบอินเตอร์ ไม่ใช่ประเพณีไทย เราอยากจะมีงานสงกรานต์ที่เป็นแบบไทยขึ้น ก็เลยไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช พระองค์จึงประทานพระพุทธรูปมาให้เราองค์หนึ่ง และประทานชื่อให้ด้วยว่า “พระพุทธบางลำพูประชานาถ” ซึ่งแปลว่าที่พึ่งของชาวบางลำพู และทุกปีในวันสงกรานต์ก็จะมีการแห่พระพุทธรูปมาให้ประชาชนสรงน้ำที่สวนสันติ ชัยปราการ มีการสรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำผู้สูงอายุ และการแสดงการละเล่นแบบไทยๆ”

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันอยากพูดถึงเกี่ยวกับบางลำพูก็คือ ความเป็นชุมชนเข้มแข็งที่รวมตัวกันเป็น “ประชาคมบางลำพู” ป้านิดเล่าถึงจุดเริ่มต้นของประชาคมนี้ว่า เริ่มมาจากการจัดงานถนนคนเดินบนถนนพระอาทิตย์ครั้งแรก คนในชุมชนได้มีการร่วมประชุมกันหลายครั้ง จนงานเสร็จก็รู้สึกว่ามีความสนิทสนมกันขึ้น จึงมาคุยกันว่าน่าจะรวมตัวกันเป็นประชาคมขึ้น โดยงานของของประชาคมก็คือการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ

และผลงานหนึ่งที่มาจากความร่วมมือของชาวประชาคมบางลำพูก็คือ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2541-42 ได้มีการรวมตัวกันต่อต้านการรื้อโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่อยู่ข้างป้อมพระสุเมรุ ตามอายุก็สมควรแก่การอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนสอนพิมพ์แห่งแรก ป้านิดบอกว่าหนังสือเรียนสมัยป้ากะปู่ กู้อีจู้ ก็พิมพ์จากที่นี่เอง นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่พิมพ์หนังสือวรรณคดีไทยสำคัญอย่างเรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา สามก๊ก และรามเกียรติ์อีกด้วย

แทนที่จะรื้อทิ้ง ชาวชุมชนจึงขอให้ใช้อาคารหลังนี้เป็นศูนย์ชุมชน แต่เจ้าของพื้นที่ต้องการจัดทำเป็นสวนสาธารณะทั้งที่ขณะนั้นมีโครงการจะ สร้างสวนสันติชัยปราการแล้ว ผลของการต่อสู้ปรากฏว่า เจ้าของพื้นที่ไม่รื้อตึกทิ้ง แต่ก็ไม่อนุญาตให้ใครเข้ามาทำกิจกรรมใดๆกับอาคารหลังนี้ ซึ่งยังนับว่าโชคดีที่การเคลื่อนไหวของประชาคมฯ ช่วยให้อาคารเก่าแก่หลังหนึ่งยังคงอยู่ต่อไปเคียงคู่ย่านบางลำพู หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจแห่งกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร

"ย่านบางลำพู" ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปจนถึงวัดบวร นิเวศ ส่วนอีกด้านหนึ่งนับจากถนนข้าวสารไปจนถึงวัดสามพระยา ศูนย์กลางของย่านบางลำพูจะอยู่แถวๆ ตึกห้างนิวเวิลด์เก่า

มีรถประจำทางสาย 3, 6, 9, 30, 32, 33, 53, 64, 65, 524, 503 ผ่านบริเวณถนนพระอาทิตย์ และตลาดบางลำพู ส่วนรถประจำทางสาย 56, 68, 516 ผ่านบริเวณวัดบวรนิเวศ

องย่านเกาหลีในเมืองไทย ที่"โคเรียน ทาวน์"


สุขุมวิท พลาซ่า หรือที่รู้จักกันในนาม "Korean Town"

