
วัดพระแก้ว เป็นสถานที่หนึ่งที่พระราชอาคันตุกะให้ความสนใจไปเยี่ยมชม
เชื่อว่าหลายคนคงยังจำความสุขและความปลื้มปีติที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ดีแม้จะผ่านมากว่า 5 เดือนแล้ว
ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากให้วันดีๆ เหล่านั้นผ่านไปเร็วนัก เพราะยังจำได้ถึงความปลื้มใจที่เห็นพระราชอาคันตุกะจากหลายประเทศเสด็จมา ถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวของเรา และพระราชอาคันตุกะแต่ละพระองค์ต่างก็ได้เสด็จไปท่องเที่ยวยังที่ต่างๆ ของประเทศ ก็น่าดีใจว่าสถานที่ท่องเที่ยวของเรานั้นได้มีแขกผู้มีเกียรติจากต่างถิ่นมา เยี่ยมเยียน
ด้วยเหตุนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ วัดพระแก้ว. เขาก็เลยปิ๊งไอเดียอยากให้ประชาชนได้มาท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะกัน บ้าง จึงได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะทั้งทางบกและทางน้ำขึ้น แต่จะไปเที่ยวที่ไหนบ้างนั้นต้องลองไปดูกัน
เริ่มต้นกันที่พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว วัดคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา มีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วประเทศ นอกจากนั้นแล้ว วัดพระแก้วยังถือเป็นที่รวมของสุดยอดศิลปกรรมไทยหลายแขนงเอาไว้ ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมอันมีสิ่งก่อสร้างงดงามต่างๆ ทั้งพระเจดีย์ พระมณฑป และหอพระต่างๆ ในด้านจิตรกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ก็นับเป็นที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดชม
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ก็ยังจะได้ไปชมพระบรมมหาราชวัง สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในอดีต ซึ่งมีพระที่นั่งงดงามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งอมรินทวินิจฉัย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย โดยทั้งสองสถานที่นี้ก็มีพระราชอาคันตุกะหลายพระองค์ทีเดียวที่ได้เสด็จมาชม ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 แห่งราชอาณาจักรเลโซโท เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งราชรัฐโมนาโก เจ้าชายอาโลอิส มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงโซฟี มกุฎราชกุมารี พระชายาแห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงมักซิมา มกุฎราชกุมารีแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
มาต่อกันใกล้ๆ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ วัดที่เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เป็นแหล่งรวมสรรพวิทยาการต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านวรรณกรรม ฯลฯ รวมทั้งสิ่งล้ำค่าต่างๆ ไว้มากมาย เมื่อมาถึงวัดโพธิ์แล้วต้องไม่พลาดไปสักการะพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถที่มีพุทธลักษณะงดงามราวกับเทวดามาสร้างไว้ จากนั้นจึงไปกราบพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ และชมลายประดับมุกมงคล 108 ประการที่พระบาทของพระนอน และอย่าลืมไปกราบสักการะเจดีย์สี่รัชกาลที่ตั้งอยู่ใจกลางวัดโพธิ์ และชมตุ๊กตาศิลาจีนอันมีชื่อเสียงของวัดโพธิ์ด้วยล่ะ
เดินทางกันต่อผ่านถนนราชดำเนินมาที่วัดเทพธิดาราม วัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอัปสร สุดาเทพ พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงได้รับใช้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระราชบิดา
วัดนี้สร้างตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 คือทั้งพระอุโบสถ พระวิหารของวัดนี้ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ส่วนที่หน้าบันก็ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องจีนแทน ส่วนภายในพระอุโบสถก็น่าสนใจไม่น้อย มีพระประธานที่สร้างด้วยศิลาขาวที่อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เฉลิมพระนามว่า "พระพุทธเทววิลาศ"
ส่วนในพระวิหารก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เพราะด้านหน้าพระประธานในพระวิหารนั้น มีรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ที่ได้รับเอตทัคคะ หล่อด้วยดีบุกประดิษฐานถึง 52 องค์ โดยแต่ละองค์ จะมีใบหน้าและอิริยาบถที่แตกต่างกัน โดยมีพระนางปชาบดีโคตรมี (เอตทัคคะด้านรัตตัญูญู) พระน้านางของพระพุทธเจ้าและถือเป็นภิกษุณีองค์แรก ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง
