
ตั้งแต่แรกที่เปิดคอลัมน์ "ลุยกรุง" ขึ้นมา สถานที่ในดวงใจแห่งแรกที่ฉันตั้งใจจะเขียนถึงก็คือที่ "วัดพระแก้ว" นี่แหละ เพราะตามความคิดของฉันแล้ว ที่นี่เป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง และสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างกรุงเทพฯ เลยทีเดียว เรียกว่าถ้ามีญาติฉันจากบ้านนอกจะมาเที่ยวกรุงเทพเมื่อไร ฉันก็ต้องแนะนำให้ไปวัดพระแก้วเป็นที่แรก
แต่ที่ต้องรอแล้วรอเล่า พาไปเที่ยวที่อื่นเสียนานกว่าจะได้มาที่วัดพระแก้วนี้ ก็เพราะอยากจะเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวัดพระแก้วให้แน่นปึ้กเสียก่อนที่จะมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเรื่องราวของวัดพระแก้วนั้น ถ้าจะพูดกันให้จบในวันเดียวก็คงจะได้แค่กระผีก เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจมากมายเหลือเกิน ดังนั้นฉันก็เลยต้องตัดแบ่งเป็นหลายตอนเสียหน่อย เพื่อจะได้ชมวัดพระแก้วกันอย่างถ้วนทั่ว
เพราะฉะนั้น ในวันนี้ฉันจึงจะพาทุกคนมาชมภาพกว้างๆ ของวัดพระแก้วกันก่อน ในเรื่องของการสร้างวัด และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่วิจิตรงดงามไปทุกสิ่ง ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของศิลปกรรมไทยในทุกด้าน
วัดพระแก้วนั้น มีชื่อเรียกเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม" แต่เรียกกันอย่างง่ายๆ ว่าวัดพระแก้ว และพระประธานในพระอุโบสถนั้นก็เรียกชื่อเต็มๆ ว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากหินสีเขียวสวยงามมาก
มาว่ากันถึงการสร้างวัดพระแก้วกันก่อน คงต้องย้อนไปในปี พ.ศ.2325 เมื่อตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งพระนคร พระองค์ก็ได้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น รวมทั้งได้สร้างวัดภายในวังหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพระราชกุศล รวมทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ทรงอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์ ด้วย และเนื่องจากวัดพระแก้วเป็นวัดที่อยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนการสร้างพระบรมมหาราชวังมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
ทีนี้ไปดูกันดีกว่าว่า ในอาณาเขตของวัดพระแก้วนี้ มีสิ่งก่อสร้างอะไรบ้าง เพราะเชื่อว่าบางคนที่มาวัดพระแก้วก็จะมุ่งตรงไปสักการะพระแก้วมรกตในพระ อุโบสถเพียงอย่างเดียว จนละเลยสิ่งอื่นภายในวัดที่มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน หรือบางคนที่แม้จะเดินชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดจนทั่วแล้ว แต่ก็อาจไม่รู้ว่าสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ไว้ใช้ทำอะไร และสำคัญอย่างไร
เรามาเริ่มจาก พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือพระปรางค์แปดองค์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด หรือด้านที่ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหมกันก่อนดีกว่า พระปรางค์แปดทั้งองค์นี้เป็นปรางค์ฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีแตกต่างกันไปทั้งแปดองค์ โดยแต่ละองค์มีชื่อเรียกต่างกันไป พระปรางค์เหล่านี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จุดประสงค์ก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ทีนี้มาทางด้านทิศเหนือกันบ้าง ที่หอพระมณเฑียรธรรม ที่ถือว่าเป็นห้องสมุดแห่งแรกของกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ซึ่งหอพระมณเฑียรธรรมที่เห็นนี้เป็นหลังใหม่ และเป็นฝีมือของช่างวังหน้า โดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างมาสมทบสร้างถวาย ซึ่งฝีมือของช่างวังหน้านั้นก็ถือว่าสุดยอดอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นศิลปะของวังหน้าหนึ่งเดียวในวังหลวงก็ว่าได้
หอพระมณเฑียรธรรมเป็นอาคารแบบไทยทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความน่าสนใจอยู่ตรงหน้าจั่วที่เป็นรูปพระพรหมทรงหงส์อยู่เหนือพระอินทร์ทรง ช้างเอราวัณอีกที และก็มีหนุมานซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวังหน้าสอดแทรกอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ลวดลายบนกรอบไม้เหนือหน้าต่าง ถ้าใครอยากชมต้องรอโอกาสในวันพระ เพราะที่หอมณเฑียรธรรมนี้จะเปิดใช้เป็นที่แสดงธรรมเทศนาในวันพระเท่านั้น
ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหอมณเฑียรธรรม ก็คือหอพระนาก ซึ่งเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระนาก และเป็นที่เก็บพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายใน แต่เมื่อมีการซ่อมแซมอีกครั้งในรัชกาลที่ 3 จึงได้ย้ายพระนากและพระพุทธรูปอื่นๆ ออกไป ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของของวังหน้าในรัชกาลที่ 1-4 รวมทั้งพระอัฐิของเจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์อีกด้วย
