
ตำหนักใหญ่ในวังวรดิศซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์
วันที่ 1 ธันวาคมที่จะมาถึงนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเพียงวันเริ่มต้นของเดือนสุดท้ายของ ปี ในขณะที่อีกหลายๆคน วันนี้คือวันอิ่มอกอิ่มใจกับเงินเดือนในกระเป๋าที่เพิ่งรับมาสดๆร้อนๆ แต่หากมองให้ลึกลงไปวันที่ 1 ธันวาคม ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกวันหนึ่ง
สำหรับวันสำคัญที่ว่า ก็คือ "วันดำรงราชานุภาพ" เป็นวันที่ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลสำคัญของประเทศไทยและของโลก ตามที่องค์การยูเนสโกยกย่อง ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่ทรงได้รับเกียรตินี้ด้วย
หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อของพระองค์ท่านบ่อยๆ แล้ว โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 57 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร และเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงถวายงานใกล้ชิด ซึ่งรัชกาลที่ 5 เปรียบสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าทรงเป็น "มือขวา" คอยช่วยเหลือการงานต่างๆ ในบ้านเมืองได้อย่างดียิ่ง
ด้านหน้าตำหนักใหญ่ในวังวรดิศซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์
พระองค์ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยผลงานในด้านการปกครองของพระองค์ก็คือ ทรงได้ปฏิรูปการปกครองโดยแบ่งประเทศออกเป็น 71 จังหวัด อันเป็นรากฐานสำคัญในการปกครองและบริหารท้องที่ในปัจจุบัน และได้ปรับปรุงการบริหารราชการให้ทันสมัยตามอย่างอารยประเทศ ทั้งยังทรงเป็นองค์ปฐมผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ (ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ) ฯลฯ
นอกจากนั้นยังทรงเป็นผู้บุกเบิกงานด้านโบราณคดีไทยศึกษา โดยทรงนิพนธ์หนังสือที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้เป็น จำนวนมาก จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็น "องค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี" เลยทีเดียว และไม่แต่เพียงเท่านี้ ในวงการมัคคุเทศก์ก็ยังยกย่องให้ท่านเป็น "องค์พระบิดาของมัคคุเทศก์ไทย" เนื่องจากพระองค์ต้องเสด็จไปตรวจราชการที่ต่างจังหวัดบ่อยๆ ประกอบกับทรงมีพระนิสัยชอบเสด็จประพาสหัวเมือง จึงมักได้รับหน้าที่ "Lord Program Maker" หรือผู้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มาอีกด้วย
ด้วยคุณงามความดีของพระองค์ที่ทรงประกอบมาตลอดพระชนม์ชีพนี้ จึงเหมาะสมแล้วที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้พระองค์เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ในวันครบรอบวันประสูติ 100 ปี และทางคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็น "วันดำรงราชานุภาพ" ด้วยประการฉะนี้
และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์เนื่องใน "วันดำรงฯ" ที่กำลังจะมาถึงนี้ ฉันจะขอพาไปเยี่ยมชมวังของท่านบนถนนหลานหลวง ที่มีชื่อวังไพเราะว่า "วังวรดิศ" ซึ่งตอนนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวของสมเด็จฯ เอาไว้
แม้ว่าวังจะตั้งอยู่ในย่านกลางเมืองของกรุงเทพฯ แต่เมื่อเข้าไปในเขตรั้ววังแล้วเสียงรถราขวักไขว่ภายนอกก็ไม่ตามเข้ามารบกวน อีก ทั้งยังร่มรื่นด้วยเงาของต้นไม้ใหญ่มากมาย ที่ดินบริเวณนี้เดิมเป็นของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของพระองค์เอง และต่อมารัชกาลที่ 5 ก็ได้พระราชทานที่ดินรอบๆ วังเพิ่มให้อีกเพื่อเป็นรางวัลในการที่สมเด็จฯ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) ได้ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และกระทรวงมหาดไทยสยามใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งวังเก่าที่ริมถนนเจริญกรุงคับแคบลงเนื่องจากมีการสร้างอาคารขึ้นรอบ วัง ทำให้พระองค์ต้องย้ายมายังวังใหม่ คือวังวรดิศในปัจจุบัน
ค่าก่อสร้างตำหนักนั้นเป็นเงิน 50,000 บาทด้วยกัน ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานให้ และสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นก็เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบพระราชวังบ้านปืนที่ จังหวัดเพชรบุรี และวังบางขุนพรหมด้วย นั่นคือนาย คาร์ล ดอห์ริง ชาวเยอรมันนั่นเอง
