
ฉันเชื่อว่าทุกคนคงจะยังจดจำภาพบรรยากาศการเสด็จออกมหาสมาคม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ดีทีเดียว เพราะภาพในวันนั้นทำให้น้ำตาของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศถึงกับหลั่งไหลออกมา ด้วยความปลื้มปิติ ที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกรของพระองค์
ในวันนั้นฉันไม่ได้ไปดูบรรยากาศจริงๆ ที่บริเวณพระที่นั่งอนันตฯ และลานพระบรมรูปทรงม้าหรอก แต่ก็ได้ใส่เสื้อเหลืองรอชมการถ่ายทอดสดอยู่หน้าจอโทรทัศน์เหมือนกับอีก หลายๆ คน และมาจนถึงตอนนี้ ฉันก็ยังรู้สึกว่า บรรยากาศแห่งความปลื้มปิตินั้นยังไม่จางหายไปจากพระที่นั่งอนันตสมาคมเลย เพราะเมื่อได้เห็นหรือได้ผ่านไปแถวนั้นเมื่อไร ก็จะนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นทุกครั้ง
และหลังจากที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมมาหลายครั้ง แล้ว คราวนี้ฉันก็ได้มีโอกาสเข้าไปชมด้านในพระที่นั่งบ้าง เพราะมีเรื่องที่น่ายินดีก็คือ หลังจากที่เคยเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเด็กเท่านั้น แต่ในตอนนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคมก็ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวันแล้ว วันนี้ฉันจึงตั้งใจจะเข้าไปรำลึกภาพของวันอันเป็นมงคลนั้นในมุมต่างๆ ภายในพระที่นั่ง
แต่มีกฎเหล็กของพระที่นั่งอนันตฯ อยู่ข้อหนึ่งก็คือ การห้ามถ่ายภาพ ซึ่งในตอนแรกฉันเข้าใจว่าห้ามถ่ายเฉพาะภายในพระที่นั่งเท่านั้น แต่พอมาถึงจริงๆ แล้วจึงได้รู้ว่า เขาไม่อนุญาตให้ยกกล้องขึ้นถ่ายกันตั้งแต่ก้าวเข้าไปในประตูรั้วกันเลยที เดียว สามารถถ่ายรูปกันได้เฉพาะบริเวณนอกรั้วเท่านั้น งานนี้จึงต้องเก็บภาพประทับใจกันด้วยสายตาและความทรงจำอย่างเดียวเลย
สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2450 หลังจากที่มีพระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยแล้ว ทรงเห็นว่าพระที่นั่งต่างๆ ที่สร้างไว้นั้นยังไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่างๆ จึงทรงมีพระราชดำริสร้างพระที่นั่งอนันตฯ ขึ้นอีกหลังหนึ่งเพื่อเป็นท้องพระโรงสำหรับต้อนรับแขกเมือง หรือประชุมราชการแผ่นดิน
ในการก่อสร้างนั้น พระองค์ได้ทรงจ้างช่างจากอิตาลี คือ มิสเตอร์ เอ็ม. ตามานโย (M.Tamango) เป็นผู้ออกแบบ นาย ซี อัลเลกรี เป็นวิศวกร โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง แต่การก่อสร้างดำเนินไปได้เพียงสองปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงรับช่วงการก่อสร้างต่อจนสำเร็จลงในอีก 6 ปีต่อมา หรือใน พ.ศ.2458 รวมเวลาการสร้างทั้งหมดก็ 8 ปีพอดี
เอาล่ะ ทีนี้ก็มาว่ากันด้วยเรื่องความสวยงามขององค์พระที่นั่งกันบ้าง หลายคนคงทราบแล้วว่าพระที่นั่งอนันตฯ นี้เป็นอาคารแบบโดมคลาสสิคของโรมัน เป็นศิลปะแบบอิตาเลียนเรเนอซองส์ ผสมกับศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ซึ่งรูปทรงของพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นแบบเดียวกับวิหารเซนต์ปีเตอร์แห่ง โรม และโบสถ์เซนต์ปอล กรุงลอนดอนอีกด้วย และหากมองลงมาจากบนอากาศ ก็จะเห็นผังของพระที่นั่งเป็นรูปไม้กางเขนแบบลาติน
ลักษณะเด่นของพระที่นั่งอนันตสมาคมก็อยู่ที่ช่วงบนของอาคารซึ่งเป็น รูปโดมซึ่งทำจากทองแดง มีโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง และโดมเล็กๆ อยู่รายรอบอีก 6 โดมด้วยกัน นอกจากนั้นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความสง่างามของโดมเหล่านี้ก็คือหินอ่อนสีขาว มีริ้วลายสีน้ำตาลแก่แกมหม่น สั่งเข้ามาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องหินอ่อนที่มีคุณภาพ ซึ่งนำมาทำเป็นตัวอาคาร และบางส่วนยังแกะสลักเป็นรูปพันธุ์พฤกษา และรูปคนเพื่อประดับอาคารอีกด้วย
ดูแต่เพียงภายนอกฉันก็ว่าอลังการมากแล้ว แต่เมื่อเข้าไปด้านในก็ยิ่งต้องทึ่งกับความงดงามมากขึ้นไปอีก เริ่มตั้งแต่ทางขึ้นซึ่งเป็นบันไดหินอ่อนโค้งสวยงาม และบันไดทางขึ้นอันเดียวกันนี้ ก็ยังเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระประมุขและพระราชวงศ์จากประเทศต่างๆ ที่มาร่วมในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงอีกด้วย
ชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นเป็นห้องโถงยาว เพดานสูง ลมพัดผ่านช่องหน้าต่างบานยาวเย็นสบายตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ นอกจากนั้นก็ยังมีลวดลายอันงดงามตั้งแต่เพดานซึ่งทำเป็นรูปโค้งเชื่อมหัวเสา ทั้งสองด้าน ส่วนตัวเสาก็สร้างด้วยหินอ่อนทั้งต้น มีลวดลายการแกะสลักอย่างงดงาม โดยเฉพาะเสาที่เรียกว่าเป็นแบบ “โครินเธียน” ที่หัวเสาสลักด้วยลวดลายใบไม้อันสวยงาม เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นอกจากนั้น เหนือพระทวาร หรือประตูทุกประตู ก็ยังมีตุ๊กตาแบบโรมันแกะสลักจากหินอ่อนมีพวงมาลัยหินอ่อนคล้องคอประดับไว้ อย่างน่าชม
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมงดงามเป็นอย่างมากก็ คือภาพเขียนแบบเฟรสโก (ภาพเขียนสีบนปูนเปียก) บนเพดานโดม โดยฝีมือของจิตรกรชาวอิตาเลียน คือนายซี. รีโกลี และศาสตราจารย์กาลิเลโอ กินี โดยรูปเหล่านั้นจะเป็นรูปที่แสดงถึงเหตุการณ์เด่นๆ ในแต่ละรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-6
เริ่มตั้งแต่เพดานโดมทางทิศเหนือ เป็นภาพเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ขณะที่พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กำลังเสด็จกลับจากทัพที่ไปเมืองเขมร และมีพสกนิกรไปกราบบังคมทูลอัญเชิญ ให้ทรงรับราชสมบัติปกครองแผ่นดินอันนับเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี
หันมามองอีกด้านของเพดานโดมด้านทิศตะวันออก หรือตรงบันไดทางขึ้นนั้น เป็นรูปเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำลังเสด็จในกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และด้านหลังมีรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ และใต้โดมเดียวกันนั้น อีกด้านหนึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 3 กำลังเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคเช่นกัน แต่ด้านหลังเป็นภาพพระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพน และปราสาทราชมณเฑียรต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และป้อมเผด็จดัสกร ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและบูรณะขึ้น
ส่วนเพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพในสมัยรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ รายล้อมไปด้วยพระภิกษุและนักบวชในศาสนาอื่นๆ แสดงถึงความเป็นองค์เอกอัครศาสนูปภัมภกของทุกศาสนา โดยไม่มีการกีดกัน ส่วนเพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพที่ฉันคุ้นตามากที่สุด ซึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานอภัยทาน และทรงยกเลิกประเพณีทาสในประเทศไทยโดยสิ้นเชิงอย่างไม่มีการเสียเลือดเนื้อ
และเพดานโดมทางด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง แสดงภาพเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 6 เสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลา ที่มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อพุทธศักราช 2454
นอกจากนั้นใต้โดมกลางซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด ก็มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงมีพระราชดำริก่อสร้างพระที่ นั่งอนันตสมาคม และบนเพดานตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางก็จะมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” พระปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสร้างพระที่นั่งแห่งนี้จนแล้วเสร็จสมบูรณ์
งานนี้กว่าฉันจะเดินแหงนหน้าคอตั้งบ่าดูสิ่งสวยงามที่อยู่ภายในพระ ที่นั่งอนันตฯ จนหมด ก็เล่นเอาปวดคอมากโขทีเดียว ซึ่งระหว่างที่เดินชมภายในพระที่นั่งไปนั้น ฉันก็นึกไปถึงภาพที่ได้เห็นเมื่อวันที่ในหลวงเสด็จออกมหาสมาคม ได้เห็นสีหบัญชรที่พระองค์ทรงออกไปยืนโบกพระหัตถ์ให้ประชาชน และภาพในวันที่พระประมุขและผู้แทนพระองค์จากประเทศต่างๆ แต่งกายด้วยฉลองพระองค์อันสวยงาม มาถวายพระพรชัยมงคลแด่ในหลวงของเรา ณ สถานที่อันงดงามแห่งนี้ น่าแปลกที่เมื่อคิดถึงทีไร ฉันก็ยังคงจำความประทับใจในวันนั้นได้อย่างมีความสุขทุกครั้งไป และเชื่อว่าทุกคนก็คงเป็นเหมือนฉันเช่นกัน
พระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ทางเข้าจะอยู่บริเวณข้างรัฐสภา ริมถนนอู่ทองใน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. ห้องขายบัตรปิดเวลา 15.00 น. กรุณาแต่งกายด้วยชุดสุภาพ ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา ภิกษุ สามเณร แม่ชี 10 บาท สอบถามรายละเอียดโทร.0-2628-6300, 0-2244-1549
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น