บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

"วังเทวะเวสม์" วังแห่งบิดาการต่างประเทศ


ถ้าถามถึง "วัง" ในย่านเทเวศร์แล้วละก็ หลายคนคงจะนึกถึงวังบางขุนพรหม หรือไม่ก็วังเทเวศร์ขึ้นมาทันที แต่วันนี้ฉันไม่ได้ไปสองวังที่ว่านั้นหรอก ฉันจะพาไปที่ "วังเทวะเวสม์" ต่างหาก เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ยังไม่เคยได้ยินเรื่องราวของวังนี้มาก่อน

วังเทวะเวสม์ เป็นอาคารโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในเขตของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับวังบางขุนพรหม สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2457 แล้วเสร็จในอีก 4 ปีถัดมา และเป็นวังของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 กับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ต้นราชสกุลเทวกุล และเป็นพระอนุชาต่างพระมารดากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกด้วย

ถ้าพูดถึงเรื่องของสถาปัตยกรรมแล้ว วังนี้มีความสวยงามด้วยศิลปะแบบนีโอ คลาสสิค ซึ่งออกแบบโดยเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ โดยวังเทวะเวสม์นั้นเรียกรวมตำหนักใหญ่ ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และตึกของหม่อมในพระองค์อีก 7 หลัง รวมทั้งเรือนแพ ซึ่งเป็นที่พำนัก และเป็นท่าน้ำของวังเทวะเวสม์ (ปัจจุบันเหลือเพียง 3 อาคาร คือตำหนักใหญ่ ตึกหม่อมลม้าย และเรือนแพ เท่านั้น)

สำหรับตำหนักใหญ่ ก่อสร้างด้วยด้วยเทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ในขณะนั้น การตกแต่งก็เป็นรูปแบบคลาสสิค เช่นเสาแบบไอโอนิก (Ionic) ที่มุขทางเข้าตำหนัก หรือเสาแบบคอรินเทียน (Corinthian) ที่ผนังอาคารชั้นบน เป็นต้น

แต่นอกจากความสวยงามของตัววังแล้ว สิ่งที่น่าสนใจของวังเทวะเวสม์ก็อยู่ที่เจ้าของวัง หรือสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ บุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่ทุกคนควรจะได้รับทราบเรื่องราวของ พระองค์ไว้

สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการต่างประเทศของไทย” เนื่องจากได้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเป็นคนแรก และดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 38 ปี ด้วยกัน นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ที่มีส่วนแก้ไขวิกฤตการณ์สำคัญของบ้านเมืองมาหลายครั้ง

เท่าที่ฉันเล่ามาก็เป็นรายละเอียดเพียงคร่าวๆ เท่านั้นเอง ถ้าอยากรู้ลึกกว่านี้ก็ขอเชิญเข้าไปชมภายในวังเทวะเวสม์ ซึ่งได้ทำเป็นห้องจัดแสดงถาวรไว้สองห้องด้วยกัน โดยห้องแรกคือ ห้อง "เทพสถิตย์สถาพร" ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติของพระองค์ไว้

เมื่อเข้ามาในห้องนี้ สิ่งแรกที่จะเห็นก็คือ พระรูปหินอ่อน ซึ่งเป็นของรูปสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการขนาดครึ่งพระองค์ พระรูปหินอ่อนนี้ได้มาจากประเทศอังกฤษ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปในร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษ

ในห้องนี้ มีพระราชประวัติของพระองค์อย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่พระเชษฐา พระขนิษฐา และพระอนุชาร่วมพระชนนีเดียวกันมีพระองค์ใดบ้าง แผนผังราชตระกูลนี้ทำให้ฉันเข้าใจว่า ทำไมสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจึงมีศักดิ์เป็นพระมาตุลา (ลุง) ของของรัชกาลที่ 6 ทั้งที่ทรงเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 5 นั่นก็เพราะว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระมเหสีของรัชกาลที่ 5 นั้นทรงเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการนั่นเอง

นอกจากนั้น ก็ยังมีพระราชประวัติตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ รวมทั้งการศึกษาที่พระองค์ได้รับ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการต่างประเทศ ทั้งที่พระองค์มิได้ทรงไปเรียนยังต่างประเทศเลย แต่ได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างประเทศจนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี จนทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงใช้สอยพระองค์ในงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษต่างๆ