ทีนี้เข้าไปดูด้านในกันบ้างดีกว่า ตำหนักใหญ่ของวังวรดิศนี้มีสองชั้นด้วยกัน ด้านล่างจัดเป็นห้องรับแขกซึ่งสมเด็จฯ ทรงเรียกว่าห้อง Study ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบยุโรป มีรูปจำลอง Piata จากประเทศอิตาลีตั้งอยู่ด้วย และก็ยังมีห้องจีน ตกแต่งแบบจีน มีประติมากรรม ฮก ลก ซิ่วตั้งอยู่ แสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามและประเทศจีน จุดเด่นของห้องอยู่ที่ชุดรับแขกประดับมุกแบบจีนอันงดงามซึ่งได้รับพระราชทาน มาจากรัชกาลที่ 5
ถัดไปเป็นห้องเสวย ซึ่งใช้เป็นที่รับรองเวลาที่พระมหากษัตริย์รวมทั้งพระราชอาคันตุกะเสด็จมา นอกจากนั้นห้องเสวยนี้ยังใช้เป็นที่ฝึกฝนนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงให้รู้จัก วัฒนธรรมประเพณีแบบตะวันตกก่อนที่จะไปเรียนยังต่างประเทศ โดยพระองค์ทรงเป็นครูฝึกสอนเองอีกด้วย
ส่วนระเบียงด้านหลังตำหนักก็เป็นสถานที่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงโปรดใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์แบบไทยๆ คือประทับนั่งกับพื้น โดยใช้เป็นเหมือนระเบียงอเนกประสงค์ ทั้งเป็นที่เสวยกระยาหารกับพระโอรสพระธิดา รับสั่งสนทนากับผู้มาเฝ้า ฯลฯ
ขึ้นบันไดเวียนไปยังชั้นบนกันต่อ ด้านบนนี้มีห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ซึ่งยังมีฉลองพระองค์บางส่วนตั้งอยู่ และห้องทรงพระอักษร มีโต๊ะซึ่งเคยทรงงานตั้งอยู่ โดยข้าวของส่วนใหญ่นั้นก็จะจัดวางตกแต่งในรูปแบบเดิมเหมือนสมัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ จะมีการตกแต่งเพิ่มเติมเล็กน้อยก็ด้วยสิ่งของที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการ เสด็จเยือนยังสถานที่ต่างๆ ของสมเด็จฯ ที่ทายาทได้รวบรวมไว้
ทั้งยังมีห้องเกียรติสถิต หรือ Hall of Fame ที่ประดับรูปภาพของบุคคลในราชสกุลดิศกุลที่ประกอบคุณงามความดีไว้ เช่น ม.จ. จงจิตรถนอม ดิศกุล ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ม.จ. มารยาตรกัญญา ดิศกุล พลเรือเอก ม.จ. กาฬวรรณดิศ ดิศกุล พลโท ม.จ. พิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล ม.ร.ว. สังขดิศ ดิศกุล เป็นต้น
ส่วนห้องที่มีความสำคัญสูงสุดของวังก็คือ ห้องพระบรมอัฐิ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเข้าไปกราบถวายบังคมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ห้องพระบรมอัฐิเป็นประจำทุกวัน
ที่ฉันรู้สึกก็คือบรรยากาศของวังวรดิศนั้นไม่ดูขลังขรึมเหมือนกับวัง อื่นๆ ที่เคยไป แต่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านที่มีคนอยู่อาศัยและได้รับการดูแลรักษาอย่าง ดีจากเจ้าของบ้าน ซึ่งในตอนนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ทายาทชั้นเหลนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเจ้าของวังวรดิศแห่งนี้อยู่
และนอกจากวังวรดิศแล้ว บริเวณวังก็ยังเป็นที่ตั้งของ “หอสมุดดำรงราชานุภาพ” เป็นที่เก็บรักษาหนังสือที่พระองค์ทรงสะสมไว้ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศกว่า 7,000 เล่ม ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา ได้ทูลขอหนังสือเหล่านี้เพื่อจะนำไปทำ "ห้องดำรง" โดยทรงให้เหตุผลว่า พระองค์ท่านคงจะเสียใจมาก ถ้าพบลายพระหัตถ์
หอสมุดดำรงราชานุภาพนี้เดิมตั้งอยู่ที่ระหว่างหอพระสมุดวชิรญาณ (ตึกถาวรวัตถุ) กับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว แต่ต่อมาได้มีการสร้างอาคารใหม่ขึ้นในบริเวณวังวรดิศเพื่อจัดทำเป็นหอสมุด ดำรงราชานุภาพ โดยเป็นอาคาร 3 ชั้น ทรงยุโรป ฉันได้เข้าไปดูภายในแล้วก็ต้องทึ่งกับหนังสือเก่าโบราณมากมาย ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น ใครสนใจก็เข้าไปค้นหาหนังสือกันได้ แต่หนังสือเก่าๆ ก็ต้องติดต่อบรรณารักษ์ให้จัดการให้
วันที่ 1 ธันวาคมนี้ หากใครต้องการจะมารำลึกถึงพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย หรือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้มีคุณูปการหลายต่อหลายด้านต่อประเทศไทย ก็เชิญได้ที่วังวรดิศ และหอสมุดดำรงราชานุภาพ
พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ และหอสมุดดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่ที่ 182 ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. 10100 สอบถามรายละเอียดโทร.0-2282-9110, 0-2281-7577, 0-2280-2133 พิพิธภัณฑ์วังวรดิศเปิดให้เข้าชมทุกวันและเวลาราชการโดยไม่มีการเก็บค่าชม โดยต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า และต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะ ส่วนหอสมุดดำรงราชานุภาพเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.