บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เที่ยวไปกับจักรยาน…ตะลุยย่านบางมด


การเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ นั้นก็มีหลายแบบ จะนั่งรถเมล์เที่ยวก็ได้ นั่งเรือเที่ยวก็เย็นสบายดี หรือจะเดินเท้าท่องเที่ยวก็ได้ใกล้ชิดธรรมชาติไม่น้อย แต่สำหรับทริปนี้ฉันจะขอเปลี่ยนบรรยากาศมาลองขี่จักรยานเที่ยวดูบ้าง เพราะนอกจากจะไม่ใช่ใช้น้ำมันแล้วยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ขี่ไป ชมวิวไป หากเหนื่อยนักก็พักเสียก่อนไม่ได้เร่งรีบร้อนรนไปไหน

ยิ่งเมื่อทางกองการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ กับกรุงเทพมหานคร ได้ทำเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยวย่านบางมดเพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย เมื่อมีโอกาสเหมาะฉันจึงไปยืมจักรยานเพื่อนมาปั่นกินลมชมวิวร่วมกับสมาชิก นักปั่นจำนวนหนึ่ง

การขี่จักรยานนั้นแน่นอนว่าจะได้รับสายลมแสงแดดอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเตรียมตัวก่อนไปขี่จักรยานนั้นก็คือต้องเตรียม เสื้อผ้าให้เหมาะสม ควรเป็นเสื้อแขนยาวที่ระบายความร้อนได้ดี เพื่อป้องกันแสงแดดและทำให้เราไม่ร้อนจนเกินไป กางเกงที่ใส่หากเป็นกางเกงสำหรับขี่จักรยานโดยเฉพาะก็จะดีมาก เพราะจะทำให้ขี่ได้นานโดยไม่เมื่อย สวมหมวกกันแดดอีกใบ จากนั้นก็เตรียมไปลุยย่านบางมดกันได้เลย

เราเริ่มต้นขี่จักรยานจากสวนธนบุรีรมย์ใน ตอนเช้าที่อากาศกำลังดี วิ่งไปตามถนนพุทธบูชา มุ่งหน้าไปที่ซอยประชาอุทิศ 69 มาดูฟาร์มแพะกันก่อนเป็นที่แรก น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ในกรุงเทพฯ จะมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่จริงๆ แล้วน่าจะอยู่ตามชานเมืองหรือที่ต่างจังหวัดมากกว่า ส่วนเหตุที่มีฟาร์มแพะอยู่ในแถบนี้ก็เนื่องจากว่าชาวชุมชนในย่านนี้เป็นชาว ไทยอิสลามอยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น จึงนิยมเลี้ยงแพะไว้กินเนื้อแทนหมูนั่นเอง

ที่นี่มีฟาร์มแพะอยู่ถึง 2 ฟาร์มด้วยกัน และฟาร์มแห่งแรกที่ฉันแวะมาเยือนเป็นแห่งแรกนี้ก็เป็นฟาร์มแพะเนื้อ ที่บรรดาผู้เลี้ยงแพะมารวมตัวกันในชื่อว่า "กลุ่มเกษตรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ" ซึ่งก็มีทั้งแพะและแกะมาเลี้ยงรวมกัน ฉันเองก็ไม่ค่อยจะได้คลุกคลีสัมผัสกับสัตว์ประเภทนี้สักเท่าไร แต่มาวันนี้ก็ได้มาใกล้ชิดถึงขนาดได้ "จับแพะ" (แบบที่ตำรวจชอบทำ) จึงได้รู้ว่าแพะนี่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงเชื่องๆ ที่น่ารักไม่ใช่น้อย แต่ก็น่าสงสารที่บรรดาแพะเหล่านี้จะต้องถูกกิน

นอกจากจะได้ชมและจับแพะแล้ว ที่นี่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแพะๆ มาขาย ทั้งสบู่ ครีมอาบน้ำ โลชั่นบำรุงผิว และครีมหน้าขาวที่ทำมาจากนมแพะ ถ้าอยากลองว่าผลิตภัณฑ์จากแพะใช้ดีแค่ไหนก็ลองมาซื้อกันได้ที่นี่