มาจนถึงวันนี้ กระแสเกาหลีฟีเวอร์ก็ยังไม่จางหายไป จากความสนใจของคนไทยเท่าไรเลยนะฉันว่า ถ้าจะนับกันจริงๆ ก็นานหลายปีแล้วที่ความเป็นเกาหลีเริ่มมาเป็นที่นิยม ตั้งแต่ละครเกาหลีเรื่องแรกๆ อย่าง Autumn in My Heart ละครสุดเศร้าเคล้าน้ำตา ตามต่อมาด้วย Winter Love Song ละครรักโรแมนติกสุดซึ้ง และมาดังระเบิดระเบ้อก็ตอนที่จอมนางแห่งวังหลวง แดจังกึม มาทำอาหารให้คนดูน้ำลายไหลไปตามๆ กัน และกับเรื่องล่าสุดที่เพิ่งจบไปคือเรื่อง เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา ก็ทำเอาหลายคนอยากเป็นเจ้าหญิงขึ้นมาตะหงิดๆ

ไม่เพียงแค่บรรดาละครเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นที่นิยม แต่ทั้งภาพยนตร์เกาหลี เพลงภาษาเกาหลี โรงเรียนสอนภาษาเกาหลี อาหารเกาหลี และการท่องเที่ยวเกาหลีต่างก็ได้รับอานิสงส์ของความนิยมนี้ไปด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเกาหลีนั้น เล็งเห็นช่องทางขายจากความนิยมในละครเกาหลี จึงได้ปิ๊งไอเดียจัดทัวร์ท่องเที่ยวเกาหลีตามรอยละครเรื่องต่างๆ ที่นอกจากจะพาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่งแล้ว ก็ยังจะพาไปชมสถานที่ถ่ายทำละครเรื่องดังๆ ตรงไหนที่พระเอกนางเอกเดินจับมือกัน ตรงไหนทะเลาะกัน ตรงไหนคืนดีกัน ก็ตามไปดูกันได้ ซึ่งแพ็คเกจทัวร์นี้ก็ทำเอาการท่องเที่ยวเกาหลีรับทรัพย์จากนักท่องเที่ยว ชาวไทยไปเต็มๆ

ว่ามาซะยาวอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าฉันจะชวนไปเที่ยวประเทศเกาหลีแต่อย่างใด แม้ว่าฉันจะเป็นคนหนึ่งที่นิยมดูละครเกาหลีอยู่เช่นกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีทุนทรัพย์พอจะบินไปอินกับเขาที่นู่นหรอก ก็ได้แต่อาศัยดูละครเอาบ้าง กินอาหารเกาหลีเอาบ้างพอให้ได้บรรยากาศ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ฉันเพิ่งได้ไปเจอสถานที่ดีๆ ที่ผู้นิยมเกาหลีน่าจะชอบกัน สถานที่ที่ว่านั้นก็คือ "โคเรียน ทาวน์" (Korean Town) เกาหลีในกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในสุขุมวิท พลาซ่า บริเวณหน้าปากซอยสุขุมวิท 12 นี่เอง

ในเมื่อกรุงเทพฯ มีไชน่า ทาวน์ ที่เยาวราช มีลิตเติ้ล อินเดีย ที่พาหุรัด แล้วทำไมจะมีโคเรียน ทาวน์ ที่สุขุมวิทบ้างไม่ได้ล่ะ จริงไหม แม้ว่าโคเรียน ทาวน์แห่งนี้จะไม่ใหญ่โตเท่าไรนัก เป็นเพียงอาคารสี่ชั้นตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ก็ได้บรรยากาศของความเป็นเกาหลีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่เรียกบริเวณนี้ว่าเป็นโคเรียน ทาวน์ ก็เพราะเหตุว่าในแถบสุขุมวิทนี้เป็นที่อยู่ของชาวเกาหลีจำนวนมากที่อาศัย อยู่ในประเทศไทย และเมื่อมีคนเชื้อชาติเดียวกันมาอยู่รวมกันมากๆ เข้า จึงมีคนคิดทำธุรกิจร้านค้าต่างๆ เพื่อที่จะสนองความต้องการให้ชาวเกาหลีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม หรือข้าวของต่างๆ จนต่อมาเมื่อมีคนมาเปิดร้านกันมากเข้าๆ พื้นที่บริเวณนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมคนเกาหลี กลายมาเป็นย่านเกาหลีที่เต็มไปด้วยร้านค้าของชาวเกาหลีที่มีภาษาเกาหลีกำกับ มองไปมองมาก็เหมือนกับอยู่ในเกาหลีอย่างไรอย่างนั้น ว่าแล้วก็อย่ารอช้า รีบเข้าไปสำรวจโคเรียน ทาวน์ พร้อมๆ กันเลยดีกว่าว่าจะมีสิ่งน่าสนใจอย่างไรบ้าง

