บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

"อุทยานฯ สมเด็จย่า"


ถ้าพูดถึงย่านคลองสาน ฉันว่าหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาช้อปทั้งหลาย คงจะต้องนึกไปถึงแหล่งช้อปปิ้งราคาเยาขนาดกะทัดรัด แต่เต็มไปด้วยสินค้าให้เลือกซื้อเลือกหามากมายโดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ราคาถูก บ้างแพงบ้างให้ลูกค้าได้ต่อกันสนุกสนาน

กระนั้นย่านคลองสานก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวดีๆแฝงตัวอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งฉันเคยไปท่องวัดพิชัยญาติชมภาพสลักสามก๊กหนึ่งเดียวในเมืองไทยมาแล้ว แต่ย่านคลองสานก็ยังไม่หมดของดีให้เที่ยวชมเพียงเท่านี้ เพราะย่านนี้ยังมี "อุทยานฯ สมเด็จย่า" เป็นอีกจุดน่าเที่ยวชมที่เมื่อเข้าไปแล้วจะรู้ว่าที่นี่เป็นสวนสาธารณะที่มี อะไรดีๆมากกว่าสวนสาธารณะธรรมดา

อุทยานฯ สมเด็จย่า หรือชื่อเต็มคือ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อยู่ ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 หรือซอยวัดอนงค์ เขตคลองสานนี่เอง ซึ่งสถานที่นี้เป็นบ้านเดิมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าเมื่อยังทรงพระเยาว์นั่นเอง และในส่วนของอุทยานฯ สมเด็จย่านี้ ก็เกิดขึ้นมาได้จากกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสถานเดิมที่พระบรมราช ชนนีเคยพำนักอยู่เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์ โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติขึ้น

สำหรับสถานที่ที่เป็นอุทยานฯ สมเด็จย่าปัจจุบันนั้น เดิมเป็นที่ดินของนายแดง นานา และนายเล็ก นานา ซึ่งได้พร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ ในบริเวณชุมชนหลังวัดอนงคารามให้เป็นสวนสาธารณะของชุมชน โดยในตอนกลางของพื้นที่นั้นเป็นที่ตั้งของบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโก ษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีกรมพระคลังสินค้าในรัชกาลที่ 5 ซึ่งภายหลังได้รื้อออกไป แต่ตึกบริวารบางหลัง รวมถึงซุ้มประตู และกำแพงเก่าบางส่วนก็ยังคงไว้

สิ่งที่พิเศษของอุทยานฯ สมเด็จย่านี้ก็คือ อาคารสองหลังที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ เพราะฉะนั้น อุทยานฯ สมเด็จย่าจึงไม่ได้เป็นเพียงสวนสาธารณะอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้และบอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวงของชาวไทยอีกด้วย

แต่ก่อนที่จะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ ฉันขอแนะนำให้แวะไปทำความเคารพพระรูปของสมเด็จย่าที่ตั้งอยู่ทางด้านขวามือ ของประตูทางเข้าใหญ่เสียก่อน พระรูปนั้นตั้งอยู่บนเนินดินเตี้ยๆ ในพระอิริยาบถสบายๆ ประทับนั่งบนม้าหิน โดยมีฉากหลังเป็นต้นไม้เขียวขจี ประกอบกับบริเวณรอบๆ เป็นต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ทำให้พระรูปของท่านดูเหมือนกำลังประทับเล่นอยู่ในสวนจริงๆ

จากนั้นจึงเข้ามาชมภายในพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติซึ่งมีอยู่สองหลัง ด้วยกัน หลังแรกทางขวามือ เป็นภาพเก่าๆ ที่เล่าเรื่องราวของสมเด็จย่าตั้งแต่ปฐมวัยและยังเป็นสามัญชนอาศัยอยู่ใน ย่านวัดอนงคาราม และภาพช่วงที่เป็นนักเรียนพยาบาล ก่อนที่จะเลื่อนฐานันดรศักดิ์มาเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสอง พระองค์ ซึ่งมีภาพที่น่าประทับใจของสมเด็จย่า และพระราชธิดา พระราชโอรสทั้งสอง ที่จะไม่ได้เห็นที่ไหนนอกจากที่นี่ รวมไปถึงภาพเหตุการณ์ในพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์อีกด้วย ฉันยังจำได้ว่าฉันก็ได้ไปเคารพพระบรมศพด้วยเช่นกัน และยังจำได้ถึงบรรยากาศอันเศร้าสร้อยหดหู่วันนั้นได้ดี

สำหรับพิพิธภัณฑ์อีกหลังหนึ่ง เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวของพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่าที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ การดำเนินงานของคณะแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หรือการเสด็จเยี่ยมและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดน นอกจากนั้นก็ยังจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ รวมทั้งงานฝีพระหัตถ์ที่สมเด็จย่าโปรด นั่นก็คือการเขียนลวดลายบนถ้วยกระเบื้อง งานทับดอกไม้แห้งเพื่อทำเป็นการ์ดหรือที่คั่นหนังสือ งานภาพปัก รวมไปถึงการปั้นพระพุทธรูป

