บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

" พิพิธภัณฑ์แสตมป์ "


"พี่แสนดีใจได้รับจดหมายจากไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึงพี่สอดซองสีนี้ไม่ใช่ใคร พี่จำแน่นอนว่าบังอรส่งถึงพี่ชาย เปิดอ่านดูข้างใน ต๊ายตาย...จดหมายผิดซอง" ฉันเดินฮัมเพลงของพี่มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ระหว่างทางที่จะไปยัง "พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ" ไปไหนมาไหนก็ต้องเลือกเพลงให้ถูกกับสถานที่เสียหน่อย

แม้ว่าโลกเราวันนี้จะมีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วแล้ว และเทคโนโลยีสมัยนี้ก็ก้าวหน้าแทบจะทะลุไปถึงโลกพระจันทร์ อย่างเรื่องการสื่อสาร เมื่อก่อนนี้กว่าจะส่งข่าวคราวกันได้ ต้องให้ม้าเร็วถือหนังสือไปบอกกัน ถ้าอยู่ต่างเมืองต่างประเทศก็รอไปเถอะเป็นเดือนๆ กว่าจะได้รู้ข่าว

พอพัฒนาขึ้นมาอีกหน่อยก็มีกิจการไปรษณีย์ มีคนคอยทำหน้าที่ส่งสารให้ แต่ก็ยังไม่ทันใจอยู่ดี จึงมีการพัฒนามาเป็นโทรศัพท์ ที่โทรปุ๊บติดปั๊บ รวมไปถึงอีเมล์และโปรแกรมสื่อสารต่างๆ ทางคอมพิวเตอร์ที่แม้จะอยู่คนละซีกโลก แต่ก็คุยกันได้เหมือนนั่งอยู่ตรงหน้า แล้วอย่างนี้ฉันยังจะพามาดูเรื่องราวของแสตมป์ไปอีกทำไมกัน

ที่พูดมาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า พวกเทคโนโลยีเหล่านี้แม้จะดีจริง แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังคงชอบการสื่อสารด้วยการส่งไปรษณีย์ โดยไม่สนใจคำค่อนขอดว่าเป็นพวก “ตกยุค” และอย่างหนึ่งที่ฉันคิดว่าเป็นเสน่ห์ของการส่งไปรษณีย์ก็คือเจ้าแสตมป์หลาก หลายลวดลายที่ติดอยู่ตรงมุมด้านขวาบนนี่เอง อ้าว... อย่าบอกนะว่าตอนเด็กๆ คุณไม่เคยสะสมแสตมป์มาก่อน

วันนี้ฉันก็เลยจะพามายังสถานที่หนึ่งที่บรรดาคอแสตมป์จะต้องชอบ นั่นก็คือ "พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน" ริมถนนพหลโยธิน ใกล้ๆ กับสะพานควายนี่เอง

พิพิธภัณฑ์แสตมป์ที่ว่านี้ก็อยู่ในรั้วเดียวกับไปรษณีย์สามเสนในนี่ เอง หากเดินมาด้านหลังก็จะพบกับตึกหลังใหญ่สีขาว ซึ่งชั้นที่สองก็จะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แสตมป์ ด้านหน้าทางเข้าสู่ภายในนั้นจะมีตู้ไปรษณีย์ตั้งอยู่ ใครจะเก๊กท่าถ่ายรูปตอนส่งจดหมายกันตรงนี้ก่อนก็ไม่ว่ากัน

ภายในพิพิธภัณฑ์นี้ก็มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของแสตมป์ไว้อย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่วิวัฒนาการของกิจการไปรษณีย์และแสตมป์ของไทย ที่เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยในตอนเริ่มแรกนั้นกิจการไปรษณีย์เกิดขึ้นก็เพื่อนำมาใช้ติดต่อระหว่าง สถานกงสุลของประเทศต่างๆ โดยประเทศที่เข้ามาวางรากฐานการไปรษณีย์ให้กับไทยก็คือประเทศอังกฤษนั่นเอง

กิจการไปรษณีย์ของไทยเราเริ่มจะมาชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเจ้าหมื่นเสมอใจราช (มรว.เทวะหนึ่ง ศิริวงศ์) ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลแด่รัชกาลที่ 5 ขอให้จัดมี "การโปสต์" (Post) หรือการไปรษณีย์ขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งราชการและราษฎร ดังนั้นพระองค์จึงทรงให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ซึ่งมีความสนใจในการไปรษณีย์ กำกับดูแลในเรื่องนี้ร่วมกัน

เมื่อจะมีการส่งไปรษณีย์ก็จำเป็นจะต้องมีบ้านเลขที่ ดังนั้นภารกิจถัดไปในการไปรษณีย์ก็คือการจัดทำเลขที่ของบ้านเรือนประชาชน ขึ้น และถัดมาจึงมีการจัดพิมพ์ตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการฝากส่งจดหมาย

ดังนั้นใน พ.ศ.2426 แสตมป์ชุดแรกของไทยจึงถูกจัดพิมพ์ขึ้นในประเทศอังกฤษ มีชื่อชุดว่า "โสฬศ" โดยเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลักษณะที่ทรงหันด้านซ้าย มีทั้งหมด 6 ราคาด้วยกัน คือ 1 โสฬศ 1 อัฐ 1 เสี้ยว 1 ซีก 1 เฟื้อง และ 1 สลึง

