บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คลองบางกอกน้อย


สัมผัสวิถีริมน้ำชาวฝั่งธน ยลเสน่ห์"คลองบางกอกน้อย"
อดีตเส้นแม่เจ้าพระยาสายเก่าอย่าง"คลองบางกอกน้อย" แม้จะผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน และผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายชั่วอายุคน แต่กระนั้นคลองบางกอกน้อยก็ยังคงอบอวลไปด้วยเสน่ห์แห่งวิถีริมน้ำของชาว บางกอกฟากฝั่งธน ที่ผสานวิถีเก่ากับวิถีใหม่เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

เดิมนั้นคลองบางกอกน้อยคือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม จนในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา สยามประเทศได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างสม่ำเสมอ พระองค์จึงโปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดขึ้นที่ย่านบางกอกในปีพ.ศ. 2065 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยผ่านโรงพยาบาลศิริราช(ในปัจจุบัน) จนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ข้างวัดอรุณฯ เพื่อสะดวกต่อการคมนาคม ทำให้คลองลัดที่ขุดขึ้นใหม่นี้มีกระแสน้ำไหลเป็นร่องพุ่งแรงและคล่องกว่า เดิม

สุดท้ายคลองลัดก็ขยายกว้างกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมนั้นกลับแปรเปลี่ยนแคบลงจนกลายเป็นจนเหลือเป็นคลองที่ เรียกว่า "คลองบางกอกน้อย" ซึ่งในเส้นทางของคลองสายนี้ ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำชั้นยอดที่ชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจ กันเป็นจำนวนมาก ส่วนคนชนบทอย่างฉันเมื่อมีโอกาสก็ไม่พลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะฉันอยากไปเห็นกับตาตัวเองว่าวิถีริมน้ำของคนเมืองกรุงจะแตกต่างจากวิถี ริมน้ำของคนต่างจังหวัดมากน้อยแค่ไหน

และแล้วการทริปการล่องเรือชมแง่งามของคลองบางกอกน้อยก็เริ่มขึ้นที่ ท่าเรือท่าช้าง โดยหลังจากที่เรือแล่นตัดแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่เขตคลองบางกอกน้อย จุดแรกที่น่าสนใจและถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของลำคลองสายนี้ก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ที่ภายในจัดแสดงเรือพระราชพิธีองค์สำคัญๆ อาทิ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ และเรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่รวมทั้งหมดแล้ว 8 ลำด้วยกัน

สำหรับพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธีฯแห่งนี้ ฉันเคยพาคุณผู้อ่านไปเที่ยวชมอย่างเจาะลึกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงขอข้ามไปล่องคลองบางกอกน้อยต่อ แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันยังคงยืนยันเหมือนเดิมก็คือพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี แห่งนี้คืออีกหนึ่งของดีแห่งสยามที่ผู้รักในศิลปะไทยน่าจะหาโอกาสไปเที่ยวชม สักครั้ง(หรือหลายๆครั้งก็ได้)

จากพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี ฉันล่องเรือต่อและไปขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือบริเวณชุมชนบ้านบุ ซึ่งนี่คือแหล่งทำขันลงหินชั้นยอดหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว ที่มีชื่อเสียงลือชื่อในเรื่องความงดงาม

ขันลงหินที่เลื่องชื่อของบ้านบุนั้นมีความทนทานและสวยงาม เมื่อลองเคาะดูจะมีเสียงที่ดังกังวาน นิยมทำเป็นเครื่องดนตรี บางบ้านใช้เป็นขันใส่น้ำดื่มเนื่องจากขันลงหินจะช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ หรือใช้เป็นขันใส่ข้าวตักบาตร เพราะจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมก็ได้เช่นกัน