เริ่มจากทางเดินเข้าสู่สุขุมวิท พลาซ่า ที่มีป้ายขนาดใหญ่ที่รวมเอาชื่อร้านรวงทั้งหลายมาติดไว้ มองๆ ดูแล้วฉันก็อ่านไม่ออกสักร้านเพราะเป็นภาษาเกาหลีแทบทั้งหมด แต่ก็ยังน่ารักที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงพร้อมกับธงชาติไทยและธงตรา สัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อยู่ด้วย

เมื่อเดินเข้าไปด้านในก็ยิ่งได้สัมผัสกับกลิ่นอายของเกาหลีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากด้านในนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารเกาหลีกว่า สิบร้านเลยทีเดียว แต่ละร้านเขียนชื่อเป็นภาษาเกาหลี มีภาษาไทยตัวเล็กๆ เขียนไว้พอให้เรียกชื่อได้ถูก อ่านแค่ชื่อร้านก็สนุกแล้ว เช่น ร้านกวาน ฮัน รู ร้านยู ริม จอง ร้านโจ บัง นัคจิ ร้านอล มี จอง ร้านนัควอน ร้านเมียงคา ฯลฯ ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าร้านไหนอร่อยหรือไม่อร่อยกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ คือน่ากินไปเสียทุกร้านเลย เพราะหน้าร้านแต่ละร้านก็จะมีอาหารตัวอย่าง หรือเมนูให้ได้เลือกดูกัน บางร้านรับประกันความอร่อย เพราะมีแดจังกึมมาช่วยโฆษณาด้วย

นอกจากร้านอาหารเหล่านี้แล้ว หากใครพอที่จะทำอาหารเกาหลีเป็นหรือว่าอยากจะลองทำ แต่ไม่สามารถหาวัตถุดิบแบบเกาหลีแท้ๆ มาประกอบอาหารได้ ฉันก็ขอแนะนำให้มาที่โคเรียน ทาวน์ แห่งนี้ เพราะที่นี่มีร้านขายอาหาร หรือที่เรียกว่าฟู้ดมาร์ท คล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อของเรานั่นแหละ สินค้าก็คล้ายๆ กันเพียงแต่ข้าวของทั้งร้านนั้นนำเข้าจากเกาหลีนั่นเอง

สินค้าที่ว่าก็มีทั้งพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีน้ำปลา น้ำตาล ซอสและน้ำจิ้มชนิดต่างๆ มีสาหร่ายแผ่น มีพริกเกาหลีที่คล้ายๆ น้ำพริกเผาบ้านเรา รวมทั้งมีเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบต่างๆ ที่คนเกาหลีเขานิยมกินกันด้วย นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือกิมจิ ที่ฟู้ดมาร์ทแห่งนี้เขาทำกิมจิใหม่ๆ สดๆ หลากหลายแบบใส่ตู้แช่เอาไว้ ใครอยากกินก็ไปซื้อได้เลย ไม่ต้องทำเองให้ลำบาก