ในช่วงแรกนั้นก็ยังนิยมใช้ภาพของพระมหากษัตริย์เป็นรูปในแสตมป์ จนต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เริ่มมีการนำภาพอื่นมาใช้ในแสตมป์มากขึ้น จนกลายมาเป็นของสะสมอย่างหนึ่งของคนเราเลยทีเดียว เรื่องราวของวิวัฒนาการแสตมป์ไทยยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ ถ้าสนใจก็ไปหาอ่านกันได้ที่พิพิธภัณฑ์นะจ๊ะ

คราวนี้เรามาดูรายละเอียดอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์แสตมป์กันบ้างดีกว่า ที่นี่เขาก็มีการจัดแสดงแสตมป์มากมายหลายดวงให้ได้ชมกัน โดยมีตั้งแต่ชุดแรก คือชุดโสฬศมาจนถึงชุดปัจจุบัน ก็นับได้กว่า 700 ชุดทีเดียว และยังมีสำเนาชุดสะสมแสตมป์ของนักสะสมแสตมป์ของประเทศไทย อย่างบุญชัย เบญจรงคกุล ดร.ประกอบ จิรกิติ และอีกมากมายหลายคนมาแสดงให้ได้ชมกัน และไม่ใช่เฉพาะแสตมป์ของไทยเท่านั้น แต่ยังมีแสตมป์จากต่างชาติทั่วโลกกว่า 200 ประเทศมาให้ดูกันอีกต่างหาก

และมุมที่ฉันคิดว่าน่าสนใจก็คือนิทรรศการที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ "เจ้าฟ้านักสะสม" ซึ่งพระองค์เป็นผู้ที่นิยมการส่งไปรษณียบัตรให้ตัวเองเมื่อได้ไปท่องเที่ยว ยังที่ต่างๆ เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ สมเด็จพระอัยกา ที่โปรดเขียนไปรษณียบัตรพระราชทานไปยังบุคคลต่างๆ เมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ อยู่เสมอ

ไปรษณียบัตรของสมเด็จพระเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนเล่าเรื่องราวสิ่งที่ได้ทำในแต่ละวันอย่างสั้นๆ ก่อนจะจ่าหน้าถึง "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พระตำหนักจิตรลดา"

นอกจากบรรดาแสตมป์มากมายที่ดูกันได้ทั้งวันก็ยังไม่หมดนี้แล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในกิจการไปรษณีย์สมัยเก่าๆ อย่างเช่นเครื่องชั่งน้ำหนักไปรษณียภัณฑ์ หรือตู้ไปรษณีย์รุ่นเก่าใบเล็กๆ น่ารักไม่ใหญ่โตเหมือนสมัยนี้ รวมทั้งยังมีหุ่นของบุรุษไปรษณีย์ที่แต่งเครื่องแบบแตกต่างกันไปในแต่ละยุค แต่ละสมัยคอยยืนคุมเชิงในแต่ละมุมอยู่ด้วย เดินดูแสตมป์อยู่ดีๆ พอมาเจอหุ่นนี้จ้องอยู่ก็ทำเอาฉันสะดุ้งไปเหมือนกัน

สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของแสตมป์จริงๆ หรือนักเรียนนักศึกษาที่อยากจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแสตมป์แบบเจาะลึก ที่นี่ก็มีส่วนของห้องสมุดตราไปรษณียากร ที่สามารถมาค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือเกี่ยวกับแสตมป์ต่างๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีอยู่มากมายนี้ก็ได้

ออกจากพิพิธภัณฑ์แสตมป์มาแล้วก็อย่าเพิ่งตรงดิ่งกลับบ้านล่ะ มาเดินดูตู้ไปรษณีย์รุ่นเก่าๆ หรือที่เขาเรียกกันว่า "ตู้ทิ้งหนังสือ" กันก่อนดีกว่า ที่หน้าตึกสำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ ข้างๆ ตึกพิพิธภัณฑ์นั่นแหละ ที่นี่จะมีสวนหย่อมตู้ไปรษณีย์ในยุคต่างๆ ให้เราได้ชมกัน ไม่ว่าจะเป็นตู้ไปรษณีย์จากประเทศเยอรมันที่ใช้กันในยุคแรกๆ ที่ก่อตั้งกิจการไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ.2426 ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาและตามลักษณะการใช้งานด้วย

ได้มาเห็นวิวัฒนาการของแสตมป์และกิจการไปรษณีย์ไทยที่ "พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ" อย่างนี้แล้ว ฉันก็ยิ่งอยากจะส่งจดหมายติดแสตมป์ต่อไป เพราะนี่ก็ยังเป็นวิธีการสื่อสารที่ยังคงมีเสน่ห์อย่างยิ่งในสายตาฉันอยู่ดี ว่าแต่.. อย่าส่งจดหมายผิดซองอย่างพี่มนต์สิทธิ์เป็นพอ...

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการไปรษณีย์สามเสนใน (หลังที่ทำการไปรษณีย์สามเสนใน) ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันพุธ-อาทิตย์ หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลาเข้าชม 08.30-16.30 น. ส่วนการจำหน่ายตราไปรษณียากร จะมีจำหน่ายทุกวันพุธ-เสาร์ เวลา 09.00-16.30 น. วันอาทิตย์ เวลา 09.00-13.00 น. และ 14.00-16.30 น. สอบถามโทร.0-2271-2439 หรือ 0-2831-3722

การเดินทาง สามารถนั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีสะพานควายได้ หรือนั่งรถประจำทางสาย 3, 8, 28, 29, 38, 44, 59, 108 และรถปรับอากาศสาย 29, 44, 503, 509, 510 ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น