มีคำถามว่า แล้วพระนากจากหอพระนาก ถูกย้ายไปประดิษฐานที่ไหน คำตอบก็อยู่ข้างๆ หอพระนากนั่นเอง นั่นก็คือที่พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด หรือเรียกสั้นๆ ว่าวิหารยอด ก่อนนี้วิหารยอดเป็นที่ประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งเป็นเทวรูปของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา และภายหลังก็ได้ย้ายพระนาก และพระพุทธรูปศิลามาประดิษฐานไว้ด้วยกัน
อ้าว... เดินชมแค่เดี๋ยวเดียวอย่าเพิ่งทำเป็นหมดแรง เดินต่อมาทางด้านทิศใต้ของวัดพระแก้วกันบ้าง ที่หอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานไพที (ฐานร่วมของหลายอาคาร) เป็นที่ประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปปางขอฝน ตัวองค์พระนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระคันธารราษฎร์นั้น ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญสำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
หอพระคันธารราษฎร์เพิ่งจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และตั้งชื่อตามพระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้ภายใน นอกจากนั้น ภายในหอพระแห่งนี้ก็ยังมีการตกแต่งลวดลายที่เกี่ยวข้องกับการกสิกรรมต่างๆ เช่น บานหน้าต่างก็มีลวดลายเป็นรูปพระพิรุณทรงนาค และด้านล่างเป็นรูปรวงข้าว มีปูปลาแหวกว่ายอยู่ในท้องน้ำ และจิตรกรรมฝาผนังด้านในก็เป็นเรื่องราวของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัล แรกนาขวัญและพิรุณศาสตร์อีกด้วย และบนฐานไพทีเดียวกันก็เป็นที่ตั้งของมณฑปยอดปรางค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์โบราณที่ได้มาจากภาคเหนือ
แวะชมหอระฆังกัน อีกสักหน่อย แม้จะไม่มีกิจให้ต้องใช้ระฆังบ่อยนักเพราะวัดพระแก้วนี้ไม่มีพระสงฆ์ แต่ก็สร้างขึ้นเพื่อให้ครบตามระเบียบของการสร้างวัด เชื่อกันว่าระฆังใบนี้ขุดพบที่วัดระฆัง มีเสียงไพเราะกังวานมาก เมื่อรัชกาลที่ 1 นำระฆังนี้มาไว้ที่วัดพระแก้ว พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกไว้ให้แทนที่วัดระฆัง
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่ใหญ่โตขึ้นอีกนิด บนฐานไพทีใหญ่ด้านข้างพระอุโบสถ ซึ่งด้านบนนั้นมีสิ่งก่อสร้างอยู่สามสิ่งด้วยกัน คือปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป และพระศรีรัตนเจดีย์
สำหรับพระมณฑปนั้น เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฏกฉบับทอง อยู่ในตู้มุกทรงมณฑป บรรจุพระไตรปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์อยู่ภายใน แต่ก่อนนี้พระมณฑปสร้างอยู่บนฐานสูงสามชั้น ยังไม่ได้อยู่บนฐานไพทีอย่างทุกวันนี้ แต่มาถึงรัชกาลที่ 4 ก็ได้ขยายฐานให้กว้างขึ้นเพื่อสร้างพระศรีรัตนเจดีย์และปราสาทพระเทพบิดาไว้ ด้วยกัน
ถัดจากพระมณฑปมาก็เป็นพระศรีรัตนเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4 ได้มาจากลังกา รูปทรงของพระเจดีย์ก็เป็นทรงลังกา ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกทองจากอิตาลี เมื่อส่องกระทบแสงแดดก็จะดูเจิดจ้างดงามมากๆ และภายในก็เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็กที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับพระศรีรัตนเจดีย์องค์ใหญ่ที่ครอบไว้ทุกประการ
บนฐานไพทียังมีปราสาทพระเทพบิดรอีกแห่งหนึ่งที่ฉันยังไม่ได้พูดถึง รวมทั้งส่วนสำคัญที่สุดของวัดพระแก้ว นั่นก็คือพระอุโบสถและพระแก้วมรกตอีกด้วย แต่เห็นทีคงจะต้องยกยอดไปไว้คราวหน้า ต้องรอชมกันในตอนต่อไปเสียแล้วละ
พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ที่ ถ.หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 ใกล้สนามหลวง เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น. ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. ค่าธรรมเนียม-ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท โทรศัพท์ 0-2623-5500 ต่อ 1124, 3100
การแต่งกายที่เหมาะสมในการเข้าชม ควรแต่งกายให้สุภาพ ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น รวมทั้งกางเกงที่ยาวไม่ถึงตาตุ่ม ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือบางจนเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าแตะที่ไม่สุภาพหรือไม่มีสายรัดข้อเท้า
การเดินทาง รถ ประจำทางสาย : 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศสาย : 1, 8, 25, 38, 39, 44, 506, 507, 512 หรือเดินทางโดยทางเรือ โดยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าช้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น