จากฟาร์มแพะเนื้อ มาที่ฟาร์มแพะนมบ้าง ฟาร์มที่นี่ชื่อว่า "ซาอุดี้ฟาร์ม" มีแพะอยู่มากกว่า 300 ตัว อยู่รวมกันในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ที่กั้นแบ่งเป็นคอกๆ ส่วนมากเป็นแพะสีขาวสะอาด มีทั้งแม่แพะและลูกแพะอยู่ในคอกเดียวกัน

นมแพะนี้เขาว่ามีประโยชน์มาก มีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับน้ำนมคน และดูดซึมสู่ร่างกายได้ง่ายกว่านมวัว แถมยังมีเอนไซม์ วิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยปรับระดับไขมันในเลือด และรักษาโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย ว่าแล้วก็ดื่มนมแพะจากฟาร์มซักขวดหนึ่งดีกว่า

ได้นมแพะเพิ่มพลังทำให้มีแรงขี่จักรยานเต็มร้อย ฉันปั่นต่อยัง "วัดพุทธบูชา" เพื่อแวะไหว้พระ สำหรับวัดแห่งนี้มีประวัติการสร้างอยู่ว่า นายเล็กและนางทองคำ เหมือนโค้ว เป็นผู้ยกที่ดินให้สร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ.2497 ฉันเลี้ยวรถเข้าไปในบริเวณวัดเพื่อแวะไปไหว้พระประธานในโบสถ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิษณุโลกมาเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพุทธบูชา แห่งนี้

ได้พักไหว้พระสบายๆ แล้วก็อย่าลืมเดินไปด้านหลังโบสถ์ซึ่งอยู่ติดกับคลองบางมด ในคลองแห่งนี้เต็มไปด้วยปาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ฯลฯ ใครอยากทำบุญให้อาหารปลาที่นี่ต่อก็ได้ โดยที่ท่าน้ำวัดพุทธบูชานี้สามารถนั่งเรือหางยาวชมทัศนียภาพสองฝั่งคลอง บางมดได้ หรือจะนั่งยาวไปออกที่ชายทะเลกรุงเทพฯ ก็ยังได้ด้วย

แต่ตอนนี้ฉันยังไม่อยากนั่งเรือ จึงขอเดินทางด้วยจักรยานต่อไปที่ "วัดยายร่ม" เอ... ยายร่มนี่เป็นใครกันหนอ ถ้าอยากรู้ต้องรีบๆ ปั่นไปดูแล้วล่ะ แต่ระยะทางจากวัดพุทธบูชาไปที่วัดยายร่มนี่ไกลพอดูเชียวล่ะ เพราะฉะนั้น ก้มหน้าก้มตาปั่นกันต่อไปดีกว่า

ไม่นานเราก็เดินทางมาถึงวัดยายร่มจนได้ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว คือสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2365 เดิมมีชื่อว่าวัดจุฬามณี แต่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อตามชื่อคนสร้าง ก็คือยายร่มซึ่งเป็นชาวบางมดนี่เอง วัดแห่งนี้แม้จะเป็นวัดเก่าแก่แต่ก็ไม่เหลือสิ่งก่อสร้างเก่าๆ แล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น โบสถ์ของวัดยายร่มนั้นมีความงดงามแปลกจากวัดอื่นๆ โดยพระครูโสภิตบุญญาทร เจ้าอาวาสวัดได้นำรูปแบบงานแกะสลักไม้แบบล้านนามาใช้แทนการวาดจิตรกรรมฝา ผนัง โดยได้นำช่างจากอำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่มาเป็นผู้แกะสลัก

ไม้ที่นำมาแกะสลักนั้นก็คือไม้สัก แต่ละแผ่นนั้นก็ต้องใช้เวลาและความประณีตเป็นอย่างมาก บางแผ่นใช้เวลาถึง 6 เดือนเลยทีเดียว และเมื่อแกะเสร็จแล้วไม้จำหลักเหล่านั้นก็ถูกนำมาติดไว้ภายในโบสถ์ทั้งหลัง จึงนับว่าเป็นโบสถ์ที่งดงามและน่าสนใจอีกหลังหนึ่งของเขตจอมทอง