เดิมชาวชุมชนบ้านบุเป็นชาวอยุธยาที่หนีพม่ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อครั้ง เสียกรุงฯครั้งที่ 2 โดยได้มารวมกลุ่มตั้งบ้านเรือนขึ้นบริเวณนี้ และได้ร่วมกันทำขันลงหินขาย ก่อนจะถ่ายทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมากว่า 200 ปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนสนใจซื้อและสนใจทำขันลงหินน้อยลง ทำให้ปัจจุบันเหลือบ้านเพียงหลังเดียวที่ยังคงประกอบอาชีพทำขันลงหินอยู่ แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซ้ำที่เมื่อเร็วๆนี้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ชุมชนบ้านบุ ทำให้ขันหินส่วนหนึ่งที่ทำมาด้วยความยากลำบากเสียหาย แต่กระนั้นทางบ้านที่ทำก็ยังยืนยันว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไปอย่างไม่ท้อแท้ต่อ อุปสรรคที่เกิดขึ้น

ใกล้ๆกับชุมชนบ้านบุ เดินไปอีกไม่กี่ก้าวฉันก็ไปถึงยัง วัดสุวรรณาราม ที่เดิมนั้นชื่อ"วัดทอง"สร้าง ขึ้นในสมัยอยุธยา วัดแห่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งวัดงามย่านฝั่งธน ที่ในสมัยพระเจ้าตากสินเคยใช้เป็นแดนประหารชีวิตเฉลยศึกพม่านับพันคน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้สถาปนาวัดนี้ใหม่และทรงพระราชทานนามว่า"วัดสุวรรณาราม"

สำหรับสิ่งที่ถือเป็นความโดดเด่นของวัดแห่งนี้ก็คือ พระอุโบสถ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่นิยมสร้างหลังคาโค้งแอ่นเหมือนท้องเรือสำเภา หน้าบันจำหลักลายรูปเทพพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง ส่วนภายในโบสถ์ มีพระศาสดาเป็นพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย ที่สง่างามด้วยทรวดทรงอันอ่อนช้อย

มีเรื่องเล่าว่า พระศาสดาโปรดวิ่งม้ามาก(วิ่งม้าในสมัยนั้นคือ ให้เด็กขี่ม้าก้านกล้วยแล้ววิ่งรอบพระอุโบสถ) หลังจากที่อัญเชิญมาจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่วัดสุวรรณารามแล้ว มีคนมาบนบานสานกล่าวเรื่องของการงานและการค้าขาย เมื่อสำเร็จผลก็ได้ฝันว่า มีพราหมณ์ท่านหนึ่งมาบอกว่าให้แก้บนด้วยการวิ่งม้า ก็เลยเป็นที่มาของการวิ่งม้าแก้บนที่วัดแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีมีเรื่องเล่าอีกว่า มีคนมาวิ่งม้าแก้บนแต่แกล้งวิ่งหลอกๆ ไม่ยอมวิ่งจริงๆ เขาทำได้แป๊บเดียวเท่านั้นเอง จูก็มีมือขนาดยักษ์มาเขกหัว ทั้งๆที่บริเวณนั้นไม่มีใครเลย ซึ่งนับแต่นั้นมาทำให้หลายๆคนไม่กล้าวิ่งม้าหลอกๆแก้บนที่วัดแห่งนี้ เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร ฉันคงไม่อาจรู้ได้ แต่ที่รู้ก็คือ "ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่"

นอกจากพระประธานที่สง่างามแล้ว ภายในโบสถ์วัดสุวรรณารามยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ระดับคลาสสิค อันเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก เพราะเป็นการประชันฝีมือการวาดภาพกันระหว่าง อาจารย์ทองอยู่กับอาจารย์คงแป๊ะ ยอดจิตกรแห่งต้นยุครัตนโกสินทร์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯให้ช่างหลวงมาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเมื่อคราวที่บูรณะ วัดแห่งนี้ ซึ่งการบูรณะครั้งนั้นอาจารย์ทองอยู่ (หลวงวิจิตรเจษฎา) จิตกรเอกชาวไทยได้มาเขียนเรื่องเนมิราชชาดก ที่เป็นภาพของการบำเพ็ญอธิฐานบารมี ส่วนอาจารย์คงแป๊ะ (หลวงเสนีย์บริรักษ์) ได้เขียนเรื่องมโหสถชาดกซึ่งเป็นภาพของการบำเพ็ญปัญญาบารมี ประดับไว้ที่ฝาผนัง

ภาพของอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน มีข้อสังเกตง่ายๆว่าเป็นงานของใคร สำหรับงานของอาจารย์คงแป๊ะจะมีเส้นที่เล็กและคมกว่าเพราะใช้พู่กันจีนปลาย แหลมจึงได้เส้นที่คมกว่าทำให้ภาพคนที่เขียนโดยอาจารย์คงแป๊ะมีอารมณ์ที่หลาก หลายแตกต่างกันออกไป แต่โดยสรุปแล้วฉันถือว่างดงามทั้งคู่ แต่น่าเสียดายว่ากาลเวลาและการซ่อมแซมในยุคหลังๆได้ทำให้ภาพคลาสสิ คของอาจารย์ทั้ง 2 ลบเลือนไปไม่น้อย

เรือแล่นลึกเข้าไปในคลองบางกอกน้อย ระหว่างทางภาพวิถีชีวิตริมสองฝั่งน้ำมี ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ภาพบ้านไม้ริมฝั่งน้ำที่บ้านหลายๆหลังมีศาลาท่าน้ำสร้างเอาไว้ให้เรือเทียบ ท่า และเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ ในขณะที่บางบ้านศาลาท่าน้ำคือที่รับแขกและที่นั่งร่ำสุราชั้นดี ภาพเด็กเล็กเด็กโตที่นุ่งกางเกงในตัวเดียวปีนขึ้นบนต้นไม้หรือบนสะพานไม้ ข้ามคลองเก่าๆก่อนกระโดดตูม!!! ลงมา ภาพชาวบ้านนั่งซักผ้าตรงหัวกระไดท่าเรือ หรือนุ่งผ้าถุงอาบน้ำสระผมกันอย่างเรียบง่าย

นอกจากนี้ในหลายๆบ้านก็ยังคงใช้เรือเป็นพาหนะรองในการสัญจรไปไหนมา ไหน ทำให้มีเรือลำเล็กๆจอดเทียบท่าอยู่ทั่วไปตามบ้านเรือนริมคลองบางกอกน้อย โดยบางช่วงจะมีเรือพายขายไอติม ขายกุ้ยช่าย หรือเรือขายของสารพัดอย่างประมาณร้านโชว์ห่วยริมน้ำ แล่นผ่านไปมา ทำให้ฉันเห็นแล้วอดนึกถึงแม่น้ำลำคลองแถวบ้านไม่ได้

และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งวิถีของคนกรุงฯที่แตกต่างจากย่านศูนย์การค้าโดยสิ้น เชิง ซึ่งภาพเหล่านี้นับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยลงทุกที

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ตั้งอยู่ที่ เชิงสะพานอรุณอมรินทร์ ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2424-0004 ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท คนต่างชาติ 30 บาท เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 09.00-17.00 น. ค่าธรรมเนียมการถ่ายภาพ 100 บาท ถ่ายวีดีโอ 200 บาท

ขันลงหินบ้านบุ“เจียม แสงสัจจา” ตั้งอยู่ที่ 133 ตรอกบ้านบุ ถนนจรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2424-1689

วัดสุวรรณาราม ตั้งอยู่ที่ 33 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 32 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2434-7790-1 บริเวณวัดเปิดทุกวันตั้งแต่ 05.00-21.00 น. พระอุโบสถไม่เปิดให้เข้าชม ยกเว้นจะขอเข้าชมเป็นกรณีพิเศษต้องโทรแจ้งล่วงหน้า

ผู้ที่สนใจล่องเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อยสายเก่า สามารถรวมกลุ่มมาติดต่อที่เรือมิตรเจ้าพระยา ท่าช้าง (เรือจุได้ประมาณ 40 คน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น