ออกมาจากอาคารพิพิธภัณฑ์แล้ว เดินทะลุออกมาด้านหลัง เพื่อชมเรือนจำลอง ซึ่งเป็นการจำลองบ้านเดิมของสมเด็จย่าที่เคยประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์ และตกแต่งภายในตามหนังสือ "แม่เล่าให้ฟัง" พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงบันทึกไว้ว่า "...เมื่อ จำความได้แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้ว ที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นวัดอนงค์ "บ้าน" นั้นเหมือนห้องแถวชั้นเดียวแต่มีหลายห้องแทนที่จะมีห้องเดียว... เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วจะมีห้องโล่งๆ ด้านขวามียกพื้น เป็นทั้งห้องพระและห้องประกอบอาชีพของพ่อแม่..."

จากเรือนจำลอง ฉันเดินไปตามทางเดินเล็กๆ ลอดผ่านซุ้มประตูเก่าแก่เข้าไปในส่วนของลานกว้างที่ทางอุทยานฯ สมเด็จย่าเอาไว้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นการแสดงดนตรี หรือจัดอบรมต่างๆ ที่ลานนี้นอกจากจะเป็นที่ตั้งของศาลาแปดเหลี่ยมซึ่งสร้าง ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สมเด็จย่ามีพระชนมายุครบ 8 รอบแล้ว ก็ยังมีแผ่นหินทรายขนาดความยาวถึง 8 เมตร ที่แกะสลักเป็นลวดลายแสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าที่พระองค์ เคยทรงไว้ในทั่วทุกท้องถิ่นทุรกันดารในประเทศไทย ส่วนอีกด้านหนึ่งแกะสลักเป็นรูปกระบวนแห่ไหว้สาแม่ฟ้าหลวงของชาวล้านนา เพื่อสะท้อนถึงความเทิดทูน จงรักภักดีที่ประชาราษฎร์มีต่อพระองค์

นอกจากนั้น ที่นี่ยังมี ศูนย์ศิลป์ศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่ปรับปรุงจากเรือนครัวเดิมของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตน ราชโกษาธิบดี โดยปัจจุบันใช้เป็นห้องอ่านหนังสือ และจัดแสดงงานศิลปะหมุนเวียนตลอดทั้งปีอีกด้วย

ได้เวลาแดดร่มลมตกพอดีเมื่อฉันนั่งลงพักบนเก้าอี้ตัวยาวไม่ห่างจาก ศาลาแปดเหลี่ยมนัก ความสงบในอุทยานฯ มีค่อนข้างมาก เพราะอยู่ห่างจากถนนลึกเข้ามาในซอย บรรยากาศของความเป็นสวนสาธารณะแห่งนี้ค่อนข้างจะต่างไปจากสวนอื่นๆ ที่ฉันเคยไป หากเป็นที่สวนสันติไชยปราการ คนส่วนมากที่มาก็จะเป็นวัยรุ่นเสียส่วนใหญ่ หรือหากเป็นสวนลุมพินีก็จะเป็นผู้ที่ตั้งใจมาออกกำลังกาย แต่สำหรับที่นี่แล้วผู้ที่มาใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นคุณแม่ที่พาคุณลูกเล็กๆ มาเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ และเป็นผู้สูงอายุที่มานั่งถกปัญหาบ้านเมืองกันเสียมากกว่า

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความสวยงามและความร่มรื่นแล้ว รับรองว่าที่นี่ไม่แพ้ใครแน่นอน แม้จะเป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ในชุมชน แต่ที่นี่ก็เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และเก่าแก่ที่ยังอนุรักษ์ไว้ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นชงโค รวมทั้งมีพันธุ์ไม้หอมอย่างปีบ พุดจีบ ลั่นทม ส่งกลิ่นหอมๆ ไปทั่วบริเวณอีกด้วย เรียกว่าเป็นสวนสาธารณะกลางกรุงอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือนอนุสรณ์สถานที่แสดงถึงความรักและผูกพันของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี และกลายมาเป็น "อุทยานฯ สมเด็จย่า" ของประชาชนในวันนี้
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ อุทยานฯ สมเด็จย่า ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 (ซอยวัดอนงค์) เขตคลองสาน กทม. 10600 โทรศัพท์ 0-2437-7799, 0-2439-0902, 0-2439-0896

สำหรับการเข้าชมนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย แต่สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความประสงค์เยี่ยมชมเป็นหมู่คณะจะมี วิทยากรบรรยายและนำชมสถานที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ภายในอุทยานฯ เปิด 06.00-18.00 น. ทุกวัน ส่วนพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลป์ศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เปิด 09.00-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีรถเมล์สาย 6, 42, 43 ผ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น