ที่มาของการยกย่องพระองค์ให้เป็น "พระบิดาแห่งการต่างประเทศ" นั้น เริ่มตรงที่พระองค์ได้ทรงงานเกี่ยวกับการต่างประเทศเป็นอย่างแรก ก็คือการได้รับตำแหน่งเป็น "ไปรเวตสิเกรตารีฝรั่ง" (Private Secretary) หรือราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศในรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเป็นผู้กราบบังคมทูลให้มีการตั้งราชทูตไทยไปประจำในต่างประเทศโดย เริ่มที่อังกฤษเป็นประเทศแรก โดยเมื่อก่อนที่ยังไม่มีราชทูตไปประจำอยู่นั้น ก็ต้องใช้วิธีแต่งราชทูตพิเศษออกไปเจรจาเป็นครั้งคราวเมื่อมีปัญหา

และเมื่อพระองค์มีพระชันษาเพียง 27 ปี ก็ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ โดยถือว่าเป็นเสนาบดีพระองค์แรกที่รู้ภาษาต่างประเทศ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ถือเป็นพระกรุณาธิคุณแก่ประชาชนไทยรุ่นหลัง ยิ่งนัก ก็คือเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งมีกรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามและฝรั่งเศส เหตุการณ์นั้นทำให้ประเทศเราต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป การเจรจาของพระองค์ทรงช่วยให้ประเทศสยามในขณะนั้นไม่เสียเอกราชโดยที่ยอม เสียพื้นที่ส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่เอาไว้

และเมื่อมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการก็ยังคงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอยู่ เช่นเดิม และทรงได้รับการนับถือว่าเป็นหลักในราชการแผ่นดินรองจากพระเจ้าอยู่หัวเลยที เดียว และในสมัยนี้ก็มีเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามสงบ ปรากฏว่าเราอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ชนะสงคราม พระองค์จึงถือโอกาสนี้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่ประเทศเสียประโยชน์ นับว่าเป็นพระปรีชาสามารถของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการที่ทรงถวายความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เป็นอย่างมาก

และด้วยการที่ทรงปฏิบัติรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงสร้างวังเทวะเวสม์พระราชทานแก่สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ โดยวังเทวะเวสม์นี้สร้างเสร็จในปี 2461 พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นวังพร้อมกับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 ปีไปพร้อมๆ กันด้วย

ว่ากันด้วยเรื่องประวัติของท่านเจ้าของวังมาเสียยาว คราวนี้มาดูกันเกี่ยวกับเรื่องของตัววังกันบ้างดีกว่า ไปดูกันที่ “ห้องบุราณสถานบูรณะ” นั้น เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับเรื่องราวของการบูรณะวังทั้งสองใน ความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย อันได้แก่ วังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์แล้ว ทายาทของพระองค์ได้ขายวังแห่งนี้ให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นที่ทำ การ และต่อมากระทรวงสาธารณสุขจะย้ายสถานที่ จึงได้ขายวังแห่งนี้ต่อให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งรับเป็นผู้บูรณะวังเทวะเวสม์แห่งนี้ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ.2530

ในห้องบุราณสถานบูรณะนี้ได้จัดแสดงประวัติของวัง รวมทั้งขั้นตอนในการบูรณะ ปัญหา รวมทั้งวิธีการซ่อมแซมให้ดูอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมหลังคา ผนัง ประตูหน้าต่าง หรือแม้กระทั่งการซ่อมสี ซึ่งฉันว่าเป็นความรู้มากๆ เลยทีเดียว

นอกจากสองห้องจัดแสดงหลักนี้แล้ว ภายในวังเทวะเวสม์ก็ยังได้คงบรรยากาศในบางห้องไว้แบบเดิม เช่น ในห้องเทวะวงศ์วิศิษฎ์ในชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องที่ทรงใช้ต้อนรับแขกข้าราชบริพาร หรือห้องเทพไท้ประทานพร ในชั้นที่สอง ก็เป็นห้องที่ใช้ต้อนรับแขกผู้ใหญ่เช่นพระเจ้าแผ่นดิน

ตามความคิดของฉันนั้น วังแห่งนี้อาจจะไม่ใช่วังที่ใหญ่โต หรือเป็นวังที่งดงามเหนือกว่าวังอื่นๆ ก็จริง แต่วังแห่งนี้นี่แหละ เป็นสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องราวของเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งทำงานเพื่อประเทศชาติตลอดมา จนกลายเป็นบุคคลสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้เอาอย่าง และสรรเสริญถึงความดีงามของพระองค์ตลอดไป

วังเทวะเวสม์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลา 09.00-16.00 น. ผู้เข้าชมต้องมาเป็นหมู่คณะ และติดต่อเข้าชมล่วงหน้า ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-22835286, 0-2283-6723

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น