บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ

..คลิกที่รูป...บริการถ่ายภาพสุดประทับใจ prewedding รับปริญญา พิธีการต่าง แฟชั่น อีกมากมาย ติดต่อ : 0899274733 msn:tuchkay@hotmail.com

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เที่ยวย้อนอดีต ที่ "บางลำพู"


แม้จะผูกพันและคุ้นเคยกับย่านบางลำพูมาช้านานเพราะที่ทำ งานอยู่ใน ละแวกนี้ แต่จะว่าไปแล้วบางลำพูยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจให้เที่ยวชม ค้นหา ยิ่งได้คนเก่าคนแก่แห่งบางลำพูพาไปเที่ยวชม ดังเช่นทริปนี้ที่โชคดีมากๆเมื่อ คุณป้านิด อรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู ที่ผูกพันอยู่ในย่านนี้มานานถึง 74 ปี ขันอาสาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ พาฉันไปรู้จักกับบางลำพูแบบเจาะลึกมากไปด้วยความรู้และความเพลิดเพลิน

ป้านิดอุ่นเครื่องประเดิมทริปด้วยการเล่าถึงอดีตสมัยยังเด็กๆว่า “แต่ก่อนนี้บ้านป้าอยู่ริมน้ำ ตลอดแนวแม่น้ำมีต้นลำพูอยู่เยอะมาก ตกกลางคืนก็จะมีหิ่งห้อยมาเกาะมีแสงวับๆแวบๆ สมัยนั้นคนเขาพูดกันว่า เรือที่แล่นมาถึงแถวคุ้งน้ำตรงนี้ พอเห็นแสงหิ่งห้อยก็จะรู้แล้วว่ามาถึงบางลำพู”

ป้านิดรำลึกความหลัง ซึ่งด้วยความสมบูรณ์ของต้นลำพูในแถบนี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ที่ยุคสมัยหนึ่งมักมีการเขียนผิดเป็น “บางลำภู” ที่หากว่ากันตามศัพท์ “ลำภู” หมายถึง“ลำของภูเขา”แต่ในละแวกนี้มีแต่ลำน้ำเจ้าพระยาหาได้มีภูเขาแต่อย่าง ใดไม่ แต่ด้วยความที่ต้นลำพูค่อยๆเลือนหายไปเรื่อยๆตามกาลเวลา คนก็ยิ่งเขียนคำว่า “บางลำภู” กัน(ผิด)อย่างแพร่หลายมากขึ้น

กระทั่งในปี พ.ศ. 2540 อาจารย์สมปอง ดวงไสว อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดสังเวช ได้เขียนบทความ “ลำพูต้นสุดท้ายที่บางลำพู” เพื่อมายืนยันที่มาของชื่อ “บางลำพู” ซึ่งอาจารย์สมปองและชาวชุมชนบางลำพูได้ออกค้นหาจนค้นพบต้นลำพูต้นสุดท้าย ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณสวนสันติชัยปราการ ที่ปัจจุบันลำพูต้นนี้แตกลูกแตกหลานออกมาอีกจำนวนหลายต้น

หากจะว่าไปจริงๆแล้ว ลำพูต้นนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้สวนสันติชัยปราการถูกสร้างขึ้น เพราะนอกจากเรื่องราวของต้นลำพูต้นสุดท้ายจะเป็นที่รู้จักจากการนำเสนอออกไป ในสื่อต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงมีรับสั่งให้ทางราชการอนุรักษ์ต้นไม้ต้น นี้ไว้ให้ดีที่สุดอีกด้วย ดังนั้นทางกรุงเทพมหานครที่กำลังจะสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม จึงได้ทำประตูระบายน้ำเพื่อให้ระบบนิเวศน์ของต้นลำพูไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

นอกจากนั้น ทางราชการก็ยังได้เกิดความคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณต้นลำพูและป้อม พระสุเมรุ เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถวายแด่ในหลวงในวโรกาสที่พระองค์มีพระชนมายุ 72 พรรษา ใน ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งก็คือ “สวนสันติชัยปราการ” นั่นเอง

หลังป้านิดนวดความรู้ฉันด้วยที่มาอันถูกต้องของชื่อบางลำพูแล้ว คุณป้าพาฉันไปย้อนตำนานกับตลาดบางลำพู ที่เดิมมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตลาดยอด ซึ่งปัจจุบันคือ(ซาก) ตึกนิวเวิลด์นั่นแหละ