นอกจากนั้นที่นี่ก็ยังมีกุฏิที่สุนทรภู่ กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เคยจำพรรษาขณะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏิไว้และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ทุก วัน
ติดๆ กับวัดเทพธิดารามก็คือวัดราชนัดดาราม วัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ซึ่งภายหลังเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 4) วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นตรงที่โลหะปราสาทงามสง่าที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระนครแทนการสร้างพระเจดีย์เช่นพระอาราม อื่น นับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก ลักษณะของปราสาทสูง 3 ชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอด หมายถึงโพธิ์ปักขิยธรรม 37 ประการ ตรงกลางสร้างเป็นมณฑปภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีบันไดไม้เวียน 67 ขั้น รอบแกนที่เป็นเสาไม้ใหญ่ขึ้นไปด้านบนให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ของกรุงเทพมหา นครด้านบนได้
บริเวณด้านข้างวัดราชนัดดารามก็คือลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ซึ่ง เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และมีพระบรมราชานุสาวรย์ของรัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีศรัทธาแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ด้วย
คราวนี้เดินทางกันไกลหน่อย มาถึงพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดกัน บ้าง ในอดีตนั้นวังแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และพระชายา ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ซึ่งพระองค์เจ้าจุมภฏนี้เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 5
เหตุที่วังแห่งนี้ได้ชื่อว่าวังสวนผักกาด ก็เนื่องจากเคยเป็นสวนผักกาดเก่ามาก่อน และท่านเจ้าของวังนั้นทรงโปรดปรานเครื่องประดับเรือนเป็นอย่างยิ่ง พระองค์จึงทรงตกแต่งตำหนักด้วยโบราณวัตถุหลายประเภท ดังนั้นหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระชายาจึงได้อุทิศวังแห่งนี้ให้เป็นพิพิธภัณท์จัดแสดงโบราณวัตถุ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมได้นับแต่นั้นมา
นอกจากนั้นก็ยังมีการจัดแสดง "พิพิธภัณฑ์ดนตรี ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ" ที่ภายในมีการจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยในทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ซึ่งพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล" โดยเครื่องดนตรีที่จัดแสดงอยู่ภายในห้องล้วนมีประวัติและความสำคัญที่น่า สนใจ ได้แก่ กลองโบราณขนาดใหญ่ ระนาด ฆ้อง และซอสามสาย ซึ่งเจ้าชายอาโลอิส มกุฎราชกุมารแห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ เสด็จมาทอดพระเนตรที่วังสวนผักกาดแห่งนี้ด้วย
ก่อนจะไปปิดท้ายเส้นทางตามรอยฯ กันที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ไปเดินชอปปิ้งยามค่ำคืนกันที่ตลาดนัดกลางคืนของคนเมืองกรุงที่มีสินค้าให้ เลือกซื้อหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า ของประดับ ของแต่งบ้าน งานฝีมือไอเดียบรรเจิดมากมายมารวมไว้
และที่ไม่อยากให้พลาดก็คือ ต้องมาชม "นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก" หรือรู้จักกันดีในชื่อ "โจหลุยส์ เธียเตอร์" ที่เพิ่งไปคว้ารางวัลการแสดงทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยมมาได้สดๆ ร้อนๆ ที่กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเชก ในปี 2549 นี้เอง
ก็เป็นอันจบเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะแต่เพียงเท่านี้ แต่ขอบอกว่านี่เป็นเพียงเส้นทางบนบกเท่านั้น แต่ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่เป็นเส้นทางตามรอยทางน้ำ แต่จะไปตามรอยที่ไหนบ้างนั้นต้องรอดูกันตอนหน้าแล้วล่ะ
สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร.0-2250-5500 ต่อ 3493
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น