และในบริเวณวัดยายร่มนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตจอมทอง" อีกด้วย ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะบอกถึงเรื่องราวต่างๆ ในเขตจอมทองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการขุดคลองด่าน ขึ้นในเขตจอมทอง ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนี้ผูกพันกับคลองมาเป็นเวลานาน

พิพิธภัณฑ์นี้ยังทำให้ฉันรู้ว่า วิถีชีวิตของชาวชุมชนเขตจอมทองนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบอาชีพทำสวน โดยสวนส้มบางมดนั้นถือเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อดังที่เคยได้ยินชื่อเสียงกันมาเป็น เวลานานแล้ว แม้ว่าจะมีบางช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจนทำให้สวนส้มบางมดแทบจะสูญพันธุ์ ไป แต่ปัจจุบันก็ได้มีการปลูกส้มบางมดขึ้นในหลายพื้นที่เพื่อให้ชาวสวนส้มรักษา พันธุ์ส้มของตนเอาไว้

และนอกจากการทำสวนแล้ว ในเขตจอมทองนี้ก็ยังเคยมีการปลูกข้าวอีกด้วย เรียกว่าเป็นนาสวน คือปลูกข้าวไว้ในร่องสวนเพื่อกินเองในครอบครัว ไม่เสียพื้นที่ว่างในสวนแถมยังมีข้าวกินอีกต่างหาก แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีนาข้าวในเห็นแล้วล่ะ ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเขตจอมทองมากกว่านี้ก็ต้องมาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์นี้เองเสียแล้ว

มาปิดเส้นทางขี่จักรยานกันที่ "วัดหลวงพ่อโอภาสี" ในซอยพุทธบูชา 39 หลวงพ่อโอภาสีนี้เป็นพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปเป็น อย่างมาก ท่านบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยการเพ่งพระอาทิตย์ บูชาไฟเพื่อทำเตโชกสิณ เล่ากันว่าท่านนำข้าวของทั้งหลายที่ญาติโยมถวายมาเผาไฟ เพื่อแสดงถึงการตัดกิเลสทั้งหลาย เพราะท่านถือว่า จิตใจของมนุษย์นั้นถูกเผาผลาญด้วยไฟราคะแห่งกิเลสซึ่งไม่สามารถต้านทานได้ นอกจากจะกลายเป็นเถ้าถ่าน มีเพียงการตายเท่านั้นจึงจะหลุดพ้น

แต่เดิมนั้นหลวงพ่อโอภาสีอาศัยอยู่ที่วัดบวรนิเวศ และได้เดินทางมาแสวงหาที่สงบปฏิบัติธรรมที่ละแวกนี้ เมื่อก่อนนี้คนเรียกวัดหลวงพ่อโอภาสีว่าสวนอาศรมบางมด จนเมื่อได้มีการออกประกาศจัดตั้งให้เป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2536 นี้เอง

สำหรับตัวหลวงพ่อนั้นได้มรณภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย และยังเก็บไว้ให้ผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้กัน โดยอยู่ภายในองค์เจดีย์หลวงพ่อโอภาสีนั่นเอง และมีประชาชนเดินทางมาบูชาถึงที่วัดเป็นจำนวนมาก

ฉันจบเส้นทางขี่จักรยานด้วยร่างกายที่ค่อนข้างระบมเนื่องจากไม่ได้ ออกกำลังกายบ่อยนัก แต่ก็เชื่อว่าถ้าได้ขี่จักรยานบ่อยๆ เข้าก็ สิ่งหนึ่งที่จะได้แน่ๆ ก็คือร่างกายที่แข็งแรง และก็จะได้ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในอีกบรรยากาศหนึ่งที่สนุกสนานไม่น้อยเลยทีเดียว

สอบถามเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยวครั้งหน้าได้ที่ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612 ถึง 4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น