ตลาดบางลำพู ถือเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของที่ได้รับความนิยมมากทีเดียว โดยในสมัยนั้นแหล่งค้าขายที่คนรู้จักกันดีก็จะมีที่เยาวราช พาหุรัด และบางลำพูนี้เอง และร้าน “นพรัตน์” ร้านขายเสื้อเชิ้ตแห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวป้านิดเอง ก็เป็นหนึ่งในร้านค้าย่านนี้ด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แหล่งการค้าในยุคหลังๆก็เปลี่ยนตาม ผู้คนนิยมไปเดินซื้อของย่านอื่นๆ แทน ทำให้บางลำพูไม่คึกคักเหมือนก่อน แต่ก็ยังถือเป็นแหล่งตลาดการค้าเช่นเดิม แต่จะเป็นแหล่งแฟชั่นวัยผู้ใหญ่ และแหล่งซื้อชุดนักเรียน ชุดนักศึกษาเสียมากกว่า หากใครได้ไปบางลำพูในช่วงใกล้ๆ เปิดเทอมก็จะเห็นพ่อแม่พาเด็กๆ มาซื้อชุดนักเรียน เห็นนักศึกษามาลองเสื้อลองกระโปรงกันเป็นที่สนุกสนาน

นอกจากนั้น ย่านบางลำพูนี้ก็ยังขึ้นชื่อเรื่องของกินที่มีอยู่มากมาย ส่วนใหญ่แล้วราคาก็จะย่อมเยาสบายกระเป๋ายิ่งนัก แถมยังมีให้เลือกชิมหลากหลาย ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด บะหมี่หมูแดง ขนมจีน ฯลฯ ส่วนขนมของหวานนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะมีเยอะมาก ไปดูเอาเองดีกว่าที่บริเวณหน้าห้างตั้งฮั่วเส็ง ยิ่งตอนเที่ยงๆ นั้นแทบจะไม่มีที่เดินเพราะคนแน่นขนัดจริงๆ

ว่ากันด้วยเรื่องการเป็นแหล่งช้อปแหล่งกินกันไปแล้ว มาว่ากันด้วยเรื่องศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนบางลำพูอย่าง “วัด” กันบ้างดีกว่า ป้านิดบอกฉันว่าในย่านบางลำพูนี้มีวัดสำคัญๆ อยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือวัดบวรนิเวศวิหาร วัดชนะสงคราม และวัดสังเวชวิศยาราม

สำหรับวัดบวรนิเวศนั้น หลายๆ คนก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว โดยวัดแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในพระอุโบสถมีพระประธานสำคัญอย่างพระพุทธชินสีห์และพระสุวรรณเขต อีกทั้งยังมีพระไพรีพินาศอันโด่งดังอยู่ที่นี่ด้วย

ส่วนวัดชนะสงครามนั้น ก็เป็นวัดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณชื่อวัดกลางนา ต่อมาวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ได้ปฏิสังขรณ์วัด และให้พระสงฆ์และประชาชนชาวมอญมาอาศัยอยู่บริเวณนี้ และตั้งชื่อวัดใหม่ว่าวัดตองปุ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงครามอีกครั้งหนึ่ง

วัดนี้น่าจะเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในแถบนี้ดี เพราะถือเป็นเส้นทางเดินลัดจากถนนพระอาทิตย์มายังถนนข้าวสารได้ ดังนั้นเมื่อฉันเข้าไปภายในพระอุโบสถจึงได้เห็นฝรั่งหลายคนที่เข้ามาชมความ งามภายในเช่นกัน บางคนยังนั่งสมาธิอยู่หน้าพระประธานด้วยก็ยังมี

ส่วนวัดสังเวชวิศยารามนั้น ก็ถือเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมนั้นก็มีชื่อว่าวัดบางลำพู จนรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อให้เป็นวัดสังเวชวิศยาราม และเป็นศูนย์รวมของชาวชุมชนวัดสังเวชฯ มาในปัจจุบัน และไม่เพียงแต่วัดเท่านั้น แต่ในย่านบางลำพูก็ยังมีมัสยิดจักรพงษ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชาวอิสลามในย่านนี้อีกด้วย และในซอยทางเข้ามายังมัสยิดจักรพงษ์นั้นก็ยังมีร้านอาหารอิสลามที่ชวนกิน อยู่หลายร้านด้วยล่ะ