และข้างๆ ร้านฟู้ดมาร์ทนี้ก็เป็นร้านเล็กๆ ที่ขายขนมและอาหารแห้งของเกาหลีเช่นกัน มีขนมหน้าตาแปลกๆ หีบห่อน่ารักๆ แบบเกาหลีเต็มไปหมด และที่ร้านนี้ก็ยังมีนิตยสารจากเกาหลีขายอีกด้วยล่ะ

เมื่อมีร้านอาหารเกาหลีพร้อมสรรพแล้วให้คนเกาหลีได้อิ่มท้องแล้ว ก็ต้องมีสิ่งที่สร้างความบันเทิงแก่ชาวเกาหลีที่อยู่ในเมืองไทยได้หายคิดถึง บ้านกันบ้าง นั่นก็คือร้านคาราโอเกะที่มีอยู่หลายร้านด้วยกันบนชั้น 2-3 ของโคเรียน ทาวน์ ซึ่งต่างก็มีเพลงเกาหลีอัพเดทใหม่ๆ ให้ผู้ที่รักการร้องเพลงได้สนุกสนานกัน

แต่หากใครไม่ชอบความอึกทึกหรือเสียงเพลงดังๆ ขอแนะนำให้มาอ่านหนังสือที่ร้านเช่าหนังสือบนชั้น 3 ของโคเรียน ทาวน์ ที่นี่เป็นร้านเช่าหนังสือภาษาเกาหลีขนาด ย่อมที่มีหนังสือหลากหลายแนว ทั้งพ็อกเก็ตบุ๊ค หนังสือนิยาย หนังสือการ์ตูน และหนังสือภาพสำหรับเด็ก เรียกว่ารองรับได้ทั้งนักอ่านรุ่นใหญ่และรุ่นเยาว์เลยทีเดียว หนังสือบางเล่มของเกาหลีดูน่าอ่านมากทีเดียว เสียดายที่ภาษาเกาหลีฉันไม่กระดิกเลยสักตัว เลยได้แค่หยิบๆ จับๆ ขึ้นมาดูเท่านั้น

ความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งที่จะหาได้ที่โคเรียน ทาวน์แห่งนี้ก็คือร้านเช่าวิดีโอเล็กๆ ที่อยู่บนชั้น 4 แต่งานนี้ใครอ่านภาษาเกาหลีไม่ออกเห็นทีจะแย่หน่อย เพราะจะไม่รู้เลยว่าเรื่องอะไรเป็นอะไร แต่คิดอีกที ก็ร้านวิดีโอนี้เขามีไว้ให้คนเกาหลีดูเวลาคิดถึงบ้านนี่นา

นอกจากบรรดาร้านทั้งหลายที่ว่ามานี้แล้วก็ยังมีร้านรวงต่างๆ อีกมาก ทั้งสปา ร้านขายเครื่องประดับเพชรพลอย และอื่นๆ อีกมากมายให้ชาวเกาหลีรวมทั้งคนทั่วไปได้ใช้บริการกัน

สำหรับคนไทยแท้ๆ อย่างฉันก็คงไปใช้บริการที่โคเรียน ทาวน์ได้แค่ที่ร้านอาหารกับที่ฟู้ดมาร์ทเท่านั้นเอง แต่สำหรับคนไทยใจเกาหลี รวมทั้งไปถึงคนเกาหลีแท้ๆ ก็สามารถใช้บริการได้หมดเพราะไม่มีปัญหาเรื่องภาษา แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ฉันได้มาสัมผัสบรรยากาศของสถานที่แห่งนี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่าที่นี่เป็น "ย่านเกาหลี" ของจริง ที่แม้จะไม่ใหญ่โตเหมือนเยาวราชหรือพาหุรัด แต่ก็ได้บรรยากาศของเกาหลีไม่แพ้กัน

"โคเรียน ทาวน์" (Korean Town) ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท พลาซ่า ปากซอยสุขุมวิท 12 การเดินทางสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงยังสถานีนานา แล้วเดินย้อนมาทางสถานีอโศกประมาณ 300 เมตร