ที่สำคัญ ย่านบางลำพูยังถือเป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นแห่งกทม. เพราะในย่านนี้เป็นที่ตั้งของสำนักนาฎศิลป์และดนตรีไทยหลายๆ สำนัก ทั้งโรงละครร้อง วิกลิเก และโรงหนังพากย์ ฯลฯ อีกทั้งด้วยบรรยากาศของบ้านขุนนางเก่าแก่บนถนนพระอาทิตย์ ทำให้เมื่อเวลามีการจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม หรืองานศิลปะต่างๆ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ หรือสวนสันติชัยปราการจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้จัดเสมอ

อย่างเช่นงานสงกรานต์ที่ป้านิดบอกว่า “ถ้าพูดถึงงานสงกรานต์ที่บางลำพูแล้วคนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นงานสงกรานต์แบบอินเตอร์ ไม่ใช่ประเพณีไทย เราอยากจะมีงานสงกรานต์ที่เป็นแบบไทยขึ้น ก็เลยไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช พระองค์จึงประทานพระพุทธรูปมาให้เราองค์หนึ่ง และประทานชื่อให้ด้วยว่า “พระพุทธบางลำพูประชานาถ” ซึ่งแปลว่าที่พึ่งของชาวบางลำพู และทุกปีในวันสงกรานต์ก็จะมีการแห่พระพุทธรูปมาให้ประชาชนสรงน้ำที่สวนสันติ ชัยปราการ มีการสรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำผู้สูงอายุ และการแสดงการละเล่นแบบไทยๆ”

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันอยากพูดถึงเกี่ยวกับบางลำพูก็คือ ความเป็นชุมชนเข้มแข็งที่รวมตัวกันเป็น “ประชาคมบางลำพู” ป้านิดเล่าถึงจุดเริ่มต้นของประชาคมนี้ว่า เริ่มมาจากการจัดงานถนนคนเดินบนถนนพระอาทิตย์ครั้งแรก คนในชุมชนได้มีการร่วมประชุมกันหลายครั้ง จนงานเสร็จก็รู้สึกว่ามีความสนิทสนมกันขึ้น จึงมาคุยกันว่าน่าจะรวมตัวกันเป็นประชาคมขึ้น โดยงานของของประชาคมก็คือการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ

และผลงานหนึ่งที่มาจากความร่วมมือของชาวประชาคมบางลำพูก็คือ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2541-42 ได้มีการรวมตัวกันต่อต้านการรื้อโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่อยู่ข้างป้อมพระสุเมรุ ตามอายุก็สมควรแก่การอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนสอนพิมพ์แห่งแรก ป้านิดบอกว่าหนังสือเรียนสมัยป้ากะปู่ กู้อีจู้ ก็พิมพ์จากที่นี่เอง นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่พิมพ์หนังสือวรรณคดีไทยสำคัญอย่างเรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา สามก๊ก และรามเกียรติ์อีกด้วย

แทนที่จะรื้อทิ้ง ชาวชุมชนจึงขอให้ใช้อาคารหลังนี้เป็นศูนย์ชุมชน แต่เจ้าของพื้นที่ต้องการจัดทำเป็นสวนสาธารณะทั้งที่ขณะนั้นมีโครงการจะ สร้างสวนสันติชัยปราการแล้ว ผลของการต่อสู้ปรากฏว่า เจ้าของพื้นที่ไม่รื้อตึกทิ้ง แต่ก็ไม่อนุญาตให้ใครเข้ามาทำกิจกรรมใดๆกับอาคารหลังนี้ ซึ่งยังนับว่าโชคดีที่การเคลื่อนไหวของประชาคมฯ ช่วยให้อาคารเก่าแก่หลังหนึ่งยังคงอยู่ต่อไปเคียงคู่ย่านบางลำพู หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจแห่งกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร

"ย่านบางลำพู" ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปจนถึงวัดบวร นิเวศ ส่วนอีกด้านหนึ่งนับจากถนนข้าวสารไปจนถึงวัดสามพระยา ศูนย์กลางของย่านบางลำพูจะอยู่แถวๆ ตึกห้างนิวเวิลด์เก่า

มีรถประจำทางสาย 3, 6, 9, 30, 32, 33, 53, 64, 65, 524, 503 ผ่านบริเวณถนนพระอาทิตย์ และตลาดบางลำพู ส่วนรถประจำทางสาย 56, 68, 516 ผ่านบริเวณวัดบวรนิเวศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น